ความคลาดเคลื่อนของค่านิยมนั้น เกิดจากความไม่รู้ไม่เข้าใจ หรือไม่รู้เท่าทัน ซึ่งมองได้ ๒ ด้าน คือ ไม่รู้จักตัวเอง และไม่รู้จักสภาพแวดล้อมตัว
อธิบายอย่างง่ายว่า ความเชื่อถือ หรือความประพฤติปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ยึดถือสืบต่อกันมาในกลุ่มชน หรือสังคมใดสังคมหนึ่ง เมื่อลงตัวเป็นประเพณีแล้ว ก็จะมีรูปแบบขึ้น โดยเฉพาะเมื่อถึงขั้นนี้ ผู้ที่ยึดถือหรือประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น มักกระทำตามๆ กันมาโดยไม่เข้าใจความหมายแห่งการกระทำของตนชัดเจน คือรู้สึกเหมือนว่าจะเข้าใจหรือรู้อยู่ แต่เลือนรางพร่ามัว ไม่สามารถหยิบยกขึ้นมาแสดงให้เห็นชัดเจน ช่วงนี้ก็เป็นตอนหนึ่งที่ความคลาดเคลื่อนจะเกิดขึ้นได้
แต่ตราบใดที่สภาพแวดล้อมที่เป็นตัวสัมพันธ์และกำหนดความหมายของความเชื่อถือ หรือความประพฤติปฏิบัตินั้นยังคงอยู่ ความคลาดเคลื่อน ก็ยังอยู่ในขอบเขต พอมีพื้นฐานเป็นแนวกำหนดได้ แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป และผู้ยึดถือปฏิบัติ ไม่รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงนั้น การก็กลายเป็นว่า มีการยึดถือปฏิบัติอย่างนั้น ทั้งที่สิ่งที่จะเชื่อมโยงให้ความหมายแก่การกระทำนั้น ได้ขาดลอยไปแล้ว
ดังตัวอย่าง การยึดถือค่านิยมเกี่ยวกับบุญในการสร้างสิ่งก่อสร้างในวัด ทั้งที่วัดไม่ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนและไม่ได้ทำบทบาทสำคัญ เช่นการให้การศึกษาเป็นต้นเหมือนอย่างเดิมแล้ว
เมื่อยึดถืออยู่อย่างเดิม ทั้งที่สิ่งที่ให้ความหมายได้ขาดหายไปแล้ว และไม่สามารถปรับตัว เพราะไม่เข้าใจสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ก็ต้องหาเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งมาแสดงความหมายแห่งการกระทำของตน และธรรมดาของคนก็จะต้องหาเหตุผลเข้าข้างการกระทำของตน ยิ่งความหมายนั้นห่างจากสภาพความจริงหรือเหตุผลสามัญเท่าใด ก็จะต้องทำให้วิจิตรพิสดารมากขึ้นเท่านั้น เพื่อให้เป็นหลักฐานมั่นคง
โดยนัยนี้ เมื่อไม่เข้าใจตนเองชัดเจน ไม่เข้าใจสภาพแวดล้อมชัดเจน สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป เมื่อไม่สามารถปรับตัว ก็ต้องยึดหลักไว้อย่างเดิม เมื่อความหมายเดิมขาดไป ก็ต้องยึดความหมายใหม่หรือความหมายรองที่เหลืออยู่ให้มั่นคง เมื่อการกระทำไม่สัมพันธ์กับความหมายเดิม ก็ย่อมคลาดเคลื่อนไปเรื่อยๆ จนในที่สุด แทบจะสืบค้นหาความหมายเดิมไม่พบ อย่างเรื่องการทอดกฐินเป็นต้น
ฉะนั้น ภาพที่ปรากฏในปัจจุบันของความเชื่อถือหรือความประพฤติอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นค่านิยมเดิม แต่ไม่ใช่ในความหมายเดิม ผู้ที่มาจากภายนอก หรือผู้ที่เป็นสมัยใหม่ ผลีผลามจับรวบ ไม่รู้จักแยก ย่อมได้ความเข้าใจที่ผิด เข้าไม่ถึงความจริง แทนที่จะเป็นผู้แก้ปัญหาสังคม เลยกลายเป็นผู้เพิ่มปัญหาสังคม ถ้าจะเป็นนักศึกษาที่แท้ ก็ต้องวิเคราะห์ให้ลึกลงถึงที่มาที่ไปทั้งหมด
ในสังคมไทยเท่าที่ผ่านความเปลี่ยนแปลงมาถึงบัดนี้นั้น ไม่ได้มีความคลาดเคลื่อนแต่ในเรื่องค่านิยมเท่านั้น แม้พฤติกรรมสังคมโดยทั่วไปก็คลาดเคลื่อนด้วย ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า การปรับตัวครึ่งๆ กลางๆ และอาการที่เรียกว่า ของใหม่ก็ไม่รู้จักเอา ของเก่าก็ไม่รู้จักใช้ กลายเป็นผลเสียหายแก่สังคมเองอย่างมาก
ยกตัวอย่าง เช่น ในสังคมไทยเดิม ถึงลูกหลานมีครอบครัวแล้ว พ่อแม่ปู่ย่าตายายก็ยังคงอยู่ร่วมกับลูกหลานในบ้านเดียวกัน ช่วยดูแลเลี้ยงหลานเหลน แต่พอถึงวันพระ ๗-๘ วันครั้งหนึ่ง ผู้เฒ่าเหล่านี้ก็ไปอยู่วัดเสียครั้งหนึ่ง อยู่กับลูกหลานห่างวัยกันบางทีชักจะกลุ้มรำคาญกันบ้าง ไม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็ทั้งสองฝ่าย เปลี่ยนบรรยากาศเสียบ้าง ผู้เฒ่าชราก็ได้ความเงียบสงบ ห่างความกระจองอแง ได้พบปะสังสรรค์กันในหมู่คนวัยเดียวกันบ้าง หรือมีเรื่องราวอะไรอัดอั้นในใจ ก็ไประบายกับพระบ้าง ค้างคืนที่วัด รุ่งขึ้นก็กลับไปเริ่มต้นสัปดาห์ที่บ้านกันใหม่ หมุนเวียนเรื่อยๆ ไป
ปัจจุบัน สังคมเปลี่ยนไป ปู่ย่าตายายยังอยู่บ้านเดียวกับลูกหลาน แต่สภาพวัดและความสัมพันธ์กับวัดเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ค่อยได้ไปวัด ไปค้างวัดอย่างเดิม ไม่มีการเปลี่ยนบรรยากาศ จำเจๆ บางทีเลยเป็นเหตุสะสมปัญหาทางจิตใจขึ้นมา ทั้งฝ่ายคนแก่และคนเด็ก
อีกตัวอย่างหนึ่ง วัดเคยเป็นศูนย์กลางของชุมชน รวมถึงบทบาทในการสงเคราะห์ด้วย คนไม่มีทางไป ก็ได้ไปอาศัยวัดเอาชีวิตรอด พอสังคมเจริญอย่างใหม่ การสงเคราะห์กลายเป็นกิจการใหญ่ มีการจัดขึ้นเป็นองค์การ เป็นทางการขึ้นมา แต่ความเคยชินในการปฏิบัติสืบต่อมาตามประเพณียังมีอยู่ บทบาทของวัดในด้านนี้ก็ยังคงมีอยู่ คนหมดทางไปก็ยังไปวัด แต่กลายเป็นเรื่องเรื่อยเปื่อยไม่ได้รับความใส่ใจสนใจ กลายเป็นเรื่องลักลั่นในสังคม เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาอีกหลายอย่าง เช่น สร้างนิสัยเสียแก่สังคม ทำให้มีนิสัยปล่อยปละละเลย เกี่ยงกันรอกัน จะทำอะไรก็ไม่ทำให้จริงจัง เป็นต้น
นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ข้อที่ร้ายยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ นอกจากเกิดความคลาดเคลื่อนแล้ว ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีความ คลาดเคลื่อนเกิดขึ้น จุดตั้งต้นของการแก้ปัญหาที่แท้จริงจึงยากที่จะมี
ในสภาพของการปรับตัวครึ่งๆ กลางๆ ส่วนที่ใหม่ก็ไม่แท้ ส่วนที่เก่าก็ไม่จริงนี้ จึงน่ากลัวว่า สังคมไทยปัจจุบันจะเป็นสังคมที่เสื่อมทรามที่สุด คือ ลักษณะที่ดีของสังคมเดิม ก็สูญเสียไปแล้ว รักษาไว้ได้แต่ส่วนที่เป็นซาก สาระใหม่ที่ต้องการรับเข้ามาจากภายนอก ก็ยังรับไม่ได้ หยิบฉวยมาแต่รูปแบบหรือเปลือกนอก สภาพที่เป็นอยู่จะเป็นเช่นนี้หรือไม่?
ยกพุทธภาษิตมาสำทับว่า
อสาเร สารมติโน สาเร จาสารทสฺสิโน
เต สารํ นาธิคจฺฉนฺติ มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา
สิ่งที่ไม่เป็นสาระ เข้าใจว่าเป็นสาระ สิ่งที่เป็นสาระ กลับมองเห็นไม่เป็นสาระ
คนอย่างนั้น ย่อมเข้าไม่ถึงสาระ วนเวียนอยู่แค่แนวความคิดที่ผิดๆ