ไขข้อข้องใจของ นพ.ดำรงค์ ธนะชานันท์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ชีวิตหลังเกษียณ

ได้ยินว่าคุณหมอจะมาถามเรื่องชีวิตหลังเกษียณ

ถาม : ชมรมคณาจารย์ เขาจะทำมุทิตา ไม่ทราบว่าจะใช้คำถูกหรือเปล่า

ตอบ : ก็แล้วแต่จะมอง

ถาม : คำว่ามุทิตาจิตนี้แปลว่า แสดงความยินดี

ตอบ : ยินดีด้วย เมื่อผู้อื่นได้ดี

ถาม : เวลาที่ลูกศิษย์ลูกหาจะทำให้อาจารย์ที่จะเกษียณนี้ เขาจะติดประกาศว่า ขอแสดงมุทิตาจิตต่ออาจารย์ 2-3 คน อย่างนี้เป็นคำที่ถูกต้องหรือเปล่า

ตอบ : ก็ไม่ผิดหรอก อยู่ที่วิธีมอง อย่างน้อยก็เป็นการช่วยนำจิตใจให้มองไปในทางที่ดี คือถ้ามองว่า เกษียณ โอ้โฮ! หมดกันแล้วนะ เกษียณก็คือสิ้น หมดแล้วอายุราชการ หมดแล้วตำแหน่งฐานะ ถ้ามองอย่างนี้เราก็เสียไปเลย แล้วจะไปมุทิตาได้อย่างไร มุทิตาแสดงความยินดี แต่นี่สูญเสีย

แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่ง แหม ที่ผ่านมานี้แย่ ทำงานหนักมานาน ต้องรับผิดชอบมาก แล้วก็ไม่ค่อยมีอิสรภาพ อยู่ในกรอบ มีเขตจำกัด วันนี้เป็นอิสระเสียที พอมองอย่างนี้ปั๊บ ก็มุทิตาได้เลย เพราะตอนนี้ดีแล้ว

การเกษียณอายุนี้ ถ้ามองในแง่ดีก็มีอยู่มาก แล้วก็มีสิทธิจะมองในแง่ดีได้มากด้วย เพราะผู้เกษียณ (เราถือว่า . . . แล้วก็เป็นความจริงด้วย ไม่ต้องไปถือว่า) ราชการก็รับมานานแล้ว ได้ทำประโยชน์แก่ประชาชน และแก่บ้านเมืองมาเยอะแล้ว ในแง่การสร้างประโยชน์ในชีวิตก็ทำมาพอสมควร การเกษียณนี้ก็เป็นการบอกว่า ได้ทำงานมาพอสมควรแล้วนะ

แต่ในเวลาที่เราทำงานราชการอยู่นั้น ในแง่หนึ่ง เราถูกจำกัด เรามีภาระรับผิดชอบ บางอย่างเราทำไม่ได้ตามที่ใจปรารถนา ทีนี้พอเกษียณแล้ว ชีวิตก็เป็นของตัวเอง เวลาเป็นของตัวเอง จะทำอะไรก็ทำได้ตามที่ใจปรารถนา ตรงนี้แหละจึงเป็นอิสระ

ตอนนี้ก็อยู่ที่ว่า เมื่อเกษียณแล้วจะเลือกทำอะไร แต่ไม่ว่าจะเลือกอะไรก็ขอให้เข้าหลักอิทธิบาท ที่ท่านว่าจะทำให้อายุยืน คือผู้เกษียณนี้ ถ้าไปมองในแง่ลบว่าเป็นการสูญเสีย ก็ทำให้ใจคอเหงาหงอย เศร้าสร้อย ว้าเหว่ แต่ถ้ามองในแง่ดีว่า ฉันเป็นอิสระแล้ว คราวนี้จะมีเวลาเป็นของตัวเอง

สำคัญแต่ว่า เมื่อมีเวลาแล้ว ก็อย่าอยู่เฉยๆ อย่าเลื่อนลอย ต้องให้มีอะไรทำ

อิทธิบาทก็เริ่มต้นด้วยข้อแรกคือ ให้มีอะไรทำก่อนนะ ก็คิดดูว่า เรามีอะไรที่อยากจะทำ แต่ก่อนนี้มีอะไรบางอย่างที่เราอาจจะอยากทำ แต่ไม่มีเวลาจะทำ ก็เลยทำตามที่ต้องการไม่ได้ ที่ต้องการก็ไม่อาจจะทำ แต่ต้องไปทำที่ไม่ต้องการ

ทีนี้เวลานี้เราเป็นอิสระแล้ว อะไรที่เราเห็นว่ามีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าแก่ชีวิต หรือคุณค่าแก่สังคม หรืออะไรเป็นสิ่งที่ดีงาม มีคุณค่าประเสริฐ เราอยากจะทำ ตอนนี้ก็ตั้งใจเลย จะทำสิ่งนี้ละ ตั้งใจปรารถนาจะทำให้สำเร็จ ยิ่งมีปัญญามองเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นว่าดีงามเป็นประโยชน์เท่าไร และใจใฝ่จะทำเท่าไร ก็ยิ่งดี มันจะเกิดข้อที่สองตามมา

ข้อที่ 1 เรียกว่า ฉันทะ คือใจรักอยากจะทำ

ข้อที่ 2 พอมีความใฝ่ปรารถนาอยากจะทำมาก ก็จะเกิดกำลังมาก เรียกว่าวิริยะ คือความเพียร ว่าต้องทำให้สำเร็จ อย่างที่บางคนพูดว่า เรื่องนี้ถ้ายังไม่สำเร็จฉันตายไม่ได้ ตั้งใจไว้อย่างนั้น จะเกิดกำลังใจทำเต็มที่ พอเกิดกำลังใจคึกคักขึ้นมา ความเหงาหงอยว้าเหว่หายไปหมดเลย

ข้อที่ 3 พอมีกำลังใจจะทำ ใจฝักใฝ่อยู่ จะทำเรื่องนี้ละ ทีนี้ใจก็มุ่ง เอาใจทุ่มเทให้ เรียกว่า จิตตะ ก็อุทิศตัว อุทิศเวลาให้แก่สิ่งที่จะทำ ใจจะไม่รับกระทบกับความวุ่นวาย เรื่องอะไรที่ไม่เกี่ยวกับเป้าหมายของฉัน ใจจะไม่รับ เรื่องจุกๆ จิกๆ ไม่เข้ามารกสมอง ถึงแม้ว่าอาจจะมีการรับกระทบบ้างตามวิสัยของปุถุชน แต่เดี๋ยวก็ลืม เพราะเรามีเรื่องต้องทำ คนแก่ที่ไม่มีอะไรจะทำ ใจเคว้งคว้างอยู่นี่ เดี๋ยวก็เก็บเรื่องกระทบในชีวิตประจำวันเอามาคิด ลูกหลานทำอะไร ผิดหูผิดตานิด แกไม่มีอะไรจะทำก็นั่งคิดไป สมองเสียเลย ใจคอก็เศร้าหมอง มีความทุกข์เหงาหงอย และจิตใจหงุดหงิดไม่สบายใจ เดี๋ยวก็บ่น เดี๋ยวก็อะไรออกมา ไปกันใหญ่ จิตรับกระทบเรื่อย จิตปรุงแต่งมาก ส่วนคนที่มีอะไรจะทำ ตั้งใจไว้แล้ว ใจไปอยู่กับเรื่องที่ตั้งใจทำนั้น เรื่องกระทบไม่มีความหมายเลย มันไม่เข้าเป้า ตัดหมด มาอยู่กับเรื่องที่ทำ หรือกระทบเดี๋ยวเดียวก็ลืม เพราะมีเรื่องใหญ่ที่จะทำ

ข้อที่ 4 พอเราอุทิศตัวอุทิศใจให้กับเรื่องที่ทำ ก็ต้องใช้ปัญญา คิดพิจารณา จะแก้ไข จะปรับปรุง จะทำให้สำเร็จอะไรต่างๆ นี่ วิมังสาก็มา ทางแพทย์บอกว่า ถ้ายังใช้ความคิด ใช้ปัญญาอยู่ สมองก็จะไม่ฝ่อ เป็นข้อที่ 4 ถึงตอนนี้อิทธิบาทก็มาหมดครบแล้ว 4 ข้อ

แต่ในข้อ 4 นี้ท่านเตือนว่า ระวังนะ การคิดมี 2 แบบ

หนึ่ง คิดปรุงแต่ง คือคิดด้วย emotion คิดตามอารมณ์ความรู้สึก นึกถึงเรื่องเก่าๆ นึกถึงเรื่องคนโน้นกระทบกระทั่ง พอใจไม่พอใจ คิดปรุงแต่ง อย่างนี้ท่านห้ามเลย เป็นความคิดเชิงอารมณ์

แต่ สอง คิดเชิงปัญญา แบบนี้คิดเท่าไรคิดไป ไม่เป็นไร เช่น คิดสืบสาวหาปัจจัย มันเป็นกลางๆ ไม่มีดีมีชั่ว ไม่กระทบตัว คิดไปเถอะ ใช้ปัญญาไป

เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่า อิทธิบาท 4 ถ้าปฏิบัติได้ก็ทำให้อายุยืน และมีพลังชีวิตเข้มแข็ง

เพราะฉะนั้น คนที่เกษียณนี่ ถ้ามองในแง่ดีก็เป็นประโยชน์มากอย่างที่ว่า

  1. มองเป็นการได้อิสรภาพ
  2. ได้โอกาสแล้ว มองหาและคิดจะทำสิ่งที่มีคุณค่า ที่ใจรักอยากจะทำ
  3. เอาประสบการณ์ที่มีมากมายมาถ่ายทอด หรือทำประโยชน์ให้ผู้อื่น ประสบการณ์ของท่านผู้ที่ได้ทำงานทำการ ผ่านชีวิตมาเยอะแยะ อันนี้เป็นประโยชน์มาก

คนในแต่ละยุคสูญเสียประโยชน์นี้ไปมาก อาตมาก็ยังเสียดาย ถึงตอนนี้ก็ไม่มีโอกาสแล้ว ตอนนั้นก็ยังไม่ทันคิด ท่านรุ่นเก่าๆ อายุ 80-90 ปี ถ้าเราไปบันทึกไต่ถามเรื่องเก่าๆ ไว้ อย่างเช่น การคณะสงฆ์ อะไรเหล่านี้ เราจะได้อะไรอีกมากมาย เรื่องของพระนี่เป็นตัวอย่างว่า มันหายไปกับพระรุ่นเก่า เลยไม่ค่อยได้ประสบการณ์ของท่านไว้เป็นประโยชน์

ถาม : ของพวกกระผมที่เป็นหมอ ที่เป็นอาจารย์อยู่นี้ ก็ไม่แตกต่างกันเท่าไร หมดตำแหน่งที่เป็นอาจารย์ และงานประชุมแล้ว ก็ยังเป็นหมอตามเดิม ผมก็ยังไปผ่าตัด ไปตรวจคนไข้ คือ Status ไม่แตกต่าง ไม่เหมือนกับพวกนายทหารที่เขาหมดอำนาจ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็เป็นเพียงหมดการประชุมอะไรๆ ที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่

ตอบ : คือเกษียณแต่ในนาม แต่ไม่ใช่เกษียณแท้ พวกเกษียณที่เป็นผู้บริหาร หรือข้าราชการประจำสายปกครอง อย่างผู้ว่าราชการจังหวัด ถ้าวางตัว วางใจ ใช้ชีวิตไม่ถูก มักจะหงอยจริงๆ เหงา ว้าเหว่ ส่วนอาชีพแบบหมอนี้ได้เปรียบมาก แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรให้ภาระรับผิดชอบที่ต้องกังวล น้อยลง คือให้มีงานที่ต้องทำ แม้หนักงานเท่าไรก็ไม่เป็นไร แต่อย่าให้หนักใจ อย่าให้ต้องกังวล ให้ได้แค่นี้ก็พอแล้ว ตอนนี้ก็หันมาใช้เวลาที่เป็นอิสระมากขึ้นนี้ สร้างคุณค่าสาระแก่ชีวิตได้เต็มที่

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง