การศึกษากับการวิจัย เพื่ออนาคตของประเทศไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จะต้องบูรณาการการวิจัย
เข้าไปในชีวิตประจำวันของคนไทย

เราดำเนินชีวิตอยู่ในโลก เรารับรู้อะไรหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งใดก็ตาม เราจะต้องใช้การวิจัยหรือใช้ปัญญาอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลานี้เป็นยุคข่าวสารข้อมูล การดำเนินชีวิตยิ่งต้องการการวิจัย คือใช้ปัญญานี้อยู่ตลอดเวลา ชีวิตจึงจะอยู่ได้ด้วยดี จึงจะเจริญพัฒนา ทั้งชีวิตของตนเองและของสังคมประเทศชาติ เพราะฉะนั้นจะต้องให้จิตใจของเรากำกับด้วยท่าทีของการวิจัยหรือมีการวิจัยเป็นนิสัยเลยทีเดียว

แต่เราลองหันมามองดูสภาพจิตใจของคนไทยเวลานี้ว่าเป็นอย่างไร เรามีจิตใจที่มีลักษณะของการวิจัยนี้หรือไม่ เราเกี่ยวข้องกับข่าวสารข้อมูลในลักษณะอย่างไร เราเป็นนักบริโภคข่าว แต่น่าสังเกตว่าผู้บริโภคข่าวนั้นไม่ค่อยเป็นนักศึกษาข่าว

การบริโภคข่าวกับการศึกษาข่าวสารคงไม่เหมือนกัน นักบริโภคข่าวจะมีลักษณะที่ชอบเสพข่าวเพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็น ให้เกิดความพอใจสมใจอยากตื่นเต้นเพลิดเพลินไป หรือตื่นไปตามข่าว บางทีก็ถือข่าวเป็นเรื่องที่มีรสชาดช่วยให้เกิดความสนุกสนาน เอามาพูดคุยตื่นเต้นกันแล้วก็ผ่านลอยไป แต่ที่เราต้องการคือการเป็นนักศึกษา ผู้ศึกษาข่าวสาร ข้อมูล เป็นนักวิจัย ถ้าได้แค่บริโภคข่าวบางทีข่าวสารข้อมูลนั้นก็ไม่นำไปสู่ปัญญาตามที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้นข่าวสารข้อมูลเกิดขึ้นในโลกปัจจุบันนี้จึงทำให้คนจำนวนมากลุ่มหลงหรือถูกหลอกลวง เกิดโมหะ แทนที่จะเกิดปัญญา นี้เป็นข้อสังเกตที่สำคัญ

เราคิดว่าเมื่อมีข่าวสารข้อมูลแล้วจะทำให้มนุษย์มีปัญญา เราถึงกับภูมิใจว่ายุคนี้เป็นยุคข่าวสารข้อมูล มนุษย์จะหูสว่าง ตาสว่าง มีความรู้ มีปัญญาดี แต่เปล่า ไม่แน่หรอก บางทีข่าวสารข้อมูลมากจริง แต่คนเป็นเพียงนักบริโภคข่าว หลงงมงาย มีโมหะมากขึ้น เพราะมีลักษณะที่เรียกว่าตื่นตามข่าว เมื่อตื่นตามข่าวก็ไม่พัฒนา เป็นผู้ถูกกระทำโดยข่าวสารข้อมูล ไม่เป็นผู้กระทำต่อข่าวสารข้อมูล เมื่อเป็นผู้ถูกกระทำแล้วก็กลายเป็นผู้รับเคราะห์เสื่อมลงไป

ลักษณะการตื่นข่าวนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ในทางพุทธศาสนา ท่านเรียกว่าการตื่นข่าวมงคล โดยเฉพาะการเล่าลือโจษจันเกี่ยวกับเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์เดชและเรื่องโชคลางต่างๆ อุบาสกอุบาสิกาคือชาวพุทธคนใด ถ้าเป็นผู้ตื่นข่าวมงคล หวังผลจากโชคลาง ไม่หวังผลจากการกระทำ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า เป็นอุบาสกอุบาสิกาจัณฑาล เป็นอุบาสกอุบาสิกาเลอะเทอะ เป็นอุบาสกอุบาสิกากระจอก นี่ไม่ใช่อาตมาว่านะ เป็นคำจากพระไตรปิฎกเลยทีเดียว หลักการนี้เราเคยเอามาพิจารณาไหม

พระพุทธเจ้าตรัสเตือนไว้ถึงขนาดนี้ว่า คุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกาที่ดีมี ๕ ประการ ข้อที่สามคือ จะต้องไม่ตื่นข่าวมงคล ไม่หวังผลจากโชคลาง แต่หวังผลจากการกระทำ ถ้ามีคุณลักษณะอย่างนี้เป็นข้อหนึ่งใน ๕ ข้อ ท่านเรียกว่า เป็นอุบาสกอุบาสิการัตนะ เป็นอุบาสกแก้วอุบาสิกาแก้ว แต่ถ้าตรงข้ามก็คืออย่างที่ว่า ตื่นข่าวมงคล หวังผลจากโชคลาง ไม่หวังผลจากการกระทำ ขอย้ำอีกทีว่าเป็นอุบาสกอุบาสิกาจัณฑาล เลอะเทอะ กระจอก

เมื่อเราไปตื่นข่าวมงคลจะมีผลอย่างไร ผลก็คือมันขัดงานวิจัยหมด จิตใจในการวิจัยไม่มี เช่นมีข่าวรถตกภูเขา ก็ว่าเป็นเพราะพระราหูมา รถคว่ำในช่วงนั้น ถ้าเราบอกว่าเพราะพระราหูทำ เราก็ยกให้พระราหูแล้วก็หยุดแค่นั้น ความคิดมันก็ไม่เดิน แต่ถ้าเรามีแนวความคิดแบบนักวิจัย เราก็ต้องคิดสืบสาวต่อไป เพราะผู้วิจัยเชื่อตามหลักเหตุปัจจัย ว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัย

เมื่อเชื่อในหลักการนี้ ก็ต้องค้นหาเหตุปัจจัยให้ได้ความจริงชัดเจนออกมา เราก็จะค้นหาเหตุว่าทำไมรถจึงตกภูเขา อาจจะเป็นเพราะคนขับไม่คุ้นกับการขับรถขึ้นเขา ใช้เกียร์ไม่เป็น ใช้เบรคไม่ถูกกับสถานการณ์ มีชิ้นส่วนเครื่องยนต์บางอย่างบกพร่อง ไม่ได้ตรวจรถให้ดีก่อนขับไป หรือมีการสนุกสนาน คึกคะนองกันเกินไป หรือขับรถเร็วเกินไป หรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วก็จะได้ปัญญา เห็นทางแก้ไขป้องกัน และปรับปรุงพัฒนาให้เป็นประโยชน์ข้างหน้าต่อไป มนุษย์ก็เจริญงอกงามได้

ในทางตรงข้าม ถ้าเรายกให้พระราหูก็จบเท่านั้น ปัญญาหยุดเจริญ ไม่งอกงาม ไม่พยายามหาทางป้องกันและแก้ปัญหาด้วยตนเอง ได้แต่รอเทวดาหรือดวงดาวมาแก้ให้ เรียกว่าตกอยู่ในความประมาท เพราะฉะนั้นท่าทีแห่งการวิจัยนี้จึงสำคัญอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าจึงตรัสท่าทีนี้ไว้เป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของอุบาสกอุบาสิกา น่าจะวิจัยว่าสังคมไทยนี้เข้าถึงพระพุทธศาสนาแค่ไหน เพียงคุณสมบัติเบื้องต้นขั้นพื้นฐานของอุบาสกอุบาสิกาก็ไปไม่ถึงแล้ว

เป็นอันว่าต้องมีจิตใจที่มุ่งสู่การวิจัย เมื่อเกิดอะไรขึ้นมาต้องใช้ปัญญา คิดสืบค้นหาเหตุปัจจัยของมัน หาความจริงให้ได้ และหาทางแก้ไขทำให้มันดีให้ได้ สองอย่างนี้ถ้ามีอยู่ คือมีฉันทะอยู่ การวิจัยก็จะตามมาและก็จะได้ผลดี มนุษย์ก็เจริญพัฒนา ปัญญาที่ได้ก็มาช่วยให้ชีวิตและสังคมดีขึ้น นี้เป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องพยายามสร้างกันให้ได้ คือจิตใจของผู้มีนิสัยแห่งการวิจัยตลอดเวลา

คุณสมบัติสำคัญอีกประการหนึ่งในสังคมประชาธิปไตยคือ การให้ความเห็น หรือแสดงความคิดเห็น ซึ่งไม่ใช่แค่แสดงไปตามความรู้สึก แต่ต้องแสดงด้วยความรู้จริง

เวลานี้เป็นปัญหามาก สังคมประชาธิปไตยจะพัฒนาได้ต้องมีการแสดงออก ด้วยการแสดงความคิดเห็นที่เกิดจากปัญญา และปัญญานั้นก็ต้องมาจากการวิจัย จากการที่ได้คิดค้นหาเหตุผล พิจารณาไตร่ตรองหาความจริงและมุ่งหาความดีให้ได้ด้วยปัญญานี้แล้วจึงจะพูดหรือแสดงความเห็นออกมา ไม่ใช่แสดงแค่ความรู้สึก ถ้าเอาแค่ความรู้สึกแล้ว ประชาธิปไตยจะพัฒนาได้ยาก

รวมความตอนนี้ก็คือ เราต้องยอมรับความจริงว่าชีวิตที่ดีเป็นชีวิตแห่งการศึกษา และการวิจัยเป็นส่วนสำคัญของการศึกษา เพราะทำให้เกิดปัญญา การวิจัยนั้นจึงจะต้องเป็นส่วนสำคัญของชีวิตของเรา ไม่ใช่เป็นเพียงกิจกรรมในสังคมเท่านั้น แต่จะต้องให้มีจิตใจแห่งการวิจัยอยู่ในมนุษย์ทุกคนเลยทีเดียว แล้วเราก็มาเทียบดูระหว่างการศึกษากับการวิจัย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.