หลักพึ่งตนที่แท้นั้น เป็นข้อความแค่สั้นๆ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ จับเอาคำสำคัญมาว่า “อตฺตสรณา...ธมฺมสรณา”1 แปลเอาความว่า จงมีตนเป็นที่พึ่ง...จงมีธรรมเป็นที่พึ่ง
อ้าว.. ว่ามีตนเป็นที่พึ่ง แล้วทำไมว่ามีธรรมเป็นที่พึ่งอีกล่ะ จะให้ทำอย่างไรแน่ ทำไมพระพุทธเจ้าตรัสสองคำ?
อตฺตสรณา – มีตนเป็นที่พึ่ง แล้วก็ ธมฺมสรณา - มีธรรมเป็นที่พึ่ง นี่คืออันเดียวกัน
“มีตนเป็นที่พึ่ง” นี่คือที่พูดกันไปแล้วว่า ที่พึ่งอยู่ที่ตัวเอง จึงต้องฝึกตัวให้ตนเป็นที่พึ่งได้ แล้วก็มีตนที่พึ่งได้
ทีนี้ ที่ว่ามีตนที่พึ่งได้นั้น เป็นอย่างไร? ก็คือ “มีธรรมเป็นที่พึ่ง” ธรรมเป็นที่พึ่งอย่างไร พึ่งธรรมอย่างไร? อ้าว.. ก็ไม่ประมาท ความไม่ประมาทเป็นธรรมใช่ไหม? ใช่! เป็นธรรมสำคัญทีเดียวแหละ เออ.. แล้วใครไม่ประมาท ก็ตัวเองนี่แหละไม่ประมาท
“มีธรรมเป็นที่พึ่ง” เอาซิ.. เพียรพยายาม ขยันอดทน มีสติ มีสมาธิ ใช้ปัญญา รู้จักคิดพิจารณาแก้ปัญหา อะไรต่างๆ เหล่านี้ ที่ว่าไปนี่ ก็คือธรรมทั้งนั้นเลยใช่ไหม?
เพียรพยายามก็คือธรรม ขันติก็ธรรม สติ สมาธิ ปัญญา ก็ธรรมทั้งนั้น แล้วความเพียรพยายาม สติ สมาธิ ปัญญา อยู่ที่ใคร? ใครเพียรพยายาม ใครใช้ขันติ...สติ...สมาธิ...ปัญญา ก็ตัวเองนี่แหละใช่ไหม เพราะฉะนั้น ที่เราบอกว่าพึ่งตน ที่จริงก็คือพึ่งธรรมใช่ไหม
บอกว่า “พึ่งตน” แต่ถ้าตนไม่มีธรรม เช่นสติ และปัญญา จะพึ่งตนได้อย่างไร ฉะนั้น จึงต้องฝึกตนให้มีธรรม ต้องฝึกให้ธรรมพัฒนาขึ้นมาในตน แล้วก็จะพึ่งตนได้ โดยพึ่งธรรมที่มีในตนนั้น
เรื่องมันก็คือว่า ธรรมนั้นอยู่ที่ตัวเอง พอเราพึ่งธรรมปั๊บ ก็คือพึ่งตน พอบอกว่าพึ่งตน ก็คือพึ่งธรรม พึ่งความไม่ประมาท พึ่งสติ พึ่งสมาธิ พึ่งปัญญา ใครไม่ประมาท ก็ตัวเองใช่ไหม ใครเพียรพยายาม ใครมีสติ ใครมีสมาธิ ใครมีปัญญา ก็ตัวเองทั้งนั้น พึ่งธรรม ก็พึ่งความเพียรพยายาม พึ่งสติ พึ่งสมาธิ พึ่งปัญญา ก็พึ่งตัวเองทั้งนั้น เพราะฉะนั้น พึ่งตน กับพึ่งธรรม จึงหมายความอันเดียวกัน ใครพึ่งธรรม ก็คือพึ่งตน ใครไม่พึ่งธรรม คนนั้นก็ไม่พึ่งตน เออ! ใช่นะ.. ใครขี้เกียจ ใครไม่ขยันหมั่นเพียร คนนั้นก็ไม่พึ่งตน
เอาละ นี่คือท่านย้ำเท่านั้นเอง พระพุทธเจ้าตรัสบอกไว้ ที่ว่าพึ่งตนนั้น ก็คือพึ่งธรรม คือพึ่งคุณสมบัติที่มีในตัวเอง ก็พึ่งตัวเองในการเพียรพยายาม พึ่งตัวเองในการขยันอดทน ในการใช้สติ พึ่งตัวเองที่ต้องทำจิตใจให้เป็นสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วุ่นวาย ไม่กระวนกระวาย ไม่กระสับกระส่าย ไม่เครียด พึ่งตัวเองที่จะใช้ปัญญา
นี่แหละนะ ในที่สุดก็มาอยู่ที่นี่ อันนี้คือหลักพระพุทธศาสนาที่แท้ เพราะฉะนั้นในที่สุดแล้ว พึ่งตน ก็คือพึ่งธรรม
ทีนี้ เมื่อพึ่งตน คือพึ่งธรรม โดยมีตนเป็นที่พึ่ง คือมีธรรมเป็นที่พึ่ง ก็จึงต้องบอกว่า ที่เราต้องฝึกตนนั้น ก็คือฝึกให้ตนมีธรรมที่จะพึ่งได้ดีขึ้นมากขึ้น คือต้องฝึกตนให้ธรรมทั้งหลาย เช่น ความเพียรพยายาม ความเข้มแข็งอดทน เมตตากรุณา ปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สติ สมาธิ ปัญญา พัฒนาขึ้นมาในตัวเรานั้น มากขึ้นๆ ยิ่งขึ้นๆ แล้วเราก็จะพึ่งตนได้ดีขึ้นๆ
เมื่อทำได้อย่างที่ว่านี้ ก็จะไปบรรจบกับหลักที่ได้บอกไว้แล้วข้างต้นว่า เราก็จะมีตนที่ฝึกดีแล้ว ซึ่งเป็นที่พึ่งอย่างยอดเยี่ยม