สถาบันสงฆ์กับสังคมปัจจุบัน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ความเฉื่อยชา

๑. ลักษณะอย่างหนึ่ง ที่เห็นกันว่าเป็นบุคลิกของคนไทย และเป็นอุปสรรคขัดขวางถ่วงการพัฒนา ได้แก่ ความเฉื่อยชา การดำเนินชีวิตที่ปล่อยเรื่อยไปตามสบาย ขาดการตั้งเป้าหมาย ทำให้ขาดความกระตือรือร้น

เมื่อปัญหาเป็นเช่นนี้ การที่จะแก้ไข ก็ต้องสร้างแรงเร้าการกระทำให้เกิดความขวนขวายริเริ่มทำการต่างๆ

เมื่อมองดูสังคมตะวันตกก็เห็นว่า คนมีลักษณะบุคลิกที่ตรงข้าม คือเต็มไปด้วยความกระตือรือร้น การดำเนินชีวิตมีการตั้งเป้าหมาย และการวางแผน เร้าให้ขวนขวายกระทำเพื่อเข้าถึงจุดหมายนั้น จึงจับจุดเอามาว่า ที่ชาวตะวันตกเป็นเช่นนั้น ก็เพราะตัวเร้าคือความอยากได้ ทำให้ตั้งเป้าหมายและกระตือรือร้นทำการงาน เป็นผลให้เกิดความเจริญก้าวหน้า สรุปเอาว่าจะต้องสร้างแรงเร้าให้คนไทยเกิดความอยากได้ขึ้นมาบ้าง จึงจะแก้ปัญหาสำเร็จ

แต่เมื่อนำมาทำเข้าจริง กลับไม่ได้ผลอย่างนั้น ความอยากได้เกิดขึ้นจริง แต่ความกระตือรือร้นในการกระทำ หรือการลงแรงทำงานสร้างสรรค์ ไม่เกิดขึ้นด้วย กลับกลายเป็นส่วนส่งเสริมให้เกิดการหาทางลัดเพื่อให้ได้ คือ อยากได้ แต่ไม่อยากทำ และเกิดค่านิยมชอบบริโภคมากกว่าชอบผลิต เป็นค่านิยมแบบต้องการสนองตัณหา ทำให้เกิดปัญหาสังคมมากยิ่งขึ้น

ที่เป็นเช่นนี้เพราะจับจุดผิด ความเฉื่อยชา ปล่อยชีวิตเรื่อยตามสบาย ดูเผินๆ ว่าเป็นลักษณะตรงข้ามกับความอยากได้ และดูเหมือนว่าความอยากได้กับความกระตือรือร้นจะเป็นสิ่งมาด้วยกัน แต่ความจริงเป็นเพียงลักษณะตรงข้ามที่ผิดทั้งคู่ และเอียงสุดไปคนละฝ่ายเท่านั้น

เฉื่อยชา ไม่ใช่ไม่อยากได้

ความเฉื่อยชาไม่จำเป็นต้องเป็นเพราะความไม่อยากได้ และความอยากได้ไม่จำเป็นต้องทำให้เกิดความกระตือรือร้น อาจเกิดความกระตือรือร้น แต่เป็นกระตือรือร้นเพื่อจ้องที่จะได้ ไม่ใช่กระตือรือร้นที่จะทำ ยิ่งถ้าสภาพสังคมอำนวย คือไม่บีบบังคับให้จำต้องทำเพื่อให้ได้ด้วยแล้ว ก็จะเป็นการเปิดช่องทางให้แก่การสนองความอยากได้โดยทางลัด คือ ให้ได้โดยไม่ต้องทำ มากยิ่งขึ้น

จุดที่พลาด คือ ในแง่บุคลิกของคนไทย ที่มีความเฉื่อยชานั้น ขาดความอยากได้ก็มีจริง แต่การขาดความอยากได้นั้น อาจเป็นส่วนดีด้วยซ้ำไป ส่วนที่ขาดไปซึ่งทำให้เกิดผลเสียคือ การขาดความใฝ่ผลสัมฤทธิ์ต่างหาก ส่วนดีนี้มีอยู่ในบุคลิกของชาวสังคมตะวันตกด้วย และเป็นแกนแห่งความเจริญก้าวหน้าของเขาตลอดมา

ความอยากได้ก็มีอยู่อย่างแรงในบุคลิกของชาวตะวันตกเช่นกัน แต่ในแง่การสร้างความเจริญแล้ว ความอยากได้นี้เป็นเพียงส่วนช่วยเสริมในเมื่อความใฝ่ผลสัมฤทธิ์นั้นมีอยู่แล้ว ทำให้ความใฝ่ผลสัมฤทธิ์นั้นแรงยิ่งขึ้น ในระยะยาว ความอยากได้นี้เป็นตัวก่อให้เกิดปัญหาด้วยซ้ำไป ตรงข้าม ถ้าขาดความใฝ่ผลสัมฤทธิ์เป็นแกนเสียแล้ว จะไม่สามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าได้สำเร็จ

“ความใฝ่สัมฤทธิ์”

ความใฝ่ผลสัมฤทธิ์ เรียกให้สั้นว่าความใฝ่สัมฤทธิ์ คืออะไร “ความใฝ่สัมฤทธิ์” คือ การอยากเห็นงานที่ทำบังเกิดความสำเร็จ คือ อยากเห็นความสำเร็จของงาน อยากเห็นผลงาน หรืออยากให้งานสำเร็จนั่นเอง ยิ่งสำเร็จอย่างดี อย่างเรียบร้อยเท่าไร ก็ยิ่งดี แต่ไม่เล็ง ไม่รวมไปถึงผลตอบแทน ที่เป็นผลพ่วงมาโดยอ้อม (ตามเงื่อนไข)

ความใฝ่ผลสัมฤทธิ์ที่ดี เน้นที่ ความใฝ่จะสร้างประโยชน์สุขแก่ตนและสังคม และต้องการเห็นประโยชน์สุขนั้นเป็นผลสำเร็จเกิดขึ้น

ภาวะนี้มีความหมายผูกโยงไปถึงปัญญาด้วย โดยต้องให้ถามว่า อะไรคือประโยชน์สุขของตนและสังคม ประโยชน์สุขนั้นจะเกิดมีขึ้นได้อย่างไร จึงเป็นเรื่องของความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่เพียงสักว่าอยากจะได้อย่างเดียว

ความหมายที่แฝงอยู่ เล็งไปถึงการแสวงความรู้ความเข้าใจ หรือตัวปัญญาด้วย เมื่อจะพูดให้เต็มจึงต้องว่า ความใฝ่ผลสัมฤทธิ์ที่ดีนั้นคือ ความใฝ่แสวงปัญญาที่จะช่วยให้สร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ตนและสังคมได้สำเร็จ เป็นสิ่งตรงข้ามกับความอยากได้ ซึ่งเป็นการใฝ่สนองตัณหา ที่ต้องการหาความปรนเปรอเฉพาะหน้า

ความใฝ่ผลสัมฤทธิ์ที่ดีนั้น เป็นการใฝ่สนองทางปัญญา ทำให้เกิดความต้องการที่จะเข้าถึงตัวแท้ตัวจริงของสิ่งทั้งหลาย และความต้องการที่จะทำให้เห็นผลจริงจังตามที่มองเห็นด้วยปัญญา เป็นการสนองความต้องการทางปัญญา โดยอาการที่เรียกว่าความอยากทำ ซึ่งในคำบรรยายข้างต้นเรียกว่า ธรรมฉันทะ ถ้าเรียกให้เต็มก็ว่า กุศลธรรมฉันทะ จะเรียกสั้นเป็น กุศลฉันทะ ก็ได้

แต่ในที่นี้เรียกว่า ธรรมฉันทะ ซึ่งให้ความหมายสั้นๆ ว่า ความใฝ่ที่จะเข้าถึงตัวแท้ตัวจริงของสิ่งทั้งหลาย เท่ากับความใฝ่ปัญญานั่นเอง และเล็งไปถึงความอยากทำ คือ การอยากทำให้เห็นผลจริงจังตามที่เล็งเห็นไว้ด้วยปัญญา เรียกสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “ฉันทะ"

ได้กล่าวไว้ว่า ฉันทะ คือ ธรรมฉันทะ หรือกุศลฉันทะ นี้ มีอยู่ในบุคลิกของสังคมตะวันตก และเป็นแกนกลางแห่งการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าตลอดมา

สังคมตะวันตกมีลักษณะได้เปรียบอย่างไร จึงทำให้ฉันทะนี้เกิดขึ้น โดยที่ลักษณะนี้เป็นส่วนที่ด้อยหรือพร่องไปในสังคมของเรา

ธรรมดาธรรมชาติของมนุษย์ เมื่ออยู่สบาย ไม่มีเหตุจำเป็น ไม่มีภัยอันตราย หรือสิ่งกดดันบีบคั้น มักเกิดความเพลิน และปล่อยตัวไปเรื่อยๆ ไม่เปลี่ยนแปลงปรับปรุง ไม่เร่งขวนขวายตระเตรียมป้องกันหรือพยายามเอาชนะ นานๆ เข้าก็มีลักษณะเป็นความเฉื่อยชาและความเพิกเฉยละเลย เรียกว่าตกอยู่ในความประมาท

ตรงข้าม ถ้ามีภัยอันตรายหรือสิ่งขัดแย้งกดดันบีบคั้นคอยคุกคามอยู่ในอัตราพอประมาณ ที่ไม่ถึงกับทำให้ยอมเสียก่อน ก็ทำให้เกิดความระมัดระวัง การตระเตรียมตัวสู้ และการแก้ไขปรับปรุงตัวอยู่เรื่อยๆ เป็นอาการที่เรียกว่าความไม่ประมาท แต่เป็นความไม่ประมาทที่เป็นไปตามธรรมชาติ

ในการพัฒนามนุษย์ ถ้าคนสามารถตั้งสติเตือนตนเองสร้างภาวะกระตือรือร้นเตรียมพร้อมและปรับปรุงตัวขึ้นได้ ในยามสุขสบายตามปกติ ก็กลายเป็นคุณธรรม ซึ่งเป็นสิ่งพิเศษที่มีอยู่เฉพาะในหมู่มนุษย์ และแม้ในหมู่มนุษย์นั้นเอง ก็หาได้ยาก

การคุกคามบีบคั้นที่มีอยู่ต่อเนื่องและทำให้เกิดการระมัดระวังเตรียมตัวปรับตัวอยู่ตลอดเวลาติดต่อกันนานๆ จะทำให้พฤติกรรมไม่ประมาทนั้นกลายเป็นระบบพฤติกรรมของสังคมและรักษาตัวคงทนอยู่ได้ต่อไปอีกนาน ในลักษณะที่เป็นรูปแบบ อนุชนของสังคมนั้นอาศัยการศึกษาโดยอ้อม โดยการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม ก็จะพลอยมีระบบพฤติกรรมเช่นนั้นไปด้วย และช่วยสืบทอดระบบนั้นไว้ต่อไปในลักษณะที่เป็นรูปแบบ ทำให้ระบบพฤติกรรมไม่ประมาทนั้นเป็นประโยชน์แก่สังคมนั้นสืบไปยาวนาน

โดยทั่วไป การคุกคาม ขัดแย้งและบีบคั้น มักเป็นไปในรูปของการแย่งชิงผลประโยชน์ และการครอบงำข่มไว้ในอำนาจ เช่น ประเทศใกล้เคียงที่มีเหตุขัดแย้ง คอยรุกรานรังแกกัน หรือชนชาติที่เข้ามาครอบครอง ตลอดจนภัยธรรมชาติที่ขัดขวางบั่นรอนการดำรงชีวิตที่จะอยู่อย่างมีความสุข ทั้งหมดนี้รวมแล้วก็เป็นการบีบคั้นอยู่แค่ในระดับตัณหา

การกดขี่บีบคั้นทางปัญญา

อารยธรรมตะวันตก นอกจากจะได้ประสบความกดขี่บีบคั้นในระดับตัณหาอย่างกว้างขวางมากมายมาโดยตลอดแล้ว ยังได้ประสบการกดขี่บีบคั้นอีกระดับหนึ่งเป็นส่วนพิเศษ คือ การกดขี่บีบคั้นทางปัญญา

ประวัติอารยธรรมตะวันตกตลอดเวลานับพันปี เต็มไปด้วยการบีบบังคับและข่มเหงในทางความคิด ความเชื่อถือ และการจำกัดเสรีภาพในทางปัญญา โดยเฉพาะตลอดระยะเวลาประมาณ ๑๐ ศตวรรษแห่งสมัยกลางที่ศาสนาคริสต์รุ่งเรือง สามารถใช้อำนาจปิดกั้นการใช้ความคิดและกำจัดผู้คิดเขวจากความเชื่อถือในศาสนาอย่างรุนแรงที่สุด

การจำกัดบีบคั้นและปิดกั้นในทางความคิดนี้ อย่างน้อยเป็นเครื่องเร้าความสนใจให้พุ่งไปหากิจกรรมทางปัญญามากขึ้น และกลายเป็นการให้ความสำคัญแก่สิ่งต้องห้ามนั้นไปด้วย การบีบคั้นอย่างรุนแรงจึงเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมตะวันตกสมัยต่อมารู้จักคุณค่า และบูชาเสรีภาพเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนั้น ในการพยายามชักจูง และปิดล้อมคนไว้ในวงจำกัดของความคิดความเชื่อถือของตน สถาบันศาสนาคริสต์เองก็ต้องหาทางคิดเหตุผลมาอธิบายคำสอนให้น่าเชื่อถือ ให้มีหลักประกันความมั่นคงของคำสอนมากยิ่งขึ้น

ส่วนคนที่ต้องการเสรีภาพในทางความคิด เมื่อถูกปิดกั้นจำกัด ก็ยิ่งดิ้นรนอยากรู้และใฝ่แสวงปัญญามากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการทนสู้และดึงดัน จนถึงยอมสละชีวิต แม้แต่ถูกเผาทั้งเป็น และในขั้นสุดท้ายก็นำไปสู่ความเบื่อหน่ายต่อระบบความคิดที่อยู่ในวงจำกัดนั้นทั้งหมด ก้าวออกไปสู่ช่องทางใหม่ที่เห็นว่าอาจเปิดทางไปสู่ปัญญาสนองความใฝ่รู้ได้

ความใฝ่รู้ และแสวงปัญญา

ระยะเวลายืดยาวหลายศตวรรษแห่งการดิ้นรนทางปัญญานี้ นานพอที่จะสร้างจิตใจซึ่งมีความใฝ่รู้ และมีลักษณะแสวงปัญญาอย่างจริงจัง และนานพอที่จะสร้างระบบพฤติกรรมตลอดจนบุคลิกที่นิยมคุณค่าทางปัญญาให้แก่สังคม ซึ่งต่อมาภายหลัง แม้ว่ายุคแห่งการกดขี่บีบคั้นทางปัญญาจะผ่านไปนานแล้ว ระบบความคิดและพฤติกรรมต่างๆ ก็ยังคงอยู่ยั่งยืนมาเป็นรูปแบบทางวัฒนธรรมที่หล่อหลอมคนในสังคมตะวันตกให้ได้รับผลสืบทอดต่อกันมา

ความใฝ่สัมฤทธิ์ ที่มีต้นเค้ามาจากความใฝ่รู้หรือการแสวงปัญญา หรือการใฝ่สนองความต้องการทางปัญญานี้ต่างหาก ที่เป็นแกนกลางแห่งการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าของตะวันตก หาใช่ความใฝ่สนองตัณหาที่ควบอยู่ด้วยไม่

คนไทยที่ว่าเฉื่อยชานั้น มิใช่ว่าจะขาดความอยากได้หรือมีความใฝ่สนองตัณหาน้อย แต่สิ่งที่น่าจะขาดแน่ก็คือ ความใฝ่รู้หรือความใฝ่สนองความต้องการทางปัญญา พูดสั้นๆ ว่า การแสวงปัญญา นี้เอง

การจะก้าวออกจากความเฉื่อยชาด้วยการเร้าความอยากได้ หรือเร้าตัณหาขึ้น จึงเป็นการผิดพลาดซ้ำสอง หรือการก้าวจากความผิดพลาดที่เอียงสุดข้างหนึ่ง ไปสู่ความผิดพลาดที่เอียงสุดอีกด้านหนึ่งเท่านั้น

ขอย้ำว่านั่นเป็นการจับจุดที่พลาด ไม่ได้เนื้อหาสาระที่จะนำมาสร้างสรรค์ความเจริญที่แท้จริง และน่าจะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้งานพัฒนาที่ผ่านมาต้องล้มเหลวจนแทบจะเคยชินเป็นธรรมดา

การอธิบายสันโดษแคบเกินไปก็ดี การตำหนิสันโดษว่าขัดถ่วงการพัฒนาก็ดี ก็เกิดจากความผิดพลาดนี้เช่นเดียวกัน

ความใฝ่สนองตัณหา กับความใฝ่สนองปัญญานี้เป็นคนละอย่างห่างกันไกล แม้ว่าสองอย่างนั้นอาจจะมาแซงมาหนุนรุนกัน

บุคคลผู้หนึ่งด้วยความใฝ่สนองตัณหา ต้องการความมั่งคั่ง และอำนาจ อาจมีความเพียรพยายามยกกองทัพไปรบยังดินแดนที่แสนไกล

บุคคลอีกผู้หนึ่ง ต้องการตอบคำถามที่ข้องใจอยู่เพียงข้อเดียว อาจลงทุนเดินทางฝ่าความยากลำบากไปยังดินแดนห่างไกล เพื่อแสวงความรู้แท้จริงที่เป็นคำตอบปัญหานั้น หรืออาจลงทุนดำเนินการค้นคว้าทดลองด้วยความยากลำบากตลอดเวลานานปี เพื่อให้ได้ความรู้ หรือให้ได้เห็นผลจริงในเรื่องนั้น

จริงอยู่ บุคคลที่แสวงความรู้นั้น อาจต้องการได้เงินทองชื่อเสียงด้วย แต่ถ้าไม่มีความใฝ่รู้ใฝ่เห็นความจริงในเรื่องนั้นเป็นแกนอยู่แล้ว เขาคงจะไม่ลงทุนลงแรงด้วยความยากลำบาก เพื่อยุติลงด้วยการได้เงินทองชื่อเสียง สำหรับคนเช่นนี้ ความภูมิใจได้ชื่นชมที่ได้เห็นผลสำเร็จแห่งตัวงานนั้น เป็นจริงจังขึ้นมา เป็นเรื่องยิ่งใหญ่กว่าการได้เงินทองชื่อเสียง

ความใฝ่สนองตัณหาที่เรียกง่ายๆ ว่าความอยากได้ คือ อยากมีสิ่งปรนเปรอตัวตน โดยที่การได้นั้น อาจเกี่ยวข้องกับการกระทำ คือต้องผ่านการกระทำหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าเป็นไปได้ ได้โดยไม่ต้องทำ ย่อมตรงใจมากที่สุด ใจมุ่งที่จะได้ แต่ต้องจำใจฝืนใจทำ

ส่วนความใฝ่สนองปัญญา เรียกง่ายๆว่า อยากรู้และอยากทำ หรือใฝ่รู้และใฝ่ทำ คืออยากเข้าไปถึงความจริงหรือตัวจริงตัวแท้ของสิ่งนั้นๆ และอยากทำการเพื่อให้เห็นสิ่งนั้นๆ มีผลเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาตามที่รู้ ทั้งการได้รู้ และการได้ทำ เป็นความสมปรารถนาของใจ จึงอยากจะทำ และมีความสุขจากการที่ได้ทำ

ใฝ่รู้ – ใฝ่ทำ

ย้ำอีกทีว่า อยากรู้ความจริง และอยากทำให้เป็นจริง เรียกสั้นๆ ว่า “ฉันทะ” ถ้าจะเอาคำศัพท์เต็มๆ ก็ว่า กุศลธรรมฉันทะ และ กัตตุกัมยตาฉันทะ จะให้สั้นลงหน่อยก็ว่า กุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะ

จะเห็นว่า ฉันทะ หรือยอมยาวหน่อยแต่ชี้ชัดลงไปว่า ธรรมฉันทะ นั้น แสดงออก ๒ ด้าน คือ ความรู้ กับ การกระทำ แต่ถ้าวิเคราะห์ลึกลงไปอีก จะเห็นว่าทั้ง ๒ ด้านนั้นรวมลงเป็นอันเดียวกัน คือ ใฝ่ธรรม หมายถึงอยากเข้าถึงธรรม คือตัวแท้ ตัวจริง ความหมายที่แท้ เนื้อหาสาระที่เป็นแก่นแท้ ตลอดจนความดีงามที่เป็นคุณค่าแท้จริงของสิ่งนั้นๆ

การเข้าถึงนั้นย่อมมาใน ๒ ด้านคือ ด้วยความรู้ และการทำ คือแยกเป็น ๒ ด้าน เป็นใฝ่รู้ และใฝ่ทำ รวมแล้วก็คือ ใฝ่ธรรมนั่นเอง

เมื่อนำมาใช้ในทางจริยธรรม โดยเฉพาะในด้านการศึกษาเพื่อฝึกอบรมบ่มนิสัย และใช้ศัพท์สมัยใหม่ ก็อาจเรียกธรรมฉันทะนี้เป็นค่านิยมอย่างหนึ่ง เป็นค่านิยมแห่งธรรม มีลักษณะเป็นความซื่อตรงต่อกฎธรรมชาติ

เมื่อเรียน ก็ต้องการเรียนรู้ความจริง และเพื่อทำให้ได้จริง เมื่อทำงาน ก็ต้องการทำเพื่อผลสำเร็จของตัวงาน ตรงไปตรงมา

หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษา คือ จะต้องสร้างค่านิยมธรรมฉันทะนี้ขึ้นมาให้ได้ หรือถ้าว่าให้ถูก มีการศึกษาที่แท้เมื่อใด ค่านิยมนี้ก็เกิดมีขึ้นเองเมื่อนั้น

การฝึกสอนให้มีธรรมฉันทะนั้น เริ่มได้ตั้งแต่เด็กเล็กๆ ตามปกติ พ่อแม่คอยสร้างค่านิยมให้แก่เด็กอยู่แล้ว ในแง่ฉันทะนี้ ก็จะไปในทางของกามฉันทะ (ตัณหา) หรือธรรมฉันทะ อย่างใดอย่างหนึ่ง

เด็กไปไหน เห็นอะไรๆ อยากจะรู้ทั้งนั้น เด็กจะถามด้วยความอยากรู้ว่า นั่นอะไรๆ คือ เด็กประสบความติดขัดบีบคั้นขึ้นมาแล้ว ต้องการความแจ่มแจ้งทางปัญญา ผู้ที่แนะนำเด็กในขณะนั้นก็จะมี ๒ แบบ

ชอบบริโภค ไม่ชอบผลิต

ที่ปรากฏในสังคมไทย จำนวนมากมักจะแนะนำในแง่ปลุกกามฉันทะว่า อันนั้นสวยกว่า อันนี้ดีกว่า น่าเอากว่า เอาอันนี้ดีกว่า เป็นต้น ไม่ค่อยชี้แจงในแง่ความรู้ แต่เขวไปในทางเร้าความอยากได้ ทำให้อยากได้ต่อไปเรื่อย ในระยะยาวก็เป็นการสร้างค่านิยมแห่งความอยากได้ และการชอบบริโภคมากกว่าผลิต ขาดความใฝ่รู้

ที่จริง พื้นของเด็กมีอยู่แล้วที่ต้องการปัญญา แต่การแนะนำอบรมที่ผิด ชักให้เขวเสีย ธรรมฉันทะหดหายไป กามฉันทะเพิ่มขึ้น ถ้าเป็นการศึกษา ก็เรียกว่าเป็นการศึกษาที่ผิด

ในทางที่ถูกนั้น เมื่อเด็กถามด้วยความอยากรู้ ก็ควรแนะนำในแนวทางส่งเสริมธรรมฉันทะว่า นั่นคือสิ่งนั้น เรียกชื่อว่าอย่างนั้น ใช้เพื่อประโยชน์อย่างนั้น ทำมาจากนั้น เขาใช้มันอย่างนั้นๆ ทำให้เกิดปัญญาความรู้แจ้ง และความรู้สัมพัทธ์ที่ให้อยากรู้ยิ่งๆ ขึ้นไป

ในการรับประทานอาหาร ควรชี้แจงชักจูงให้สนใจ และคิดเลือกอาหารตามคุณค่าต่อสุขภาพ ยิ่งกว่าจะชักจูงให้เพ่งไปแต่ในแง่ความอร่อย หรือการตกแต่งสวยงาม ในการใช้ปัจจัยสี่อย่างอื่นๆ และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ก็พึงแนะนำในแง่คุณค่าทางการใช้ประโยชน์ของสิ่งนั้นๆ มากกว่าจะชักจูงให้ติดอยู่กับสภาพที่ผิวเผินฉาบฉวยของสิ่งนั้นๆ

การศึกษาในแง่นี้ สื่อมวลชน โดยเฉพาะกิจการโฆษณา ทำหน้าที่ได้มาก ทั้งในแง่ปลูกธรรมฉันทะ และปลุกกามฉันทะ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง