ต่อไปวิธีสร้าง ความสุขแบบที่ ๔ เป็นการนำเอาศักยภาพของมนุษย์มาใช้ให้ถูกต้องอีกอย่างหนึ่ง
มนุษย์นี้เป็นสัตว์พิเศษที่มีความสามารถอย่างที่พูดเมื่อกี้ว่าได้สร้างโลกแห่งสมมติขึ้นมา แต่มาพลาดตรงที่เพลินหลงไปจนแปลกแยกจากกฎธรรมชาติ ความสามารถนี้ก็เกิดจากการมีศักยภาพในการปรุงแต่งสร้างสรรค์
มนุษย์มีศักยภาพในการที่จะปรุงแต่งสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นเขาจึงสามารถประดิษฐ์อะไรต่างๆ ขึ้นมา โดยเฉพาะเทคโนโลยี ที่ทำให้เกิดรถยนต์ เครื่องบิน ยานอวกาศ คอมพิวเตอร์ ดาวเทียม ฯลฯ จนเกิดมีโลกของมนุษย์ขึ้นมาอย่างที่พูดไปแล้ว แต่ทั้งหมดนี้เป็นการปรุงแต่งสร้างสรรค์ประดิษฐ์วัตถุภายนอก
การที่จะประดิษฐ์สร้างสรรค์ภายนอกได้ ก็ต้องเกิดจากภายใน คือความคิด หมายความว่า มนุษย์มีความสามารถในการคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ แต่พึงสังเกตว่า ความสามารถคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์นี้ เขาเอาออกมาใช้ข้างนอก โดยไปประสานกับความเชื่อที่ว่าความสุขขึ้นต่อการเสพวัตถุ เขาก็เลยเอาศักยภาพนี้ไปใช้ในการประดิษฐ์ปรุงแต่งสร้างสรรค์วัตถุที่จะเอามาเสพเสียมากเกินไป เอียงไปข้างเดียว จนเสียดุลยภาพอีก นี่เป็นการเสียดุลยภาพอันดับที่เท่าไรแล้วลองนับดูเอง
เมื่อมนุษย์มีความสามารถนี้ เขาลืมไปว่า นอกจากใช้ความสามารถในการคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์สิ่งภายนอกแล้ว อีกด้านหนึ่งก็คือ ในจิตใจของตัวเอง มนุษย์ก็มีความสามารถในการปรุงแต่งทุกข์และสุขของตนเองด้วย
มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย ทุกข์และสุขของมนุษย์เป็นสิ่งที่เกิดจากการปรุงแต่งของตนเองอย่างมาก ต่างจากสัตว์อื่นทั่วไปที่มีสุข-ทุกข์ส่วนใหญ่อยู่แค่สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และความรู้สึกล้วนๆ เช่นที่เกี่ยวกับความผูกพันหวงแหนโกรธกลัว โดยไม่มีการคิดปรุงแต่งซ้อนเข้าไป ต่างจากมนุษย์ที่ความสุข-ความทุกข์ส่วนใหญ่เกิดจากการปรุงแต่งสร้างสรรค์ในใจของตนเอง
มนุษย์นั้นนอกจากรับประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสเข้ามาและมีความรู้สึกพื้นฐานแล้ว ยังเอาประสบการณ์และความรู้สึกนั้นมาคิดปรุงแต่งซ้อนเสริมขยายออกไปอีก ซึ่งเป็นศักยภาพพิเศษของมนุษย์ ดังนั้นมนุษย์จึงมีความทุกข์ที่แปลกจากสัตว์อื่น เช่น มีความกลุ้มใจ ความกังวล ความเครียด ที่สัตว์แทบไม่มี
เป็นที่น่าสังเกตว่า มนุษย์ส่วนมากไม่รู้จักใช้และไม่รู้จักพัฒนาศักยภาพนี้ ดังนั้นแทนที่จะปรุงแต่งดีในทางที่เป็นสุข จึงกลับปรุงแต่งทุกข์ให้ตนเอง เพราะฉะนั้นแทนที่จะเก่งกว่าสัตว์ ก็เลยแย่กว่าสัตว์อื่น เพราะว่าสัตว์อื่นเรียกได้ว่าไม่มีทุกข์ประเภทนี้
เนื่องจากความทุกข์ประเภทปรุงแต่งในจิตใจนี้ มนุษย์จึงมีปัญหาจากอารยธรรม จากการมีวิถีชีวิตแห่งความเจริญก้าวหน้าที่ตนเองในฐานะเป็นสัตว์พิเศษภูมิใจนักหนา แต่กลับมีความทุกข์มากกว่าสัตว์อื่น อย่างที่บอกเมื่อกี้ เช่น ความกลุ้มใจ ความกังวล ความเครียด และแม้กระทั่งการคิดจนเสียสติ ที่สัตว์ทั้งหลายไม่มี
ในเมื่อเรามีความสามารถในการปรุงแต่งอยู่แล้ว ไฉนจึงไม่ใช้ความสามารถนั้นปรุงแต่งความสุข เราสามารถปรุงแต่งความทุกข์ได้ฉันใด เราก็สามารถปรุงแต่งความสุขได้ฉันนั้น แต่ต้องฝึกต้องหัด และการฝึกหัดปรุงแต่งสร้างสรรค์ความสุขนี้ ย่อมเป็นการศึกษาส่วนหนึ่งที่สำคัญ
การศึกษาที่จัดกันอยู่จะบกพร่องไปหรือเปล่า จึงมัวแต่พัฒนามนุษย์ให้มุ่งหาความสุขจากภายนอก จนลืมพัฒนาศักยภาพในการปรุงแต่งความสุขในจิตใจ
การที่พุทธศาสนาสอนเรื่องกรรมฐาน การทำสมาธิ เรื่องจิตตภาวนาต่างๆ ก็คือการพัฒนาศักยภาพในการปรุงแต่งความสุข พร้อมทั้งเลิกละการปรุงแต่งทุกข์
ไม่เฉพาะสมาธิ หรือจิตตภาวนา ซึ่งเป็นวิธีทางจิตเท่านั้น ที่นำมาใช้พัฒนาความสุข วิธีทางปัญญา เป็นวิธีพิเศษ ที่ใช้สูงขึ้นไปจนถึงขั้นเด็ดขาด โดยเฉพาะโยนิโสมนสิการใช้ได้ผลดีทุกระดับ ตั้งแต่การปฏิบัติในชีวิตประจำวันเป็นต้นไป
มนุษย์เก็บอารมณ์คือสิ่งที่ประสบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และที่รู้สึกนึกคิดในใจของตน รวมทั้งความทรงจำต่างๆ เอามาเป็นข้อมูล แล้วก็ใช้ความสามารถพิเศษปรุงแต่งสุขและทุกข์ขึ้นในใจของตน แต่คนส่วนมากปรุงแต่งทุกข์มากกว่าปรุงแต่งสุข
สิ่งที่พบเห็นในโลกนี้ย่อมมีทั้งดีและร้ายเป็นธรรมดา แต่คนชอบไปจับจุดที่จะทุกข์มากกว่า ลองมีอารมณ์คือสิ่งเร้าหรือประสบการณ์เข้ามาสิ เราจะรับอันไหน อันไหนที่กระทบใจในทางขัดเคืองคนมักจับเอาก่อน และติดข้องเก็บเอามา อะไรกระทบในทางที่จะก่อให้เกิดทุกข์นี่จะเอาก่อน และพะนอไว้ ฉะนั้นมนุษย์จึงฝึกหัดพัฒนาตนเองในทางร้ายโดยไม่รู้ตัว
ขณะที่ตัวเองมีศักยภาพที่จะปรุงแต่งอยู่แล้ว เมื่อไม่พัฒนามันในทางที่ดี ก็เลยฝึกหัดพัฒนาตนเองในการปรุงแต่งทุกข์มาก เป็นการสร้างความเคยชิน พอเจออะไรก็ปรุงแต่งในทางที่จะสร้างทุกข์ทันที กระทบปั๊บ ขัดใจปุ๊บ เก็บมาคิดให้กลุ้ม แล้วก็กังวลเรื่อยไป นี่คือการที่เราปรุงแต่งพัฒนาความทุกข์ขึ้นมา เราก็เลยกลายเป็นนักปรุงแต่งความทุกข์ เรียกว่าใช้ความสามารถในทางที่ผิด
เพราะฉะนั้นการศึกษาจะต้องเข้ามาทำหน้าที่ โดยช่วยพัฒนาความสามารถในการปรุงแต่งความสุข เช่น ฝึกให้ใช้โยนิโสมนสิการ ต่ออารมณ์หรือประสบการณ์ที่ได้รับ ไม่ว่าอะไรเข้ามา ก็วางใจให้ถูก รู้เท่าทัน และคิดเป็น เช่น มองตามเหตุปัจจัย คิดในเชิงปัญญา มองหาประโยชน์ให้ได้ มองให้เป็นดีได้หมด แต่อย่าหลอกลวงตัวเองนะ เพราะมองในแง่ดี ถ้าหลอกลวงตัวเองก็อาจจะเสียไม่คุ้มได้
ที่ว่าโยนิโสมนสิการ ให้มองเป็น ก็ต้องมองให้เห็นความจริง คือมองหาความจริงให้ได้ อย่างหนึ่ง และมองให้เห็นประโยชน์ คือมองหาประโยชน์ให้ได้ อย่างหนึ่ง เป็นการประสานจิตกับปัญญา เอาปัญญามาปรับและนำจิต
ถ้าเรารู้ว่าปรุงแต่งอย่างนี้ๆ จะเป็นโทษแก่จิตใจของเรา เราก็ไม่เอา เราต้องปรุงแต่งให้เป็นประโยชน์แก่จิตใจ เมื่อมีทางเลือก และมนุษย์ก็มีความสามารถอยู่อย่างนี้ เราจึงหัดได้ แต่เพราะเราอาจจะเคยชินกับการปรุงแต่งทุกข์นี่มานานจนกระทั่งจิตมันลงร่อง เพราะฉะนั้นจึงแก้ยาก จึงต้องฝึกต้องหัด
เพราะฉะนั้นเราก็มาหัดปรุงแต่งสุข พบอารมณ์อะไรเข้ามา จะปรุงแต่งตามที่เคยชินในทางไม่ดี สติก็ทัน นึกได้ สกัดไว้ แล้วส่งให้ปัญญาปรุงแต่งให้เป็นสุขต่อไป กลายเป็นดีทั้งหมด แล้วก็จะเป็นคนสุขง่ายด้วย กลายเป็นคนมีความสามารถในการที่จะมีความสุข ซึ่งไปเกื้อหนุนความสุขข้อก่อนที่พูดไปแล้ว
เพื่อให้เห็นแนวทางเชิงปฏิบัติ ขอยกตัวอย่างการใช้โยนิโสมนสิการง่ายๆ ในชีวิตประจำวันสักนิดหน่อย เช่น คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้คนมากๆ โดยเฉพาะกับคนที่มีปัญหาทางกายบ้าง ทางใจบ้าง เช่น แพทย์และพยาบาลที่ต้องพบกับคนเจ็บไข้และญาติผู้ป่วย หรือคนที่ทำงานบริการแก่คนสารพัดแบบ จะมีบ่อยๆ ที่เจอคนแสดงหน้าตากิริยาวาจาที่ไม่น่าพอใจ ถ้ามองการกระทำและคำพูดของคนเหล่านั้น ด้วยท่าทีแบบชอบใจหรือไม่ชอบใจ ก็เป็นการเอาตัวออกไปรับกระทบ หรือเอาอัตตาออกรับ ก็จะเกิดความโกรธ ขัดเคือง หงุดหงิด เป็นต้น เป็นปัญหาก่อทุกข์แก่ตนเอง และไม่ดีต่อการงาน บางทีเกิดเรื่องเกิดราวบานปลายออกไป
ในสถานการณ์อย่างนี้ อาจใช้โยนิโสมนสิการมากันและแก้ปัญหาได้หมด นอกจากไม่มีอัตตาที่จะรับกระทบให้เกิดปัญหาแล้ว ยังจะได้ประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น เป็นการพัฒนาชีวิตไปด้วย เช่น
- มองเป็นสนุกไปหมด ว่าได้พบเห็นผู้คนมากมาย มีหน้าตาท่าทางต่างๆ ไม่เหมือนกันเลย บึ้งบ้าง ยิ้มบ้าง ดุบ้าง แหยบ้าง ฯลฯ คนนั้นอย่าง คนนี้อย่าง ดูน่าขำ
- มองเป็นข้อมูลของการเรียนรู้ ว่าได้พบเห็นผู้คนมากมายต่างๆ กัน เป็นโอกาสที่จะได้ศึกษา เรียนรู้ชีวิตของคนและความเป็นไปในสังคม มองดูโดยไม่ติดใจข้องใจกับอาการที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ แต่มองเพื่อหาความรู้ความเข้าใจจากชีวิตของคน
- มองเป็นบททดสอบว่า คนเราอยู่ในโลกต้องเจอะเจอสถานการณ์ต่างๆ ทั้งดีและร้าย โดยเฉพาะคนที่เรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เมื่อพบเห็นอาการกิริยาวาจา ที่กระทบกระทั่งเป็นต้น ก็มองเป็นเครื่องทดสอบตนเองว่า เราเข้มแข็งพอที่จะผ่านสถานการณ์อย่างนี้ไปได้ด้วยดีหรือไม่ เราใช้ธรรมได้สำเร็จผลไหม
- มองเป็นแบบฝึกหัด หรือสนามปฏิบัติการในการพัฒนาตนว่า คนเราจะพัฒนาได้ด้วยการทำแบบฝึกหัด หรือฝึกตนในการแก้ปัญหา ถ้าไม่เจอปัญหาหรือสถานการณ์ที่ยาก โอกาสที่จะพัฒนาก็มีน้อย จึงเป็นโอกาสดีแล้วที่ได้พบสถานการณ์แปลกๆ และปัญหาต่างๆ ที่เราจะได้ฝึกหัดพัฒนาตนอย่างดี แทนที่จะขุ่นมัวหรือทุกข์ กลับดีใจชอบใจ และพยายามคิดปรับตัว ฝึกตัวแก้ไขสถานการณ์
- มองตามเหตุปัจจัย โดยเฉพาะมองในเชิงที่จะเข้าใจ เห็นใจเขา และจะช่วยแก้ปัญหา เช่น มองว่าคนนี้หน้าตาบึ้ง พูดไม่น่าฟัง เหมือนโกรธ เขาคงมีอารมณ์ค้างมาจากบ้าน หรือระหว่างเดินทาง เขาอาจกำลังมีความทุกข์ใจหรือห่วงกังวล เช่น ห่วงลูก ไม่มีเงิน กังวลกับโรคภัยของตน ฯลฯ ถ้าได้โอกาสจะสอบถามดู ถ้าช่วยแก้ปัญหาของเขาได้ก็ยิ่งดี ถ้าไม่ได้อะไร แค่ช่วยปลอบใจ หรือให้เขาได้บรรยากาศเบาๆ สบายๆ พักใจให้สงบ ก็ยังดี
- มองแบบปลงใจตามกรรมของคน ถ้ารู้เห็นชัดอยู่ว่าเขาไม่มีทุกข์หรือปัญหาอะไร เราพยายามทำดีอย่างไรเขาก็ยังร้าย ก็มองได้ว่าเขาเป็นคนที่น่าสงสาร คนที่เป็นอย่างนี้ จะมีแต่เรื่องยุ่งก่อปัญหาแก่ตนเองเรื่อยไป แต่เราก็ทำให้เขาอย่างดีที่สุด ได้เท่าไรก็เท่านั้น แล้วก็ผ่านไป แต่เขาเองนั่นแหละ เมื่อไปในที่ต่างๆ ก็จะต้องพบความลำบากขัดข้องในเวลาข้างหน้ามากมาย น่าห่วงใยอนาคตของเขา
การรู้จักคิดด้วยโยนิโสมนสิการนี้ หาทางออกในการแก้ปัญหา เปิดทางเดินให้แก่จิตใจ เปลี่ยนทุกข์เป็นสุข หรือพลิกสถานการณ์ร้ายให้กลับเป็นดี ทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้ในทุกกรณี จึงยกตัวอย่างได้มากมาย แม้แต่ในเรื่องที่คนทั่วไปมองไม่เห็นแง่ดี คนมีโยนิโสมนสิการ ก็มองเห็นช่องทางและแง่มุมที่เป็นความจริงและเป็นประโยชน์จริง ที่มิใช่เป็นเพียงการปลอบใจหรือกล่อมใจ
หลายคนเกิดมายากจน ก็น้อยใจในภาวะต่ำต้อยด้อยค่า รู้สึกเศร้าหมองและท้อแท้ มองเห็นคนอื่นที่ร่ำรวยสุขสำราญ ก็เป็นทุกข์ในการที่ตนขาดไร้สิ่งบำรุงบำเรอความสุข แต่คนมีโยนิโสมนสิการ มองเห็นว่า จะเกิดมาในสถานะไหนก็ตาม ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบตายตัว คนเกิดมารวยอาจเป็นความเสียเปรียบก็ได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกฝนเรียนรู้ ยิ่งมีแบบฝึกหัดมาก และสู้ทำแบบฝึกหัดเหล่านั้น ชีวิตก็จะยิ่งพัฒนา คนที่เติบโตมาในความสุขสบาย มักไม่ได้และไม่หาแบบฝึกหัดให้แก่ชีวิต จึงมักอ่อนแอและขาดการพัฒนาหลายด้าน ความยากจนขาดแคลนเป็นสถานการณ์ท้าทายความเข้มแข็ง และเป็นโอกาสให้ได้พบได้ทำแบบฝึกหัดมาก เราจะต้องใช้โอกาสและทำแบบฝึกหัดให้เต็มที่ พอคิดอย่างนี้ นอกจากไม่มัวทุกข์ระทมตรมใจ ไม่มัวเศร้าหมอง ระย่อท้อแท้แล้ว ยังเกิดความเข้มแข็งแกล้วกล้า จิตใจมีพลัง กระปรี้กระเปร่า และมีความสุขสดชื่นได้ด้วย
คนทั่วไป จะทำงานก็อยากให้ง่ายให้สะดวก ถ้าพบงานยาก ก็ไม่ชอบ ก็ฝืนใจ จำใจทำ จิตใจเป็นทุกข์ แล้วเลยพลอยทำไม่ได้ผลดี แต่คนมีโยนิโสมนสิการกลับมองเห็นตรงข้าม และพลิกสภาพจิตให้กลายเป็นดี เพราะมองเห็นว่าคนเราจะพัฒนาได้ดี เมื่อได้ทำแบบฝึกหัดมากๆ งานอะไรง่าย เดี๋ยวเดียวผ่าน เดี๋ยวเดียวเสร็จ ก็แทบไม่ได้เรียนรู้ไม่ได้ฝึกอะไรเลย แต่ถ้างานอะไรยาก ก็จะได้ฝึกได้เรียนรู้ ได้พัฒนา กว่าจะผ่านไปก็จะได้ความจัดเจน ฝึกจิตใจและเกิดปัญญามากมาย ดังนั้น ยิ่งงานยาก ก็ยิ่งได้เรียนรู้ฝึกหัดพัฒนามาก ยิ่งเจอปัญหา ก็จะยิ่งได้ประสบการณ์ในการฝึกปัญญา นักฝึกตนจึงมีคติว่า ยิ่งยาก ยิ่งได้มาก ดังนั้น เจองานยาก ก็ไม่ทุกข์ แต่สามารถชอบใจ ดีใจ เต็มใจ ตัวเองก็ทำงานยากด้วยความสุข และตั้งใจทำ งานก็ได้ผลดี
นี่เป็นตัวอย่างที่โยนิโสมนสิการ มาชี้นำเปิดทางเลือกให้จิตเดินได้มากมาย ไม่อับจนตันติดอยู่ในทุกข์และปัญหา
รวมความว่า วิธีปฏิบัติในพุทธศาสนา ในระดับการพัฒนาจิตปัญญา มองด้านหนึ่งก็เป็นข้อปฏิบัติเพื่อพัฒนาศักยภาพในการปรุงแต่งสร้างความสุขนั่นเอง และที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเป็นระบบองค์รวมแห่งบูรณาการ
ในการฝึกฝนพัฒนาคน ไม่ว่าจะมองที่ขั้นไหน จุดไหน ก็มีการพัฒนาพร้อมกันไปทุกด้านสัมพันธ์กันอยู่ และความสุขก็เป็นองค์ประกอบด้านหนึ่งของชีวิต ที่พัฒนาไปด้วยกันกับคุณสมบัติอื่นๆ ทุกจุดทุกตอน