ถ้าเราพัฒนาจิตใจอย่างนี้ โดยขยายความรักความเมตตาออกไป เราก็สามารถมีความสุขเพิ่มขึ้น โดยที่คนอื่นก็มีความสุขด้วย อย่างนี้ก็เป็นความสุขที่ประกอบด้วยธรรม
ถ้าความสุขอย่างนี้เกิดขึ้นมาก ก็ทำให้โลกนี้มีสันติสุข เริ่มตั้งแต่ในครอบครัวเป็นต้นไป พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นสุข สละให้แก่ลูก แล้วพ่อแม่ก็เป็นสุขด้วย
ทีนี้ ถ้าลูกรักพ่อแม่เหมือนอย่างที่พ่อแม่รักลูก ลูกก็จะทำแก่พ่อแม่อย่างเดียวกับที่พ่อแม่ทำกับตนเอง คือลูกจะพยายามทำให้พ่อแม่เป็นสุข เมื่อลูกพยายามทำให้พ่อแม่เป็นสุข ลูกก็ให้แก่พ่อแม่ ลูกก็พยายามรับใช้ ทำอะไรต่างๆ ให้พ่อแม่มีความสุข พอลูกเห็นพ่อแม่มีความสุข ลูกก็สุขด้วย ความสุขของลูกก็ประสานกับสุขของพ่อแม่ ถ้าอย่างนี้ก็มีแต่ความสุขสันต์ร่มเย็นยิ่งขึ้น ในครอบครัวก็เป็นสุข
ขยายออกไป ในหมู่เพื่อนฝูงญาติมิตรก็เหมือนกัน ถ้าญาติมิตรเพื่อนฝูงให้แก่กัน หรือทำอะไรให้กัน โดยอยากจะให้ญาติหรือเพื่อนเป็นสุข พอเห็นญาติหรือเพื่อนเป็นสุข ตัวเองก็เป็นสุขด้วย
เมื่อความสุขแบบประสานกันอย่างนี้กว้างออกไปๆ โลกนี้ก็ร่มเย็น และมีการช่วยเหลือกัน การอาศัยกันได้ วัตถุสิ่งของต่างๆ ก็จะกลายเป็นเครื่องประกอบที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อันนี้ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งที่ชอบธรรม
รวมแล้ว ความสุขที่พัฒนายิ่งขึ้นไปมีอยู่มากมาย
อีกตัวอย่างหนึ่ง โยมมีศรัทธาในพระศาสนา มีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย เชื่อในบุญกุศล พอไปทำบุญกุศลก็เกิดความอิ่มใจ แม้จะให้จะสละก็ไม่ทุกข์ เพราะใจมีศรัทธาเสียแล้ว เมื่อให้ด้วยศรัทธา การให้ก็กลายเป็นความสุขด้วย
เป็นอันว่า ในขั้นต้น มนุษย์เรามีความสุขจากการได้การเอา จึงแย่งความสุขกัน แต่เมื่อพัฒนาไปพอถึงขั้นที่ ๒ จิตใจมีคุณธรรม เช่นมีเมตตา มีไมตรี มีศรัทธา การให้กลายเป็นความสุข ก็เกิดความสุขจากการให้ จึงเปลี่ยนเป็นความสุขที่ประสานส่งเสริมอุดหนุนซึ่งกันและกัน
มนุษย์เราก็พัฒนาต่อไปในเรื่องความสุข แล้วก็ทำให้ทั้งชีวิตและทั้งโลกนี้มีความสุขมากขึ้นด้วย แต่รวมความก็คือว่า เราต้องพยายามทำตัวให้มีความสุขโดยถูกต้อง ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็เป็นการมีความสุขโดยชอบธรรม