เรื่องการใช้จ่ายทรัพย์ให้ถูกต้อง จะโยงไปถึงเรื่องอำนาจด้วย
การดำเนินชีวิตอยู่ในโลก มักจะมีความหมายพันกันไป ระหว่างทรัพย์กับอำนาจ หรือว่าเรื่องของสมบัติทรัพย์สินเงินทอง กับเรื่องของยศศักดิ์ฐานะตำแหน่ง ทั้งสองอย่างนี้มักมาด้วยกัน
คนเราเมื่อมีทรัพย์ขึ้นมา ก็มักจะมีอำนาจพ่วงมาด้วย ในทางกลับกัน การมีฐานะ มีตำแหน่ง ยศศักดิ์ ก็เป็นทางมาของทรัพย์ เช่นเดียวกัน
คนจำนวนมากในโลก จะมองทรัพย์ในแง่ของปุถุชน คือเป็นเรื่องของการแสวงหามาเพื่อบำรุงบำเรอความสุขส่วนตัวบ้าง หรือถ้าเป็นอำนาจ ก็เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ และจะทำให้เราสามารถทำการต่างๆ ได้ตามปรารถนา
ในทางพระศาสนา ท่านจึงสอนเน้นให้เราปฏิบัติต่อทรัพย์และอำนาจ โดยมีความเข้าใจที่ถูกต้อง
ตัวอย่างสำคัญที่แสดงถึงความเข้าใจและใช้ทรัพย์อย่างถูกต้องตามความหมาย ก็คือ พระเจ้าอโศกมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นแบบอย่างของชาวพุทธ
พระเจ้าอโศกมหาราชนั้น แน่นอนว่า ในฐานะที่เป็นมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมมีพร้อมบริบูรณ์ทั้งโภคทรัพย์ และอำนาจความยิ่งใหญ่
พระเจ้าอโศกนั้น แต่เดิมก็ทรงมีทัศนะ มีความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของทรัพย์และอำนาจเช่นเดียวกับคนทั่วไปส่วนมาก คือ มองทรัพย์ว่าเป็นเครื่องบำรุงความสุข ทำให้มีความสะดวกสบายพรั่งพร้อม และมองอำนาจว่าเป็นเครื่องแสดงความยิ่งใหญ่ พร้อมทั้งเป็นเครื่องมือหรือเป็นทางมาของความสุขสำราญยิ่งขึ้นไป
ดังที่กษัตริย์เป็นอันมากในประวัติศาสตร์โลกพยายามแสวงหาความยิ่งใหญ่ เพื่อจะได้มีชื่อว่าเป็นกษัตริย์ผู้เดียวในชมพูทวีป หรือในแผ่นดินนั้นๆ ตลอดจนกระทั่งได้ชื่อว่า เป็นราชาธิราชที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก อันนี้เป็นความปรารถนาของผู้ที่มีอำนาจในประวัติศาสตร์ของชาวโลกทั่วไป
พระเจ้าอโศก ตอนแรกก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพระเจ้าอโศกมหาราชจึงได้ยกทัพไปรุกรานดินแดนแว่นแคว้นต่างๆ รบราฆ่าฟันทำสงคราม ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนแสน
แม้แต่พี่น้องของพระองค์เอง ที่เป็นเจ้าชายต่างๆ เมื่อจะขึ้นครองราชย์ พระเจ้าอโศกก็ได้สังหารเสียเป็นจำนวนร้อย อันนี้ก็เพื่อความยิ่งใหญ่ เพื่อเสวยอำนาจ
ความเป็นมาอย่างนี้ เราจะเห็นว่า ในประวัติศาสตร์โลกมีมากมาย พระเจ้าอโศกได้มีพฤติกรรมเช่นนี้มาแต่เดิม จึงได้ถูกขนานนามว่า “จัณฑาโศก” แปลว่า อโศกผู้ดุร้าย