ปรัชญาการศึกษาไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

พุทธิศึกษาและจริยศึกษา กับ สุตศึกษาและศิลปศึกษา

เมื่อเรามองการศึกษากันจนถึงรากฐานสุดอย่างนี้แล้ว ก็จะเห็นว่าตามความหมายทางพุทธศาสนาที่แท้จริงแล้ว พุทธิศึกษาจะไม่แยกจากจริยศึกษา

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพุทธะ พระองค์ก็มีจริยะมาพร้อมเสร็จ ทรงสมบูรณ์ด้วยพุทธคุณทั้งสอง คือพระปัญญาและพระกรุณา คือปัญญาที่แท้มันจะมากับคุณธรรม ตั้งต้นแต่ความกรุณาเป็นต้นไป หมายความว่า ความรู้ชัดคือปัญญานี้ทำให้เกิดอิสรภาพ อันเอื้อแก่การเกิดของคุณธรรม มีกรุณาเป็นต้น และเป็นพื้นฐานของการแสดงออกอย่างอื่นที่ถูกต้องอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นจริยธรรมในตัวของมันเอง โดยไม่ต้องมาอบรมสั่งสอนกันมากมายนัก

ส่วนหลักจริยธรรมต่างๆ ที่เราเรียนกันมากมาย ที่เป็นอย่างๆ เป็นข้อๆ นั้น เป็นเพียงช่องทางสำหรับผู้ที่มีการศึกษาแล้วหรือมีจริยศึกษาที่ถูกต้องแล้ว จะไปใช้ดำเนินชีวิตที่ดีงามต่อไป คือมันมิใช่ตัวจริงของจริยศึกษา จริยศึกษาที่แท้จริงนั้น อยู่ในตัวเองของการศึกษา หรือการศึกษาที่ถูกต้องนั้นแหละเป็นจริยศึกษาในตัวเอง และเป็นพุทธิศึกษาด้วย ส่วนจริยศึกษาที่เรียนกันเป็นข้อๆ ที่เราเรียกว่าจริยธรรมนั้น ก็แบบเดียวกับความรู้ประเภทศิลปวิทยา คือเป็นความรู้ขั้นรองหรือความรู้ประกอบ

ความรู้ประเภทอุปกรณ์ที่ศิลปทายกสอนให้เป็นอุปกรณ์สำหรับผู้มีการศึกษาจะได้นำไปใช้สร้างประโยชน์ฉันใด ธรรมที่เราเรียกว่าจริยธรรม ก็เป็นช่องทางสำหรับผู้มีการศึกษาหรือมีจริยศึกษาในตัวแล้ว จะเอาไปใช้ชีวิตหรือประพฤติตนในทางที่จะสร้างประโยชน์ฉันนั้น คือเรามีการศึกษาเท่ากับเป็นผู้พร้อมที่จะดำเนินชีวิตที่ดีอยู่แล้ว เมื่อเรียนรู้หัวข้อจริยธรรมต่างๆ ก็เท่ากับเรารู้ทางที่จะดำเนินชีวิตที่ดีหรือชีวิตที่มีประโยชน์มากขึ้น

แต่ถ้าเราสอนเพียงจริยธรรมเป็นข้อๆ โดยไม่เข้าถึงตัวการศึกษาในภายในนี่แล้ว มันก็เป็นได้แต่เพียงความรู้ข้อมูลอย่างเดียว เหมือนกับเราสอนศิลปวิชาอาชีพต่างๆ ให้เขาได้มีอุปกรณ์นำไปใช้นั่นเอง เพราะฉะนั้น ในแง่ของพระพุทธศาสนา จึงถือว่าพุทธิศึกษาและจริยศึกษา คืออันเดียวกัน เป็นตัวการศึกษาที่แท้จริง

การเล่าเรียนอีกด้านหนึ่งคือ การศึกษาวิชาการต่างๆ เพื่อความรู้ความเข้าใจ ซึ่งอยู่ในเรื่องที่ของศิลปทายก การเล่าเรียนวิชาการประเภทนั้น ถ้าใช้ศัพท์ทางพระพุทธศาสนา อาตมาจะขอเรียกว่าสุตศึกษา หรือสุตศิลปศึกษา เพราะได้บอกแล้วว่า ความรู้ประเภทที่เรามาเล่าเรียนสั่งสอนกันนี่มันเป็นประเภทที่เรียกว่า สุตะ

สุตะไม่ใช่ตัวปัญญา ไม่ใช่ว่าคนมีสุตะแล้วจะเป็นคนมีปัญญาเสมอไป สุตะนั้นเป็นความรู้ ประเภทรู้ข้อมูล รู้ข้อเท็จจริง รู้รายละเอียดอะไรต่างๆ มากมาย ความรู้ประเภททักษะ ทักษะคือการฝึกหัดการฝึกฝนให้มีความชำนาญ ภาษาเดิมเรียก สิปปะ หรือ ศิลปะตรงกับที่ปัจจุบันเรียกว่า หัตถศึกษา ก็เป็นความรู้จำพวกที่อยู่ในหน้าที่ของศิลปทายก ฉะนั้น ครูในหน้าที่ศิลปทายก ก็ให้การศึกษาประเภทที่เรียกว่าสุตศึกษา กับหัตถศึกษาหรือศิลปศึกษา ถ้าจะใช้ศัพท์ใหม่รวมกันให้สั้นก็ว่า สุตศิลปศึกษา อาตมามิได้มาเสนอให้เปลี่ยนศัพท์หรอก แต่ว่ามาทำความเข้าใจกัน เพราะเมื่อพิจารณาในแง่ของพระพุทธศาสนาโดยแท้แล้ว จะถือว่าการเรียนวิชาการต่างๆ นี้เป็นพุทธิศึกษาอย่างแท้จริงมิได้ นอกจากว่าเราจะพยายามโน้มนำให้เกิดการศึกษาที่แท้จริง จากจุดเริ่มต้นความคิดตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งอันนั้นจะพ่วงมากับจริยศึกษาในตัวเองแล้วเราก็จะมีพุทธิศึกษากับจริยศึกษา ซึ่งจะตั้งชื่อรวมเข้าเป็นอันเดียวว่ายังไงก็ได้ เป็นการศึกษาเพื่อตัวปัญญาที่แท้จริงอย่างหนึ่ง มีสุตศึกษาคือวิชาการต่างๆ เป็นความรู้ประเภทอุปกรณ์ สำหรับผู้มีการศึกษาแล้ว หรือมีปัญญาที่แท้แล้ว จะใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาของมนุษย์ด้วยวิธีต่างๆ แล้วก็จะมีหัตถศึกษาหรือศิลปศึกษา เพื่อฝึกฝนในด้านทักษะความเชี่ยวชาญ ความชำนิชำนาญในงานฝีมือต่างๆ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง