ร่าเริงสดใส สู่ความเกษมศานต์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ทำห้าข้อนี้ได้ จิตใจจะดีจริงๆ

เมื่อกี้นี้ได้บอกว่า พอเราปฏิบัติธรรมถูกต้องได้ผล ปราโมทย์ก็จะเกิดขึ้นมาเป็นคุณภาพจิตใจข้อต้นของผู้เข้าทางแล้ว และทั้งเป็นจุดหัวต่อที่จะพัฒนาไปเป็นสมาธิ

ทีนี้ก็ขยายความอีกหน่อยว่า ปราโมทย์ที่จะพัฒนาไปจนเกิดเป็นสมาธินั้น ถ้าใครสังเกตจะเห็นว่า พระพุทธเจ้าตรัสแสดงข้อธรรมที่จะเกิดรับช่วงต่อกันไปไว้ตามลำดับ และเป็นชุดเลยทีเดียว ไม่ว่าตรัสที่ไหนเมื่อไร ก็ตรัสเหมือนกันหมด

ชุดที่ว่านั้นก็คือ พอเกิดปราโมทย์แล้ว ก็จะเกิดปีติ ต่อด้วยปัสสัทธิ แล้วสุขก็ตามมา แล้วก็เป็นสมาธิ

รวมทั้งหมดมี ๕ ข้อ หรือเป็นองค์ธรรม ๕ คือ

๑. ปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกบานใจ

๒. ปีติ ความอิ่มใจ ปลื้มใจ

๓. ปัสสัทธิ ความสงบเย็น เรียบรื่น ผ่อนคลายกายใจ ไม่เครียด (ขอให้สังเกตว่า ปัสสัทธิ นี้ เป็นข้อที่ประสานระหว่างกายกับใจ คือพอเกิดปัสสัทธิ ใจผ่อนคลาย กายก็ผ่อนคลาย และถ้ากายผ่อนคลาย ใจก็ผ่อนคลาย เช่นเดียวกับความเครียดที่ตรงกันข้าม ถ้ากายเครียด ใจก็เครียด ถ้าใจเครียด กายก็เครียด)

๔. สุข ความฉ่ำชื่นรื่นใจ จิตคล่อง ไม่มีอะไรกดดันบีบคั้น

๕. สมาธิ ภาวะที่จิตมั่นแน่ว อยู่ตัว ไม่มีอะไรกวน และจิตนั้นอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการ

ถ้าปฏิบัติธรรมถูกทาง และเข้าทางที่ถูกแล้ว ก็จะเกิดธรรมที่เป็นคุณภาพจิตใจ ๕ ข้อนี้หนุนต่อกันไปตามลำดับอย่างนี้

ชุดนี้บางทีก็เรียกชื่อรวมกันว่า “ธรรมสมาธิ1 คือการที่องค์ธรรมหรือคุณภาพจิตใจ ๕ อย่างนั้นตั้งแน่วหนุนเข้ากันมั่นได้ที่

เมื่อองค์ธรรมประสานเข้ากันได้ที่ มีธรรมสมาธิแล้ว จิตก็จะตั้งมั่นได้ที่ตามมา เป็น “จิตตสมาธิ” ซึ่งกินความหมายรวมต่อไปได้ถึงวิปัสสนาและมรรคเลยทีเดียว

แล้วก็อย่างที่บอกแล้วข้างต้นว่า เมื่อองค์ธรรมด้านคุณภาพจิตใจเป็นปัจจัยหนุนกันมาจนเกิดเป็นสมาธิอย่างนี้แล้ว สมาธินั้นก็ทำให้จิตใจเหมาะและพร้อมที่จะใช้เป็นฐานที่ทำงานให้ปัญญาเกิดขึ้นมาและพัฒนาต่อไป

ดังนั้น ในพุทธพจน์ที่ตรัสแสดงลำดับความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม พอได้สมาธิแล้ว สมาธินั้นก็เกื้อหนุนให้เกิดปัญญา ที่เรียกว่ายถาภูตญาณทัศนะ คือการรู้เห็นตามที่มันเป็น

ที่รู้ได้อย่างนั้น ก็เพราะจิตที่เป็นสมาธินั้นไม่มีอะไรกวน ไม่มีกิเลสครอบงำ จึงไม่อยู่ใต้อิทธิพลของอคติเป็นต้น เมื่อมองดูหรือพิจารณาอะไร ก็มองและเห็นตรงไปตรงมาตามความเป็นจริงของมัน

เมื่อจิตใจดีมีสมาธิเป็นที่ทำงานของปัญญาได้อย่างดีแล้ว ก็เป็นเรื่องของการที่จะพัฒนาปัญญาให้เจริญเป็นวิชชาจนถึงโพธิญาณ และลุถึงจุดหมายที่เป็นความสุขอย่างสูงสุดต่อไป

1สํ.สฬ.๑๘/๖๖๕/๔๒๙
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง