สืบสานวัฒนธรรมไทย: บนฐานแห่งการศึกษาที่แท้

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การศึกษาพระพุทธศาสนา
เพื่อเป็นฐานแห่งการสืบสานวัฒนธรรมไทย

ขอย้อนมาพูดถึงเรื่องการศึกษาของสงฆ์บ้าง และจะพูดในแง่ที่โยงกับวัฒนธรรม

ปีนี้ได้ถูกกำหนดให้เป็นปีทองของการศึกษาสงฆ์ การศึกษาของสงฆ์นั้นเป็นการศึกษาทางพระพุทธศาสนา การศึกษาพระพุทธศาสนาก็คือการศึกษาเรื่องของพระธรรมวินัย และวิชาประกอบ

พระธรรมวินัยเป็นแกน เป็นเนื้อหาสาระที่ต้องการที่สุด การศึกษาพระธรรมวินัยเป็นงานสำคัญของพระศาสนา เพราะว่าพระศาสนาดำรงอยู่ด้วยพระธรรมวินัย ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้วว่า เป็นพระศาสดาแทนพระองค์เมื่อพระองค์เสด็จล่วงลับไป

การที่พระภิกษุสงฆ์และประชาชนจะมีความรู้เรื่องพระธรรมวินัย และรักษาพระธรรมวินัยไว้ได้ ก็ต้องมีการศึกษา เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงเป็นฐานแห่งความดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา

การศึกษาพระพุทธศาสนานี้ในที่สุดก็เพื่อเข้าถึงตัวธรรม ได้กล่าวแล้วว่าสัจธรรมและจริยธรรม เป็นฐานของวัฒนธรรม วัฒนธรรมจะอยู่ได้ดีและมีความหมาย ต้องมีเนื้อหาสาระคือสัจธรรมและจริยธรรม พระพุทธศาสนาเป็นการศึกษาเพื่อเข้าถึงตัวสัจธรรมและจริยธรรมนั้น เพราะฉะนั้นการศึกษาพุทธศาสนาจึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งในการสืบสานวัฒนธรรม

โดยใจความ การศึกษาของพระสงฆ์หรือการศึกษาพระพุทธศาสนา มีจุดหมายเพื่อเข้าถึงตัวธรรม ซึ่งเป็นแกนหรือเป็นแก่นสารของวัฒนธรรม อันเป็นการจับจุดที่สำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นจึงเห็นชัดว่าการศึกษาของพระสงฆ์มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอย่างไร

หน้าที่ประการที่ ๑ ของการศึกษาของสงฆ์ ก็คือการที่จะให้บุคคล โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณร เข้าถึงตัวหลักการ คือธรรมที่เป็นแกนและเป็นแก่นสารของวัฒนธรรม อันนี้แหละคือการที่เราจับหัวใจของวัฒนธรรมไว้

หน้าที่ประการที่ ๒ ของการศึกษาของสงฆ์ คือเป็นการศึกษาที่ช่วยให้พระสงฆ์และชาวพุทธทั้งหลายเป็นผู้มีความสามารถในการสรรหาวิธีการที่จะนำเอาตัวธรรมที่เป็นสาระนั้นมาสื่อสารให้ถึงมนุษย์ยุคปัจจุบันในสภาพแวดล้อมที่เขาดำรงอยู่

รู้แต่เนื้อหาสาระอย่างเดียวไม่พอ ถ้ารู้ไปแล้วเอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้ จะใช้ประโยชน์ได้ก็ต้องมีข้อที่ ๒ คือมีความรู้เข้าใจ ในขั้นที่สามารถจัดสรรแต่งวิธีการและรูปแบบที่จะสื่อเนื้อหาสาระนั้นให้ถึงคนปัจจุบัน ให้เขาใช้ประโยชน์ได้

หน้าที่ประการที่ ๓ ในฐานะที่สถาบันสงฆ์ คือวัดวาอาราม เป็นแหล่งเกิดสำคัญและเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมไทย การศึกษาของสงฆ์จึงมีหน้าที่สำคัญที่จะทำให้ชาวพุทธ และคนไทยทุกคน ตั้งแต่ภิกษุสามเณร เป็นต้นไป รู้จักตนเอง และรู้จักสังคมของตน อันโยงกับวัดวาอาราม ในฐานะเป็นศูนย์กลางซึ่งเป็นแหล่งเกิดที่สำคัญของวัฒนธรรมนั้น

เนื้อตัวของสังคมไทย อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่วัฒนธรรมของตนเอง ในเมื่อพระสงฆ์และวัดวาอารามเป็นแหล่งเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมไทย การศึกษาของสงฆ์จะต้องมีความสามารถที่จะช่วยให้คนไทยรู้จักตัวเอง คือ รู้จักสังคมของตนเองอย่างถูกต้อง

ก. การรักษาและตรวจสอบเนื้อหาสาระของวัฒนธรรม

โดยสรุป เมื่อทำอย่างนี้ก็เป็นอันว่า งานการศึกษาพระพุทธศาสนา ก็จะมาตรงกับงานสืบสานวัฒนธรรม กล่าวคือ

งานที่ ๑ คือการรักษาเนื้อหา โดยทำให้คนของเรา เข้าหาและเข้าถึงเนื้อหาสาระอยู่ตลอดเวลา ตัวสัจธรรม คือความจริงหรือธรรมของพระพุทธเจ้านั้นเราก็พูดกันอยู่เสมอว่า เป็นอกาลิโก เป็นกฎธรรมชาติ เป็นของที่แน่นอน แสดงความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา ซึ่งไม่ขึ้นต่อการเกิดขึ้นหรือการอุบัติขึ้นแม้แต่ของพระพุทธเจ้า เมื่อเรื่องนี้มาเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ก็บ่งชี้ว่า เราจะต้องคอยตรวจสอบอยู่เสมอว่า วัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบของเรานี้ มีความเคลื่อนคลาดผิดเพี้ยนไปจากหลักการคือตัวธรรมเดิมหรือไม่ เวลานี้มันยังรักษาเนื้อหาสาระไว้ได้หรือเปล่า นี่แหละคือหน้าที่อย่างหนึ่งซึ่งสำคัญอย่างยิ่ง คือหน้าที่ตรวจสอบ แม้ยังไม่เอามาจัดก็ต้องมีการตรวจสอบ

เวลานี้ลองตรวจสอบดูเถิด วัฒนธรรมไทยที่มีรูปแบบปรากฏมากมายนี้ ยังรักษาเนื้อหาสาระในทางสัจธรรมและจริยธรรมไว้ได้หรือเปล่า ถ้าตรวจสอบดู อาจจะพบความเคลื่อนคลาดผิดเพี้ยนมากมายก็ได้ และถ้าหากว่ามีการผิดพลาด ไขว้เขว ก็จะต้องมีการปรับ ด้วยการแก้ความไขว้เขวผิดพลาดนั้นออกไปให้เนื้อหาสาระเข้าตรงตัวหลักอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้วัฒนธรรมมีความหมายที่แท้จริง และมีเนื้อหาสาระ

ขอยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัว ในวัฒนธรรมไทยที่สืบเนื่องมาจากธรรมในพระพุทธศาสนา เช่น หลักพรหมวิหาร ๔ ที่มาในวิถีชีวิตของคนไทย จนเป็นถ้อยคำสามัญ คือ

๑. เมื่อเขาอยู่เป็นปกติ เราก็มี เมตตา มีความรักความปรารถนาดี อยากให้เขาเป็นสุข

๒. เมื่อเขาตกทุกข์ เราก็มี กรุณา อยากปลดเปลื้องให้เขาพ้นจากความทุกข์

๓. เมื่อเขาได้ดีมีความสุข ทำอะไรถูกต้องดีแล้ว เราก็มีมุทิตา พลอยยินดีด้วย ส่งเสริมสนับสนุน

๔. ถ้าเขาทำอะไรที่ผิดหลักการ ผิดตัวธรรม การกระทำของเขากระทบต่อตัวธรรม ทำให้เสียความเป็นธรรม หรือไม่ชอบธรรม เสียหลักการ เราก็ต้องมี อุเบกขา วางใจเป็นกลาง ให้เขารับผิดชอบต่อตัวธรรม ต่อหลักการ หรือต่อกฎเกณฑ์ที่เป็นความชอบธรรมนั้น

เราลองตรวจสอบดูว่า สังคมไทยของเรานี้ที่ถือว่าเป็นสังคมที่มีเมตตากรุณามากนี้ ปฏิบัติตามพรหมวิหารได้ครบถ้วนหรือเปล่า

๑) เมตตา เราพูดได้ว่า คนไทยเรามีเมตตาดี มีความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลมีน้ำใจ

๒) กรุณา เวลามีคนตกทุกข์ได้ยากเราก็ช่วยเหลือกันดีไม่ทอดทิ้ง

สองข้อแรกนี้ ดูเหมือนว่าเราจะปฏิบัติกันดี และทั้งสองคำนี้เราก็พูดบ่อย จนพูดควบคู่กันว่าเมตตากรุณา เป็นถ้อยคำสามัญมาก

๓) มุทิตา เวลาคนอื่นได้ดี ทำดีทำถูกต้อง คนไทยด้วยกันพลอยยินดีด้วย มีการส่งเสริมสนับสนุนกันดีไหม

พอถึงข้อที่ ๓ คือ มุทิตา นี้ชักจะไม่ชัดหรือไม่ค่อยแน่ใจ และคำนี้เราก็ไม่ค่อยได้พูดถึงบ่อย

จะอย่างไรก็ตาม สามข้อนี้ คือเมตตา กรุณา มุทิตา เป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับบุคคล

๔) ในกรณีที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปกระทบต่อตัวธรรม ว่าจะทำให้ธรรมเคลื่อนคลาดไป ทำให้มีความไม่ชอบธรรม ไม่เป็นธรรม หรือความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น ตอนนี้เมตตา กรุณา และมุทิตา ต้องหยุด และรักษาอุเบกขาไว้ โดยวางใจเป็นกลางให้เขารับผิดชอบต่อธรรมนั้น เราก็ดูว่าในสังคมไทยนั้นเราปฏิบัติธรรมข้อนี้กันได้ถูกต้องดีหรือเปล่า เราถือหลักการเหนือบุคคล และถือกฎเกณฑ์กติกา เหนือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือเปล่า ข้อนี้ชักจะสงสัย

ในบางสังคม คนจะมีความสัมพันธ์ในทางส่วนตัวมาก พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีน้ำใจต่อกัน แต่ในเรื่องหลักการและกฎเกณฑ์กติกาไม่ค่อยรักษา บางทีก็ไปช่วยกันในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จนกระทั่งมองข้ามหรือละเลยต่อหลักการแห่งความถูกต้อง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับ ตลอดจนไม่คำนึงถึงความชอบธรรม ที่เป็นตัวธรรมแท้ๆ ในสังคมที่เป็นอย่างนี้ พูดได้ว่า ได้มีความโน้มเอียงไป ทางพรหมวิหาร ๓ ข้อแรกคือ เมตตา กรุณา และมุทิตา หรืออย่างน้อยเมตตาและกรุณา แต่บกพร่องในข้อ ๔ คือ อุเบกขา เป็นการปฏิบัติพรหมวิหารไม่ครบ สังคมก็เสียดุล

ตรงกันข้าม ในบางสังคมประชาชนมีความเป็นอยู่แบบตัวใครตัวมัน ถือว่าแต่ละคนรักษาตัวให้ดีก็แล้วกัน ถือหลักการเป็นใหญ่ ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อกฎหมาย ต่อกฎเกณฑ์กติกาและระเบียบของสังคม ใครทำผิดก็ว่าไปตามผิด ไม่เอาความสัมพันธ์ส่วนตัว สังคมแบบนี้ถ้าไปสุดโต่งก็ไม่มีน้ำใจต่อกัน ไม่ช่วยเหลือกัน ทุกคนรับผิดชอบแต่ตัวหลักการกฎเกณฑ์กติกาอย่างเดียว และตัดสินจัดการกันไปตามหลักการระเบียบกฎเกณฑ์นั้น สังคมแบบนี้พูดได้ว่าหนักไปทางอุเบกขา แต่จะบกพร่องในเมตตากรุณาและมุทิตา ก็เสียดุลหนักไปอีกข้างหนึ่ง

ถ้าสังคมมีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากไป เอาแต่สามข้อต้น และหย่อนในอุเบกขา ก็ทำให้สังคมเสียหลักไปด้านหนึ่ง คือกฎเกณฑ์กติกาจะถูกมองข้าม หลักการไม่ค่อยเอา คนจะพึ่งพากันได้มาก แต่ก็จะทำให้ตกอยู่ในความประมาทได้ง่าย เพราะคนที่ขาดความเพียรก็หวังพึ่งผู้อื่นได้เลยไม่กระตือรือร้นขวนขวาย

ในทางตรงข้าม ถ้าสังคมใดเอาแต่อุเบกขาสุดโต่ง ไม่มีการช่วยเหลือเกื้อกูล ขาดน้ำใจต่อกันระหว่างบุคคล สังคมนั้นสามารถรักษาหลักการและกติกาของสังคมไว้ได้ และอาจจะช่วยให้ผู้คนมีความเข้มแข็ง เป็นนักต่อสู้ รู้จักช่วยตัวเองและรับผิดชอบชีวิตได้ดี เพราะไม่อาจจะหวังพึ่งใคร แต่ในทางจิตใจ ก็จะมีความแห้งแล้ง คนมีความเครียดมาก และอาจจะเป็นโรคจิตกันมาก

พระพุทธเจ้าตรัสหลักธรรมเช่นอย่างพรหมวิหารไว้ให้มีจำนวนเป็นชุด ก็เพื่อให้มีดุลยภาพ จึงจะต้องมีความพอดีในพรหมวิหาร ๔ นี้

ธรรม ๓ ข้อแรกคือเมตตา กรุณา และมุทิตา เป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับบุคคลในทางที่เข้าไปเอื้อเกื้อกูลหรือขวนขวายช่วยเหลือ ส่วนข้อที่ ๔ คืออุเบกขาเป็นการวางตัวเป็นกลาง ยั้งหยุดตัวไว้ ไม่เข้าไปยุ่งหรือขวนขวายต่อบุคคลนั้นไม่ว่าทางบวกหรือทางลบ ในกรณีที่ความสัมพันธ์กับบุคคลนั้นจะไปกระทบต่อตัวธรรม ต่อหลักการ หรือต่อกฎเกณฑ์กติกาแห่งความชอบธรรม เพื่อให้เขารับผิดชอบต่อหลักการหรือกฎกติกานั้น

หลักพรหมวิหารนี้ ถ้าปฏิบัติถูกต้องได้ดุลยภาพ สังคมก็ดำรงอยู่ได้ดี แต่ถ้าปฏิบัติไม่พอดี สังคมก็จะเสื่อมเสียไปไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง

สังคมไทยปัจจุบันนี้ เราควรจะพิจารณาว่าเป็นสังคมที่มีความสุดโต่งในเชิงความสัมพันธ์กับบุคคลด้วยเมตตากรุณา แต่ขาดอุเบกขาหรือเปล่า ในเวลาเดียวกันก็น่าสังเกตว่าสังคมตะวันตกบางสังคม จะเป็นสังคมที่หนักในอุเบกขา คือยึดแต่หลักการ มีวิถีชีวิตแบบตัวใครตัวมัน ถือว่าทุกคนรับผิดชอบต่อกฎเกณฑ์กติกาก็แล้วกัน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไม่เอา ไม่ค่อยมีน้ำใจต่อกัน อย่างนี้เป็นต้น

อันนี้ก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรม ซึ่งเราเห็นได้ชัดว่า มีเหตุปัจจัยสืบสานโยงมาจากสัจธรรมและจริยธรรม ดังที่พรหมวิหารได้มาปรากฏ ในวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนไทยเรา ในลักษณะหนึ่งที่เป็นแบบของสังคมไทยโดยเฉพาะ และเป็นสิ่งที่พึงตรวจสอบ ซึ่งอาจจะต้องจัดปรับให้ถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วย

ตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งคือสันโดษ สันโดษเป็นหลักธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา และเป็นถ้อยคำที่คุ้นกันดีในสังคมไทย มีการถ่ายทอดสืบต่อมาในวัฒนธรรมไทย แต่ลองมาดูในวิถีชีวิตคนไทยปัจจุบัน คนไทยเข้าใจและปฏิบัติสันโดษอย่างไร เคยถามพระที่มาบวชใหม่แทบทุกองค์ว่าสันโดษมีความหมายว่าอย่างไร ปรากฏว่าตอบคลาดเคลื่อนแบบเดียวกันแทบทั้งนั้น

ปัจจุบันนี้ในสังคมไทย คนเข้าใจคำว่าสันโดษว่า หมายถึงการปลีกตัวอยู่คนเดียว ไม่อยากเกี่ยวข้องกับใคร ซึ่งเป็นความเคลื่อนคลาดในความหมายของสันโดษ น้อยคนหรือแทบจะไม่มีเลย ที่จะเข้าใจความหมายของสันโดษในแง่ที่ว่า เป็นความพอใจในวัตถุบำรุงบำเรอความสุขเท่าที่มี เพื่อจะได้สงวนออมกำลังเรี่ยวแรงเวลาและความคิดไว้ สำหรับใช้ในการทำกิจหน้าที่ให้เต็มที่ เมื่อเราสันโดษเราก็ไม่ไปมัวดิ้นรนแสวงหาวัตถุปรนเปรอตัวเอง เราก็จะได้ออมแรงออมเวลาออมความคิดที่จะไปแสวงหาวัตถุมาเสพบำรุงความสุข แล้วเอาเวลาเอาแรงงานและความคิดนั้นมาใช้ในการทำกิจทำหน้าที่และเรื่องราวที่ดีงามเป็นกุศล ซึ่งมีคุณค่าเกื้อกูลต่อชีวิตและสังคม

พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม ความสันโดษที่ถูกต้องก็มาหนุนความไม่สันโดษที่ถูกต้อง คือเมื่อเราสันโดษในวัตถุบำรุงบำเรอความสุข เราก็สามารถที่จะไม่สันโดษในกุศลธรรมได้เต็มที่ เพราะเราจะออมแรงออมเวลาและออมความคิดได้มากมายเพื่อมาใช้ในการทำกิจหน้าที่ที่เป็นกุศล แต่จะมีคนกี่คนที่เข้าใจเรื่องนี้

เมื่อสันโดษออกมาสู่ชีวิตของประชาชน มันมักถูกถ่ายทอดต่อกันมาในลักษณะที่เว้าแหว่ง ไม่เต็มความหมาย เช่น เราอาจจะบอกว่า คนไทยมีความสันโดษ แต่ก็ไม่มีความชัดเจนในสันโดษว่าเป็นอย่างไร สันโดษของคนไทยถูกต้องตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือเปล่า จึงเป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบทั้งสิ้น

อีกตัวอย่างหนึ่งคือเรื่องมานะ ทำไมปัจจุบันนี้คนไทยจึงเข้าใจความหมายของมานะว่าเป็นความอดทนขยันหมั่นเพียร มีคำพูดชินหูมานานแล้ว บอกเด็กว่าให้มานะพากเพียรเรียนไป ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน นี่คือการที่เข้าใจมานะเป็นความพากเพียร แต่ที่จริงมานะเป็นกิเลส หมายถึงความถือตัวต้องการความยิ่งใหญ่ แล้วทำไมคำว่ามานะที่เป็นกิเลสในภาษาบาลีจึงกลายมาเป็นความเพียรในภาษาไทย เป็นไปได้ไหมที่เราได้ใช้มานะคือความต้องการยิ่งใหญ่นี้มาเป็นตัวยุให้คนเพียรพยายาม เช่นในการศึกษาเป็นต้น จนกระทั่งมานะกลายความหมายไป ถ้าอย่างนั้นก็เป็นความเคลื่อนคลาดในทางวัฒนธรรม

การรักษาวัฒนธรรมนั้น ไม่ใช่ว่าเราเห็นคนไทยทำอย่างไร มีวัฒนธรรมมีวิถีชีวิตอย่างไร แล้วจะต้องถูกไปหมด เรามีหลักตัดสินอยู่แล้วคือ ตัวสัจธรรมและจริยธรรมซึ่งเป็นฐานที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ซึ่งจะต้องนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการตรวจสอบอยู่เสมอ ธรรมสองสามอย่างที่พูดมานี้ก็เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า จะต้องหมั่นตรวจสอบวัฒนธรรมด้วยเนื้อหาสาระ คือหลักการที่แท้จริง ได้แก่ธรรมของพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น การศึกษาของสงฆ์ จะต้องทำหน้าที่นี้ด้วย เรามีเรื่องราวทางวัฒนธรรมที่จะต้องตรวจสอบ แม้อย่างอื่นอีกมากมาย เช่น ในสังคมไทยเรามีวัฒนธรรมในการสัมพันธ์กับเทวดา ก็จะต้องตรวจสอบว่าตามหลักการของพระพุทธศาสนาเรามีความสัมพันธ์กับเทวดาถูกต้องหรือเปล่า เช่นดูว่า เรามีความสัมพันธ์แบบอ้อนวอนขอผลจากการดลบันดาล หรือมีความสัมพันธ์แบบอยู่กับเพื่อนร่วมโลกด้วยเมตตาธรรม อย่างนี้เป็นต้น อันไหนกันแน่เป็นวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับหลักการของพระพุทธศาสนา และวัฒนธรรมของคนไทยในปัจจุบันเป็นแบบไหน สอดคล้องกับหลักการของพระพุทธศาสนาหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่เราต้องเกี่ยวข้องทั้งนั้น มันมีทั้งสัจธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรม รวมอยู่ด้วยกันทั้งหมด แต่ตัวเกณฑ์ที่จะตรวจสอบก็คือสัจธรรม และจริยธรรม ซึ่งเป็นเป้าแห่งการศึกษาของพระสงฆ์

ในระดับที่หยาบและเป็นรูปธรรมยิ่งกว่านั้น ก็มีรูปแบบวัฒนธรรมที่ควรจะตรวจสอบอยู่เรื่อยๆ อีกมากมาย ตัวอย่างง่ายๆ เช่น การทอดกฐิน การอุปสมบท และพิธีทำบุญต่างๆ ซึ่งควรจะตรวจสอบปรับปรุงเพื่อให้รูปแบบยังคงสื่อเนื้อหาสาระตรงตามธรรมวินัย

เมื่อเราคอยตรวจสอบเนื้อหาสาระของวัฒนธรรมไว้ และคอยปรับเข้าที่เข้าทางให้ถูกต้องแล้ว วัฒนธรรมก็จะดำรงอยู่ได้ด้วยดี อย่างมีคุณค่า ไม่ควรจะดึงดันว่า อะไรที่ถือมาในสังคมไทย จะต้องถูกต้องไปหมด ถ้าถืออย่างนั้นก็คือการปิดกั้นตัวเอง

ข. การสืบสานวัฒนธรรมให้สื่อสารสู่สังคมแห่งยุคสมัย

งานที่ ๒ คือการรู้จักปรับให้เข้ากับยุคสมัยท้องถิ่น หรือกาลเทศะ ตลอดจนทำให้วัฒนธรรมนั้นสามารถสื่อสาระที่มีคุณค่ามากจนวัฒนธรรมของเราได้รับความนิยมขยายกว้างออกไปในหมู่ชาวโลก ความสำเร็จขั้นนี้จะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีความรู้เข้าใจเกี่ยวกับสภาพปัญหาปัจจุบัน ตลอดจนรู้เท่าทันเหตุการณ์ความเป็นไปของโลก เพราะฉะนั้นการศึกษาของพระจึงจะจำกัดแคบอยู่เฉพาะเรื่องธรรมวินัยไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ธรรมวินัยนั้นเป็นตัวหลักการหรือตัวสาระซึ่งจะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งก่อน ถ้าพระของเราเรียนไปแล้วไม่มีความเข้าใจหลักธรรมก็เปล่าประโยชน์ เรียกว่าเสียหลักในการศึกษา หรือเสียศูนย์ เพราะฉะนั้นอันดับที่หนึ่งต้องได้ก่อน คือต้องเข้าถึงตัวธรรมวินัย เมื่อได้เนื้อหาสาระคือตัวสัจธรรมและจริยธรรมแล้ว ก็เบาใจได้ และสามารถก้าวมาสู่ขั้นของการจัดรูปแบบของวัฒนธรรม

พอถึงขั้นนี้ งานจัดปรับและสร้างรูปแบบวัฒนธรรมจะสำเร็จได้ ต้องมีความรู้ในเรื่องสภาพปัจจุบันที่เกี่ยวกับกาลเทศะ ทั้งภายในสังคมของเราและสังคมภายนอก แล้วเราก็พัฒนาความสามารถที่จะจัดสรรวิธีการและปรับปรุงแต่งรูปแบบ เพื่อให้วัฒนธรรมของเราสื่อสาระเข้าถึงสังคมในสภาพปัจจุบันอย่างได้ผล และขยายกว้างขวางออกไปในสังคมโลกด้วย

เพราะฉะนั้น จะต้องให้พระสงฆ์ของเรา ตลอดจนชาวพุทธทั้งหลายที่รับการศึกษาทางพระพุทธศาสนา ได้พัฒนาความสามารถ ที่จะนำธรรมนั้นมาสื่อกับยุคสมัยและท้องถิ่นในสภาพของสังคมปัจจุบันให้ได้ ถ้าขาดความสามารถนี้แล้ว แม้จะมีความรู้ในหลักการก็อาจจะเป็นหมัน สูญเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์

การที่จะสามารถสืบสานวัฒนธรรมได้ จะต้องมีความรู้หลายอย่าง เช่นรู้สภาพสังคมไทย รู้ปัญหาสังคมไทย รู้ความต้องการของสังคมไทย รู้ปัญหาความเสื่อมความเจริญของสังคมโลกทั้งหมด รู้เท่าทันความเป็นไปของอารยธรรม และต้องรู้จักโยงปัจจุบัน อดีต อนาคตเข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถสืบต่อวัฒนธรรมได้ดี ภายในกระแสที่สืบเนื่องมาจากอดีต

ยิ่งกว่านั้นไปอีก การที่จะพัฒนาวัฒนธรรมได้ดีจนเป็นผู้นำได้ จะต้องรู้เท่าทันความเป็นไปทางปัญญา และเข้าถึงความรู้ความคิดที่นำหน้าที่สุดของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยอดเยี่ยม ข้อนี้ขอเน้นว่าเราจะต้องจับจุดนี้ให้ได้ คือการศึกษาของเราจะต้องทันทางปัญญา ประเทศที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่พัฒนาสูงสุด มีความคิดอะไร มีความรู้ความเข้าใจอะไรใหม่ๆ เราต้องจับทัน ไม่ใช่คอยตามเขาอยู่ ๒๐ ปีข้างหลัง เวลานี้เมื่อเราเป็นผู้ตามคอยดูว่า ตะวันตกมีอะไรใหม่ๆ กว่าจะรับมาได้ โดยเฉพาะในด้านที่เป็นนามธรรม มักจะกลายเป็นการตามสิ่งที่เขาผ่านไปนานแล้ว ซึ่งจะไม่มีทางเป็นผู้นำ ฉะนั้นจะต้องจับจุดคอยดูว่า คนชั้นนำของเขาคิดอะไร วงการชั้นนำทางปัญญาของเขาขณะนี้ก้าวไปถึงไหน เราต้องเข้าถึงจุดนั้น และจับให้ได้ทันที มิฉะนั้นจะไม่สามารถนำสังคมของเราไปได้ ในทางที่จะทำให้วัฒนธรรมของเรานี้ เป็นวัฒนธรรมที่ก้าวหน้า

ประการต่อไปก็คือ การสร้างความมั่นใจในตัวเองที่ว่า เรามีอะไรดีที่จะให้แก่ผู้อื่นได้ ถ้าเป็นพระก็จะต้องมีความมั่นใจในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ว่าในธรรมของพระพุทธเจ้ามีสัจธรรมและจริยธรรม ซึ่งมีดีที่จะมาช่วยแก้ปัญหาของโลกปัจจุบันได้ ที่เขาจะต้องยอมรับ ความมั่นใจนี้จะต้องมีก่อน และเมื่อเรามีอะไรจะให้แก่เขาได้ ความเป็นผู้นำก็จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จะต้องปลุกจิตสำนึกในความเป็นผู้นำ ให้เกิดขึ้นในพระสงฆ์ ตลอดจนเด็กและเยาวชนชาวไทย เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องย้ำกันให้มากในปัจจุบัน

ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เวลานี้คนไทย รวมทั้งเด็กและเยาวชน จะต้องเป็นคนที่มองให้กว้าง คิดให้ไกล ใฝ่ให้สูง

มองให้กว้าง คือไม่มองแคบๆ อยู่แค่สังคมของตนเอง คิดให้ไกล คือคิดยาวออกไปทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ไม่ใช่คิดสั้นๆ อยู่แค่ปัญหาเฉพาะหน้า และใฝ่ให้สูง คือใฝ่อย่างพระโพธิสัตว์ ที่ท่านมีปณิธานว่าจะต้องบรรลุโพธิญาณ การใฝ่สูงไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่เราอาจจะผิดที่บอกว่าใฝ่สูงผิด พระโพธิสัตว์เป็นแบบอย่างของผู้ใฝ่สูง คือใฝ่โพธิญาณ

ใฝ่สูง คือมุ่งหมายปรารถนาจะเข้าถึงสัจธรรมความจริงที่สูงสุด และปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะบำเพ็ญความดีงาม สร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้เข้าถึงประโยชน์สุขอย่างสูงสุด ไม่ใช่ใฝ่ต่ำที่ปรารถนาแต่จะหาอามิสผลประโยชน์ส่วนตัว หรือหมกมุ่นอยู่กับความปรารถนาที่จะสนองโลภะ โทสะ โมหะ ของตน

พระโพธิสัตว์ท่านปรารถนาโพธิญาณ อันเป็นธรรมสูงสุด ซึ่งถ้ายังไม่สำเร็จ ท่านจะไม่หยุดเลย พระพุทธเจ้าตรัสว่า การที่เราตรัสรู้มานี้ ได้เห็นคุณค่าของธรรม ๒ ประการ คือ

๑. ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย

๒. การบำเพ็ญเพียรไม่ระย่อ

พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างของคนที่มีความไม่สันโดษ พูดอย่างนี้บางท่านอาจจะขัดใจขึ้นมา แต่มันเป็นความจริง พระพุทธเจ้าสอนให้สันโดษในปัจจัย ๔ สอนให้สันโดษในวัตถุเครื่องบำรุงบำเรอความสุข แต่ไม่ให้สันโดษในกุศลธรรม ดังได้กล่าวแล้ว เมื่อสันโดษในวัตถุบำรุงความสุข ก็ทำให้เราสามารถออมเวลา แรงงาน และความคิดไปใช้ในการที่จะไม่สันโดษในกุศลธรรม คือในการแสวงความรู้ และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม

เพราะฉะนั้นสังคมไทยจะต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน ถ้าจะทำก็ต้องทำให้ถูกอย่างพระโพธิสัตว์ คือใฝ่ให้สูงนั้น ไม่ใช่สูงในทางมุ่งหาผลประโยชน์แบบเห็นแก่ตัว ซึ่งที่จริงเป็นใฝ่ต่ำ แต่ใฝ่ให้สูงในการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม และประโยชน์สุข

ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ งานสืบสานวัฒนธรรมก็ย่อมประสบความสำเร็จ วัฒนธรรมไทยจะเป็นวัฒนธรรมของผู้นำที่ก้าวหน้าและสร้างสรรค์ นอกจากขจัดหรือบรรเทาปัญหาในสังคมของตนอย่างได้ผลแล้ว ยังสามารถก้าวออกไปช่วยแก้ปัญหาของโลก และร่วมสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติได้อย่างดีด้วย

ค. การรู้จักวัฒนธรรมไทยในฐานะเป็นการรู้จักตัวเอง

งานที่ ๓ การศึกษาของสงฆ์นั้น จะต้องช่วยให้คนไทย เริ่มตั้งแต่พระภิกษุสงฆ์ไทยรู้จักตนเอง รู้จักสังคมของตนเอง ในฐานะที่วัดนั้น เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่โบราณดังที่ได้กล่าวแล้ว

สำหรับงานที่ ๓ นี้ เป็นเรื่องที่ควรจะแยกออกไปพูดต่างหาก และเป็นเรื่องสำหรับผู้ชำนาญการที่จะบรรยายให้พิสดาร ในแต่ละด้านของตนๆ อีกประการหนึ่งก็ได้พูดมายืดยาวมากแล้วด้วย จึงจะกล่าวนำไว้เพียงเท่านี้

นี้แหละคืองานการศึกษาของพระสงฆ์ ซึ่งที่จริงพระสงฆ์ก็ได้ทำอยู่แล้ว แต่บางครั้งถ้าเราไม่มีความชัดเจนในการกระทำและสิ่งที่กระทำ งานของเราก็ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

เป็นอันว่า หน้าที่ในการศึกษาของพระสงฆ์ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม ในขั้นพื้นฐาน มี ๓ อย่าง คือ

๑) การศึกษา ที่จะทำให้พระภิกษุสามเณรมีความรู้จริง เข้าถึงหลักการ คือตัวธรรมที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา และซึ่งมาเป็นแกนและเป็นแก่นสารของวัฒนธรรมไทย อันได้แก่สัจธรรมและจริยธรรม และมีความมั่นคงในหลักการของพระพุทธศาสนา คือ ตัวพระธรรมวินัย

๒) การพัฒนาพระภิกษุสามเณร ให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ในการจัดแต่งสรรหาวิธีการที่จะเอามาสื่อเนื้อหาสาระคือตัวธรรม ทั้งสัจธรรม และจริยธรรม ให้ถึงประชาชน ให้เขาเห็นคุณค่าและใช้ประโยชน์ได้

๓) การศึกษา ที่จะทำให้พระภิกษุสามเณรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นมาและสภาวการณ์ของพระพุทธศาสนา สถาบันสงฆ์ และวัดวาอาราม ในความสัมพันธ์กับสังคมไทย และเข้าถึงวัฒนธรรมไทย ในฐานะที่วัดเป็นศูนย์กลาง และเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของวัฒนธรรมไทยนั้น

พระภิกษุสามเณร เมื่อได้รับการศึกษาที่ถูกตรงไปแล้วก็จะสามารถทำหน้าที่เผยแพร่สั่งสอนแนะนำประชาชน โดยสอดคล้องกันตามแนวทางที่ตนได้รับการศึกษามานั้น คือ

ประการที่ ๑ สอนนำประชาชน รวมทั้งเด็กและเยาวชน ให้เห็นความจริงของธรรม รู้จักเนื้อหาสาระและเหตุผลของสิ่งที่เป็นวัฒนธรรม ว่าเป็นอย่างไร

ประการที่ ๒ สอนนำประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ให้มีความนิยมใฝ่รักในจริยธรรม ในความดีงามและในสิ่งที่จะนำมาสร้างสรรค์ปรุงแต่งเป็นวัฒนธรรม และช่วยพัฒนาให้คนไทยเป็นผู้มีความสามารถ รู้จักปรับจัดสรรแต่งรูปแบบของวัฒนธรรมที่จะเป็นเครื่องสื่อสานสัจธรรมและจริยธรรมออกมาสู่ความเป็นวัฒนธรรมที่เป็นประโยชน์แก่สังคมของตนและแก่สังคมโลกในกาลเทศะแห่งยุคสมัยที่เป็นปัจจุบันได้

ประการที่ ๓ สอนนำประชาชน เริ่มแต่เด็กและเยาวชน ให้รู้จักตัวเอง และรู้จักสังคมของตน โดยรู้เข้าใจและมองเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมไทย มีความภูมิใจมั่นใจในตนเองตามธรรม และปฏิบัติกิจในทางวัฒนธรรมได้อย่างถูกต้อง

นี่คือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของสงฆ์ เท่าที่สัมพันธ์กับการรณรงค์สืบสานวัฒนธรรมไทย

เวลานี้เราจะต้องหันมาเน้นในเรื่องคุณภาพของตัวบุคคล การที่จะสืบสานวัฒนธรรมไทยได้สำเร็จ ด้วยการศึกษาของสงฆ์ที่จะช่วยให้พระมาทำหน้าที่ในการสืบสานวัฒนธรรมไทย และช่วยให้คนไทยทำงานนี้เป็นผลสำเร็จนั้น จะต้องหันมาให้ความสำคัญแก่ตัวพระสงฆ์เอง คือการพัฒนาคุณภาพของพระสงฆ์

การพัฒนาคุณภาพของพระสงฆ์ ก็คือพัฒนาพระภิกษุสามเณรด้วยการศึกษานี้เอง ถ้าพระภิกษุสามเณรมีคุณภาพแล้วเราก็มีความหวังว่า การที่จะเอาการศึกษาของสงฆ์มาช่วยวัฒนธรรมไทยนั้นจะมีทางสำเร็จ

แม้เราจะไม่มีโครงการสืบสานวัฒนธรรมไทย พระก็ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว แต่ตอนนี้ เรามาเน้นกันว่า ขอให้พระสงฆ์ของเราทำหน้าที่ให้ได้ผลดี และถูกต้อง และให้มีความพร้อมในการทำหน้าที่นี้ เพื่อจะให้พระสงฆ์นั้นอยู่ในฐานะเป็นผู้นำในทางปัญญา และในทางความคิดจิตใจแก่ประชาชน เพราะโดยฐานะพระเป็นผู้มีบทบาทนี้อยู่แล้ว ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า เราต้องเน้นความสำคัญของเรื่องนี้เพราะอะไร เพราะว่าตัวพระสงฆ์เองก็ตาม วัดวาอารามเองก็ตามนี้ เป็นที่ปรากฏของวัฒนธรรมไทยตลอดมา รวมทั้งเป็นแหล่งหรือเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมไทย และแม้แต่เป็นตัววัฒนธรรมไทยเองด้วย

พระสงฆ์ และวัดวาอารามนี้ เป็นวัฒนธรรมไทยอยู่ในตัวเองเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น เมื่อเราจะมาสืบสานวัฒนธรรมไทย เราก็จะต้องให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้ โดยเฉพาะรูปแบบภายนอกจะปรากฏคุณค่าและเป็นที่นิยมสืบทอดไปด้วยดี ก็ต้องอาศัยเนื้อหาสาระดังที่กล่าวมา

การศึกษาของพระสงฆ์จะต้องทำหน้าที่ให้สำเร็จผลดังที่กล่าวมา ถ้าพระสงฆ์สามารถทำหน้าที่ตามหลักการที่กล่าวมานี้ ก็มั่นใจได้ว่าพระสงฆ์จะเป็นที่พึ่งของสังคมไทยได้ แล้วพระสงฆ์ก็จะสามารถเป็นผู้นำประชาชนไทยไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุขได้อย่างแน่นอน

ขอกราบขอบพระคุณท่านพระมหาเถรานุเถระทุกท่าน และขออนุโมทนาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน ณ โอกาสนี้

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง