ขอต่อไปอีกสักข้อหนึ่ง คือ ความประสานสอดคล้องระหว่างคุณธรรมภายใน กับพฤติกรรมภายนอก อันนี้ก็สำคัญและเป็นบูรณาการอย่างหนึ่งเหมือนกัน บางทีเราไม่ทันนึก แล้วเราก็เกิดความสับสน
เมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาที่ว่ามาเมื่อกี้นั้น เป็นคุณธรรมภายใน เวลาแสดงออกภายนอก ยังมีหลักในด้านพฤติกรรมอีกชุดหนึ่งมารับช่วง หรือมาสืบทอดงานต่อออกไป
อะไรที่จะมาสืบทอดช่วยให้คุณธรรมภายในใจนี้บรรลุผล โดยแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมในสังคมอย่างสมบูรณ์ ก็ต้องมีธรรมในฝ่ายพฤติกรรมมารับ ในที่นี้ก็เอาพรหมวิหารเป็นตัวอย่างอีก
พรหมวิหาร ๔ นี้เป็นคุณธรรมในใจ เวลาแสดงออกไปข้างนอก จะมีหลักธรรมอีกหมวดหนึ่งมารับช่วงไป ซึ่งก็เป็นชุดเหมือนกัน และมีเท่ากัน เป็นระบบบูรณาการ เรียกว่า สังคหวัตถุ ๔ ธรรมชุดนี้เป็นระดับสังคม แปลว่า หลักการสังคหะ หรือสงเคราะห์
สงเคราะห์นั้นไม่ได้แปลอย่างภาษาไทย แต่แปลว่าประมวล รวบรวม ผนึก ประสาน ทำให้กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือทำให้เกิดเอกภาพ พูดสั้นๆ ว่า ทำให้รวมเป็นหนึ่ง เราเอาสงเคราะห์นี้มาใช้ในภาษาสมัยใหม่เป็น “สังเคราะห์” คือเอาองค์ประกอบต่างๆ มาจัดสรรรวมกันเข้า ทำให้เป็นอันหนึ่งขึ้นมาใหม่ แต่ที่จริงภาษาเดิมเขาแปลว่า “รวมเข้าด้วยกัน”
หลักการสงเคราะห์นี้มี ๔ ข้อ มาต่อทอดกับคุณธรรมภายในที่เรียกว่าพรหมวิหาร ๔ ขอให้ดูว่ามันมารับต่อกันไปอย่างไร ตอนนี้จำไว้ก่อนว่าพรหมวิหาร ๔ เป็นคุณธรรมในใจ ยังไม่ออกเป็นพฤติกรรม เวลาออกเป็นพฤติกรรมกลายเป็นสังคหวัตถุ ๔
ต้องดูสังคหวัตถุว่ามีอะไรบ้างก่อน แล้วจึงมาดูว่ามันรับกันอย่างไร
๑) ทาน แปลว่า การให้ การเผื่อแผ่แบ่งปัน นี้คือจุดเริ่มการปฏิบัติในพุทธศาสนา เพราะมนุษย์อยู่กับวัตถุอยู่กับปัจจัย ๔ ชีวิตวุ่นวายกับเรื่องนี้เป็นเบื้องต้น เมื่อคนมาอยู่รวมกัน การเกื้อกูลจึงต้องมีการแบ่งปันให้กันเป็นอันดับหนึ่ง
๒) ปิยวาจา การพูดจาด้วยน้ำใจรักปรารถนาดีต่อกัน หรือมีวาจาน่ารัก
๓) อัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์ ช่วยเหลือกันด้วยเรี่ยวแรงกำลังความสามารถ
คนเราจะช่วยกันก็มี ๓ อย่างนี้เป็นหลัก คือ หนึ่ง ช่วยด้วยสิ่งของ สอง ช่วยด้วยถ้อยคำ ปลุกปลอบใจ แนะนำบอกวิธีแก้ปัญหา ให้ความรู้ความเข้าใจ และสาม ช่วยด้วยเรี่ยวแรงกำลังความสามารถ สามอย่างนี้เป็นหลักในการช่วยเหลือกันระหว่างมนุษย์
เมื่อมนุษย์ช่วยเหลือกันตามหลักการอย่างนี้ ก็จะทำให้สังคมเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีเอกภาพ แต่ก็ยังไม่ครบอีกนั่นแหละ มี ๓ ข้อนี่ยังไม่ครบ ดูคล้ายๆ ว่าในการช่วยเหลือกันมันก็น่าจะพอแล้ว เพราะเราก็ช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของบ้าง ช่วยเหลือกันด้วยถ้อยคำบ้าง ช่วยเหลือกันด้วยเรี่ยวแรงกำลังบ้าง ก็แค่นี้เป็นธรรมดา
อนึ่ง เวลาเราช่วยกันตามหลัก ๓ ข้อนี้ พฤติกรรมก็แสดงออกมาโดยประสานกับคุณธรรมภายในใจ จาก ๓ X ๓ เป็น ๙ สถานการณ์ คือ
๑) ทาน เราให้ในสถานการณ์อะไรบ้าง
๑. ให้ในยามปกติ เพื่อแสดงเมตตาไมตรี แม้ว่าเขาจะไม่ได้ทุกข์ยากเดือดร้อนเลย เราก็ให้ เช่นเป็นเพื่อนกัน เป็นญาติพี่น้องกัน เขาก็อยู่เป็นปกติ บางทีเราได้ของอะไรมามาก เราก็แบ่งให้แสดงน้ำใจ หรือเราไปที่ไหนก็เอาของฝากมาให้คนที่เรารัก อย่างนี้เรียกว่าให้ด้วยเมตตา
๒. บางครั้งเราให้ด้วยกรุณา คือ เมื่อเขาเกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน เจ็บไข้ได้ป่วย หรือมีภัยพิบัติ ประสบอัคคีภัย ประสบภัยธรรมชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็เอาสิ่งของอาหารเครื่องนุ่งห่มไปให้
๓. ให้ด้วยมุทิตา คือ เขาทำสิ่งที่ดีงาม ทำประโยชน์สร้างสรรค์ความดีก้าวหน้าไป เงินทุนอาจจะไม่พอ เราก็เอาเงินทุนไปช่วยสนับสนุนคนทำความดีทำความก้าวหน้าในทางที่ดีงาม นี่คือ เอาทานไปช่วยด้วยมุทิตา
แสดงว่าทานนี้ทำด้วยจิตใจ ๓ แบบ
๒) ปิยวาจา พูดดี ก็ทำใน ๓ สถานการณ์เหมือนกัน
๑. เวลาอยู่เป็นปกติสุข เราก็พูดจากันด้วยดี สุภาพไพเราะอ่อนหวาน เรียกว่าพูดดีด้วยเมตตา
๒. เวลาเขามีทุกข์ประสบปัญหา เราก็พูดดี คือ ไปปลุกปลอบใจเขา ปลอบโยน หรือแนะนำวิธีแก้ไขปัญหา ให้ความรู้ ให้ทางออก บอกทางให้ เป็นการช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์ของเขา เรียกว่าพูดดีด้วยกรุณา
๓. เวลาเขาประสบความสำเร็จ ทำสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เราก็เอาวาจาไปช่วยพูดสนับสนุน อย่างน้อยก็ให้กำลังใจ หรือพูดบอกช่องทางที่จะทำให้งานเดินยิ่งขึ้นก็ได้
๓) อัตถจริยา ก็เหมือนกัน ช่วยด้วยเรี่ยวแรงกำลังใน ๓ สถานการณ์
๑. เขาอยู่เป็นปกติสุข เราเป็นเพื่อนหรือเป็นเพื่อนบ้านกัน ก็เอากำลังกายเข้าช่วย เช่น เขาถือของมาหนัก เขาก็ถือไหว แต่เรามือว่างอยู่ เราก็แบ่งมาช่วยถือบ้าง หรือว่า เขาทำงานอยู่ เราบังเอิญมาอยู่ในที่นั้น เขาวุ่น เราก็ไปช่วยหยิบของสิ่งนั้นสิ่งนี้มาให้ เป็นการบริการด้วยเมตตา
๒. บริการด้วยกรุณา เวลาเขาเดือดร้อนเป็นทุกข์ เช่น ตกน้ำตกท่า เราก็กระโจนน้ำไปช่วย หรือเขาเจ็บไข้ได้ป่วย หรืออ่อนแอ ข้ามถนนไม่ไหว เดินไม่ไหว เราก็ไปประคับประคอง เช่นช่วยท่านผู้ชราสูงอายุ เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่าเอาแรงเข้าช่วยบริการด้วยกรุณา
๓. บริการด้วยมุทิตา เวลาเขาทำความดีอะไรกัน เราก็ไปเอาแรงเข้าช่วย เช่น สมัยก่อน เวลามีงานวัดทำสิ่งที่ดีงามช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ ชาวบ้านก็เอาแรงเข้าไปช่วยทำ ร่วมมือสนับสนุน อย่างนี้เรียกว่า อัตถจริยาด้วยมุทิตา
รวมทั้งหมด ๓ คูณ ๓ เป็น ๙ นี้คือความสอดรับกันระหว่าง ๒ ด้าน คือ คุณธรรมภายในใจ กับพฤติกรรมทางกายวาจาภายนอก ถ้าคุณธรรมภายในไม่แสดงออกเป็นพฤติกรรมในทางสังคม คุณธรรมนั้นก็ขาดตอน จะไม่บรรลุผลที่หมาย
เคยมีฝรั่งที่มองพุทธศาสนาผิดๆ อาจจะเป็นเพราะพวกเราเองปฏิบัติกันไม่ครบ เลยทำให้ฝรั่งชื่อ Professor Robert L. Sutton เอาไปว่า เขาเขียนไว้ในหนังสือ Public Administration in Thailand โดยอ้างข้อเขียนของ Dr.Albert Schweitzer อีกต่อหนึ่ง
โรเบิร์ต แอล. ซัตตัน เข้ามาวิเคราะห์สังคมไทย ในตอนที่ตั้งคณะรัฐประศาสนศาสตร์ใหม่ๆ ที่ธรรมศาสตร์ ยังไม่แยกไปตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
โปรเฟสเซอร์ โรเบิร์ต แอล. ซัตตัน เขียนหนังสือวิเคราะห์สังคมไทยขึ้นมา และบอกว่าพุทธศาสนาเป็นสถาบันที่ขัดขวางการพัฒนาประเทศ และแกยกตัวอย่างข้อความที่ ดร.อัลเบิร์ต ชไวเซอร์ ได้พูดไว้ว่า พุทธศาสนาสอนให้ทำความดี แค่ให้เว้นความชั่ว แล้วไม่ต้องไปทำอะไร ได้แต่นั่งภาวนาแผ่เมตตาขอให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุข เป็นสุขเถิด พูดง่ายๆ ว่านอนแผ่เมตตาอยู่ในมุ้ง ไม่ต้องทำอะไร ว่าอย่างนั้น
นี่ฝรั่งมองผิด หรือว่าคนไทยทำให้เขามองผิดก็แล้วแต่ รวมแล้วโปรเฟสเซอร์ซัตตันก็ไม่รู้จักระบบธรรมในพุทธศาสนาอย่างที่กำลังพูดอยู่นี้ (เขาไม่เคยได้ยินหลักสังคหวัตถุเลยด้วยซ้ำ)
ขอให้สังเกตว่า ในคำสอนภาคปฏิบัติ เช่น คิหิวินัย (วินัยของชาวบ้าน) ที่มีข้อปฏิบัติมากมาย แสดงหลักสังคหวัตถุไว้ แต่ไม่กล่าวถึงเมตตากรุณาเลย เพราะเป็นคนละภาคกัน