แต่ความจริง ถ้ามองกว้างออกไปให้ทั่วถึง จะทราบว่าทัศนคติเช่นนี้ หาได้เป็นทัศนคติร่วมกันของสังคมทั้งหมดไม่ ในกรณีนี้ จะต้องแบ่งสังคมออกเป็นคน ๒ พวก
พวกหนึ่งคือ ผู้มีทัศนคติอย่างที่กล่าวแล้ว ได้แก่คนในสังคมเมืองหรือสังคมกรุง โดยเฉพาะในหมู่นักศึกษาหรือปัญญาชน ซึ่งมีสภาพความเป็นอยู่และวิถีชีวิตที่ได้แยกออกไปจากสถาบันสงฆ์และระบบวัฒนธรรมเดิมของตนแล้วอย่างห่างไกล จนไม่อาจเข้าใจสภาพความเป็นจริง ไม่รู้ไม่เข้าใจแม้แต่พื้นเพของภิกษุสามเณรจำนวนมากมายที่ออกจากสังคมส่วนอื่นเข้ามาอยู่ท่ามกลางพวกตน
อีกพวกหนึ่งคือ ชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวชนบท ซึ่งมีทัศนคติตรงข้าม นอกจากไม่ถือเป็นความเสียหายในการบวชเล่าเรียนมีความรู้แล้วสึก ยังกลับยกย่องให้เกียรติบุคคลเช่นนั้นอีกด้วย
หากจะถือว่าชาวบ้านนอกมีความรู้สึกหรือทัศนคติอย่างนี้เพราะความไม่รู้ ขาดการศึกษา และหลงงมงายแล้ว จะต้องถือว่า ทัศนคติของปัญญาชนในกรณีนี้เกิดจากความไม่รู้ ขาดการศึกษา และหลงงมงายยิ่งกว่าชาวบ้านเสียอีก เพราะถึงอย่างไร แม้ชาวบ้านจะไม่ตระหนักในเหตุผลที่เป็นอยู่อย่างชัดเจน แต่ความรู้สึกของเขาก็เป็นสิ่งที่สืบเนื่องต่อมาจากความรู้ความเข้าใจเดิมเกี่ยวกับสถาบันสงฆ์ที่เคยทำหน้าที่เป็นสถาบันการศึกษา และเขายังมีความเข้าใจ ในตัวพระเณรนั้นมากกว่าปัญญาชน
ส่วนทัศนคติของปัญญาชน เกิดจากความไม่รู้ไม่เข้าใจในสภาพสังคมเดิมของตน อย่างที่เรียกได้ว่าโดยสิ้นเชิงทีเดียว
ทัศนคติเช่นนี้มีโทษ ไม่แต่เพียงเป็นเครื่องกีดกั้นตัวเองไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องจัดการกับปัญหาสังคมอย่างถูกต้องเท่านั้น แต่ยังเป็นผลเสียแก่บุคคลที่บวชเรียนอีกด้วย คือทำให้ผู้ที่บวชเรียนแล้วลาสิกขา ซึ่งได้รับผลจากระบบสถาบันสงฆ์นี้ไป โดยไม่เข้าใจชัดในความหมายและคุณค่าแห่งการกระทำของตนและสถาบันของตน เกิดปมด้อย เป็นผลเสียแก่ความประพฤติไปก็มี
เหตุที่เกิดความเคลื่อนคลาดไขว้เขวขึ้น ทำให้มีสภาพความจริงที่ขัดกับการรับรู้และขัดกับมโนภาพที่สร้างขึ้นมาไว้อ้างกันเช่นนั้น ก็เพราะเมื่อรัฐตกลงรับเอาการศึกษาสำหรับพลเมืองไปจัดเอง และคณะสงฆ์ตกลงเลิกจัดการศึกษาดังที่กล่าวแล้วนั้น การตกลงนั้นเป็นเพียงการกระทำของรัฐกับคณะสงฆ์ และรู้ร่วมกันเฉพาะในระหว่างสองฝ่ายเท่านั้น สังคมทั้งหมดไม่ได้ร่วมรับรู้ด้วย
ชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวบ้านส่วนใหญ่ในชนบท ไม่ล่วงรู้ด้วยเลย ชาวบ้านจึงยังคงถือและทำต่อมาตามเดิม คล้ายๆ กับจะให้ชาวบ้านบอกว่า รัฐกับคณะสงฆ์เขางุบงิบกันทำ เขาจะงุบงิบทำกันอย่างไรก็แล้วแต่ ฉันไม่รู้ด้วย ฉันจะทำของฉันไปตามเดิม เมื่อลูกของฉันไม่มีที่เรียน หรือจบประถมสี่แล้ว ไม่มีเงินส่งไปเรียนต่อในเมืองหรือในกรุง ฉันก็เอามันไปฝากวัดตามเดิม
เมื่อเช่นนี้ สภาพความจริงจึงเป็นอยู่อย่างหนึ่ง มโนภาพที่สร้างขึ้นมาอ้างกันตามข้อตกลง ก็เป็นไปอีกอย่างหนึ่ง ขัดกัน และเมื่อไม่เป็นไปตามต้องการ วิธีแก้อย่างง่ายของรัฐและคณะสงฆ์ ซึ่งสำเร็จได้โดยไม่ต้องทำ ก็คือไม่รับรู้เสียเลย ทำไปตามที่ฉันต้องการก็แล้วกัน
ฝ่ายพวกสังคมเมือง ตลอดถึงปัญญาชน ตนเองเกิดมาในสภาพแวดล้อมอีกอย่างหนึ่ง ห่างไกลจากสังคมเดิม ซึ่งเป็นสังคมส่วนใหญ่ในประเทศของตนในปัจจุบัน ไม่รู้ไม่เข้าใจสภาพความเป็นจริงนั้น ก็เอาแต่สังคมแคบๆ ของตนเป็นเครื่องวัด พลอยรับเอามโนภาพอำพรางนั้นมาถือตามไปด้วย เลยพลอยร่วมวงติเตียนพระสงฆ์ และกีดกันชาวบ้านชนบทไปด้วยโดยไม่รู้ตัว
เมื่อเรื่องมาถึงขั้นปัญญาชน ก็นับว่ามาถึงจุดอันตราย จะมีผลแรงทั้งทางดีและร้าย เฉพาะในกรณีของทัศนคติเช่นนี้ นับว่าเป็นฝ่ายร้าย เพราะเป็นเรื่องของความขาดการศึกษา
ชาวบ้านขาดการศึกษา ยังไม่สู้กระไร เพราะคนไม่ค่อยเชื่อถือถ้อยคำอยู่แล้ว แต่ถ้าปัญญาชนขาดการศึกษา อาจก่อหายนะได้เต็มที่ เพราะคนเข้าใจว่าปัญญาชนมีการศึกษา มีความคิดอันกลั่นกรองแล้ว เข้าถึงความจริง มักเชื่อถือตาม
ด้วยเหตุนี้ ถ้ายอมรับกันว่าปัญญาชนของเรายังขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพสังคมและสถาบันต่างๆ ในสังคมของตนเอง และถ้ายอมรับว่าความรู้ความเข้าใจสังคมของตนเองนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการแก้ไขปัญหาสังคมของเรา ก็ถึงเวลาสมควรที่ชาวบ้านจะได้ช่วยกันให้การศึกษาแก่ปัญญาชน และปัญญาชนควรน้อมตนลงยอมรับความรู้จากชาวบ้านบ้าง เพื่อเราจะได้ปัญญาชนผู้ควรแก่ความไว้วางใจที่จะให้แก้ไขปรับปรุงสังคมของเรานี้ต่อไป
แม้ในกรณีที่จะทำลายสถาบันสงฆ์ อย่างที่บางกลุ่มต้องการ การทำลายสิ่งที่ตนรู้เข้าใจชัดเจนแล้วอย่างเดียวเท่านั้น จึงจะเป็นการเหมาะสมกับภาวะของปัญญาชน ที่จะไม่ให้ต้องเสียใจภายหลัง และไม่เป็นที่ให้ตนเองติเตียนตนเอง หรือผู้อื่นติเตียนได้ต่อไป