ปรัชญาการศึกษาไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

หน้าที่ ๒ อย่างของครู

เมื่อทำความเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว ก็หันมาหาสิ่งที่อาตมาคิดว่าจะพูดต่อไป อาตมาได้กล่าวไว้แล้วว่า จะลองพิจารณาปรัชญาการศึกษาของพระพุทธศาสนาจากทางภาคปฏิบัติ แล้วเรามาดูจากภาคปฏิบัตินี้เองว่า ในนั้นมีเนื้อหาสาระทางปรัชญาเป็นอย่างไร ทางปฏิบัติที่สำคัญเกี่ยวข้องกับตัวครูทุกๆ ท่านก็คือ หน้าที่ของครู หรือหน้าที่ในการอบรมสั่งสอนนั่นเอง

ทีนี้เราจะมามองความหมายของครูหรือการทำหน้าที่ของครูในแง่ของพระพุทธศาสนา ว่าพระพุทธศาสนามองความหมายของครู หน้าที่ของครูไว้อย่างไรบ้าง ถ้าพิจารณาในแง่นี้แล้ว พระพุทธศาสนามองเห็นครูในฐานะบุคคลที่ทำหน้าที่ ๒ ประการด้วยกัน

หน้าที่ประการที่ ๑ ท่านเรียกว่า เป็นสิปปทายก หรือศิลปทายก สิปปทายกคือผู้ให้หรือผู้ถ่ายทอดศิลปวิทยา อันนี้เป็นหน้าที่ที่เข้าใจกันโดยมาก คือนึกว่าเป็นครูก็ต้องสั่งสอนวิชาการต่างๆ และวิชาการเหล่านั้นโดยปกติก็หมายถึง หลักความรู้สำหรับศิษย์จะนำไปใช้ประกอบอาชีพ ดำเนินชีวิตเพื่อพึ่งตนเองได้ และทำประโยชน์แก่สังคมต่อไป อันนี้ก็หมายความว่า วิชาส่วนใหญ่เป็นวิชาสำหรับเลี้ยงชีพ เมื่อศิษย์ได้รับวิชาการเหล่านี้ไป ก็จะใช้เป็นเครื่องมือสำหรับเลี้ยงชีพตนเอง และสามารถที่จะทำประโยชน์แก่สังคม ด้วยอาชีพของเขานั้น

และอีกด้านหนึ่ง นอกจากการถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ ก็คือในแง่ของครูเองที่ว่าเป็นผู้รักษาสืบต่อศิลปวิทยา ครูอาจารย์นั้นก็จะมีความถนัดและมีหน้าที่จำเพาะในการค้นคว้าแสวงหาเพิ่มพูนความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการในสาขาที่ตนมีความชำนาญพิเศษ เป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายเฉพาะจากสังคมให้ช่วยกันค้นคว้าแสวงวิชาการในสาขาของตน ให้ลึกซึ้งกว้างขวางออกไปและเป็นผู้ดำรงรักษาถ่ายทอดสืบต่อกันมา นับว่าเป็นหน้าที่อันสำคัญ เป็นหลักในการที่จะสืบทอดมรดกของสังคม หรือมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังต่อไป

สรุปว่า หน้าที่ประการที่ ๑ นี้ สัมพันธ์กับการทำมาหาเลี้ยงชีพ การดำเนินชีวิตในปัจจุบัน และการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมทางศิลปวิทยาการ อันนี้เราเรียกว่าหน้าที่ของครู ในฐานะที่เป็นสิปปทายก

นอกจากการเป็นสิปปทายกแล้ว ครูยังมีหน้าที่อีกประการหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง สำคัญยิ่งกว่าหน้าที่ประการแรก และเป็นเนื้อตัวของการศึกษาทีเดียว หน้าที่นี้ท่านเรียกว่า เป็นกัลยาณมิตร กัลยาณมิตรนั้นก็เป็นศัพท์ธรรมดานี้เอง ถ้าเราจะแปลก็แปลว่า เพื่อนที่ดี หรือเพื่อนแท้ แต่ความหมายในทางศาสนานั้นยกย่องศัพท์นี้ให้เป็นคำแสดงหน้าที่ของครู ตั้งแต่ท่านผู้เป็นบรมครูคือพระพุทธเจ้ามาทีเดียว พระพุทธเจ้าทรงเรียกพระองค์เองว่าเป็นกัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งหลาย โดยตรัสว่าพระองค์เป็นกัลยาณมิตรช่วยให้สัตว์ทั้งหลายได้รอดพ้นจากทุกข์โศกชรามรณภัย นี้คือ หน้าที่ของพระบรมครู และครูทั้งหลายก็ทำหน้าที่เดียวกับพระบรมครูนี้ คือทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร

ทีนี้ นอกจากความหมายตามศัพท์ที่ว่าเป็นมิตรแท้ หรือเป็นเพื่อนแท้อย่างนี้แล้ว มันมีความหมายลึกซึ้งอย่างไร ทำไมจึงบอกว่าหน้าที่นี้ เป็นหน้าที่สำคัญหรือเป็นตัวแท้ของการศึกษา

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง