ร่าเริงสดใส สู่ความเกษมศานต์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ร่าเริงสดใส
สู่ความเกษมศานต์

ทำใจให้ร่าเริงสดใสทุกเวลา

ไม่นานนี้ มีพระใหม่ขอให้บอกวิธีไปสู่นิพพานในชาตินี้ ที่เข้าใจง่าย ก็ได้อธิบายหลักอย่างง่ายๆ ให้ท่านฟังบ้าง แต่หลักอย่างง่ายนั้นก็ยังเข้าใจได้ไม่ง่ายนัก ก็เลยบอกวิ­ธีที่มองดูหรือได้ยินแล้ว พอจะรู้สึกว่าทั้งง่ายและเข้าใจง่าย

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

ภิกษุผู้มากด้วยปราโมทย์ เลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธเจ้า พึงบรรลุสันตบทที่สงบสังขาร เป็นสุข1

คำสำคัญในที่นี้คือ “ผู้มากด้วยปราโมทย์” ซึ่งแปลจากคำบาลีว่า “ปาโมชฺชพหุโล” ปราโมทย์ก็คือ ความร่าเริงบันเทิงใจ ความสดชื่นเบิกบาน

ส่วนสันตบท หรือศานตบท คือสันติที่เป็นจุดหมาย ก็ได้แก่นิพพาน

รวมความว่า: พระที่มีปราโมทย์มากๆ มีจิตใจสดใสเบิกบานอยู่เสมอ จะถึงนิพพาน

ไม่เฉพาะคาถานี้เท่านั้น ใกล้กับคาถานี้เอง คือในคาถาธรรมบท หน้าเดียวกันนั่นแหละ ก็มีพุทธพจน์อีกคาถาหนึ่งว่า

แต่นั้น ผู้มากด้วยปราโมทย์ จักทำทุกข์ให้หมดสิ้นไป

พุทธพจน์นี้ก็มีความหมายอย่างเดียวกับคาถาก่อนนั่นเอง แต่ก่อนจะถึงข้อความท่อนนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงชีวิตความเป็นอยู่ การประพฤติปฏิบัติตัวของพระภิกษุที่จะมากด้วยปราโมทย์ไว้ด้วย ขอยกมาให้ดูเต็มๆ ว่า

ในหลักพระศาสนานั้น มีข้อปฏิบัติพื้นฐานสำหรับภิกษุผู้มีปัญญาในพระศาสนานี้ ดังนี้

กล่าวคือ ความรู้จักครองอินทรีย์ ความสันโดษ และความสำรวมในปาติโมกข์

พร้อมนั้น เธอจงคบหากัลยาณมิตร ที่มีอาชีวะบริสุทธิ์ ผู้ไม่เกียจคร้าน พึงเอาใจใส่ในปฏิสันถาร ฉลาดในการประพฤติศีลและข้อวัตรทั้งหลาย

แต่นั้น เธอผู้มากด้วยปราโมทย์ จักทำทุกข์ให้หมดสิ้นไป2

“ปราโมทย์” คือความร่าเริงแจ่มใสสดชื่นเบิกบานนี้ เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ต้องถือว่า ควรมีไว้เป็นพื้นจิตประจำใจตลอดเวลาเลยทีเดียว

1ขุ.ธ.๒๕/๓๕/๖๖
2ขุ.ธ.๒๕/๓๕/๖๖
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง