ความสุขที่สมบูรณ์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ถึงจะสุข ถ้ายังไม่อิสระ ก็ไม่เป็นสุขที่สมบูรณ์

นอกจากนั้น การที่เราจะต้องไม่ประมาท ไม่หลงติดเพลินในความสุข ก็เพราะว่ายังมีความสุขอย่างอื่นที่ประณีตยิ่งขึ้นไปที่เราควรจะได้ยิ่งกว่านี้ เพราะฉะนั้น เราจึงก้าวต่อไปสู่ข้อที่ ๔ คือ “เพียรพยายามที่จะเข้าถึงความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป”

ความสุขมีหลายระดับ อย่างที่ยกมาพูดเมื่อกี้ เริ่มต้นเรามีความสุขจากการเสพวัตถุ คือสิ่งที่จะมาบำรุงตา หู จมูก ลิ้น กายของเรา ให้ได้ดู ฟัง ดมกลิ่น ลิ้มรส ที่ชื่นชมชอบใจ พวกนี้เป็นความสุขทางประสาทสัมผัสเบื้องต้น

เมื่อพัฒนาต่อไป เราก็มีความสุขเพิ่มขึ้นอีก อย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือความสุขจากคุณธรรม ตอนแรกเราเคยมีความสุขจากการได้การเอาอย่างเดียว เป็นความสุขขั้นต้น ยังแคบอยู่ พอเรามีคุณธรรมเพิ่มขึ้น เราก็มีความสุขจากการให้ด้วย

เมื่อมีศรัทธา เราก็มีความสุขจากการทำบุญทำกุศล เมื่อทำบุญทำกุศลไปแล้ว ระลึกขึ้นมาเมื่อไรก็มีความปีติอิ่มใจ มีความสุขจากการได้ทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ได้ช่วยเหลือสังคม และได้ทำความดีงามต่างๆ

ถ้าเราไม่ประมาท คือไม่หยุดเสียแค่ความสุขขั้นต้น เราจะสามารถพัฒนาในความสุข ทำความสุขให้เกิดขึ้นได้อีกมากมาย ต่อจากนี้ความสุขก็ขยายออกไปอีก เลยจากความสุขในการทำความดี ก็ไปสู่ความสุขที่เกิดจากปัญญา

ความสุขที่เกิดจากปัญญา ก็คือความรู้เท่าทันสังขาร รู้โลกและชีวิตตามเป็นจริง รู้เท่าทันอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ความสุขทั้งหลายนี้ ในที่สุด จะเป็นสุขจากการเสพวัตถุก็ตาม สุขในการอยู่กับธรรมชาติก็ตาม และแม้แต่สุขจากการทำความดีต่างๆ นี้ ล้วนแต่เป็นความสุขที่ยังต้องอิงอาศัย คือต้องอาศัยวัตถุ หรือปัจจัยภายนอก ขึ้นต่อสิ่งหรือบุคคลอื่น

เมื่อความสุขของเราอาศัยวัตถุ เราก็ฝากความสุขไว้กับวัตถุ ถ้าขาดวัตถุนั้นเราก็ขาดความสุข

ตอนแรกเราบอกว่าถ้าเรามีวัตถุนั้นเราจะมีความสุข ต่อมาเราเพลินไป ความสุขของเราก็ต้องอาศัยวัตถุนั้น ต้องขึ้นต่อมัน พอขาดวัตถุนั้นเราสุขไม่ได้ และกลายเป็นทุกข์ด้วย แย่ลงกว่าเก่า

อันนี้พระพุทธเจ้าตรัสให้ระวัง เพราะจะเป็นการสูญเสียอิสรภาพ ทำอย่างไรเราจะรักษาฐานเดิมไว้ได้ คือ เรามีวัตถุนั้นเราก็มีความสุข แต่ถ้าไม่มีเราก็สุขได้ ถ้าอย่างนี้ก็แสดงว่า เรายังตั้งหลักอยู่ได้ และยังมีอิสรภาพอยู่

เมื่อเราทำความดี เราก็มีสิทธิที่จะได้รับความสุขจากการทำความดีนั้น เช่น ด้วยศรัทธา ด้วยเมตตา ด้วยจาคะ เราบำเพ็ญประโยชน์ทำบุญทำกุศลแล้ว เราก็มีสิทธิ์ที่จะได้ความสุขจากบุญกุศลเหล่านั้น แต่มันก็ยังเป็นความสุขที่อิงอาศัย คือเราจะต้องอาศัยการระลึกถึงความดีหรือบุญถึงกุศลนั้นอยู่

ถ้าเป็นความสุขที่อิงอาศัย มันก็ยังเป็นสิ่งที่อยู่นอกตัว ไม่เป็นเนื้อเป็นตัวของเราเอง ทำอย่างไรเราจะมีความสุขที่ไม่ต้องขึ้นกับสิ่งอื่น

ถ้าความสุขนั้นยังต้องขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น มันก็ผันแปรได้ และตัวเราก็ไม่เป็นอิสระ เพราะสิ่งนั้นตกอยู่ใต้กฎธรรมชาติ เป็นไปตามอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันสามารถกลับย้อนมาทำพิษแก่เราได้

สิ่งภายนอกที่เราอาศัยนั้นมันไม่ได้อยู่กับตัวข้างในเรา ไม่เป็นของเราแท้จริง เมื่อเราฝากความสุขไว้กับมัน ถ้ามันมีอันเป็นอะไรไป เราก็ทุกข์

ความดีก็เหมือนกัน เมื่อเรามีความสุขเพราะอาศัยมัน ถ้าความดีนั้นเราไปทำแล้วคนอื่นไม่เห็นหรือไม่ชื่นชม บางทีใจเราก็หม่นหมองไปด้วย จึงเรียกว่าเป็นความสุขที่ยังอิงอาศัยอยู่

เพราะฉะนั้นเราจึงต้องก้าวต่อไป สู่การมีปัญญารู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย รู้ว่าธรรมดาของสิ่งทั้งหลายก็เป็นอย่างนี้ ไม่ว่าอะไรที่เป็นสังขาร จะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม เป็นความชั่ว หรือความดี เป็นวัตถุ หรือเป็นเรื่องของจิตใจ มันก็เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งนั้น

เมื่อรู้ความจริงแล้ว ก็จะเข้าถึงเท่าทันกระแสของธรรมชาติ เรียกว่า กระแสเหตุปัจจัย ปัญญาของเราก็เข้าไปรู้ทันกระแสเหตุปัจจัยนี้ พอปัญญารู้เท่าทันมันแล้ว เราก็วางใจได้ รู้สึกเบาสบาย เราก็รู้แต่เพียงตามเป็นจริงว่า เวลานี้สิ่งนี้มันเป็นอย่างนี้ มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน

เมื่อรู้ทันแล้ว สิ่งนั้นก็ไม่ย้อนมาทำพิษแก่จิตใจของเรา จิตใจของเราก็เป็นอิสระ ตอนนี้ก็จะมาถึงขั้นสุดท้ายที่ว่า สิ่งทั้งหลายที่เป็นสังขาร มันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็เป็นทุกข์ไปตามธรรมชาติของมัน ตามสภาวะ เรารู้เห็นความจริงของมัน แต่เราไม่พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง