พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยจิตวิทยาแบบยั่งยืน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ด้วยบูรณาการในระบบดุลยภาพ
พอเริ่มพัฒนาคน ความสุขก็เริ่มพัฒนา

ขอยกตัวอย่างการฝึกพฤติกรรมอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับสภาพของมนุษย์ที่อยู่ในสังคมปัจจุบันนี้ ที่ผู้คนพากันมุ่งหวังความสุขจากวัตถุ เราถือว่าถ้าเราได้วัตถุมามากๆ เรามีสิ่งเสพบริโภคมากๆ มีเครื่องบำเรอตาหูจมูกลิ้นกายมากๆ เราก็มีความสุขมาก เพราะฉะนั้นเราก็จะมีความสุขจากการได้การเอา เพราะวัตถุเป็นของภายนอก ไม่ได้มีอยู่กับเรา เราไม่ได้เกิดมาพร้อมด้วยวัตถุเหล่านี้ แต่เราต้องอาศัยวัตถุเหล่านี้ในการที่จะมีความสุข การที่เราจะมีวัตถุมาเสพเราก็ต้องได้มา เราจึงต้องหา เราจึงพยายามให้ได้มา

เมื่อเป็นอย่างนี้ การได้จึงมีความหมายสำคัญสำหรับมนุษย์ในยุคที่อยู่กับความสุขทางวัตถุ เราจะได้ ก็คือจะต้องเอามา เมื่อต้องได้ต้องเอา และเกิดความต้องการที่จะได้จะเอาขึ้นมา ความสุขของเราก็อยู่ที่การได้การเอา จิตใจมนุษย์ก็จะนึกถึงแต่การที่จะได้หรือเอาให้ได้มา ความสัมพันธ์ของมนุษย์ในยุคปัจจุบันจึงวนเวียนอยู่ที่การจะได้จะเอาวัตถุ นี่คือจุดเน้นของสภาพชีวิตและการดำเนินชีวิตของคนยุคนี้ ยิ่งเป็นยุคทุนนิยมที่เน้นระบบผลประโยชน์ด้วยแล้ว ความคิดนึกจะอยู่ที่การได้การเอานี้มาก

ถึงตอนนี้ก็จะมีความสัมพันธ์ระหว่างด้านจิตใจกับด้านพฤติกรรมเกิดขึ้นว่า เวลาเราคิดจะได้จะเอา เราจะมีความรู้สึกอย่างไรในการสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์

สิ่งที่คู่กับได้ ก็คือให้ หรืออาจจะพูดว่าเสีย ถ้าเรามุ่งที่การได้แล้วเราต้องให้ไป เราก็จะมองเห็นว่าเราเสีย เพราะพฤติกรรมของมนุษย์ที่มองในแง่ของคุณธรรมว่าเป็นการให้นั้น ถ้ามองในด้านจิตใจ หากมีความรู้สึกฝืนใจก็เป็นการเสียอย่างหนึ่ง

การได้กับการให้นี้เป็นของคู่กัน เมื่อมนุษย์คิดถึงการได้อยู่เสมอ ต้องการได้ต้องการเอา เพื่อเราจะได้วัตถุมาเสพ แล้วเราจะมีความสุข เราก็มองไปที่วัตถุ โดยคิดว่าเราจะได้จะเอา ทีนี้ลองมาวิเคราะห์สภาพจิตดู เวลาเราคิดว่าจะได้ คิดว่าจะเอานั้น จิตของเรามุ่งมองไปที่ตัววัตถุ แล้วความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์เป็นอย่างไร

เวลาเราคิดว่าจะได้จะเอา จิตที่เรารู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์ คือ ความรู้สึกระแวง ว่าเพื่อนมนุษย์นี้จะเป็นปฏิปักษ์เป็นศัตรูหรือเป็นคู่แข่ง เพราะเวลาเราจะเอาวัตถุนั้น เราจะมีความรู้สึกขึ้นมาทันทีว่าคนอื่นก็อาจจะเอาสิ่งเดียวกับเรานี้ เขาจึงกลายเป็นคู่แข่งหรือเป็นศัตรู

สภาพจิตนี้เกิดขึ้นทันทีจากการสร้างความรู้สึกสัมพันธ์กับวัตถุในทางที่ต้องการจะได้จะเอา แล้วมันก็มีผลทางพฤติกรรมในการที่จะแย่งชิงเป็นต้น พฤติกรรมในการที่จะให้ได้มาก็จะส่อสภาพจิตอันนี้ และทำให้เกิดคุณค่าลบทางจริยธรรม คือ สภาพจิตที่มองเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่ง

จากนั้น เมื่อเรามีความสามารถมากขึ้น เราเก่งในการได้การเอามากขึ้น ถ้าเราปล่อยตัวปล่อยใจ เราก็จะก้าวไปสู่การมองเพื่อนมนุษย์เป็นเหยื่อ เพราะจิตของเรามุ่งไปที่วัตถุ เราจะเอาวัตถุ เราเอาเก่งได้เก่ง จนกระทั่งเจอใครเราจะมองเห็นเป็นเหยื่อไปหมด ในสังคมปัจจุบันนี้ระบบการแข่งขันเพื่อผลประโยชน์มีแนวโน้มที่จะทำให้มนุษย์มีสภาพจิตอย่างนี้

นี้คือตัวอย่างของการที่ระบบทางสังคมมีผลต่อชีวิตจิตใจของมนุษย์โดยไม่รู้ตัว พฤติกรรมที่เป็นระบบแล้วจะจูงสภาพจิตไปเอง ยิ่งคนที่อยู่ในสถานการณ์หาผลประโยชน์มาก เก่งในการหาผลประโยชน์ ก็จะมองเพื่อนมนุษย์เป็นเหยื่อไปหมด เขาจะครุ่นคิดจนเป็นนิสัยของจิตใจว่า เจอคนนั้นทำอย่างไรเราจะได้จากเขา จะเอาจากเขาอย่างไร เราจะใช้วิธีชักจูงใจโฆษณาชวนเชื่ออย่างไร

การโฆษณาที่บอกว่าสินค้านี้ดีอย่างนั้น มีประโยชน์อย่างนั้น ผู้ขายสินค้าและผู้โฆษณาเคยคิดถึงประโยชน์สุขของคนที่จะบริโภคบ้างไหม ขอถามจริงๆ เถอะว่า มีกี่เปอร์เซ็นต์ที่หวังประโยชน์สุขแก่ผู้บริโภคจริงๆ หรือที่แท้เขาหวังอะไร ที่จริงนั้นเขาหวังผลประโยชน์ตอบแทนแก่ตัวเขาใช่ไหม

เพราะฉะนั้นการโฆษณามากทีเดียวจึงไม่ได้มีความจริงใจ แต่เป้าหมายในใจจริงคือต้องการจะเอา แต่บอกว่านี่เพื่อประโยชน์แก่คุณนะ อย่างนี้ก็คือคนไม่มีความจริงใจ เพราะฉะนั้น ในความหมายที่ลึกลงไป ถ้าจะวิเคราะห์กัน ความบริสุทธิ์เชิงจริยธรรมก็ไม่มี แต่มันกลายเป็นการหลอกลวงชนิดหนึ่ง ซึ่งแสดงว่ามนุษย์ไม่มีความจริงใจต่อกัน

รวมความว่า ในยุคอย่างนี้ เมื่อมนุษย์มองไปที่วัตถุว่าจะได้จะเอา เขาจะมองเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่งหรือเป็นเหยื่อ

ทีนี้ถ้าเราลองตั้งจิตใหม่ในการสัมพันธ์กับวัตถุ สมมติว่าเรามองว่าจะให้ พอเราคิดจะให้ อะไรจะเกิดขึ้น พอเรามองไปที่วัตถุด้วยความคิดว่าจะให้ สภาพจิตจะเปลี่ยนทันที พอเราคิดว่าจะให้เป้าหมายของเราไปอยู่ที่คน เมื่อกี้นี้ ตอนจะเอา เป้าหมายไปอยู่ที่วัตถุ แล้วเรามีความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่งและเป็นเหยื่อ แต่พอเราคิดจะให้ เป้าหมายของการมองไปอยู่ที่คน เราจะสนใจมองหน้ามองตาเขา แล้วก็จะเห็นชีวิต เห็นความสุขความทุกข์ของเขา พอเห็นความสุขความทุกข์ของเขา ก็เกิดความเข้าใจและเห็นใจเพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้นสภาพจิตอย่างใหม่จะเกิดขึ้นทันที คือ มีความรู้สึกที่เห็นอกเห็นใจ เข้าใจ มีความสงสาร มีความเมตตาเอื้ออารี

จากที่ยกตัวอย่างมานี้จะเห็นว่า เราตั้งพฤติกรรมขึ้นมานำจิตได้ จากการโน้มจิตมุ่งไปที่การให้นี่แหละสภาพจิตจะเปลี่ยน ไม่ต้องไปมัวพูดว่า คุณจงมีเมตตานะ ที่จริงพระพุทธเจ้าทรงสอนให้ฝึกสร้างคุณธรรมด้วยการเอาวิธีปฏิบัติในทางรูปธรรมมานำอย่างมาก คือการใช้พฤติกรรมมานำจิต เพราะฉะนั้น ในพุทธศาสนาจึงสอนหลักธรรมข้อแรกคือ ทาน ซึ่งเป็นพฤติกรรมจริยธรรมในการฝึกมนุษย์ข้อแรก

ในพุทธศาสนาท่านสอนทานก่อนอื่น เพราะว่ามนุษย์มีชีวิตที่ต้องอาศัยวัตถุและยุ่งอยู่กับวัตถุมาก แต่มนุษย์นั้นวุ่นวายกับวัตถุด้วยการคิดจะได้ ซึ่งจะทำให้มนุษย์นั้นเอียงไปข้างเดียว คือ คิดแต่จะได้จะเอา วันๆ คิดแต่เรื่องนี้ เพราะฉะนั้นจึงต้องเตือนว่า อย่างนี้ชีวิตเสียดุลแล้ว มนุษย์จะได้จะเอาอย่างเดียวไม่ได้นะ ชีวิตจะเสียดุล สังคมก็จะเสียดุล ชีวิตและสังคมจะมีดุลยภาพต้องมีคู่เข้ามาคาน ได้ต้องมีให้ด้วย

ในเมื่อมนุษย์มุ่งที่จะได้ ท่านก็ให้ฝึกเรื่องแรกคือฝึกการให้ ในการฝึกการให้นั้นก็จะมีการพัฒนาคุณธรรมอื่นๆ ไปด้วย อย่างที่ว่าเพียงแค่เราเริ่มตั้งจิตจะให้ เราก็มองเพื่อนมนุษย์ด้วยสายตาอีกแบบหนึ่งแล้ว คุณธรรมเกิดทันทีเลย เพียงตั้งจิตคิดจะให้ ความเอาใจใส่สนใจเข้าใจเพื่อนมนุษย์ก็ตามมา และความรู้สึกสงสารเห็นใจก็เกิดขึ้น อันนี้เป็นการพัฒนาคุณธรรมด้วยการใช้ระบบความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมกับสภาพจิต ให้พ่วงตามกันมา เป็นบูรณาการตามหลักการที่จะให้เกิดดุลยภาพ ซึ่งขอยกมาเป็นตัวอย่าง

รวมความว่าเราใช้ ๓ องค์ร่วมนี้ในการที่จะพัฒนาคนให้เจริญพร้อมกันไป คือต้องมีทั้งพฤติกรรม และสภาพจิต แล้วก็ปัญญาหรือความรู้เข้าใจ สามอย่างนี้จะต้องมาเป็นปัจจัยเอื้อต่อกัน แล้วการพัฒนามนุษย์จึงจะครบวงจร และชีวิตจึงจะเป็นอยู่ด้วยดี

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.