พระพุทธเจ้าตรัสประมวลหลักวิธีปฏิบัติในเรื่องความสุขและความทุกข์ไว้ ในที่แห่งหนึ่ง มีเป็นชุด ๓ ข้อ ซึ่งยืดออกไปตามคำอธิบายเป็น ๔ ข้อ น่าสนใจมาก ขอนำมาแสดงไว้ พระองค์สรุปไว้ง่ายๆ
วิธีปฏิบัติต่อทุกข์และสุข ที่พระองค์ตรัสไว้มีดังนี้
๑. ไม่เอาทุกข์มาทับถมตนที่ไม่มีทุกข์
๒. ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม
๓. แม้สุขที่ชอบธรรมนั้นก็ไม่ลุ่มหลงมัวเมา
๔. เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป
นี่เป็นหลักสำคัญ ถ้าเราปฏิบัติได้ตามหลักการนี้ เราก็ชื่อว่าปฏิบัติถูกต้องในเรื่องความสุขความทุกข์ ทีนี้ลองมาดู
ข้อที่ ๑ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ไม่เอาทุกข์มาทับถมตนที่ไม่มีทุกข์” หมายความว่า เราอยู่ในโลก เราก็มีชีวิตอยู่ตามธรรมดาสังขาร สังขารมันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตามธรรมดาของมัน เราดำเนินชีวิตให้ดีงามถูกต้อง แล้วทุกข์ตามธรรมชาติก็มีของมันไป อันนั้นเราไม่ไปเถียงมัน แต่เราไม่เพิ่ม เราไม่เอาทุกข์มาทับถมตัวเรา เราก็สบายไปขั้นหนึ่งแล้ว
ในทางตรงข้ามถ้าเราปฏิบัติไม่ถูกต้อง ทุกข์ที่มันมีอยู่ในธรรมชาตินั้น มันก็เกิดเป็นทุกข์ในใจของเรา เราก็เอาทุกข์มาทับถมตัวเอง ดังจะเห็นว่าบางคนปฏิบัติไม่ถูกต้อง เที่ยวหาทุกข์มาใส่ตนมากมาย
เรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในการที่ทรงโต้ตอบกับลัทธินิครนถ์ คือเรื่องมันเกิดจากลัทธินิครนถ์ ก็เลยจะขอยกมาเป็นตัวอย่าง แต่เป็นตัวอย่างที่หยาบๆ ของการเอาทุกข์มาทับถมตน คือ
ลัทธินิครนถ์นี้เขาถือการบำเพ็ญตบะ ตบะก็คือการทำความเพียรทรมานตนเอง ซึ่งมีวิธีการต่างๆ มากมาย เรียกง่ายๆ ว่า เป็นการหาทุกข์มาใส่ตน เช่น เวลาจะโกนศีรษะ เขาไม่ใช้มีดโกน แต่นักบวชนิครนถ์เขาใช้วิธีถอนผมทีละเส้นจนกระทั่งหมดศีรษะ อย่างนี้เป็นต้น
ตบะในสมัยโบราณนั้นมีมากมายหลายแบบ เช่น ถึงหน้าร้อนก็ไปนอนอยู่กลางแดด แต่ถึงหน้าหนาวกลับไปแช่ตัวอยู่ในน้ำ เวลานอน แทนที่จะนอนบนพื้นสบายๆ ก็นอนบนเตียงหนาม อะไรอย่างนี้เป็นต้น หมายความว่าทรมานร่างกาย ทำตัวให้ทุกข์
ทำไมเขาจึงทำอย่างนั้น เขาบอกว่า เพราะว่าเราตามใจมัน คือตามใจกิเลสนี่แหละ มันจึงทำให้เกิดทุกข์ขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะไม่ตามใจมันละ เราทรมานมัน มันจะได้หมดกิเลส กิเลสจะได้แห้งไป
นี่เป็นวิธีปฏิบัติของพวกนิครนถ์ พระพุทธเจ้าตรัสว่าวิธีนี้เป็นการเอาทุกข์มาทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง