การศึกษากับการวิจัย เพื่ออนาคตของประเทศไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จับหัวใจของการวิจัยให้ได้

อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่า “การวิจัย” เป็นคำที่เราใช้ในความหมายสมัยใหม่ ในวงวิชาการ ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของสังคมสมัยใหม่ แต่คำเดิมนั้นมาจากภาษาบาลี และพอดีว่าคำว่าวิจัยที่เป็นคำบาลีเดิมนั้น เป็นคำที่มีความสำคัญมากตามหลักการของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น ก่อนจะพูดถึงการวิจัยในความหมายปัจจุบัน จึงต้องยอมเสียเวลาพูดถึงวิจัยในความหมายเดิม จะถือเป็นความรู้พิเศษก็ได้ แต่เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการวิจัยในความหมายเดิมนั้นน่าจะเป็นรากฐานของการวิจัยในความหมายปัจจุบัน

ตามความหมายง่ายๆ วิจัย นั้นเป็นไวพจน์ คือเป็นคำที่มีความหมายใช้แทนกันได้ของคำว่า ปัญญา หรือจะใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษ ก็เรียกว่าเป็น synonym ของคำว่าปัญญา ในภาษาบาลีเวลาใดท่านให้ความหมายของคำว่า ปัญญา คำหนึ่งที่จะมาก็คือคำว่า วิจโย คือวิจัย วิจัยในฐานะเป็นไวพจน์ของปัญญานั้น ความจริงมันเป็นลักษณะหนึ่งของการใช้ปัญญา พร้อมทั้งเป็นการทำให้เกิดปัญญา หรือทำให้ปัญญาพัฒนาขึ้นด้วย

พุทธศาสนานั้นเราถือกันว่าเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาเป็นตัวตัดสินที่ทำให้บรรลุจุดหมายของพุทธศาสนา และจุดหมายของพุทธศาสนาเองก็เป็นปัญญาอีก ซึ่งเรียกว่า “โพธิ” โพธิก็เป็นชื่อหนึ่งของปัญญา ปัญญานี้มีหลายชื่อ ในที่สุดพุทธศาสนาใช้ปัญญาเพื่อบรรลุถึงปัญญา ปัญญาในขั้นที่ทำงานเพื่อให้บรรลุผลนั้นเป็นปัญญาที่เรียกว่าวิจัย วิจัยไปก็เกิดปัญญา และปัญญานั้นก็พัฒนาไปจนกระทั่งปัญญานั้นกลายเป็นโพธิ

หลักการของพระพุทธศาสนานั้น มีพุทธพจน์ตรัสไว้แห่งหนึ่งที่น่าสังเกต พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“ธรรมนั้นเราแสดงไว้โดยวิจัย” (วิจยโส เทสิโต ภิกฺขเว มยา ธมฺโม - สํ.ข. ๑๗/๑๗๓/๑๑๖)

คำว่า “วิจัย” จึงสำคัญมาก เท่ากับพูดว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการวิจัย พุทธพจน์นี้แสดงว่าในแง่ของผู้สอนก็สอนไปโดยที่เมื่อได้ความรู้มาโดยการวิจัย แล้วก็นำมาสอนโดยวิธีวิจัย

ต่อจากนั้นเมื่อพูดถึงฝ่ายผู้ศึกษา พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้อีกว่า

“พึงวิจัยธรรมโดยแยบคาย” (โยนิโส วิจิเน ธมฺมํ - องฺ.สตฺตก. ๒๓/๓/๒)

พึงวิจัยธรรมโดยแยบคาย หมายความว่าอย่างไร คำว่า “ธรรม” นั้นมีความหมายกว้าง อะไรก็ได้เป็นธรรมทั้งนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเกี่ยวข้อง เจอะเจอ พึงวิจัย โดยแยบคาย คือโดยโยนิโส (เช่นเดียวกับในคำว่า โยนิโสมนสิการ) หมายความว่าอย่างไร ยกตัวอย่างเช่นวิจัยให้ถึงต้นเค้า หรือต้นตอเลย แล้วก็ตรัสต่อไปว่า

“จึงจะเห็นอรรถแจ้งชัดด้วยปัญญา” (ปญฺญายตฺถํ วิปสฺสติ)

เห็นอรรถก็คือ เห็นความหมาย เห็นเนื้อหาทั้งหมดชัดแจ้งด้วยปัญญา อันนี้คือพุทธพจน์ที่ตรัสฝ่ายผู้ศึกษา แสดงถึงความสำคัญของคำว่าวิจัยในพุทธศาสนา

ทีนี้ หันมาดูความหมายตามรูปศัพท์ วิจัย นั้นแปลกันง่ายๆ ว่า เฟ้น เฟ้นก็เป็นการค้นหา หรือสืบค้น เพื่อจะเอาสิ่งที่ต้องการให้ได้ หรือเที่ยวสอดส่ายและสอดส่อง หาให้เจอสิ่งที่ต้องการ เพราะฉะนั้น การวิจัยจึงเป็นเรื่องของการค้นหา แม้แต่ขุดคุ้ย ค้น ตรวจสอบ พิสูจน์ มีตัวอย่างเปรียบเทียบเป็นรูปธรรมว่า มีคนที่ต้องการค้นหาว่าเสียงอยู่ที่ไหน ได้ยินเสียงพิณ มองหาไม่เจอก็ผ่าพิณออกเป็นเสี่ยงๆ แต่ก็หาเสียงไม่เจอ การกระทำนี้ ท่านเรียกว่าเป็นการวิจัย แม้ว่าจะเป็นการวิจัยที่ผิด แต่จุดสำคัญก็คือแรงจูงใจของเขานั้นต้องการจะค้นหาให้พบว่าสิ่งที่ต้องการอยู่ที่ไหน เราอาจจะต้องเที่ยวหาก็ได้ หรืออาจจะต้องรื้อค้นสิ่งที่มีอยู่กันกระจุยไปเลย แต่จุดสำคัญคืออะไร

จุดสำคัญของการวิจัยก็คือ การค้นหาความจริง หาให้เจอความจริง ซึ่งอาจจะหมายถึงการหาความหมายที่แท้ของสิ่งนั้น และอีกอย่างหนึ่งคือ ค้นหาสิ่งที่ดี สิ่งที่พึงประสงค์ คุณค่าหรือประโยชน์ที่ต้องการ ตลอดจนกระทั่งว่า ถ้าสิ่งนั้นยังไม่ดี หรือยังไม่เป็นอย่างที่ประสงค์ ก็หาทางที่จะทำให้มันดีหรือให้ได้ผลอย่างที่ต้องการ

พูดโดยรวบรัดว่ามี ๔ แง่ของความหมาย คือ

๑. ค้นหาความจริง

๒. ค้นหาสิ่งที่ดี สิ่งที่ต้องการ สิ่งที่เป็นประโยชน์

๓. ค้นหาทางหรือวิธีการที่จะทำให้มันดี และ

๔. หาวิธีที่จะทำให้สำเร็จ

สองอย่างหลังนี้ขอย้ำว่าไม่เหมือนกัน หาทางทำให้ดี กับหาทางทำให้สำเร็จ เวลานี้จะเป็นปัญหามากสำหรับโลก ซึ่งเป็นปัญหาของการวิจัย ด้วยว่าจุดมุ่งหมายอยู่ที่ต้องการจะทำให้ดีหรือทำให้สำเร็จ ความจริงนั้นตัวที่ต้องการควรจะเป็นว่าทำให้มันดี แต่ทำสิ่งที่ดีนั้นให้สำเร็จหมายความว่า ความสำเร็จนั้นจะต้องพ่วงมากับการที่จะให้ดี แต่เวลานี้มันมีปัญหาเรื่องทำให้สำเร็จเฉยๆ โดยไม่จำเป็นต้องดี อันนี้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลย จึงต้องขอตั้งข้อสังเกตไว้

การที่จะวิจัยเพื่อจะให้ได้ความจริง ให้ได้สิ่งที่ดี และหาทางทำให้ดี พร้อมทั้งให้สำเร็จนั้น จะมีปัจจัยอย่างหนึ่งที่ช่วยหนุนอยู่ คือ ความเชื่อที่เป็นฐาน เช่น ความเชื่อในหลักการแห่งความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งทั้งหลาย ถ้าเราเชื่อหลักการนี้ก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้หาความจริง ให้ค้น เพราะว่าถ้าเราไม่เชื่อในหลักการแห่งความเป็นเหตุเป็นผล หรือในความเป็นไปตามเหตุปัจจัยแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องค้นหาความจริง และว่าโดยวิธีการมันก็จะไม่นำไปสู่การค้นหาด้วยวิธีการของความเป็นเหตุเป็นผล ดังนั้นความเชื่อในหลักการของเหตุผล หรือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้จึงสำคัญ

อีกอย่างหนึ่งคือวิธีการในการที่จะวิจัยนั้น ท่านบอกว่าต้องเป็นโยนิโส โยนิโส คือ โดยแยบคาย เช่นว่า ค้นหาโดยวิธีการที่จะให้ถึงต้นตอกันเลย อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องพูดไว้ต่างหาก

ทีนี้ วิธีการวิจัยนั้น ไม่ใช่เฉพาะระเบียบวิธีที่เป็นรูปธรรมภายนอกเท่านั้น แต่ต้องเริ่มตั้งแต่วิธีคิด ถ้าไม่มีวิธีคิดที่ถูกต้องเป็นฐาน วิธีการภายนอกก็เป็นเพียงส่วนประกอบที่อาจจะไม่ได้ผลดีนัก เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ตั้งข้อสังเกตไว้แต่ต้น แต่ตอนนี้เราคงยังไม่เข้าไปสู่รายละเอียด

ก่อนจะผ่านเรื่องนี้ไป ขอย้ำถึงความจำเป็นของการวิจัยว่า เราต้องวิจัย เพราะเมื่อเราต้องการเข้าถึงความจริงนั้น ความเชื่อ ความคิดเห็น และเหตุผลเท่านั้นไม่พอ ถ้าถือตามความเชื่อเป็นต้น อาจจะผิดพลาดได้ พระพุทธเจ้าเคยตรัสเตือนไว้ว่า

“สภาวะ ๕ อย่างนี้ คือ ความเชื่อ ความนิยมชมชอบ การเล่าเรียนต่อกันมา การคิดตรองตามแนวเหตุผล สิ่งที่เข้ากันได้กับทฤษฎีของตน มีความเป็นไปได้ ๒ ทาง ในปัจจุบันเลยทีเดียว :

“สิ่งที่เชื่อสนิททีเดียว กลับผิดพลาดเป็นเท็จไปก็มี, สิ่งที่ไม่เชื่อเลย แต่กลับเป็นของจริงแท้ก็มี

“สิ่งที่นิยมชมชอบ กลับผิดพลาดเป็นเท็จไปก็มี, สิ่งที่ไม่ได้นิยมชมชอบ แต่กลับเป็นของจริงแท้ก็มี

“สิ่งที่เล่าเรียนต่อกันมา กลับผิดพลาดเป็นเท็จไปก็มี, สิ่งที่ไม่ได้เล่าเรียนต่อกันมา แต่กลับเป็นของจริงแท้ก็มี

“สิ่งที่คิดตรองอย่างดีแล้ว กลับผิดพลาดเป็นเท็จไปก็มี, สิ่งที่ไม่ได้คิดตรองไว้ แต่กลับเป็นของจริงแท้ก็มี

“สิ่งที่ตรวจสอบ(กับทฤษฎี)อย่างดีแล้ว กลับผิดพลาดเป็นเท็จไปก็มี, สิ่งที่ไม่ได้ตรวจสอบ(ว่าเข้ากับทฤษฎี) แต่กลับเป็นของจริงแท้ก็มี (ม.ม.๑๓/๖๕๕)

นอกจากนี้ ควรจะมีท่าทีแบบที่ท่านเรียกว่าเป็นผู้อนุรักษ์สัจจะ (สัจจานุรักษ์) คือไม่ลงความเห็นตัดสินอะไรง่ายๆ และไม่ผูกขาดสัจจะ ดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า

“คนที่เป็นวิญญู เมื่อจะอนุรักษ์สัจจะ ไม่ควรด่วนลงความเห็นเด็ดขาดลงไปข้างเดียวก่อนว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จ(ทั้งนั้น)”

“ถ้าแม้คนมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่ง เมื่อเขากล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างนี้” เขายังชื่อว่า อนุรักษ์สัจจะอยู่ แต่จะลงความเห็นเด็ดขาดลงไปข้างเดียวว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จ(ทั้งนั้น)” ไม่ได้ก่อน; ด้วยการปฏิบัติเพียงเท่านี้ ชื่อว่ามีการอนุรักษ์สัจจะ และคนผู้นั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้อนุรักษ์สัจจะ ทั้งเราก็บัญญัติการอนุรักษ์สัจจะด้วยการปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการหยั่งรู้สัจจะ (สำหรับสิ่งที่นิยมชมชอบ สิ่งที่เล่าเรียนต่อกันมา สิ่งที่คิดตรองตามเหตุผล และสิ่งที่ตรวจสอบกับทฤษฎีแล้ว ก็เช่นเดียวกัน) (ม.ม.๑๓/๖๕๖)

อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือแรงจูงใจ ได้แก่ ความอยาก ความอยากเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความสำเร็จในการวิจัย นี่ก็คืออยากรู้ความจริง ยิ่งมีความอยากมากเท่าไรก็ยิ่งดี และอีกอย่างหนึ่ง คือ อยากให้มันดี เช่น อยากให้ชีวิตนี้ดีงาม อยากให้สังคมดีงาม อยากให้สิ่งที่ตนเกี่ยวข้องทุกอย่างมันดี อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะเป็นแรงหรือพลังที่ทำให้เรามุ่งมั่นที่จะวิจัยให้สำเร็จ และทำให้การวิจัยบรรลุผล

เมื่อมีความอยากรู้ความจริงและอยากทำให้มันดี ก็จะเกิดมีแรงขับดันขึ้นมาว่าจะต้องหาความจริงให้ได้ และหาทางทำให้มันดีให้ได้ ถ้าไม่ถึงความจริงจะไม่ยอมหยุด และถ้ามันยังไม่ดีจะไม่ยอมเลิก คนที่มีแรงใจปานนี้จะมุ่งทำงานวิจัยให้สำเร็จ แม้ถึงขนาดที่ว่ายอมทุ่มเทสละเวลา สละชีวิต ให้แก่การที่จะทำงานให้บรรลุจุดมุ่งหมายนี้ให้ได้ คือหาความจริงให้ได้ และหาทางทำให้มันดีให้ได้

คุณสมบัตินี้ทางพระเรียกว่า ฉันทะ ศัพท์เดียว คือจะเป็นการหาความจริงให้ได้ก็ตาม หาทางทำให้มันดีให้ได้ก็ตาม ตัวนี้ตัวเดียวคือฉันทะ พระพุทธเจ้ามีตัวฉันทะนี้จึงยอมสละทุกอย่าง พระองค์สละวัง สละชีวิตแห่งความสุขสำราญ สละโภคสมบัติไปเพื่ออะไร

๑. เพื่อไปหาความจริงของธรรมชาติ หาความจริงของสิ่งทั้งหลายว่ามันคืออะไร มันเป็นอย่างไร แล้วก็

๒. เพื่อหาทางที่จะทำให้ชีวิตและสังคมมนุษย์มันดี

เท่านี้เองที่พระพุทธเจ้าทำทั้งหมด เพราะฉะนั้นพุทธศาสนามีเท่านี้ คือมีเรื่องของการที่จะหาความจริงให้พบให้ถึงให้ได้ แล้วก็ทำชีวิตและสังคมมนุษย์ให้ดีให้ได้ และสองอย่างนี้ก็สัมพันธ์กัน คือการที่จะทำให้มันดีจริงได้ เราจะต้องรู้ความจริง เมื่อรู้ความจริง เช่นรู้เหตุปัจจัยที่ถูกต้อง จึงจะทำให้มันดีได้จริง

ถ้าเรามองดูพุทธประวัติ พระโพธิสัตว์คือใคร พระโพธิสัตว์ แปลว่าสัตว์ผู้มุ่งโพธิ คือท่านผู้แสวงหาโพธิ ผู้มีใจข้องอยู่ในโพธิ จะต้องเข้าถึงโพธิปัญญาที่รู้ความจริงของสิ่งทั้งหลายที่จะทำชีวิตให้มันดีงามให้จงได้ เพราะฉะนั้น ประวัติของพระพุทธเจ้าทั้งหมดตลอดมาที่เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นประวัติของการแสวงหาปัญญา เรียกภาษาปัจจุบันก็คือ ประวัติของการทำงานวิจัยนั่นเอง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงเป็นนักวิจัยมาโดยตลอด

สิ่งที่ต้องย้ำก็คือ ฉันทะ ถ้าไม่มีฉันทะนี้อยู่เบื้องหลังแล้วการวิจัยจะไม่สำเร็จผลด้วยดี ถึงแม้จะมีตัวสนับสนุนเป็นองค์ประกอบอะไรต่างๆ ก็ไปไม่ไกล บางทีในที่สุดมันก็จะกลายเป็นเรื่องเละเทะไปเหมือนกับกิจการอื่นของสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ถ้ามีตัวความปรารถนาแห่งฉันทะนี้อยู่แล้วมันจะไปให้ถึงจุดหมายจนได้ อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าถ้าไม่ถึงความจริงและทำให้มันดีไม่ได้ จะไม่ยอมหยุด

ขอสรุปเป็นการเน้นไว้ว่า พลังที่ทำให้เกิดมีการวิจัยที่แท้ที่มีชีวิตชีวาและได้ผลจริง คือ ฉันทะ ซึ่งมีความหมายว่า

๑. ใฝ่จะเข้าถึงความจริงให้ได้

๒. ใฝ่(หาทาง)จะทำให้มันดีให้ได้

นักวิจัยจะต้องมีพลังแห่งฉันทะนี้ ทีนี้ เราก็มาดูต่อไปว่า การวิจัยมีความสัมพันธ์กับการศึกษาอย่างไร

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.