ไขข้อข้องใจของ นพ.ดำรงค์ ธนะชานันท์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ศึกษา 3 ด้าน

ในการที่ชีวิตศึกษาไปนั้น ถ้าปฏิบัติถูกต้อง มันก็คือธรรมะ เพราะธรรมะ ก็คือความจริงของสิ่งทั้งหลาย เรารู้เข้าใจความจริงนั้น ก็เอามาใช้ประโยชน์โดยปฏิบัติให้ถูกต้องตามนั้น มันก็เกิดผลดีแก่ชีวิตของเรา

ชีวิตคนเรา ที่จะเป็นอยู่ให้ดีขึ้น หรือพัฒนาขึ้นไปนั้น หลักใหญ่ก็มี 3 ด้านเท่านี้แหละ คือ เรื่องความสัมพันธ์ในสังคมและสัมพันธ์กับวัตถุสิ่งแวดล้อม เรื่องจิตใจ และเรื่องปัญญา ซึ่งท่านให้คำเรียกไว้สั้นที่สุดแล้วว่า ศีล สมาธิ ปัญญา

ที่จำกันได้มากอีกชุดหนึ่งว่า ทาน ศีล ภาวนา นั้น ก็อยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา นี้เอง แต่เป็นส่วนที่เน้นสำหรับให้ชาวบ้านปฏิบัติ

ทาน ก็คือ ให้ แบ่งปัน ช่วยเหลือเผื่อแผ่กัน เพราะชีวิตของคฤหัสถ์เกี่ยวข้องกับวัตถุมาก คือ หาเงินทอง ครอบครองทรัพย์สมบัติ มีเรื่องจะได้จะเอาจะเสพบริโภคมาก ถ้าไม่มีหลัก ก็จะเอนเอียงไปข้างที่จะสัมพันธ์กันเชิงลบ คือแย่งชิงเบียดเบียนเอาเปรียบกัน ท่านจึงยกทานขึ้นมาเน้นก่อน คือ ไม่ให้มุ่งจะเอาหรือจะได้อย่างเดียว ให้แบ่งปันเผื่อแผ่กันด้วย ได้กับให้จะได้ดุลกันไว้ ช่วยให้สังคมอยู่กันได้

ทานนั้นจะมาช่วยให้ศีลค่อยราบรื่นขึ้น เมื่อคนมีวัตถุพออาศัย เศรษฐกิจพอกินพอใช้ ก็ลดแรงบีบคั้นกดดันที่จะทำให้คนลักขโมย แย่งชิงทรัพย์ ฆ่าฟันทำร้ายกัน นอกจากไม่เบียดเบียนชีวิตร่างกาย และทรัพย์สินกันแล้ว สังคมคฤหัสถ์จะพออยู่กันได้ มีโอกาสพัฒนาสร้างสรรค์ต่างๆ ก็จะต้องไม่วุ่นวายด้วยการประพฤติผิดทางเพศ การหลอกลวงกัน การสร้างและเผยแพร่เรื่องราวข่าวเท็จ และการมั่วสุมลุ่มหลงมัวเมากับสิ่งเสพติด ทั้งหมดนี้ คือ ศีล ซึ่งสำหรับสังคมคฤหัสถ์ ถ้ารักษากันได้เพียง 5 ข้อนี้ ก็เป็นหลักประกันไม่ให้เสื่อมโทรม และเป็นฐานของการสร้างสรรค์ความเจริญต่อไปได้

ส่วนเรื่องสมาธิ คือด้านจิตใจ กับเรื่องปัญญา ที่เป็นนามธรรมมากหน่อย แม้จะสำคัญมาก แต่สำหรับคฤหัสถ์ท่านไม่ลงลึก เอาแค่ให้มีคุณธรรมทั่วๆ ไป เช่น เมตตากรุณา และความรู้เข้าใจเหตุผล รู้ทันความจริงของโลกและชีวิตบ้าง พอที่จะดำเนินชีวิตให้อยู่ดีมีสุขและเกื้อกูลสังคม จึงเรียกรวมไว้ด้วยกันด้วยคำเดียวว่า “ภาวนา” คือ พัฒนาจิตใจและปัญญา แต่ถ้าใครพร้อมและมีฉันทะ ก็ก้าวต่อไปในศีล สมาธิ ปัญญา ให้จริงจังจนสูงสุดก็ได้ รวมแล้วก็อยู่ในเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา นั่นแหละ

ถาม : ตกลงเราก็ต้องฝึกปฏิบัติและพยายามพัฒนา

กระผมกำลังจะตั้งหัวข้อซึ่งจะเขียนอันหนึ่งว่า ผมบวชมา 2 ปีเศษแล้วนี่ ผมได้อะไร ผมเป็นคนดีขึ้นหรือเปล่า เพราะก่อนที่ผมจะบวชนี้ ผมเคยเขียนเรื่อง ผมเป็นคนไกลวัด ผมไม่ชอบพระ ผมมีข้อเขียนของผม ผมไม่เข้าหาศาสนา บางทีพระที่ ขออนุญาตใช้คำว่าเว่อร์ไป เช่น เชื่อเรื่องภูติผีปีศาจ ดูหมอ ทำอะไรอย่างนั้น ผมไม่นับถือ หลังจากที่ผมบวชแล้ว ผมก็บวชที่วัดนี้ ผมก็มีความรู้สึกที่ดีมาก ต่อมาก็เขียนอีกเรื่องหนึ่งว่า เมื่อคนไกลวัดบวช เป็นความรู้สึกที่ดีในระยะนั้น

คราวนี้สองปีแล้ว ผมอยากจะมานั่งหยุดคิดดูว่า ที่ผมบวชแล้ว ผมเป็นคนดีขึ้นหรือไม่ ผมรู้แต่เพียงว่า ถ้าผมฝึกปฏิบัติบ่อยๆ ผมดีขึ้นนิดหน่อย เช่นผมอ่านข้อเขียนของท่านมาก อ่านแล้วอ่านอีก ยกตัวอย่างเช่น ขับรถอยู่ มีคนขับมอเตอร์ไซค์มาแซง สมัยก่อนผมจะโมโหมาก ยิ่งเห็นบางคนขับแท๊กซี่ แล้วทำปากขมุบขมิบ ผมก็คิดว่าเขาด่าเราแล้ว ขณะนี้ถ้าจะให้ดี ก็ให้แผ่เมตตาไปเลย ใช่ไหมครับ แต่ขณะนี้เราก็คิดว่า ถ้าผมโมโหไปนี่ ความดันสูงขึ้นเปล่าๆ เรื่องอะไรจะโมโห ผมก็เฉยทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ แต่คิดว่ายังดีไม่ที่สุด เพราะอยากจะฝึกหัดตัวเองว่า จะทำอย่างไร แม้เขาจะปาดหน้า เราถูก เขาผิดนี่ เราจะทำอย่างไร อนุโมทนาไปว่า เขาอาจจะไปเยี่ยมพ่อแม่เจ็บป่วย หรืออะไรไปเลย

หรือจะมีวิธีคิดทำอย่างไรที่ให้ดี หรือทำอย่างไรให้จิตใจ แทนที่จะโกรธโมโหเขา ด่าเขากลับ หมุนกระจกลงมาด่าเขาเลย ถึงแม้เดี๋ยวนี้ไม่กระทำ แต่ว่าเฉยๆ ก็ยังไม่ดี ทำอย่างไรจะให้ดีเหนือขึ้นไปกว่านั้น ให้แผ่เมตตาไปเลยหรืออย่างไร?

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น ทางเดินเข้าในตรอก รถเข้าไม่ได้เลย ขณะนี้มีคนจนๆ เข้ามาขายของ น่าจะเห็นใจเขาบ้าง ความจริงสมัยก่อน เรามักจะคิดว่า ถนนของเราในซอยบ้านของเรา เขามารุกล้ำ ขณะนี้ก็พยายามคิดว่า เออ..แผ่เมตตาไปหน่อย คิดว่าเขาจนกว่าเรา เราก็ขับรถไปสบายกว่าเขา เราจะทำอย่างไรถึงจะฝึกหัดให้รู้สึกว่ามันทำง่ายและดีขึ้นไปอีก

อันนี้เป็นผลพลอยได้จากการที่ผมบวชแล้ว ผมได้มีความคิดกว้างขึ้น มีทฤษฎีมาจับได้นิดหน่อย ผมคิดว่าอันนี้ถ้าผมได้ข้อแนะนำง่ายๆ นี่ คนอื่นอาจจะได้ประโยชน์มากขึ้น

ตอบ : ที่ว่าดีขึ้นนั้นมองได้ 2 อย่าง

1) อาจจะเป็นคนดีเท่าเดิมก็ได้ แต่เป็นคนดีแล้วทำความดีมากขึ้น หมายความว่า ปริมาณของสิ่งที่ดี ที่ทำนั้นมากขึ้น แต่ระดับการเป็นคนดีเท่าเดิม อย่างนี้ก็ถือว่าดีแล้ว ในแง่หนึ่ง คือ ระดับความเป็นคนดีเท่าเดิม แต่ในความดีที่ตัวเป็นอยู่นี้ ก็ได้ทำความดีมากขึ้นตามกาลเวลา คือทำสิ่งที่ดีมากขึ้น ก็เป็นข้อดีอย่างหนึ่ง

2) เลื่อนระดับความดีของตัวเอง ความเป็นคนดีขึ้นนี่ ดีขึ้นได้หลายด้าน ถ้าใช้คำใหญ่ก็เอาคำหลักเมื่อกี้มาตรวจสอบดู ว่าดีขึ้นทางศีล ดีขึ้นทางสมาธิคือด้านจิตใจ และดีขึ้นทางด้านปัญญา ต้องดูทั้ง 3 ด้าน

  1. ด้านศีล ก็ตรวจดูการดำเนินชีวิตทั่วไปด้านภายนอกว่า การประพฤติปฏิบัติตัวของเรา ความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ดีขึ้นไหม ถ้าเคยมีการเอาเปรียบเบียดเบียนเวลานี้ลดน้อยลงไหม การทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์มากขึ้นไหม การปฏิบัติต่อสิ่งของเครื่องใช้ การกินอยู่ทั้งหมดนี้ เราดีขึ้นหรือไม่
  2. ด้านจิตใจ เรามีจิตใจร่าเริงเบิกบานสดใส สดชื่นขึ้นไหม เครียดน้อยลงไหม ทุกข์น้อยลงไหม มีคุณธรรมมากขึ้นไหม มีเมตตากรุณา มีศรัทธา มีคุณธรรมความดีต่างๆ เพิ่มขึ้นไหม มีสติ มีวิริยะ มีสมาธิ มีความรับผิดชอบ ความเพียร ความเข้มแข็ง มีกำลังใจดีขึ้นไหม
  3. ด้านปัญญา ความรู้เข้าใจด้านวิชาการไม่ต้องพูดถึงในที่นี้ ดูปัญญาในแง่การรู้จักแก้ปัญหา การมองสิ่งทั้งหลาย การรู้เข้าใจชีวิต รู้เข้าใจเพื่อนมนุษย์ รู้สิ่งทั้งหลาย เข้าใจโลกและชีวิตดีขึ้นไหม

รวมแล้วก็ดูได้ 3 ด้านนี้ วัดตัวเองได้เลย

ทีนี้ถ้านำมาใช้เฉพาะกรณีเป็นแง่ๆ เป็นเรื่องๆ อย่างในการขับรถนี้ ก็มีวิธีง่ายๆ ที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ คือ รู้จักมอง รู้จักคิด ให้จิตมีทางเดินหลายๆ อย่าง ตัวนำ ก็คือการใช้ปัญญาในขั้นวิธีมอง ซึ่งยังไม่ต้องใช้ปัญญาอะไรมากมายหรอก เพียงวิธีมองเท่านั้นเอง เช่น เราคิดเผื่อให้เขา อย่างที่คุณหมอพูดเมื่อกี้

หมอเห็นคนไข้หน้าตาไม่ดี เราพูดไปแล้ว เขาพูดกลับมาไม่ดี หมอก็คิดเผื่อให้เขาว่า คนไข้คนนี้ที่จริงเขาไม่ได้โกรธอะไรเราหรอก แต่เขามีอารมณ์ค้าง หรือกำลังวิตกกังวลอะไรอยู่ เขามีความทุกข์ ทุกข์เรื่องโรคภัยไข้เจ็บของเขา ทุกข์เพราะห่วงลูก ว่าถ้าพ่อป่วยไปแล้วลูกจะอยู่ยังไง ทุกข์เรื่องครอบครัว ทุกข์ว่าเงินทองจะเอาที่ไหนมาจ่าย ตัวเองรักษาจะต้องใช้เงินมากไหม? ครอบครัวจะอยู่ได้ยังไง ห่วงโน่นห่วงนี่ ทำให้เขาใจว้าวุ่นขุ่นมัว อารมณ์เสีย เขาจึงพูดตอบมาไม่ดี ถ้าคิดได้อย่างนี้ อาจจะเปลี่ยนไปเห็นใจเขา คิดหาทางปลอบโยน หรือไต่ถามให้รู้สุขทุกข์ แทนที่จะมาหงุดหงิดอัดอั้นอยู่คนเดียวกับตัวเอง แล้วปรุงแต่งใจไม่สบาย

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ของการมองและใช้วิธีคิดแบบที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ ซึ่งเคยเล่าไว้ในหนังสือ รักษาใจยามรักษาคนไข้ และ รักษาใจยามป่วยไข้ คือ เรามีวิธีมองได้มากมาย

วิธีง่ายมากอย่างหนึ่งคือ แม้แต่มองเพียงว่า เป็นเรื่องของการได้เจอประสบการณ์ต่างๆ หลากหลาย และสนุกไปกับการได้เห็นประสบการณ์นั้นๆ โดยเราไม่รับกระทบ หมายความว่าผู้คนทั้งหลายมีต่างๆ ท่าทาง อาการ กิริยา นิสัยใจคอไม่เหมือนกัน คนนี้เป็นอย่างนี้ คนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนั้นยิ้ม คนนี้หน้าบึ้ง คนนั้นหัวเราะตลอดเวลา เราเลยขำไปหมด เห็นคนนี้มาท่านี้ เห็นคนนั้นมาท่าโน้น ขำอย่างเดียว ไม่รับกระทบ ก็ผ่านไปหมด ใจอยู่กับงานหรือการทำหน้าที่ คือการรักษาคนไข้ให้ได้ผลอย่างเดียว ที่ว่ามานี้ อาจจะเรียกว่าเป็นวิธีที่ 1

อีกวิธีหนึ่ง อาจจะมองในแง่ได้เรียนรู้ ซึ่งก็คล้ายๆ กับวิธีแรก แต่วิธีแรกมองแล้วก็ขำผ่านๆ ไป แต่วิธีที่ 2 หาความรู้ไปด้วยว่า คนเรานี้มีต่างๆ หลากหลาย เราเจอคนนี้ก็ได้เรียนรู้ว่า เขาเป็นอย่างนี้ เจอคนนั้น ก็ได้เรียนรู้ว่าเขาเป็นอย่างนั้น

ใครมาดีเราก็เรียนรู้ ใครมาไม่ดีเราก็เรียนรู้ ได้ศึกษา คือได้อย่างเดียว วิธีเมื่อกี้แค่ขำผ่านๆ ไม่เก็บ ไม่กระทบ แต่ไม่ได้อะไร ส่วนวิธีที่สองนี่ได้ทุกที คือมองเห็นชีวิตและสังคมมนุษย์ ได้ความรู้เรื่อยไป

ทีนี้วิธีที่ 3 มองแบบเข้าใจเพื่อนมนุษย์ คือคิดเผื่อให้เขาว่า เขาอาจจะเป็นอย่างนั้น อาจจะเป็นอย่างนี้ เราหาทางสัมพันธ์ เข้าไปไต่ถามเขาให้รู้ความจริง กลายเป็นช่วยแก้ปัญหาให้เพื่อนมนุษย์ เป็นการมองแบบพิจารณาเหตุปัจจัย เป็นการใช้ปัญญา และช่วยให้เกิดมีเมตตากรุณาขึ้นมาได้ด้วย

อีกวิธีหนึ่ง เป็นวิธีที่ 4 มองเป็นบททดสอบตัวเรา เป็นธรรมดาว่าเราอยู่ในโลก ย่อมเจอดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เจอดีเราก็ชอบใจ เจอไม่ดีก็ไม่ชอบใจ แล้วใจก็วุ่นวายไปตาม แต่ชีวิตที่ดีจะมัวหวั่นไหวไปตามอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ อยู่ไม่ได้ จะต้องมีความเข้มแข็ง ตั้งมั่นอยู่กับหลัก สิ่งที่เจอทั้งดีและไม่ดีนี้ ก็เท่ากับเป็นบททดสอบความเข้มแข็งของเรา คราวนี้ลองทดสอบตัวเอง ดูซิว่า เรามีความเข้มแข็งอดทนแค่ไหน ให้เขาด่าบ้าง เราจะได้ดูว่าเราทนได้ไหม พอเจอเขาแรงมา อ้าว! อย่างนี้ก็ได้บททดสอบ ไม่ว่าเจออะไร จะร้ายหรือดีเอามาเป็นบททดสอบหมด ก็ไม่มีปัญหาอีก พอกลับบ้านก็คิดว่า วันนี้ได้บททดสอบใหม่ คราวนี้แรงหน่อย ก็เลยสนุกกับบททดสอบ

ต่อจากบททดสอบ วิธีมองอย่างที่ 5 เป็นแบบฝึกหัดพัฒนาตัวเอง คนเราจะพัฒนาได้ ต้องมีแบบฝึกหัด คนไม่เจอแบบฝึกหัด ไม่ได้แก้ปัญหา ก็ไม่พัฒนา ชีวิตที่ราบรื่นนั้นดีอยู่หรอก เป็นสุข แต่ชีวิตที่ราบรื่นเกินไป อยู่กับความสุขนั้น เป็นชีวิตที่ไม่มีแบบฝึกหัด เหมือนเด็กที่เกิดมาท่ามกลางความสุขสบาย ถ้าพ่อแม่ไม่เป็นกัลยาณมิตรมาช่วยหาแบบฝึกหัดให้ทำ ก็ไม่ได้พัฒนาเลย ต่อไปในชีวิตนี้ จะเอาดี จะให้เข้มแข็ง หรือมีปัญญาที่จะจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ยาก เพราะฉะนั้นคนที่เจอแบบฝึกหัดมากจึงโชคดี ได้ฝึกตัวมาก ปัญญาพัฒนามากมาย ถ้าเจอเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นปัญหา ก็มองเป็นแบบฝึกหัดหมด จะมีแต่พัฒนาอย่างเดียว ได้ฝึก ได้หัด ได้แก้ปัญหา ดีหมด นี่เป็นวิธีที่ห้าแล้ว

วิธีที่ 6 เป็นการพัฒนาปัญญาต่อไปอีก ถึงขั้นรู้เข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง ก็จะมองเหตุการณ์ต่างๆ เหมือนคนที่อยู่บนยอดเขา มองลงมาเห็นสิ่งทั้งหลาย ทั้งผู้คนและเหตุการณ์ที่เป็นไปต่างๆ ก็รู้เข้าใจว่าโลกและชีวิตก็เป็นอย่างนี้ คนเรามีกิเลสบ้าง ไม่มีกิเลสบ้าง กิเลสมากบ้าง น้อยบ้าง เป็นไปต่างๆ กัน เขาก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของเขา เป็นการมองไปตามความเป็นจริงของสิ่งเหล่านั้น ตามเหตุปัจจัย แล้วก็วางใจไปตามความจริงนั้น ไม่มีอะไรกระทบเลย เรียกว่ารู้เข้าใจโลกและชีวิต วางใจถูกต้อง ใจเป็นอิสระ

ใน 6 วิธีนี้เลือกใช้ได้ตามชอบ แต่อย่างน้อยขั้นแรก คนเราจะใช้ ตา หู เป็นด่านสำคัญ ในการสัมพันธ์กับโลกภายนอก ซึ่งเมื่อแยกออกไปก็มีวิธีมอง 2 แบบ

  1. มองด้วยความยินดียินร้าย อย่างที่พูดตอนต้น เห็นสิ่งที่สบายตา ถูกตา ก็ชอบใจ เห็นสิ่งไม่สบายตา ไม่ถูกตา ก็ไม่ชอบใจ สุขทุกข์ก็วนอยู่ที่นี่ นี่เป็นการใช้ ตา หู จมูก ลิ้น แบบแรกหรือแบบสามัญ ของคนที่ยังไม่ได้พัฒนา
  2. มองด้วยปัญญา อย่างน้อยก็มองตามเหตุปัจจัย

ถ้าแยกง่ายๆ ก็เป็น มองตามชอบใจไม่ชอบใจ กับมองตามเหตุปัจจัย พอเจออะไรเข้า ถ้ามองตามชอบใจ-ไม่ชอบใจ ก็สะสมปัญหา แต่ถ้ามองตามเหตุปัจจัยก็เกิดปัญญา

ถ้าเราจะตั้งท่าทีไว้ก่อน ก็จำไว้เป็นคติว่า มองตามเหตุปัจจัย คติก็คือทางไปให้จิตเดินได้ พอเกิดเรื่องที่จะไม่ชอบใจ หรือไปเจออะไรที่จะกระทบกระทั่ง ก็ใช้สติระลึกเอาคติขึ้นมา คตินี้เราจำไว้ก่อนแล้ว เราก็เอาสติไปดึงคติมาใช้ สติบอกว่า นี่เกิดเรื่องแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่ชอบใจแล้ว คติบอกว่าให้มองตามเหตุปัจจัย อย่ามองตามชอบใจ ก็จะยั้งการมองตามชอบใจ เปลี่ยนมามองตามเหตุปัจจัย พอมองตามเหตุปัจจัยปั๊บ ก็สะดุดหยุดปัญหาได้ แล้วก็มามองด้วยปัญญา วิเคราะห์ศึกษา สืบสาวไปตามเหตุปัจจัย

เริ่มตั้งแต่ในครอบครัว ในบ้าน ก็มีเรื่องที่จะกระทบหู กระทบตาได้เรื่อย ซึ่งจะเดินต่อเข้าไปถึงจิตใจ ถ้ามองตามชอบใจ ไม่ชอบใจ ก็ต้องเกิดเรื่องเรื่อย และมีปัญหาทั้งกับตัวเอง และออกมากระทบกัน มีปัญหากับข้างนอก

ถ้าเปลี่ยนเป็นมองตามเหตุปัจจัย ก็ตั้งสติได้ และเริ่มใช้ปัญญา หาทางแก้ปัญหาโดยทางที่ถูกต้อง อย่างน้อยตัวเองก็ไม่เกิดความกระทบ ไม่ขุ่นข้องหมองใจ การใช้ปัญญานี่เป็นเรื่องของการอยู่กับความเป็นจริง ที่เป็นกลาง ปัญญาอยู่กับความเป็นจริงที่เป็นกลาง เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นปัญหา โดยธรรมชาติปัญญาเป็นตัวทำลายปัญหา เป็นตัวสลายทุกข์ เป็นตัวปลดปล่อย ทำให้เป็นอิสระ

เรื่องของมนุษย์ก็เป็นอย่างนี้ ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็เป็นการนำเอาธรรมะมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน บางคนอาจจะไปอยู่วัด มองตามรูปแบบว่า ไปนั่งปฏิบัติกันมากมาย แต่พอเจอชีวิตจริงเข้า กลับปฏิบัติไม่ถูก ทำไม่ถูก ยังโกรธยังรุนแรงพลุ่งพล่าน แสดงว่ายังเอาธรรมะมาใช้ไม่ได้

ถาม : ผมเคยเจอบางคนเก่งทฤษฎี ว่าคำพระได้หมดเลย รู้ทฤษฎีหมด แต่ในชีวิตประจำวันยังเห็นความโลภ ยังเห็นการนินทากันเยอะแยะ เห็นตัวอย่างแบบนี้เยอะครับ

ตอบ : นี่แหละไม่ได้เอามาปฏิบัติจริง ธรรมะที่แท้ ที่เราเอามาปฏิบัติก็หมายถึงมันเป็นจริง เกิดขึ้นในชีวิตจริงของเรา ทำให้ชีวิตจิตใจของเรามีการพัฒนา คือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ถ้าเอาธรรมะมาโดยจำมา บอกว่ารู้ก็ตาม บอกว่าปฏิบัติก็ตาม โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงขึ้นมา แล้วจะมีผลอะไร

การพัฒนาก็คือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ที่ไหน? ก็เกิดขึ้นที่ชีวิตจิตใจของเรา ดูที่ไหน? ก็ดูที่พฤติกรรม กาย วาจา และความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมและทางวัตถุ ดูที่จิตใจ ดูที่คุณธรรม ความดีงามบ้าง ดูที่ความเข้มแข็ง สมรรถภาพของจิตใจบ้าง ดูที่ความสุข ความทุกข์บ้าง ดูว่าร่าเริงเบิกบานผ่องใส จิตใจดี มีทุกข์น้อย มีความเครียดน้อยลง สามารถแก้ปัญหาจิตใจได้ดีขึ้นไหม? แล้วก็ดูที่ปัญญา การเอาเหตุเอาผลมากขึ้น ไม่ไหลไปตามอารมณ์ มีความรู้เข้าใจโลกและชีวิต มองสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริงมากขึ้น ไม่มองตามความเคลือบแฝงของกิเลส ความลำเอียงอคติอะไรต่างๆ อันนี้ก็ดูของจริงเลย

จิตใจที่ว่าหลุดพ้นนั้น ก็คือผู้ที่รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริงนี้แหละ เราก็อยู่ในโลกตามปกติเหมือนคนอื่น ในโลกนี้ย่อมมีสิ่งที่เรียกว่าโลกธรรม คือสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ในโลก ซึ่งผันผวนปรวนแปรหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งชีวิตร่างกายของเราที่เปลี่ยนแปลงไปตามกฎธรรมชาติ เมื่อเรารู้เข้าใจตามความเป็นจริงแล้ว ว่าสิ่งทั้งหลาย เปลี่ยนแปลงไปตามกฎธรรมชาติ มันเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้น ถึงมันจะเป็นอย่างไร เรารู้ทัน มันก็เป็นไปโดยไม่ส่งผลกระทบถึงจิต เพราะปัญญามันรู้ทันหมด

ท่านจึงให้หลักว่า ผู้ใดถูกโลกธรรมทั้งหลาย ทั้งดีและร้าย ถูกใจก็ตาม ไม่ถูกใจก็ตาม เข้ามากระทบกระทั่งแล้ว จิตไม่หวั่นไหว ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง เป็นจิตผ่องใส ร่าเริง เป็นจิตเกษม ไม่มีความเศร้าโศก เบิกบานได้ตลอดเวลา อย่างนี้ท่านเรียกว่าเป็นมงคลอันสูงสุด

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง