จิตวิทยานั้น มองในแง่พุทธศาสนาก็เป็นเรื่องของการรู้จักมนุษย์เพื่อการพัฒนาตัวของเขาให้ได้ผลดีที่สุด หรือเพื่อให้เขาดำเนินชีวิตเป็นอยู่อย่างดีที่สุด (มิใช่เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่นเพื่อหาทางจัดการเอาเขามาสนองความต้องการของเรา หรือเพื่อหาประโยชน์จากเขาเป็นต้น) จึงไม่เป็นเรื่องต่างหากจากการศึกษา เพราะว่าพุทธศาสนามองมนุษย์ในฐานะเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และต้องพัฒนา ชีวิตที่ดีงามเกิดขึ้นได้จากการฝึกฝนพัฒนา มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงาม และสังคมจะดีงามได้ มนุษย์จะต้องฝึกฝนพัฒนา เพราะฉะนั้น จิตวิทยาจึงเริ่มจากจุดที่เป็นมนุษย์ปุถุชนนี้ขึ้นไปจนเป็นอริยชน
ในการพัฒนามนุษย์นี้ เมื่อการพัฒนาคนเกิดขึ้น สิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับคนนั้นก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพไปด้วย ยกตัวอย่างเช่นความสุข เมื่อพัฒนาคนไป ความสุขก็มีการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพด้วย หมายความว่า ความสุขก็มีการพัฒนา เกิดมีความสุขอย่างใหม่ๆ และความหมายของความสุขก็เปลี่ยนแปลงไป
อาจเป็นได้ว่าอันนี้เป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งของจิตวิทยาสมัยใหม่ เพราะจิตวิทยาปล่อยเรื่องนี้ จนดูเหมือนว่าจิตวิทยามองความสุขของมนุษย์ในความหมายอย่างเดียว คือมองเหมือนกับยอมรับเสร็จไปแล้ว และมีความเชื่อที่ตั้งอยู่บนฐานความเข้าใจว่าความสุขเป็นอย่างนี้ๆ แล้วก็ไม่ได้สงสัยว่าความสุขนี้เปลี่ยนแปลงคุณภาพได้ มีการพัฒนาได้
เมื่อพัฒนาคน คุณสมบัติทั้งหลายในตัวคนก็พัฒนาไปด้วย ความสุขก็พัฒนา โดยมีความหมายเปลี่ยนแปลงไป และมีความสุขแบบใหม่ๆ เกิดเพิ่มขึ้น สัมพันธ์กับภาวะที่ว่า มนุษย์จะมีสุขภาพจิตสมบูรณ์ เมื่อความสุขของเขาพัฒนาสูงสุด จึงจะขอพูดถึงเรื่องการพัฒนามนุษย์ในแง่ที่เกี่ยวกับความสุข เพราะถือว่าสังคมปัจจุบันมีปัญหามากในเรื่องนี้
สังคมปัจจุบันนี้เป็นสังคมแห่งการแสวงหาความสุข เมื่อแสวงหาความสุขก็มีนัยที่ส่อว่าเป็นสังคมที่ยังไม่มีความสุข เพราะว่าใครแสวงหาอะไรเขาก็ยังไม่มีสิ่งนั้น
สังคมนี้เป็นสังคมของมนุษย์ที่ไขว่คว้าแสวงหาความสุข เพราะขาดแคลนความสุข เราจึงพัฒนาคนขึ้นไปให้พ้นจากภาวะที่เป็นคนขาดความสุข ไปสู่ภาวะที่เป็นคนมีความสุขอยู่ในตัวเอง
มนุษย์มีการพัฒนาเชิงความสุขด้วย และความสุขนี้จะไปสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ข้ออื่นๆ เช่น ความสุข กับสันติ คือ ความสงบซึ่งเป็นศัพท์สำคัญในปัจจุบัน ดังที่พูดกันมากว่ามนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ต้องการสันติภาพ และความสุขก็สัมพันธ์กับอิสรภาพอีก มนุษย์จะต้องมีอิสรภาพ จึงจะมีความสุขจริงได้
เวลาพูดถึงสันติภาพ คนก็ไปแยกต่างหากเสียอีก ทั้งๆ ที่ว่าคุณสมบัติในตัวมนุษย์นี้โยงกัน มีความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยต่อกัน เราจะสร้างสันติภาพได้อย่างไร ถ้าเราไม่ใส่ใจในความสุขของเขา
มนุษย์ที่ว่ามีความสุขในขั้นแรกๆ ไม่ค่อยมีสันติ มนุษย์ที่แสวงหาความสุขในระดับแรกจะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย กระเสือกกระสน เร่าร้อนทั้งในชีวิตจิตใจของบุคคลและในสังคม วุ่นวายไปหมดในการแสวงหาความสุข ความสุขระดับแรกจึงไม่ค่อยมีสันติ บางทีจะขัดต่อสันติด้วยซ้ำ
ต่อมา เมื่อมนุษย์พัฒนาความสุขขึ้นไป ความสุขนั้นจะประกอบด้วยสันติมากขึ้น และตอนนี้มนุษย์จะเริ่มมีอิสรภาพ ในตอนแรกที่มนุษย์ไม่มีสันตินั้นก็ไม่มีอิสรภาพด้วย พอพัฒนาไปมีสันติเพิ่มขึ้นอิสรภาพก็เริ่มมา พอพัฒนาไป สันติก็เพิ่มขึ้นไป อิสรภาพก็เพิ่มขึ้นจนถึงจุดยอด ที่สุขก็สมบูรณ์ สันติก็สมบูรณ์ และอิสรภาพก็สมบูรณ์
เมื่อใดมีสุขสูงสุด สันติสูงสุด และอิสรภาพสูงสุด นั้นคือความสมบูรณ์ที่คุณภาพชีวิตทั้งสามอย่างบรรจบรวมเป็นหนึ่ง
ที่จริงสามอย่างนี้อิงอาศัยกัน จะสุขสมบูรณ์ได้ ก็ต้องสันติสมบูรณ์ และอิสรภาพสมบูรณ์ สันติสมบูรณ์ก็ต้องหมายความว่ามีสุขสมบูรณ์แล้ว และอิสรภาพก็สมบูรณ์ อิสรภาพสมบูรณ์จะถึงได้ก็ต่อเมื่อมีความสุขและสันติสมบูรณ์เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นทั้งสามอย่างนี้จะไปบรรจบกันเป็นหนึ่งเดียวเราไม่สามารถแยกมันได้
จะเห็นว่า ในสังคมตะวันตกพูดถึงเรื่องเหล่านี้แยกๆ กันไป เรื่อง happiness คือความสุข ก็พูดไปทางหนึ่ง โดยบางทีไม่ได้มองเรื่องอิสรภาพและเรื่องสันติเลย
ขณะเดียวกัน อีกพวกหนึ่งก็พูดเรื่องสันติ อย่างปัญหาปัจจุบันในโลกนี้ที่ว่าขาดสันติภาพ คนก็พูดแต่เรื่องสันติ จะหาทางระงับสงคราม ว่าทำอย่างไรจะให้คนไม่เบียดเบียนกัน พูดแต่เรื่องสันติอยู่นั่นแหละ ไม่พูดถึงในลักษณะที่สัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยกับอิสรภาพและความสุข
ส่วนอีกพวกหนึ่งก็พูดเรื่อง freedom คืออิสรเสรีภาพ อย่างอเมริกันนี่สนใจนักเรื่อง freedom เป็นสังคมที่เชิดชู freedom ถือ freedom เป็นยอดสุด ภูมิใจว่าประเทศของตัวเป็นดินแดนแห่ง freedom แต่ที่ไหนได้ หาแต่ freedom กันวุ่นวาย จนคนไม่มีความสุข และบางทีเป็น freedom ที่ทำให้ยิ่งหมดสันติ
บางทีก็พูดเฉียดเข้ามา คล้ายกับจะเห็นความสัมพันธ์ แต่มักเป็นการเอามาสัมพันธ์โดยไม่รู้ตัว หรือเพราะความต้องการของธรรมดามาเรียกร้องแล้วก็เน้นอยู่กับความหมายภายนอก
เพราะฉะนั้นจึงต้องให้สันติและสุขและอิสรภาพมาบรรจบกันทั้งภายในและภายนอก แล้วนี่คือความบรรจบที่อะไรต่ออะไรจะมาบรรจบหมด
ยังมีคุณสมบัติอีกชุดหนึ่งที่มาบรรจบกับสันติ คือชุดของปัญญา ระหว่างที่มนุษย์พัฒนาใหม่ๆ ปัญญาความรู้เข้าใจชีวิตและโลกยังไม่สมบูรณ์ เมื่อปัญญาพัฒนาสมบูรณ์ก็หมายถึงสุขสันติอิสรภาพสมบูรณ์ด้วย เพราะการที่สุขสันติอิสรภาพจะเกิดขึ้น ต้องอาศัยการพัฒนาปัจจัยของมัน ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญา คุณธรรม และความหมดทุกข์
คุณสมบัติ ๓ อย่างนี้ก็เป็นองค์ประกอบที่จะไปบรรจบที่จุดยอดอย่างเดียวกัน คือเป็นหนึ่งเดียวกับสุขสันติอิสระ แต่ในที่นี้ไม่มีเวลาจะบรรยายเรื่องนี้ยืดยาว เพียงแต่ให้เห็นแง่มุมว่า เป็นข้อที่ต้องพิจารณา เพราะเป็นเรื่องใหญ่ จะต้องให้เห็นว่ามันมาบรรจบกันอย่างไร ทั้งชุด สันติ สุข อิสรภาพ และอีกชุดหนึ่งคือ ปัญญา คุณธรรม และความหลุดพ้น
เมื่อหลุดพ้นก็คือเป็นอิสระ ซึ่งก็หมายถึงความไร้ทุกข์ด้วย เราจะมีสุขมากขึ้น เราก็ต้องทุกข์น้อยลง ซึ่งจะทำให้เรามีความวุ่นวายน้อยลง คือมีสันติ แล้วการที่เราจะมีอิสรภาพเราก็ต้องมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาเราก็ไม่สามารถบรรลุอิสรภาพได้ และเมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้นไป การที่จะมีสันติได้ก็ต้องมีคุณธรรม ถ้าไม่มีคุณธรรม เช่น เมตตา กรุณา สันติก็ไม่มา
เมื่อหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ เป็นสุขจริงแล้ว ก็จึงมีคุณธรรมได้สมบูรณ์จนกระทั่งไม่มีอะไรที่จะต้องเห็นแก่ตัว เพราะไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเอง รวมทั้งไม่ต้องหาความสุข ก็จึงมีใจมุ่งไปแต่จะช่วยผู้อื่น เพราะฉะนั้น สำหรับบุคคลที่พัฒนาสมบูรณ์แล้ว คุณธรรมที่จะเป็นตัวแสดงออกในที่สุดก็คือกรุณา
ด้วยเหตุนี้จะเห็นว่า คุณสมบัติของบุคคลที่พัฒนาสูงสุด ที่เราถือพระพุทธเจ้าเป็นแบบมีอะไรบ้าง ก็มีปัญญา แล้วก็มีวิสุทธิหรือวิมุตติ คือความหลุดพ้น และมีกรุณา สามอย่างนี้เป็นเครื่องแสดงว่ามนุษย์พัฒนาสูงสุด แล้วคุณสมบัติต่างๆ มาบรรจบกันกลายเป็นความสมบูรณ์ ก็มีนี้แหละ คือปัญญา และคุณธรรมซึ่งมีกรุณาเป็นตัวแทน แล้วก็ความหลุดพ้นเป็นอิสระ
ในที่นี้จะไม่อธิบายความเชื่อมโยงให้มาก แต่ตอนนี้จะพูดเน้นไปที่เรื่องความสุข และจะให้เห็นว่าในเวลาพัฒนาความสุขนั้นเราจะมีอิสรภาพเป็นต้นขึ้นมาอย่างไร