จะพึ่งตน ก็ต้องมีตนที่พึ่งได้

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ฝึกเถิด ฝึกกันไป เป็นนักฝึกที่ดี จะฝึกอย่างมีความสุข

ก็บอกกันให้สบายใจว่า การฝึกตน การศึกษา การเรียนรู้ การฝึกการหัดอะไรต่ออะไรนี้ เป็นเรื่องของชีวิตของเรานี้เอง ตามธรรมดาของธรรมชาติ เมื่อเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตมนุษย์ ก็ฝึกก็ศึกษากันเรื่อยไปตลอดชีวิตนั้น ไม่ต้องไปคิดว่ามันจะจบเมื่อไร ฝึกศึกษาไปจนเป็นพระอรหันต์เมื่อไร มันก็จบไปเอง ตามหลักที่ว่าพระอรหันต์เป็นอเสขะ ผู้ไม่ต้องศึกษา คือจบการศึกษา ผู้ที่จะเป็นพระอรหันต์ ก็คือเป็นนักฝึกตัวเอง ฝึกเรื่อยไปตลอดเวลา จนจบการศึกษา ไม่มีเรื่องอะไรที่จะต้องฝึกอีก นั่นคือธรรมดาของชีวิต

ทีนี้ เราทั้งหลายก็มาฝึกตนกันให้เป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเจออะไร ก็ฝึกได้เลย ตั้งแต่ฝึกตา ฝึกให้มองดูเป็น ให้ดูให้เห็นแล้ว ถามตัวเองว่า ได้ความรู้ไหม ใจยังดีอยู่ไหม หรือดูแล้วเห็นแล้ว ติดอยู่แค่ชอบใจไม่ชอบใจ ดีใจเสียใจ ไม่ได้รู้ไม่ได้เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไรอย่างไร

ไม่เฉพาะตา ถึงแม้หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส ก็ฝึกการรับรู้ได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะหูนั้นสำคัญนัก เป็นช่องทางเข้ามาของข่าวสารข้อมูลมากมาย คู่กับตา คนมากมายใช้ตาดู หูฟังแล้ว ก็ติดอยู่แค่รู้สึก ถูกใจไม่ถูกใจ ได้แค่ยินดียินร้าย ใจเสียดุล เอียงมาชอบ เอียงไปชัง อยู่กับความรู้สึกติดค้าง ไปกับความสุขความทุกข์ที่แฝงโมหะ ถูกมันปั่น ตกอยู่ใต้อำนาจของมัน เสียหลัก ทำให้ไม่เกิดปัญญา ตั้งแต่ไม่รู้เท่าทัน แล้วก็เสียท่า เป็นต้นไป

พอรู้จักฝึกตัวเอง ตาเห็นนั่นนี่ที่ไม่น่าชอบใจ ก็ไม่มัวปรุงแต่งไปตามความรู้สึก แต่ไปทางเรียนรู้ เอ้อ.. อันนี้ยังไม่ดี ยังไม่เรียบร้อย เราทำได้ เราก็ไปแก้สิ ตรงนี้ควรจะทำให้สะอาดเรียบร้อย ก็ไปกวาดไปถู เรื่องนี้ต้องแก้ไข ก็ชวนกันแก้ปัญหา รวมทั้งไปปรึกษาคนมีหน้าที่ที่จะมาทำให้ดี

หูได้ยินได้ฟัง ก็ทำนองเดียวกัน ไม่ค้างคาอยู่แค่กับความรู้สึกชอบใจไม่ชอบใจ ถูกหูไม่ถูกหู แต่เรียนรู้ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง คืออะไร เป็นอะไร เมื่อฝึกไปๆ เรื่องที่ฟังแล้วไม่ถูกหู ไม่ชอบใจ พอเปลี่ยนจากความรู้สึกเป็นเรียนรู้ได้แล้ว ต่อไป ไม่ว่าอะไรที่ได้ฟังได้เห็น ที่รู้สึกชอบใจหรือไม่ชอบใจ กลายเป็นรู้เข้าใจ แล้วชอบที่จะรู้ไปหมด นี่คือได้ฝึกตัวเอง เปลี่ยนจากความรู้สึก ไปเป็นเรื่องของความรู้

ถ้าเราดูแล้วอยู่แค่ความรู้สึก ชอบใจ ไม่ชอบใจ ถูกใจ ขัดใจ สบายใจ ไม่สบายใจ เราก็ยุ่งอยู่กับสุขกับทุกข์ ที่ถูกอารมณ์ข้างนอกมันบังคับ เรียกว่าเรารับรู้อย่างเป็นผู้ถูกกระทำ อยู่ใต้อำนาจของมัน ถูกมันปั่น ถูกมันทำเอา

ทีนี้ เราพลิกกลับมาให้เป็นการรับรู้อย่างที่เราเป็นผู้กระทำ พอรับรู้อะไร แทนที่จะตกเป็นทาสของความรู้สึกที่อารมณ์นั้นมันปั่นมันพาไป เราก็เรียนรู้มัน เราก็กลับเป็นเจ้าเป็นนายของการรับรู้ เป็นผู้ได้ประโยชน์จากการรับรู้นั้น

ทีนี้ เมื่อเราเป็นฝ่ายกระทำ เราดู-รู้ ฟัง-รู้ พอเห็นสิ่งที่ชอบใจไม่ชอบใจ เราไม่ติดอยู่แค่กับความรู้สึกนั้นแล้ว เราไปที่ความรู้ เช่นรู้ว่าอันนี้มันดี อันนี้ไม่ดี ถ้ามันไม่ดี ควรที่จะแก้ไข ถ้าเรามีโอกาส ก็ไปแก้ไข ไปจัดให้มันดี แต่ถ้ายังทำไม่ได้ เราก็ได้เรียนรู้ของที่ไม่ดี ว่ามันเป็นอย่างไร มันเป็นอย่างนั้นเพราะเหตุปัจจัยอะไร ได้เรียนรู้เข้าใจเหตุปัจจัย ก็มาเข้าหลักพระพุทธศาสนาอีก เลยได้ศึกษากันใหญ่

ถึงนี่ก็เป็นขั้นสืบลึกแล้ว คือรู้เหตุผล รู้เหตุปัจจัย รู้ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งทั้งหลาย รู้จักความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยเหล่านั้น คราวนี้ก็ได้เรียนรู้กันใหญ่ มองเห็นว่าควรจะทำอย่างไร ถ้าทำไม่ได้ ก็เรียนรู้ไว้ก่อนว่ามันเป็นเพราะเหตุอะไร จะแก้ไขเหตุปัจจัยอย่างไร พอไปในทางของการศึกษาอย่างนี้ ปัญญาก็พัฒนาไม่รู้จักจบ

วันนี้พูดมาเยอะแล้ว เอาเป็นอันว่า นี่แหละที่ว่าพึ่งตนนั้น หลักที่แท้ก็คือ ให้ทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ หรือให้มีตนซึ่งเป็นที่พึ่งได้ ถามตัวเองว่า เรามีตนที่พึ่งได้ หรือว่าเรามีตนซึ่งเป็นที่พึ่งได้หรือยัง ถ้ายัง ก็ฝึกตัวเองได้เลย ฝึกแล้วจะดีใจ เมื่อรู้เข้าใจความหมายแล้ว ก็จะมีความสุขจากการฝึกตนนั้น

คนที่ใฝ่ฝึกตัว มีสำนึกในการฝึกตน เป็นนักฝึกตนนั้น ถ้าจะต้องทำอะไรที่ยาก ก็ไม่กลัว เพราะยิ่งยาก ก็ยิ่งได้ฝึกตนมาก จริงไหม? อะไรยาก เราก็ได้ฝึกตัวมาก อะไรง่าย เราก็แทบไม่ได้ฝึกตัวเลย เพราะฉะนั้น นักฝึกตัวจึงไม่กลัวความยาก เพราะยิ่งยาก ยิ่งได้มาก จำไว้เป็นคติเลยก็ได้

คนที่ใจไม่เป็นนักฝึกนั้น ชอบง่ายๆ ก็เลยไม่ได้อะไร ไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ฝึกตน เวลาก็ผ่านไปเปล่า แถมใจไม่ดีด้วย

แต่พอมาเข้าหลักพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าสอนให้ฝึกตน พอเจออะไร ก็นึกเลยว่าอันนี้มันจะให้เราได้ฝึกตัวแล้ว เอาเลย ถ้ามันยาก เราก็ได้ฝึกตนมาก ยิ่งยาก ก็ยิ่งได้ฝึกมาก ยิ่งฝึกมาก เราก็ยิ่งชำนาญจัดเจนมาก เพราะฉะนั้น นักฝึกตนจึงมีคติว่า “ยิ่งยาก ยิ่งได้มาก” แล้วพอเจองานยากสมใจตามคตินั้น ก็ชอบใจ กลายเป็นว่า ยิ่งได้ทำงานยาก ก็ยิ่งมีความสุขมาก ก็สบายไปเลย

นี่แหละก็จึงมาลงท้ายเข้าในหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ “ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ” - ในหมู่มนุษย์นั้น คนที่ฝึกแล้วประเสริฐสุด เป็นอันว่าจบตรงนี้เลย

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง