ทีนี้ขอพูดถึงการวิจัยในความหมายปัจจุบัน จากการวิจัยขั้นพื้นฐานก็มาสู่การวิจัยที่เป็นกิจการทางวิชาการของสังคม
การวิจัยในปัจจุบันนี้เรามักจะพูดโดยสรุปว่า อยู่ในขอบเขตของวิชาการ ๓ หมวดใหญ่ คือเป็นการวิจัยในเรื่องของมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สำหรับวิทยาศาสตร์นั้นก็อาจจะรวมไปถึงวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และเทคโนโลยีด้วย และเมื่อมาถึงเทคโนโลยีมันก็ออกมาสู่เรื่องอุตสาหกรรมเป็นต้นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ยิ่ง ดังที่สังคมไทยปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่ต้องการจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม
การวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์มักจะมาเป็นฐานรองรับอุตสาหกรรม จนมีผู้พูดว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือรับใช้อุตสาหกรรม และบางทีก็ทำไปโดยไม่รู้ตัวเลยว่า ที่เราวิจัยวิทยาศาสตร์นี้เราวิจัยเพื่อจุดมุ่งหมายในเชิงอุตสาหกรรม ยิ่งกว่านั้นอุตสาหกรรมก็ไปเป็นตัวรับใช้ธุรกิจ ซึ่งสนองจุดมุ่งหมายในทางเศรษฐกิจอีก ทั้งนี้โดยเราไม่รู้ตัวว่าสังคมมีแนวโน้มที่ดิ่งไปในทางนั้นๆ อย่างเป็นไปเอง เพราะเราอยู่ใต้อิทธิพลความคิด หรือความมุ่งหมาย และแรงจูงใจอย่างนั้นๆ
ที่จริงนั้น การวิจัยในทางมนุษยศาสตร์ก็มีความมุ่งหมายของมันเองว่า เราวิจัยทางมนุษยศาสตร์เพื่ออะไร เราอาจจะพูดว่าเพื่อความดีงาม เพื่อชีวิตที่เลิศประเสริฐ เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เพื่อความสุข และเพื่ออิสรภาพของมนุษย์ เป็นต้น หันไปดูทางด้านสังคมศาสตร์ ก็มีความมุ่งหมายอีกแบบหนึ่ง คือ มุ่งไปที่การอยู่ร่วมกันด้วยดีของหมู่มนุษย์หรือของสังคม เพื่อความเจริญก้าวหน้า เพื่อสันติสุขของหมู่มนุษย์ที่อยู่ร่วมกัน ส่วนทางด้านวิทยาศาสตร์ มีความมุ่งหมายที่แท้คืออะไร ก็เพื่อความรู้ความเข้าใจในความจริงของธรรมชาติเท่านั้นเอง อันนี้คือตัวแท้ของวิทยาศาสตร์
แต่เรื่องไม่ได้อยู่แค่วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ มันออกมาสู่วิทยาศาสตร์ประยุกต์ และเทคโนโลยี ตลอดจนถึงอุตสาหกรรม ซึ่งมีจุดหมายเลยต่อไปอีก หมายถึงการนำเอาความรู้ความจริงของธรรมชาตินั้นมาใช้ประโยชน์ในการประดิษฐ์สร้างสรรค์พัฒนาชีวิต สังคม และอารยธรรม
การก้าวจากความรู้ความจริงของธรรมชาติมาสู่จุดหมายนี้ มีอะไรรองรับอยู่เบื้องหลัง
จุดมุ่งหมายที่สำคัญอันนี้ก็คือว่ามันไม่ใช่แค่จะเอาความรู้ จริงอยู่ ในขั้นตัวแท้ คือวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์นั้นมีจุดหมายเพื่อเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ แต่พอมาเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และเทคโนโลยี ตลอดจนอุตสาหกรรม ความมุ่งหมายก็สืบต่อออกไปว่า เพื่อเอาความรู้ความจริงในธรรมชาตินั้นไปใช้สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ เป็นต้น
แต่เมื่อมองให้ลึกลงไปอีก ยังมีจุดหมายสำคัญยิ่งอีกชั้นหนึ่ง คือเพื่อเอาชนะธรรมชาติ มนุษย์ไม่ใช่แค่ต้องการรู้ความจริงของธรรมชาติ แต่เขามีเบื้องหลังซ้อนอยู่ด้วย คือแรงจูงใจในการที่จะรู้ความจริงของธรรมชาตินั้น ก็เพื่อจะพิชิตธรรมชาติ และไม่ใช่แค่เพื่อพิชิตธรรมชาติเท่านั้น แต่เพื่อจะจัดการกับธรรมชาติตามใจชอบของมนุษย์ด้วย
เมื่อถึงขั้นนี้ มนุษย์ยุคปัจจุบันได้มีจุดเน้นที่แคบเข้ามาอีกว่า เขาจัดการธรรมชาติเพื่ออะไร ก็เพื่อเอาธรรมชาติมารับใช้สนองความต้องการในการเสพบริโภคของมนุษย์ อันนี้แหละที่เป็นตัวการสำคัญในปัจจุบัน และงานวิจัยก็จะถูกครอบงำด้วยความคิดความมุ่งหมายนี้ด้วยโดยไม่รู้ตัว มันจึงกลายเป็นจุดที่เราจะต้องมาวิจัยกันซ้อนอีกชั้นหนึ่งว่าถูกต้องหรือไม่ และถ้ามันไม่ถูกต้องเราจะต้องมาคิดแก้ไข เรื่องนี้ขอพูดตอนนี้ทีหนึ่งก่อนและเดี๋ยวจะต้องพูดอีก คือทำอย่างไรจะให้การวิจัยไม่ตกอยู่ใต้ครอบงำแห่งอิทธิพลของฐานความคิดอันนี้ เราจะต้องสามารถวิจัยตัวการที่ครอบงำอารยธรรมมนุษยชาตินี้ให้ชัดให้ได้ เพื่อนำมนุษยชาติให้หลุดพ้นออกไปอยู่เหนือกระแสอิทธิพลของฐานความคิดที่ผิด
ขอย้ำว่าการวิจัยในเรื่องนี้เวลานี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง จัดได้ว่าเป็นการวิจัยซ้อนวิจัย ซึ่งมีความหมายรวมไปถึงการวิจัยว่ากระแสอารยธรรมที่ครอบงำการวิจัยปัจจุบันนี้ผิดหรือถูกด้วย และหาทางวิจัยว่าทางออกที่ถูกต้องคืออะไร
ในการวิจัยที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าสังคมเน้นมากในเรื่องการวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะจะเน้นวิทยาศาสตร์ และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์นั้นก็จะเน้นวิทยาศาสตร์ที่รับใช้อุตสาหกรรมอย่างที่ว่ามาแล้ว เพื่อจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจอย่างที่พูดข้างต้น การวิจัยที่รองลงมาก็คือการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ส่วนการวิจัยทางมนุษยศาสตร์จะเห็นว่ามีน้อย เราไม่ค่อยเน้น เพราะว่า มนุษยศาสตร์ในยุคที่ผ่านมานี้ตกต่ำลงไปมาก จนกลายเป็นศาสตร์ที่รู้สึกว่าจะมีปมด้อย หรือรู้สึกว่าน้อยเนื้อต่ำใจ
ความจริงมนุษยศาสตร์นี้ครอบงำสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์อยู่โดยไม่รู้ตัว เพราะแรงจูงใจที่มาเป็นตัวชักนำการวิจัยและการศึกษาวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ปัจจุบันนี้ อยู่ภายใต้การครอบงำของแนวคิดที่มาจากมนุษยศาสตร์ คือความเข้าใจและความคิดมุ่งหมายใฝ่ฝันเกี่ยวกับโลกและชีวิตในทางปรัชญานั่นเอง แฝงอยู่เบื้องหลังเจตน์จำนงในการสืบค้นความรู้ทั้งทางวิทยาศาสตร์และสังคม แต่พวกมนุษยศาสตร์กลับไม่รู้ตัว ไปนึกว่าตัวเองด้อยค่าไม่มีความหมาย
อันนี้เป็นเรื่องของสภาพทางวิชาการที่แนวความคิดของมนุษย์ในยุคที่ผ่านมานั้นได้ถูกแบ่งแยกเป็นเสี่ยงๆ โดยแยกมนุษยศาสตร์ออกไป สังคมศาสตร์ออกไป และวิทยาศาสตร์ออกไป วิทยาศาสตร์ก็แยกออกไปเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และเทคโนโลยีด้านต่างๆ เสร็จแล้ววงวิชาการ การศึกษาและการวิจัยนี้ลืมความมุ่งหมายเดิม คือแยกแล้วไม่โยง เมื่อแยกแล้วไม่โยงก็กลายเป็นเสี่ยงๆ ไป แต่ละด้าน แต่ละวงวิชาการก็ค้นหาความรู้วิจัยอะไรต่างๆ กันไป เพื่อจุดหมายของตัว ดิ่งออกไปและมารวมกันไม่ได้ ขัดกับความจริงที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างสัมพันธ์ส่งต่อสู่ผลรวมอันเดียวกันในที่สุด ซึ่งทำให้เราต้องมีจุดหมายรวมที่จะประสานให้ได้
จุดอ่อนของยุคปัจจุบันในทางวิชาการรวมทั้งการวิจัยคือ เราไม่สามารถประสานโยงจุดมุ่งหมายของการวิจัยทางมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ให้ลงเป็นอันเดียวกันได้ ว่ามุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติอย่างไร เพราะว่าศาสตร์ทั้ง ๓ หมวดนี้ มีขึ้นจากมนุษย์และเพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติ แต่เราไม่สามารถโยงถึงกันเป็นอันเดียวได้ว่าศาสตร์ทั้ง ๓ แดนมารวมกัน เพื่อจุดหมายอันหนึ่งอันเดียว เพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติอย่างไร ต่างคนต่างก็ว่ากันไป
ถ้าตราบใดเรายังไม่สามารถบูรณาการวัตถุประสงค์หรือจุดหมายของศาสตร์ ๓ หมวดนี้ให้ลงเป็นอันเดียวกันได้ ความเจริญทางวิชาการจะกระท่อนกระแท่น และอาจจะเป็นพิษเป็นภัยต่อสังคมมนุษย์ จนกระทั่งอาจจะมาทำลายมนุษย์โดยไม่รู้ตัว เช่น การวิจัยที่นำมาสู่ความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการของวิทยาศาสตร์ กลับเป็นไปเพื่อทำลายคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ดังที่ได้เป็นไปแล้วในปัจจุบัน โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ จึงต้องจับให้ได้ว่าจุดหมายของวงวิชาการทั้ง ๓ แดนนี้ ประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างไร นี่คือบูรณาการ
เวลานี้แนวความคิดแบบองค์รวมกำลังเด่น แต่เราใช้องค์รวมให้เป็นประโยชน์ได้จริงหรือไม่ เราชัดหรือไม่ว่า ในองค์รวมนี้องค์ประกอบต่างๆ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร สังคมดีเพื่ออะไร สังคมดีเป็นจุดหมายในตัว หรือว่าสังคมดีนั้น มาเป็นฐาน มาเป็นตัวเอื้อ มาเกื้อหนุนการพัฒนามนุษย์ เช่น เราอาจจะให้ความหมายอย่างหนึ่งว่า สังคมที่ดี คือสังคมที่มีปัจจัยแวดล้อมเกื้อหนุนต่อการพัฒนาของมนุษย์ เพื่อเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ อย่างนี้ก็แสดงว่ามีการโยงสังคมศาสตร์เข้ากับมนุษยศาสตร์ แต่บางทีเราคิดว่าสังคมดีก็คือสังคมมีเศรษฐกิจดี มั่งคั่งพรั่งพร้อม สะดวกสบาย เป็นจุดหมายในตัวมันเอง
มองไปทางวิทยาศาสตร์เราหาความรู้มาทำการประดิษฐ์สร้างสรรค์เพื่อชีวิตที่ดีงามของมนุษย์อย่างไร ความเจริญทางวิทยาศาสตร์เกื้อหนุนต่อความเป็นมนุษย์ที่ดีงามอย่างไร หรือเป็นเพียงว่าให้มนุษย์ที่เราไม่ได้เอาใจใส่ในความเป็นมนุษย์ของเขา ซึ่งไม่ได้พัฒนาเลย ได้มาใช้เทคโนโลยีที่เราสร้างสรรค์ประดิษฐ์ขึ้นมา เพื่อให้กลับมาเป็นภัยอันตรายแก่มนุษย์เอง
ที่ว่านี้แสดงถึงการที่เราไม่มีจุดหมายสูงสุดที่เป็นบูรณาการของ ๓ ศาสตร์นี้ ถ้าเราหาจุดหมายรวมสูงสุดนี้ไม่พบ ความเจริญทางวิชาการก็จะกระท่อนกระแท่น และอาจจะเป็นไปเพื่อการทำลายตัวมนุษย์เองพร้อมทั้งสังคมมนุษย์ด้วย
แท้จริงนั้นอันนี้แหละคือปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่เราบอกว่าเกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนนั้นคืออะไร เราวิเคราะห์ แล้วก็บอกว่าเป็นเพราะว่าการพัฒนานั้นขาดองค์ประกอบที่สำคัญ คือไม่เห็นความสำคัญของมนุษย์ ทำให้พัฒนาไม่ครบองค์รวม ไม่เป็นบูรณาการ ไม่มีดุลยภาพ
ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าการพัฒนาที่ผ่านมาเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เป็น unsustainable development เพราะว่ามัวไปมุ่งทางเศรษฐกิจ ได้เศรษฐกิจดีแต่สิ่งแวดล้อมเสีย เพราะฉะนั้นต่อไปนี้จะต้องให้องค์ประกอบ ๒ อย่างมีดุลยภาพต่อกัน เป็นองค์รวม โดยบูรณาการ คือต้องคำนึงทั้ง economy และ ecology ต้องให้เศรษฐกิจก็ไปดี และธรรมชาติแวดล้อมก็อยู่ได้ ถ้าเมื่อใดธรรมชาติแวดล้อมก็อยู่ได้ เศรษฐกิจก็ไปดี ก็แสดงว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
แต่แล้วอีกกระแสหนึ่งบอกว่าแค่นั้นไม่พอ ต้องเป็น cultural development คือเป็นการพัฒนาเชิงวัฒนธรรมที่เอาคนเป็นศูนย์กลาง การพัฒนาที่ผ่านมานี้ให้ความสำคัญแก่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าบทบาท และมีจุดมุ่งหมายเพื่อเศรษฐกิจอย่างเดียว จึงทำให้ความเป็นมนุษย์ถูกมองข้ามไป ไม่เอาองค์ประกอบด้านมนุษย์ ไม่มีการพัฒนามนุษย์ เพราะฉะนั้นจะต้องเอาส่วนที่ขาดไปคือ มนุษย์นี้เข้ามา เพราะฉะนั้นการพัฒนาต่อไปนี้จะต้องเอาคนเป็นศูนย์กลาง
เป็นอันว่าแนวความคิดในการพัฒนาปัจจุบันนี้มีมา ๒ สาย สายหนึ่งได้แก่ sustainable development คือการพัฒนาแบบยั่งยืน ที่มาจากมติของ World Commission on Environment and Development คณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ซึ่งสหประชาชาติตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๖ แล้วก็ได้มติทำเป็นหนังสือออกมา ทำให้เกิดคำว่า sustainable development เมื่อปี ๒๕๓๐ สายความคิดนี้เน้นในเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่วนอีกสายหนึ่งก็ของสหประชาชาติเหมือนกัน เสนอขึ้นมาจากยูเนสโกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ เป็นแนวความคิดที่เรียกว่า การพัฒนาเชิงวัฒนธรรม (cultural development) ซึ่งจับจุดว่า การพัฒนาที่ผ่านมาขาดองค์ประกอบด้านมนุษย์ ก็เลยให้เติมมนุษย์เข้ามา จึงเป็นการพัฒนาเชิงวัฒนธรรมโดยเอาคนเป็นศูนย์กลาง และได้ประกาศให้ พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๔๐ เป็นทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาเชิงวัฒนธรรม (World Decade for Cultural Development)
ที่จริงเวลานี้แนวความคิด ๒ สายนั้นน่าจะมาบูรณาการกัน แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าคนก็ยังคิดแยกกันอีก แนวความคิดที่เกิดขึ้นมานั้นบอกว่าจะแก้ปัญหาเก่าที่เกิดจากการพัฒนาที่ไม่บูรณาการ แต่แล้วแนวความคิดที่เสนอใหม่นี้ก็ไม่บูรณาการ เวลานี้ก็เลยมีแนวความคิด ๒ สายข้างต้นนั้นขึ้นมา ในด้านถ้อยคำ เราก็พูดกันแต่การพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) ซึ่งเน้นที่สิ่งแวดล้อม แต่จะเห็นว่าเวลานี้เราก็รู้กันเป็นนัยๆ ว่าจะต้องพัฒนาโดยเอาคนเป็นศูนย์กลาง นี่ก็คือแนวความคิดแบบการพัฒนาเชิงวัฒนธรรม (cultural development) แม้แต่แผน ๘ ของเราก็เน้นมากในเรื่องเอาคนเป็นศูนย์กลาง แต่ก็เจอปัญหาอีกว่า คนนี้เป็นคนคือเป็นมนุษย์ หรือเป็นทรัพยากรมนุษย์
คำว่าทรัพยากรมนุษย์นั้นเป็นแนวความคิดที่ติดมาจากเดิม เขาบอกว่าศัพท์ว่า “ทรัพยากรมนุษย์” (human resources) เกิดขึ้นระหว่างปี 1965-1970 คือเมื่อ ๓๐ ปีมานี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แนวความคิดในการพัฒนาที่มุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟู แนวความคิดนี้จึงมองตัวมนุษย์เป็นทุนชนิดหนึ่ง คือ เป็นสิ่งที่นำมาใช้เป็นปัจจัยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เป็นการมองมนุษย์ด้วยสายตาที่ถือเป็นทุน หรือเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
แนวความคิดที่มองคนเป็นทรัพยากรมนุษย์ หรือเป็น human resources นี้ เป็นแนวความคิดที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยเอามนุษย์เป็นเครื่องมือหรือเป็นส่วนประกอบ ถึงเวลานี้เราบอกว่าแนวความคิดแบบพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นหลักนั้นผิด ต้องเอาคนเป็นศูนย์กลาง แต่แล้วเราก็ยังใช้ศัพท์เก่าว่าพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ก็แสดงว่าแนวความคิดเก่ายังครอบงำใจเราอยู่ แทนที่เราจะพัฒนามนุษย์ในฐานะเป็นมนุษย์ เรากลับพัฒนามนุษย์ในฐานะเป็นทรัพยากร เพราะฉะนั้นจะต้องว่ากันให้ชัดว่าเราจะพัฒนามนุษย์ในฐานะเป็นมนุษย์ หรือพัฒนามนุษย์ในฐานะเป็นทรัพยากรมนุษย์ หรือเอาทั้งสองอย่าง
เวลานี้คิดว่าจะต้องเอาทั้งสองอย่าง คือเราต้องพัฒนามนุษย์ในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ด้วย หมายความว่าในด้านหนึ่งเรามองมนุษย์ในฐานะที่เป็นทุนหรือเป็นปัจจัยในการที่จะไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ถ้ามนุษย์มีคุณภาพดี มีความรู้ความสามารถดี เป็นแรงงานที่มีฝีมือ มีจิตใจดี เช่น ขยันหมั่นเพียร อดทน รับผิดชอบ ก็ไปช่วยพัฒนาเศรษฐกิจได้ดี พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่ง เราก็ต้องพัฒนามนุษย์ในฐานะเป็นมนุษย์ ด้วยความมุ่งหมายว่าทำอย่างไรจะให้เป็นมนุษย์ที่ดี เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นมนุษย์ที่มีความสุข เป็นมนุษย์ที่มีอิสรภาพ เป็นต้น ซึ่งจะต้องคำนึงให้มาก
เพราะฉะนั้นเวลานี้จะต้องมาพูดกันให้จริงจังจนชัดลงไป เพราะว่าเมื่อทำไปๆ พวกศัพท์ หรือ concept ต่างๆ อาจจะครอบงำเราโดยไม่รู้ตัว เวลาเราเปลี่ยนแปลงแนวความคิดใหม่ ถ้อยคำและความหมายพะรุงพะรัง ที่พ่วงอยู่กับแนวความคิดแบบเก่า ก็ตามเข้ามาปนเปกับแนวความคิดใหม่ด้วย ชำระสะสางจัดปรับกันไม่ทัน ฉะนั้นเมื่อพูดถึงเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องราวจากแนวความคิดอีกอันหนึ่งก็ยังตามมาครอบงำเราอยู่ เราบอกกันว่าระบบความคิดอย่างหนึ่งที่เคยถือกันมาเป็นสิ่งผิดพลาด แต่ในการหาทางออกใหม่ เราก็ยังพูดกันด้วยถ้อยคำที่สื่อความหมายและด้วยความเข้าใจตามระบบความคิดเก่าที่เราว่าผิดนั่นเอง ฉะนั้นเวลานี้เราจะต้องพูดต้องถกเรื่องเหล่านี้กันให้ชัดเจน เป็นการทำความเข้าใจเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ที่พูดไปเมื่อกี้นั้นเป็นข้อสังเกตที่ ๑ คือ การแยกแล้วไม่โยงในเรื่องที่ได้ทำให้เกิดความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง ซึ่งในขั้นหนึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะแยกไปแล้วทำให้เกิดความชัดเจนในแต่ละด้านนั้นๆ แต่อีกขั้นหนึ่ง ต้องคิดต่อไปว่าทำอย่างไรจะโยงให้ได้ เพราะการโยงได้ก็คือการนำไปสู่จุดหมายเดิมที่ต้องการของมนุษย์ เพื่อแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ให้มนุษย์เข้าถึงความดีงามมีชีวิตที่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นจึงต้องก้าวไปสู่ขั้นที่ว่า ทำอย่างไรจะให้ศาสตร์ทั้งสามนี้มีจุดหมายที่มาประสานเป็นอันเดียวกันได้
ข้อสังเกตที่ ๒ คือ ในการวิจัยทางสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ศาสตร์ทั้งสองอย่างนี้จะมุ่งถึงสิ่งหนึ่งที่ฝรั่งเรียกว่า value-free ซึ่งจะต้องระวัง เพราะเดิมนั้นถือกันว่าวิทยาศาสตร์เป็น value-free ภาษาไทยจะแปลว่าอย่างไรก็หาคำยาก อาจจะแปลว่าปราศจากคุณค่าหรืออะไรก็แล้วแต่ ส่วนสังคมศาสตร์ก็คือศาสตร์ที่ตามอย่างวิทยาศาสตร์ โดยนำเอาวิธีการวิทยาศาสตร์มาใช้ในทางสังคม และก็พยายามเป็น value-free ด้วย ทีนี้พอไปพยายามทำตัวเป็น value-free ก็กลายเป็นว่าพวก values ต่างๆ กลับเข้ามาครอบงำโดยไม่รู้ตัว
เวลานี้เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าทั้งวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยหรืออะไรก็ตาม ที่เป็นความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการทั้งหมดใน ๒ แดนนั้น ได้ถูก values ครอบงำโดยไม่รู้ตัว และเจริญมาในท่ามกลางอิทธิพลของ values ทั้งนั้น แม้แต่วิทยาศาสตร์ที่ว่าบริสุทธิ์ก็ไม่บริสุทธิ์ ที่บอกว่าเป็น pure science ก็ไม่ pure ที่ว่าเป็น value-free ก็ไม่ free เวลานี้ตำราต่างๆ ก็ยอมรับเรื่องนี้กันทั้งนั้น
อย่างตำราเล่มหนึ่งพูดถึงเรื่องสังคมศาสตร์ ก็บอกว่า มติที่ว่าสังคมศาสตร์สร้างขึ้นมาตามลักษณะที่เป็น value-free ของวิทยาศาสตร์นั้น เวลานี้มตินี้ได้ถูกโค่นลงแล้ว ด้วยการปฏิวัติทางญาณวิทยา (epistemological revolution) ที่เกิดขึ้นในฝ่ายวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เอง หมายความว่าเวลานี้วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เองยอมรับว่าตัวไม่ value-free สังคมศาสตร์ที่อิงวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์จะเป็น value-free ได้อย่างไร ก็เป็นไปไม่ได้ เป็นแต่เพียงว่าเวลานี้เราจะต้องไม่หลอกตัวเอง คือจะต้องปฏิบัติการสัมพันธ์กับ values ให้ถูกต้องเท่านั้นเอง อย่าไปหลงตัวเองว่าไม่มีไม่เกี่ยวกับ values แต่ต้องสัมพันธ์กับ values ที่ถูกต้อง เวลานี้เราอยู่ด้วย values ไหนก็ปฏิบัติต่อมันให้ถูก values อะไรที่ไม่ควรจะมีก็หลีกละอย่าให้เข้ามา ถ้าทำได้แค่นี้จะตรงกับความเป็นจริงมากกว่า
สังคมศาสตร์นั้นว่าตามความคิดของฝรั่งพวกหนึ่งในปัจจุบันเขาว่า ที่มันไม่ value-free ก็เพราะว่าตัวฐานแรงจูงใจเบื้องหลังของมันมาจากความเชื่อของชาวตะวันตกที่คิดว่าสังคมจะมีวิวัฒนาการสูงขึ้นไปๆ ตามลำดับขั้น จากสังคมที่ป่าเถื่อน (savage) ไปเป็นสังคมอนารยะ (barbarian) และจะเป็นสังคมศรีวิไลหรืออารยะ (civilized) อันนี้คือแนวความคิดที่อยู่เบื้องหลังสังคมศาสตร์ทั้งหมด ในการหาความรู้ทางสังคมศาสตร์จะมีฐานความคิดนี้ครอบงำอยู่ โดยที่ในแนวความคิดนี้ก็เอาสังคมตะวันตกเป็นตัวแบบ สืบเนื่องจากคนตะวันตกนึกว่าสังคมของตนเองเจริญที่สุดแล้วในโลก เพราะฉะนั้นสังคมอะไรต่างๆ ที่จะเจริญก็ต้องเจริญแนวนี้ไปตามแบบของสังคมตะวันตก เป็นอันว่าแนวความคิดนี้ได้ครอบงำการแสวงหาความรู้รวมทั้งการวิจัยต่างๆ ทางสังคมศาสตร์โดยไม่รู้ตัว นี่เป็นตัวอย่างของการที่มันไม่ value-free แต่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของ values เช่น ความเชื่ออย่างที่กล่าวแล้ว เป็นต้น
แม้แต่วิทยาศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน ขอย้ำอีกทีว่า วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์นั้นที่จริงไม่บริสุทธิ์ เพราะอยู่ใต้แรงจูงใจบางอย่างครอบงำอยู่ อันได้แก่แนวความคิดที่เป็นฐานของอารยธรรมตะวันตกที่ชาวตะวันตกภูมิใจนัก คือเจตจำนงที่จะพิชิตธรรมชาติ รวมทั้งความเชื่อที่ว่ามนุษย์นี้ต่างหากจากธรรมชาติ
ความเชื่อว่ามนุษย์นี้ต่างหากจากธรรมชาติ พร้อมทั้งท่าทีต่อธรรมชาติที่ว่ามนุษย์จะต้องพิชิตธรรมชาติ และยิ่งกว่านั้นก็คือจะจัดการกับธรรมชาติเอามารับใช้สนองความต้องการของตน อันนี้เป็นฐานความคิดของอารยธรรมตะวันตกที่สืบต่อกันมา ๒๐๐๐ กว่าปีโดยตลอด การแสวงหาความรู้ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อ และเจตจำนงนี้ทั้งหมด ซึ่งเป็น value หรือคุณค่าที่ครอบงำ และเป็นอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง อันนี้เป็นจุดสำคัญที่ว่าการวิจัยจะต้องมาค้นหาความจริงให้ได้ว่า ฐานความคิดที่ครอบงำวิชาการและอารยธรรมมนุษย์ทั้งหมดนี้ถูกต้องหรือผิดพลาด ก่อผลดีหรือผลร้าย ถ้ารู้ว่าผิดพลาดแล้ว การวิจัยก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะนำมนุษย์ให้พ้นจากอิทธิพลของมันไปได้ ฉะนั้นการวิจัยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
สิ่งที่ต้องการย้ำในที่นี้จึงมาอยู่ที่จุดเบื้องต้นคือ ถึงแม้ว่าเราจะมีระบบวิธีการวิจัยที่จัดทำเป็นกิจการของสังคม ตลอดจนต้องมีเงิน ต้องมีเทคโนโลยีช่วยเป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมากก็จริง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าขาดคุณสมบัติแล้วการวิจัยจะไม่สำเร็จและจะเลอะเทอะไปหมด ก็คือตัวคน
ตัวคนนั้นเราคงไม่เอาแค่ความรู้ความสามารถ ความรู้ความสามารถทำให้งานวิจัยเดินหน้าไปได้ แต่สิ่งที่จะทำให้การวิจัยบรรลุจุดหมายที่แน่นอนเป็นผลสำเร็จ และเป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติ ก็คือจิตใจที่ประกอบด้วยฉันทะที่ว่ามาแล้ว ซึ่งเป็นพลังที่จะนำให้การวิจัยบรรลุจุดหมาย คือการที่มีจิตใจใฝ่รู้ ต้องหาความจริงให้ได้ ถ้าไม่ได้ความจริงไม่ยอมหยุด และการที่ว่าจะต้องหาทางทำให้มันดีให้ได้ ถ้าทำให้มันดีไม่ได้ก็ไม่ยอมหยุด ถ้ามีพลังแห่งฉันทะนี้อยู่ก็ดำเนินไปได้ แต่ถ้าไม่มีอันนี้แล้ว ถึงจะมีเงินเท่าไร มีวิธีการ และมีเทคโนโลยีดีแค่ไหน ก็พลาดหมด
ในทางกลับกัน ถ้าการวิจัยตั้งอยู่บนฐานของฉันทะแล้ว ก็เป็นการวิจัยที่มีชีวิตจิตใจ หรือเป็นการวิจัยที่มีหัวใจ ถ้ามีฉันทะนี้เป็นหัวใจเด่นชัดแล้ว เงิน เทคโนโลยี และระเบียบวิธีการวิจัย เป็นต้น ก็ควรจะเข้าไปหนุนให้เต็มที่