ร่ำรวย ยิ่งใหญ่ เลื่อนลอย หรือเพื่ออะไร

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ดูชาวบ้านดี
ที่การหา รักษา และใช้ทรัพย์

สำหรับชาวบ้าน หรือคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน พระพุทธศาสนาแสดงวิธีปฏิบัติต่อทรัพย์ไว้ที่เป็นสำคัญ ๓ ด้านด้วยกัน คือ

การสร้างทรัพย์ ได้แก่การทำให้ทรัพย์เกิดมีขึ้นมา เป็นประการที่หนึ่ง

พอทรัพย์เกิดขึ้นมาแล้ว การที่จะรักษาทรัพย์นั้นไว้ให้มั่นคง ก็เป็นข้อสำคัญประการที่สอง

ต่อจากนั้น ข้อสำคัญประการที่สาม ก็คือการใช้จ่ายทรัพย์

แต่ยังมีหลักปฏิบัติต่อทรัพย์ที่เป็นข้อสำคัญอีกประการหนึ่งเป็นข้อพิเศษ

จึงรวมทั้งหมด มีสี่ประการด้วยกัน

โดยสรุป การสร้างทรัพย์ ก็คือการที่มีความขยันหมั่นเพียร รู้จักจัด รู้จักดำเนินการ และต้องหาโดยทางสุจริตชอบธรรม

หมายความว่า การสร้างหรือหามาซึ่งทรัพย์สินเงินทองนั้น ถ้าเป็นไปโดยชอบธรรม โดยสุจริต เป็นไปด้วยความขยันหมั่นเพียร ก็เป็นการถูกต้องตามหลักพระศาสนา คือไม่ให้เป็นเหตุเบียดเบียนผู้อื่น มิใช่ได้มาโดยทุจริต นี้เป็นประการที่หนึ่ง

แต่ประการที่สองก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ในการรักษาทรัพย์นั้น คนที่รักษาทรัพย์จะต้องมีความมุ่งหมาย คือไม่ใช่แค่เก็บไว้ด้วยความหวงแหน ด้วยความเห็นแก่ตน โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่การรักษานั้นต้องมีความมุ่งหมาย

ความมุ่งหมายที่เป็นประโยชน์ในการรักษาทรัพย์ หรือการเก็บ การประหยัด การสะสมนั้น ประการแรกก็คือ เพื่อเป็นหลักประกันของชีวิต เช่นในคราวจำเป็น ซึ่งอาจจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บ อาจจะตกจากงาน อาจจะเกิดอุบัติเหตุ หรืออาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมา อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม

อีกประการหนึ่ง การรักษาทรัพย์ เก็บสะสมทรัพย์นั้น ก็เพื่อใช้ในการทำสิ่งดีงามเป็นประโยชน์ที่ใหญ่โตกว้างขวาง และแม้แต่การลงทุนในกิจการงาน

พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า ทรัพย์ที่ได้มาแล้ว ควรจัดสรรเป็น ๔ ส่วนด้วยกัน

ส่วนหนึ่งนั้นไว้ใช้สอย คือใช้ในการเลี้ยงตัว เลี้ยงพ่อแม่ เลี้ยงลูกหลาน เลี้ยงคนในครอบครัว เลี้ยงคนที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบให้เป็นสุข ใช้ช่วยเหลือสงเคราะห์กัน และบำเพ็ญกุศลทำความดีงามต่างๆ

อีกสองส่วน ท่านสอนว่า ให้เก็บไว้สำหรับใช้ลงทุนทำกิจการงาน

ส่วนที่สี่ ซึ่งเป็นส่วนที่เหลืออีกส่วนหนึ่งนั้น ให้เก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น

อันนี้เป็นหลักในการรักษาทรัพย์ คือ รักษาเก็บไว้โดยมีความมุ่งหมาย ไม่ใช่รักษาไว้เพียงด้วยความหวงแหน แล้วก็ไม่ทำให้เป็นประโยชน์ เป็นทรัพย์ที่เก็บไว้เสียเปล่า

ต่อไปประการที่สาม คือการใช้จ่ายทรัพย์ดังได้กล่าวไปแล้ว การใช้จ่ายทรัพย์นี้เป็นเรื่องที่สำคัญ

ทรัพย์มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ ถ้ามีทรัพย์แล้วไม่ใช้ประโยชน์ ก็เป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย

เพราะฉะนั้น ประการต้น ท่านจึงบอกว่า เมื่อทรัพย์มีแล้วต้องใช้เลี้ยงตัวให้เป็นสุข ต่อจากเลี้ยงตัวให้เป็นสุขแล้ว ก็เลี้ยงบุตร ภรรยา เลี้ยงคนในปกครองรับผิดชอบ เลี้ยงดูบิดามารดา เป็นต้น ให้มีความสุข แล้วก็ใช้ทำความดีงามต่างๆ บำเพ็ญประโยชน์ ช่วยเหลือสงเคราะห์กันในสังคมดังที่กล่าวมาแล้ว

อันนี้เป็นวิธีปฏิบัติต่อทรัพย์โดยย่อ สามประการ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง