การมองอีกแบบหนึ่ง คือการมองในวิถีทางของปัญญาเป็นอย่างไร คือการที่เราจะไม่หยุดความคิดแค่รูปลักษณ์เท่านั้น และเราจะไม่เอาความพอใจและไม่พอใจของเราเป็นเครื่องวินิจฉัย ไม่เดินความคิดตามวิถีทางของตัณหา แต่เราวิเคราะห์ความจริงในสิ่งนั้นต่อไปอีก ทำให้เราเข้าใจถึงองค์ประกอบ เหตุปัจจัย และความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านั้น เมื่อเรามองเห็นรูปลักษณ์คือ หน้าตาที่บึ้ง ไม่เบิกบานแล้ว ก็คิดสืบสาวว่านี้เป็นเพราะอะไร เขามีปัญหาอะไรหรือไม่ เป็นการวิเคราะห์ต่อไป ซึ่งจะทำให้เราเข้าถึงตัวปัญหาและนำไปสู่ความจริงได้
การที่เราจะใช้ปัญญานี้ก็คือเมื่อเราไปเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวแล้วว่า สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับเรามี ๒ ประเภท คือ สิ่งแวดล้อมฝ่ายวัตถุธรรม พวกวัสดุอุปกรณ์เทคโนโลยี และของที่มีในธรรมชาติอะไรต่างๆ พวกนี้ประเภทหนึ่ง กับสิ่งแวดล้อมในทางสังคม จำพวกมนุษย์อีกประเภทหนึ่ง
ทีนี้ ปัญญาจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้ง ๒ อย่างนี้อย่างไร ในแง่สิ่งแวดล้อมฝ่ายวัตถุธรรมนั้น เรามองความสัมพันธ์ในแง่ที่จะเอาประโยชน์จากสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง คือมนุษย์เราเข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและวัตถุธรรมต่างๆ นี้ เพื่อจะหาประโยชน์จากมัน การที่จะเอาประโยชน์จากมันก็คือ เราจะต้องมองเห็นคุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่งของมัน คุณค่าของมันเราก็มองเห็นในรูป ๒ อย่างที่ว่ามาแล้ว คือคุณค่าที่สนองความต้องการของตัวชีวิตอย่างแท้จริง และคุณค่าในแง่สนองต่อความต้องการปรนเปรอ ซึ่งเรียกว่าความต้องการทางตัณหา
คุณค่าอย่างที่หนึ่งซึ่งมีต่อชีวิตของเราแท้ๆ ก็เช่น เรื่องอาหารที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง คือ รับประทานด้วยต้องการที่จะนำมาบำรุงร่างกายของเราให้มีสุขภาพพลานามัยดี มีความแข็งแรงสามารถทำงานและประกอบภารกิจในหน้าที่ได้ด้วยดี คุณค่าอย่างที่ ๒ ที่เราต้องการจากมัน คือ ความเอร็ดอร่อย ตลอดจนเครื่องประกอบ เช่น ความโก้หรูเป็นต้นด้วยแง่ที่ต้องการเพียงความเอร็ดอร่อย ตลอดจนถึงความโก้หรู เป็นแง่ของตัณหาและอวิชชา แง่ที่ต้องการคุณค่าที่มันมีอยู่อย่างแท้จริงต่อชีวิต เป็นแง่ของปัญญา อันนี้จะเป็นเครื่องวินิจฉัยต่อไป ในการที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในทางวัตถุธรรมว่าเกี่ยวข้องอย่างไร