สืบสานวัฒนธรรมไทย: บนฐานแห่งการศึกษาที่แท้

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ความสำเร็จของงานสืบสานวัฒนธรรม

ต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง จะขอพูดเป็นเรื่องปลีกย่อย ในงานสืบสานวัฒนธรรมที่จะให้ได้ผลดี มีข้อคำนึงและสิ่งที่ต้องเผชิญที่จะยกมาเป็นเรื่องๆ

ก. เผชิญกับวัฒนธรรมอื่น: แพ้หรือชนะ

การที่จะตั้งรับและเผชิญต่อวัฒนธรรมจากภายนอก เป็นเรื่องสำคัญของผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยในปัจจุบันมาก เพราะเราได้เห็นกันชัดเจนว่า เวลานี้วัฒนธรรมตะวันตกได้บุกรุกเข้ามาในสังคมไทยเป็นอย่างมาก จะว่าบุกรุกก็ไม่เชิง เพราะคนไทยเรานี้เอง ไปนิยมและไปรับเอาของเขาเข้ามา ฉะนั้นเราจะต้องมีการเตรียมพร้อม ในการที่จะเผชิญและรับมือกับวัฒนธรรมจากภายนอกนี้ โดยเฉพาะวัฒนธรรมตะวันตก แต่ทั้งนี้เราจะต้องมีความชัดเจนว่า ในการสัมพันธ์กับวัฒนธรรมตะวันตกนั้น เราจะเอาแค่ไหน หรือจะไม่เอา

หลักการทั่วๆ ไปก็คือ ไม่ควรไปสุดโต่ง สุดโต่งนั้นมี ๒ อย่างคือ พวกหนึ่งก็เลียนแบบ หมายความว่า วัฒนธรรมตะวันตกมาอย่างไร ฉันก็เลียนแบบทำตามไปหมด มีอะไรมาก็รับทั้งสิ้น อย่างนี้ก็เป็นสุดโต่งที่ไม่พึงปรารถนา ซึ่งจะเป็นการทำอันตรายต่อวัฒนธรรมของตนเอง และไม่ใช่เฉพาะวัฒนธรรมเท่านั้น ที่จริงก็คือการทำลายสังคมและชีวิตของตนเองนั่นเอง ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ การที่คนไทยไปนิยมเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตก ทำให้เกิดผลเสียต่อชีวิตและสังคมของตนเองเพียงใด

เพราะฉะนั้น ในด้านสุดโต่งที่หนึ่ง การรับมือกับวัฒนธรรมตะวันตกนั้น มิใช่เป็นการเลียนแบบ ที่จริงการเลียนแบบก็คือการตามไปด้วยโมหะนั่นเอง หมายความว่าเลียนแบบเพราะไม่มีปัญญา ไม่มีความรู้ที่จะทำอย่างไรด้วยตนเอง จึงทำไปโดยที่ว่า มีแต่ความชื่นชอบ แล้วก็ตามอย่างไปเพื่อสนองความต้องการที่ชื่นชอบนั้น โดยไม่รู้ว่าที่เขาเป็นอย่างนั้นและทำอย่างนั้น เพื่ออะไรและเพราะอะไร และเรารับแล้วจะเป็นอย่างไร

ต่อไปอีกสุดโต่งหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้าม คือปฏิเสธ ผลักดันออกไป ไม่เอาทั้งนั้น อะไรเป็นวัฒนธรรมตะวันตก ของนอกเข้ามาฉันไม่เอา แต่เสร็จแล้วเพราะการปฏิเสธอย่างนี้แหละ ก็จะเอาโดยไม่รู้ตัวเลย เราจะเห็นว่าคนไทยจำนวนมาก รับวัฒนธรรมตะวันตกโดยไม่รู้ตัว ปากก็บอกว่าไม่เอาๆ แต่ไปตามเขาเข้าแล้ว เอามาใช้แล้ว ปัจจัยดำรงชีพ สิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ระบบวิธีในการดำเนินชีวิตและอยู่ร่วมสังคม เป็นไปตามเขา เข้าไปมีชีวิตอยู่ในวัฒนธรรมตะวันตกโดยไม่รู้ตัวเลย เพราะฉะนั้นจะต้องใช้วิธีแห่งปัญญา

วิธีแห่งปัญญาคือ การที่จะมองและกลั่นกรองเอามาใช้ประโยชน์ เมื่อเราสัมพันธ์กับวัฒนธรรมภายนอก ไม่เฉพาะวัฒนธรรมตะวันตก จะเป็นวัฒนธรรมใดก็ตาม เราจะต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่า ทำอย่างไรจะเอามันมาใช้ประโยชน์ได้ คือการที่ต้องรู้จักเลือกเอาส่วนที่ดี มองจับเอาคุณค่าที่เป็นประโยชน์ โดยแยกแยะวิเคราะห์ และที่สำคัญเมื่อใช้ปัญญา รู้จักเลือกแล้ว ก็ต้องรู้จักดูดย่อย ให้กลายมาเป็นเนื้อเป็นตัวของเรา แล้ววัฒนธรรมของเราก็จะอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

การเลียนแบบ เป็นการรับด้วยโมหะ คือไม่มีปัญญา แล้วมันก็เข้ากับตัวเองไม่ได้สนิท เหมือนเราไปใส่รองเท้าของฝรั่ง ฝรั่งตัวโตกว่า เราไปใส่รองเท้าของเขาแล้วก็คงเดินไม่สะดวก มันโพรกเพรกๆ หรือจะไปใส่เสื้อนอกของฝรั่ง มันก็ไม่เข้ากับเรา โดยดินฟ้าอากาศ สภาพแวดล้อม และแม้แต่ขนาดตัวก็ไม่เท่ากัน แต่ที่สำคัญก็คือ จะทำได้ไม่เหมือนเขา เพราะเป็นคนละคน ถึงจะเลียนแบบอย่างไร ก็ไม่เหมือนเขาจริง

การเลียนแบบเป็นการไปรับเอามาทั้งดุ้น และพยายามจะทำให้เหมือนเขา ทั้งที่ตัวเราไม่เหมือนเขา ทำให้เราตะกุกตะกัก และอยู่แค่ไม่ถึงเขา เพราะมีความคิดเพียงแค่จะให้เท่าเขา สังคมของเราจึงไม่สามารถเจริญพัฒนาได้

ถ้าเป็นคนมีปัญญาก็ใช้วิธีดูดย่อย เพราะว่าเมื่อดูดย่อยแล้ว มันก็กลืนกลายเป็นเนื้อตัวของเรา แล้วตัวเราก็เจริญงอกงามยิ่งขึ้น ฉะนั้นการที่จะรับเอาวัฒนธรรมภายนอก จะต้องใช้วิธีดูดย่อยเข้ามา ไม่ใช่วิธีเลียนแบบ อันนี้เป็นวิธีที่ใช้ปัญญา

วัฒนธรรมของตะวันตกที่เจริญนั้น ก็ด้วยการรับเอาวัฒนธรรมภายนอกเข้าไปทั้งนั้น อย่างง่ายๆ เช่น ภาษาอังกฤษ เวลานี้มีศัพท์มากเหลือเกิน มี Dictionary ใหญ่โตมโหฬาร สามารถคุยได้ว่า ภาษาของเขามีจำนวนถ้อยคำที่ใช้มากมายมหาศาล แต่ถ้อยคำภาษาอังกฤษนั้น มาจากภาษาต่างประเทศในต่างวัฒนธรรมมากมาย คงไม่ต่ำกว่าครึ่ง หรืออาจจะเป็นส่วนใหญ่ทีเดียว แต่นั่นเป็นการรับเอาโดยวิธีดูดกลืนเพื่อที่จะใช้ประโยชน์ คือ ไม่ใช่สักแต่ว่าเลียนแบบ แต่รับเอาอย่างมีวัตถุประสงค์ หรือรับแล้วจัดปรับให้เข้ากับวัตถุประสงค์ ที่จะใช้ประโยชน์ สนองความต้องการในสังคมของเขา ก็ทำให้สังคมของเขาเจริญวัฒนา

สังคมใดๆ ก็ตามที่จะมีความเจริญวัฒนา ต้องรู้จักเลือกรับจากภายนอก ไม่ใช่มัวยืนตัวปิดตายอยู่ ถ้าเป็นสังคมที่ปิดตาย ก็จะมีวัฒนธรรมที่นิ่งตายเช่นเดียวกัน จะไม่มีความเจริญงอกงามอีกต่อไป และอยู่ยั่งยืนไม่ได้

เวลานี้มีการเผชิญกันระหว่างวัฒนธรรม และมีการพูดกันทำนองว่า จะมีการแพ้ชนะกันในทางวัฒนธรรมด้วย ความจริงศัพท์นี้ไม่น่าใช้หรอก แต่เมื่อใช้แล้วเราก็ควรนำเอามาพูดกัน จะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าเรารับวัฒนธรรมอื่นในลักษณะที่เรียกว่าเป็นการเลียนแบบ ก็จะเป็นการถูกครอบงำ

เวลานี้บางทีเราก็พูดกันอยู่เหมือนกันว่า วัฒนธรรมไทยหรือสังคมไทยนี้ถูกครอบงำ โดยวัฒนธรรมแบบตะวันตก การที่ถูกครอบงำก็คือ การแสดงความพ่ายแพ้ ถ้าสังคมของเราถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมตะวันตกจริง ก็แสดงว่าวัฒนธรรมไทยถึงความพ่ายแพ้ไปแล้ว เป็นความปราชัย เพราะการเลียนแบบ คือการถูกครอบงำ และการถูกครอบงำ คือความพ่ายแพ้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ในทางตรงข้าม จะต้องมีชัยชนะ คือ แทนที่จะเลียน ก็เปลี่ยนเป็นเรียน

การเรียนไม่เสียหาย แต่ถ้าเลียนก็เสียแน่ ถ้าจะเลียนแบบเขา ก็ทำไม่ได้จริงเหมือนเขา และได้เขาเป็นขีดกำหนด อยู่แค่นั้น แต่ถ้าเราเรียน เราจะได้ประโยชน์ เพราะจะปรับเข้ากับตัวเรา และเป็นส่วนเสริมตัวเราให้ยิ่งงอกงาม การปฏิบัติต่อวัฒนธรรม ต้องใช้วิธีเรียน เมื่อเราเรียนก็คือการที่เราสามารถถือเอาประโยชน์จากของเขาได้ และเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์เข้ามาเสริมเนื้อตัวของเรา อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่าดูดกลืนย่อย เป็นเนื้อเป็นตัวของเรา ถ้าใช้วิธีนี้เราจะได้ชัยชนะ

ชัยชนะทางวัฒนธรรมจะเกิดขึ้น ถ้าคนของเรามีปัญญา และมีวิจารณญาณในการเลือกรับอารยธรรมตะวันตก หรือวัฒนธรรมอื่นใดก็ตามจากภายนอก

เป็นอันว่า จะต้องใช้วิธีเรียน โดยดูดกลืนเอามาย่อยเข้าเป็นของตัวเอง แล้ววัฒนธรรมของเราก็จะเจริญงอกงามยิ่งใหญ่อุดมคุณค่ามากขึ้น นอกจากจะสามารถรับเอาจากภายนอกมาเป็นของเราอย่างดีแล้ว เมื่อใช้วิธีแห่งปัญญา เราจะสามารถพัฒนาวัฒนธรรมของเรานี้ให้เป็นที่นิยม จนกระทั่งสังคมอื่นข้างนอกเขานิยมตามวัฒนธรรมของเราไปด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งพึงระลึกตระหนักไว้ในตอนนี้ก็คือ เราอย่าแค่เป็นวัฒนธรรมตั้งรับเท่านั้น แม้แต่สามารถเลือกรับก็ยังใช้ไม่ได้ ถ้าอยู่แค่ตั้งรับก็จะค่อยๆ หมดไป เพราะเมื่อถูกบุกถูกรุกอยู่ตลอดเวลา ก็จะค่อยๆ อ่อนกำลังร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ

ข. วัฒนธรรมไทย สู่ความเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้

ทำอย่างไรจะให้วัฒนธรรมไทยของเรานี้อยู่ในภาวะเป็นวัฒนธรรมฝ่ายรุกบ้าง ตอนนี้ควรจะต้องคิดกัน คือต้องพยายามที่จะให้วัฒนธรรมของเราสามารถขยายตัวแผ่ความน่านิยมออกไป วัฒนธรรมที่จะเป็นอย่างนี้ได้ก็ต้องมีอะไรที่จะให้แก่ผู้อื่นบ้าง และการที่จะมีอะไรให้แก่เขา ก็ต้องเป็นวัฒนธรรมที่มีเนื้อหาสาระ

เรื่องนี้ เราจะต้องคิดกันให้ชัด ถ้าพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมไทยจะมีอะไรให้แก่ชาวโลก พระพุทธศาสนาก็ต้องมีเนื้อหาสาระที่เสริมเติมแก่อารยธรรมของโลกได้ เราจะต้องรู้เข้าใจหลักการของพระพุทธศาสนา ให้เพียงพอที่จะตัดสินเรามีความมั่นใจหรือไม่ในพระพุทธศาสนา คือความมั่นใจในธรรมของพระพุทธเจ้า เรามีญาณทัศนะในสัจธรรม มีความจริงอะไรที่จะเอามาใช้ประโยชน์ ในการแก้ปัญหาของโลกบ้าง หลักความจริงอะไรที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ที่เราจะเอามาจัด เอามาสร้างเป็นรูปแบบที่เข้ากับสภาพสังคมปัจจุบันให้ใช้ประโยชน์ได้

ถ้าปรากฏว่า ธรรมของพระพุทธศาสนา ที่เป็นเนื้อหาสาระคือความจริงของธรรมชาติ ที่พระพุทธเจ้าค้นพบนั้นสามารถเอามาใช้ประโยชน์แก้ปัญหาสังคมปัจจุบันที่เขากำลังประสบอยู่ได้ผล ช่วยให้อารยธรรมของมนุษยชาติก้าวรุดหน้าได้ต่อไป สังคมอื่นเขาก็ต้องนิยม วัฒนธรรมไทยก็แพร่ขยายไปเอง

เพราะฉะนั้นจะต้องตั้งจิตตั้งใจมีเจตจำนงในการที่ว่าเราต้องเป็นวัฒนธรรมฝ่ายรุก โดยมีความคิดที่จะแผ่ขยายความนิยมในวัฒนธรรมของเราออกไป ด้วยการมีสาระที่จะให้แก่เขา และสื่อสารให้เขาเข้าใจได้ นี้ก็คือการมีจิตสำนึกในความเป็นผู้นำ

ปัจจุบันสังคมไทยของเรานี้ มีสภาพจิตอย่างหนึ่งที่ได้สั่งสมมานานเป็นร้อยปีจนกลายเป็นสิ่งที่ฝังแน่นเข้าไปอยู่ในจิตไร้สำนึกเลยทีเดียว คือภาวะของความเป็นผู้ตาม สภาพจิตแบบผู้ตามนี้ กล่าวได้ว่า กำลังครอบงำจิตสำนึกของสังคมไทย จนกระทั่งมีพฤติกรรมของผู้ตามไปโดยไม่รู้ตัว

ประการที่หนึ่ง เรามองตะวันตกว่าเป็นสังคมที่เจริญ มีอะไรดีกว่าเรา เจริญกว่าเรา แต่เวลาเรามองความเจริญเรามักจะมองในความหมายว่า เจริญอย่างฝรั่ง คือมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง แทนที่จะมองว่าเจริญอย่างฝรั่งคือทำได้อย่างฝรั่ง ขอให้พิจารณาดู เป็นอย่างนี้จริงหรือไม่

วัฒนธรรมที่จะเจริญนั้น ต้องเป็นวัฒนธรรมของนักทำ หรือนักสร้างสรรค์ และสามารถสืบสานได้ นักสร้างสรรค์ ผู้จะมีความเจริญที่แท้ และพัฒนาตนขึ้นจากผู้ตามสู่ความเป็นผู้นำ เขาจะมองความหมายของความเจริญว่า เจริญอย่างฝรั่งคือทำได้อย่างฝรั่ง แต่เวลานี้คนของเราส่วนมากมองว่า เจริญอย่างฝรั่งคือ มีกินมีใช้อย่างฝรั่ง ถ้าอย่างนี้เราก็ต้องคอยรอผลิตภัณฑ์ รอสิ่งบริโภคจากเมืองตะวันตก เขาตั้งตามองตั้งหูฟังว่าฝรั่งมีอะไร แล้วก็คอยดู คอยตามเพื่อที่จะรับเอา ถ้าอย่างนี้ก็ต้องเป็นผู้รับและเป็นผู้ตามอยู่เรื่อยไป

ประการที่สอง เมื่อเป็นอย่างนี้นานเข้า เราก็จะมีนิสัยที่ฝังลงไปในสภาพจิต ในการที่จะคอยดูว่าในสังคมตะวันตกมีอะไรเกิดขึ้นใหม่ๆ บ้าง แม้แต่นักวิชาการก็จะมองว่า เวลานี้สังคมตะวันตกมีความคิดและการค้นคว้าทางวิชาการอะไรใหม่ๆ บ้าง เราคอยตามดู แล้วก็คอยรับ คอยดู คอยรับๆ อยู่เรื่อยๆ

พอเป็นผู้ดูผู้รับมานานเข้า ก็เลยกลายเป็นผู้ตามไปโดยไม่รู้ตัว นานๆ เข้าสภาพจิตของผู้ตามนี้ก็กลายเป็นจิตนิสัยของสังคม ที่จะคอยดูว่าในสังคมตะวันตก มีอะไรเกิดขึ้นใหม่ๆ เป็นสิ่งที่จะกินใช้บริโภค และแม้แต่ความรู้และผลงานทางวิชาการ แล้วก็ตามไปรับเอามา และภูมิใจที่ได้รับสิ่งใหม่จากเขา จนกลายเป็นการแข่งกันในหมู่พวกเราเอง ว่าใครจะรับได้ไวกว่า แล้วก็มาภูมิใจที่ตามเขาได้ก่อน มาข่มทับกันเอง ในสังคมของตน แทนที่จะคิดว่าเราก็มีดีที่จะให้แก่เขาเหมือนกัน แทนที่จะคิดค้นสืบสวนและสืบสาวกันดูว่า เรามีอะไรดีบ้างในตัวของเรา ที่จะเอาไปแสดงออกเผื่อแผ่ให้คนอื่นเขายอมรับและได้ประโยชน์บ้าง เรากลับไม่คิด เพราะเราติดนิสัยกลายเป็นสังคมที่มีสภาพจิตแบบผู้ตามไปแล้ว

ที่ว่านี้ มิใช่หมายความว่าจะไม่ให้ติดตามความก้าวหน้าเคลื่อนไหวและไม่ให้รับสิ่งใหม่จากตะวันตก ตรงข้ามวัฒนธรรมจะเจริญงอกงามได้ ก็ต้องทันต่อเหตุการณ์โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางปัญญา สิ่งที่พิจารณาในที่นี้คือท่าทีต่อสิ่งใหม่นั้น ซึ่งหมายความว่า เราจะต้องตามให้ทันความรู้ความคิดที่นำหน้าที่สุดในโลก แต่การตามและการรับเอานั้น จะต้องดำเนินไปด้วยท่าทีแห่งความรู้เท่าทัน ของผู้มีดีของตนเอง ที่มองหาเอาสิ่งแปลกใหม่มาใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ตามและรับด้วยท่าทีของผู้ที่รอการให้ของผู้อื่น หรือรอรับของแจก

เวลานี้จะต้องปลุกจิตสำนึกของคนไทยให้มีสภาพจิตแบบที่จะเป็นผู้นำบ้าง ไม่ใช่เป็นแต่ผู้ตามเรื่อยไป ในการที่จะเป็นผู้นำได้นั้น จะต้องเป็นผู้ให้ คือต้องมีอะไรที่จะให้แก่เขา ถ้าเรามีอะไรที่จะให้แก่เขาแล้ว เราก็จะเป็นผู้นำไปเองโดยอัตโนมัติ เพราะผู้ให้จะไปไหน ผู้ที่จะเอาก็ต้องตามไป เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีอะไรที่จะให้ เราก็จะเป็นผู้นำไปเอง

ต่อไปนี้สังคมไทยจะต้องสร้างจิตสำนึกใหม่ คือสร้างจิตสำนึกแห่งความเป็นผู้นำ และเป็นผู้ให้ ไม่ใช่แค่คอยตามและรอรับเอา เรื่องนี้จะต้องพูดกันให้ชัด และคิดกันให้จริงจัง เป็นเรื่องสำคัญขั้นสุดยอด

ยอมรับหรือไม่ว่า เวลานี้สังคมไทยของเรา ได้มีสภาพจิตของความเป็นผู้ตามและเป็นผู้รับ จนกระทั่งไม่รู้ตัว เพราะได้แฝงฝังลงไปอยู่ในจิตไร้สำนึกแล้ว ถ้ายอมรับ ก็จะต้องปลุกกันให้ตื่นขึ้นมา คือต้องปลุกเร้าจิตสำนึกในความเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ โดยรำลึกตระหนักว่า การที่จะเป็นผู้นำได้ก็ต้องเป็นผู้ให้ คือมีอะไรดีที่จะให้แก่เขา

การนำสิ่งดีที่เรามีขึ้นมาให้แก่เขา จะสำเร็จได้ก็ด้วยมีปัญญา คือ มีปัญญาซึ่งหยั่งถึงสัจธรรมที่เป็นแก่นสาร และเป็นฐานของวัฒนธรรม และรู้คิดที่จะทำให้เกิดประโยชน์ เช่นในการที่จะเอามาใช้แก้ปัญหาของโลกในยุคปัจจุบันเป็นต้น อันนี้เป็นข้อพิจารณาและท้าทายที่สำคัญ ซึ่งถ้าทำให้เกิดขึ้นได้ วัฒนธรรมของเราก็จะเจริญงอกงาม จะมัวคิดแต่จะรักษาวัฒนธรรมเก่าอยู่ไม่ได้ จะต้องมองให้กว้างให้คลุมหลายแง่หลายลักษณะดังที่กล่าวมานี้

วัฒนธรรมของเราจะต้องเป็นวัฒนธรรมที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาของโลก และมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก ไม่ใช่เป็นวัฒนธรรมแบบร่วมสร้างปัญหาให้แก่โลก ทำให้โลกเขาดูถูกวัฒนธรรมของเรา

ค. แก้ปัญหาด้วยอุดมธรรมนำสร้างสรรค์

เวลานี้ก็เห็นและได้ยินกันอยู่แล้วว่า คนไทย สังคมไทย และประเทศไทย ได้เข้าไปมีชื่ออยู่บ่อยครั้งมากในเรื่องที่เป็นปัญหาของโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโสเภณี ปัญหาโรคเอดส์ ปัญหาสิ่งเสพติด ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมเป็นพิษ และมักมีชื่อในอันดับที่เป็นผู้นำในการก่อปัญหาเหล่านี้ด้วย ถ้าสังคมไทยของเรายังเดินหน้ากันไปในสภาพเช่นนี้ ก็จะเป็นได้แต่เพียงผู้ช่วยก่อปัญหาให้แก่โลก และร่วมถ่วงดึงอารยธรรมของมนุษยชาติลงสู่ความเสื่อมโทรม เป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนในประชาคมของชาวโลก

ในการแก้ปัญหานั้นเราอย่ามัวคิดแต่จะทำการในด้านลบ เช่นว่าจะลงโทษใคร จะกำจัดอะไรเป็นต้น ถ้าทำอย่างนั้น ก็เป็นวิธีการแบบตามแก้ปัญหา ซึ่งมักจะต้องแก้ปัญหากันอยู่นั่นไม่รู้จบ เหมือนอย่างจะแก้ปัญหาเด็กตีกัน เด็กรวมกันอยู่มากๆ ไม่มีอะไรทำ มองกันไปมองกันมา ก็ขัดตาเขม่นกัน เกิดเรื่องเกิดราว ชกต่อยตีกัน เหมือนไก่ยัดเยียดกันอยู่ในเข่ง กระทบกระแทกกันไปมาก็จิกตีกันอยู่ในเข่งนั้น รอเวลาที่เขาจะเอาไปขึ้นเขียงในคราวตรุษจีน ถ้าจะจับตัวลงโทษ หรือกีดกั้นการเคลื่อนไหว ก็ต้องตามแก้ปัญหาทีละเรื่องทีละรายไม่รู้เสร็จและไม่ทัน

แทนที่จะมัววุ่นกับการแก้ปัญหาในด้านลบเช่นนั้น ควรจะมองในทางบวก คือ เดินหน้าและสร้างสรรค์ หรือทำการแบบล้ำหน้าปัญหา ซึ่งทำให้ปัญหาถูกปิดช่องปิดโอกาสที่จะเกิดขึ้น โดยหาอะไรให้เขาทำร่วมกัน เมื่อเขามีอะไรทำในทางสร้างสรรค์ พฤติกรรมที่เป็นปัญหาก็เริดร้างห่างหายไปเอง พร้อมกันนั้น การสร้างสรรค์และความเจริญก้าวหน้าก็จะตามมาด้วย

เหนือกว่านั้นไป สิ่งที่ละลายปัญหาและนำไปสู่การสร้างสรรค์ที่ดีเลิศ ก็คือ การมีจิตสำนึกในจุดหมายสูงสุดร่วมกันของสังคม คือสังคมจะต้องมีสิ่งดีงามสูงสุดที่เป็นจุดรวมใจให้ทุกคนฝักใฝ่หมายมองมุ่งไปรวมเป็นอันเดียวกัน สิ่งที่เรียกสั้นๆ ว่า อุดมธรรม นี้ จะทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์ ซึ่งนอกจากทำให้สังคมรวมแรงรวมใจกันได้แล้ว ยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้พุ่งไปข้างหน้า ทำให้เรามีวัฒนธรรมของผู้นำที่ก้าวหน้า

เมื่อพลังสร้างสรรค์ที่มีจุดรวมพุ่งไปข้างหน้าเกิดขึ้นแล้ว ความคิดและพฤติกรรมก่อปัญหาทั้งหลายก็ถูกละเลิก ลดน้อยหรือหมดหายไปเอง เหมือนเด็ก ๓๐-๔๐ คน รวมกันอยู่ในห้องเดียว ไม่มีอะไรทำ ไม่ช้าก็จะเกิดปัญหา จากความกระทบกระทั่งกันบ้าง จากบางคนที่ใจหงุดหงิดหรือคิดไปในเรื่องต่ำทรามเสียหายบ้าง หรือพากันทำพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในเวลานั้น ถ้ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น วัตถุส่องแสงปรากฏขึ้นในท้องฟ้าที่สูงไกลออกไป พอมีใครคนหนึ่งชี้บอกไปที่วัตถุนั้น ทุกคนในห้องจะหยุดเลิกลืมพฤติกรรมเหล่านั้น แล้วมองมุ่งพุ่งสายตาจ้องไปรวมที่จุดนั้นเป็นอันเดียว จากนั้นความสนใจ ความรู้สึกและกิจกรรมใหม่ก็จะเกิดขึ้นมาแทน รวมทั้งความร่วมแรงร่วมใจ

ในสังคมของเราเวลานี้ เมื่อมีปัญหาและสภาพเสื่อมโทรมต่างๆ เกิดขึ้นมาก คนจำนวนมากมีแต่การเพ่งโทษ ซัดทอด กล่าวหา ตลอดจนด่าว่าหาโทษมาติเตียนกัน หาได้คิดไม่ว่า ปัญหาและสภาวะเสื่อมโทรมเหล่านั้น เป็นผลกรรมร่วมกันของสังคมที่ได้สะสมเหตุปัจจัยมาตลอดเวลายาวนาน ซึ่งทุกคนมีส่วนจะต้องรับผิดชอบ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ควรจะใช้ปัญญาแก้ปัญหาไปตามเหตุ โดยมีความเข้าใจทั้งในตัวปัญหาและผู้ก่อปัญหา แต่ที่สำคัญควรแก้ปัญหาด้วยวิธีสร้างสรรค์อย่างที่พูดมาแล้ว จึงจะได้ผลแท้จริง ไม่ใช่มัวแต่จ้องจับหาโทษมาซัดใส่และด่าว่ากัน ควรจะทำความดีได้มากกว่านั้น

หันกลับไปพูดถึงการสืบสานวัฒนธรรม ถ้าเราสามารถพัฒนาวัฒนธรรมจนถึงขั้นที่มีอะไรให้แก่สังคมอื่นแล้ว เราจะเป็นผู้ที่ช่วยแก้ปัญหาให้แก่โลกได้ด้วย แล้วก็จะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติ

เพราะฉะนั้นจึงต้องระวังในการปฏิบัติต่อวัฒนธรรม เริ่มตั้งแต่ว่า อย่าให้คนของเราเกิดความรู้สึกว่าวัฒนธรรมเป็นเรื่องของเก่าของคนโบราณ ไม่เกี่ยวกับชีวิตของเราในปัจจุบัน ถ้ามองอย่างนี้ก็คือการที่จะทำให้วัฒนธรรมนั้นต้องนิ่งตายไปในที่สุด แล้วก็เป็นการแยกคนไทยปัจจุบันออกจากวัฒนธรรมไทย การสืบต่อและสืบสานก็ไม่เกิดขึ้น การสืบสานจะต้องโยงอดีตมาถึงปัจจุบัน และให้พร้อมที่จะก้าวไปสู่อนาคตให้ได้

ง. วัฒนธรรมที่เกื้อกูลต่อสภาพแวดล้อม

ข้อเน้นสำหรับวัฒนธรรมในเวลานี้ นอกจากให้มีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นผู้นำและผู้ให้ พร้อมทั้งเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลกแล้ว อีกจุดหนึ่งที่สำคัญซึ่งกำลังมีความหมายสัมพันธ์กับวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น ก็คือโลกปัจจุบันมีปัญหาอย่างหนึ่งที่สำคัญยิ่ง คือ เรื่องธรรมชาติแวดล้อม

เวลานี้ชาวโลกโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้เกิดความสำนึกรู้ ถึงความผิดพลาดที่เป็นมาในอดีต คือการที่ได้ไปทำลายสภาพแวดล้อม และล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติให้หมดไป เวลานี้สิ่งที่มนุษย์ในประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังหวาดกลัวที่สุด คือภัยจากธรรมชาติแวดล้อมที่สูญเสียเสื่อมโทรม วัฒนธรรมที่โลกกำลังต้องการ คือวัฒนธรรมที่มีความเกื้อกูลต่อธรรมชาติแวดล้อม

ธรรมชาติแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งแห่งระบบการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์ ซึ่งมีองค์ประกอบ ๓ ส่วน คือ

๑. ตัวมนุษย์เอง ซึ่งประกอบด้วยกายกับใจ

๒. สังคม

๓. ธรรมชาติแวดล้อม

มนุษยชาติจะดำรงอยู่ด้วยดี โลกจะมั่นคงปลอดภัย และอารยธรรมจะเจริญงอกงามต่อไป จะต้องให้องค์ประกอบ ๓ ส่วนนี้ มีความประสานกลมกลืนกัน แต่ปัจจุบันนี้ที่มีปัญหาก็คือ การที่องค์ประกอบ ๓ ส่วนแห่งการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์นี้ ได้เกิดมีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน กลายเป็นเหมือนศัตรูที่มาทำลายกัน เนื่องจากมนุษย์เราดำเนินชีวิตไม่ถูกต้องและไปทำลายธรรมชาติแวดล้อม แล้วก็เกิดปัญหาแก่ตัวเอง ทำให้ชีวิต สังคม และธรรมชาติเสื่อมโทรมระส่ำระสาย พูดได้ว่า มนุษย์ได้รับผลกรรมจากการกระทำของตนเอง

เวลานี้เราพัฒนาความเจริญทางวัตถุขึ้นมาก้าวหน้ามาก แต่ปรากฏว่าจิตใจของคนไม่มีความสุข มีความเครียด และโรคจิตมาก สถิติฆ่าตัวตายสูงขึ้นเป็นต้น โลกยิ่งพัฒนา คนยิ่งมีปัญหาทางจิต ในเวลาเดียวกันนั้น โลกเจริญในทางวัตถุ แต่สังคมกลับเสื่อมโทรม มีคนติดยาเสพติด คนเป็นโรคเอดส์ และโสเภณีมาก โดยเฉพาะในสังคมของเรามีปัญหาที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งในเรื่องนี้ มีแม้แต่การขายเด็กขายลูกไปเป็นโสเภณี สภาพต่างๆ เหล่านี้ เป็นอาการที่แสดงว่าระบบดุลยภาพแห่งองค์ประกอบของการดำรงอยู่ที่ดีของมนุษย์ได้สูญเสียไป คือไม่มีสมดุลในด้านทั้ง ๓ ที่สัมพันธ์ส่งผลกระทบต่อกัน

ทางด้านชีวิตของมนุษย์ ในชีวิตเองกายกับจิตก็ไม่สมดุลกัน กายเจริญเติบโต แต่ใจไม่เป็นสุข หรือว่าพัฒนาวัตถุไปแต่จิตใจกลับเสื่อม พอจิตใจไม่ดีก็กลับมีผลร้ายต่อร่างกายอีก ตลอดจนมีการดำเนินชีวิตที่ผิด ทำให้มีโรคใหม่ๆ ที่เรียกว่าโรคของอารยธรรมมนุษย์ เช่นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น เกิดขึ้น

มนุษย์ในสภาพปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยภาวะที่ไม่มีดุลยภาพในการดำรงอยู่ เมื่อชีวิตจิตใจมีปัญหามาก เครียด ไม่มีความสุข ก็ระบายออกมาในสังคม สังคมไม่มีความสงบสุขและเสื่อมโทรม ก็ส่งผลตีกลับมาสู่สภาพชีวิตจิตใจทำให้ยิ่งทรุดโทรม ทั้งสุขภาพกายก็ไม่ดี สุขภาพจิตก็เสีย

เมื่อคนไม่มีความสุข ยิ่งดิ้นรนหาความสุขจากภายนอกมาก บริโภคมาก ขยะมาก ระบายของเสียมาก ทรัพยากรธรรมชาติก็ร่อยหรอ ธรรมชาติแวดล้อมก็เสีย ไม่มีอะไรดีเป็นที่สบายใจสักอย่าง ผลที่สุดความเจริญในปัจจุบันนี้ เมื่อมองในแง่ร้ายก็มีความเสียหายมากมาย

เพราะฉะนั้น ปัจจุบันจึงมีปัญหาว่า ทำอย่างไรเราจะรักษาโลกและอารยธรรมของมนุษย์นี้ไว้ได้ ให้มีสันติสุข และสืบทอดยั่งยืนต่อไป ทำอย่างไรมนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้จึงจะช่วยให้อารยธรรมของมนุษย์ดำรงอยู่ต่อไปได้ ทำอย่างไรจะให้โลกไม่พินาศ เวลานี้ก็คิดกันมาก คำตอบก็คือต้องทำให้องค์ประกอบทั้ง ๓ ส่วนแห่งความดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์นี้ประสานกลมกลืนและเกื้อกูลกัน คือ

เริ่มต้นตั้งแต่ชีวิตมนุษย์ ตัวมนุษย์เองที่ประกอบด้วยกายกับใจ จะต้องประสานกลมกลืนกันภายใน แล้วก็ไปประสานเกื้อกูลกับองค์ประกอบที่สอง คือสังคม และประสานส่งเสริมกันกับองค์ประกอบที่สาม คือธรรมชาติแวดล้อม ถ้าทุกอย่างประสานกลมกลืนกันด้วยดีแล้ว ก็เป็นสภาพชีวิตที่ดี แล้วเราก็สร้างวัฒนธรรมคือรูปแบบที่จะใส่และรักษาเนื้อหาสาระที่ต้องการนี้ เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมของโลกที่ต้องการต่อไปนี้ ก็คือ

วัฒนธรรมในรูปแบบที่จะช่วยให้ ชีวิตมนุษย์กับสังคม และธรรมชาติแวดล้อมประสานกลมกลืนอยู่กันได้ด้วยดี และจุดเน้นที่สำคัญก็คือธรรมชาติแวดล้อม ที่เราไม่ค่อยได้คำนึงถึง ซึ่งทำให้ต้องมาเน้นกันในปัจจุบันว่า เราจะต้องขยายเรื่องวัฒนธรรมให้กว้างออกไปให้ครอบคลุมถึงการรักษาสภาพแวดล้อมด้วย ให้เป็นวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมด้วยดีกับธรรมชาติแวดล้อม

ถ้าวัฒนธรรมไทยพัฒนาอย่างนี้ได้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาของโลกและมีส่วนในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก และมีทางที่วัฒนธรรมของเราจะเป็นวัฒนธรรมของผู้นำ ที่สามารถแผ่ขยายความชื่นชมนิยมออกไปในหมู่ชาวโลกได้

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง