ทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ความอ่อนแอของศาสนศึกษาในชนบท: ผลกระทบทั้งต่อพระศาสนาและการพัฒนาประเทศ

สภาพต่อไปก็คือ ประเทศไทยส่วนใหญ่นี้ เป็นชนบท คนไทยเรานี้ เป็นชาวชนบทประมาณ ๘๐% หรือ ๗๕% เพราะฉะนั้น ในการพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องความเสื่อมความเจริญของประเทศ จะต้องให้ความสำคัญแก่ชนบทเป็นอันมาก ในการศึกษาของคณะสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน เราจะมองแต่การศึกษาในส่วนกลาง แม้แต่มองในมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ไม่เพียงพอ จริงอยู่ ในแง่หนึ่งนั้น มหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ เป็นแหล่งให้การศึกษาแก่ชาวชนบทแทบจะว่าโดยสิ้นเชิง พระเราที่มานั่งอยู่ในที่นี้ คิดว่า ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ก็เกิดในชนบททั้งนั้น เป็นลูกชาวนาแทบจะทั้งหมด ในแง่หนึ่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว คือให้การศึกษาแก่ชาวชนบท แต่อันนี้เป็นเรื่องของการศึกษาระดับสูงที่น้อยคนจะเข้าถึง ในท้องถิ่นขณะนี้ ชาวชนบทส่วนมากก็ไม่สามารถมาเข้ามหาวิทยาลัยสงฆ์ได้ เพราะฉะนั้น การศึกษาที่จะให้เกิดประโยชน์แก่สังคมอย่างแท้จริง ต้องขยายไปสู่ชนบท

ถ้าเรามองดูการศึกษาของคณะสงฆ์ในชนบทว่า เป็นอย่างไร เราจะเห็นว่า สภาพการศึกษาของพระศาสนาในชนบทนี้ ย่อหย่อนอ่อนแอเป็นอันมาก มีความเสื่อมโทรมเป็นอันมาก พระเณรส่วนมากบวชเข้ามาแล้วก็ไม่ได้เล่าเรียนศึกษา ถึงเวลาสอบ ได้ไปสอบก็ยังดี มีหนังสืออ่านก็ยังดี บางทีไม่ได้รับการเอาใจใส่เลย บวชเข้ามาแล้วก็สักแต่ว่าอยู่เฝ้าวัด สภาพเช่นนี้เป็นที่น่าตกใจว่า กำลังทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ สมัยก่อนนี้ ในท้องถิ่นห่างไกลมีเด็กมาบวชเณรมาก และจะมีพระหนุ่มที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนประจำอยู่ตามวัดต่างๆ มาก แต่สมัยหลังๆ นี้ เวลาผมไปชนบท ถามดูวัดแต่ละวัด ก็ได้เห็นว่า มีสภาพเปลี่ยนแปลงไป เช่น เห็นมีพระอายุมากๆ ๕๐, ๖๐ ปี อยู่หลายองค์ พอถามดูว่าท่านบวชกี่พรรษา ปรากฏว่าบางองค์อายุ ๕๐, ๖๐ ปี แต่พรรษาเดียว เพราะมาบวชเอาเมื่อแก่ เลิกทำงานทำการ เลิกทำอาชีพแล้วมาบวช มาบวชแล้วก็พักผ่อนเท่านั้น บางท่านไม่มีทางไปแล้วก็มาอาศัยวัดเลี้ยงชีพ ทีนี้ หันมาดูเณร ถ้าเป็นวัดในส่วนกลาง เณรก็กำลังจะหมดไป หาเณรยาก ในถิ่นหนึ่งๆ บางวัด หรือหลายวัด ไม่มีเณรเลย บางวัดมีเณรองค์หนึ่ง บางทีก็บวชระยะสั้นตอนโรงเรียนปิดอะไรทำนองนี้ เณรก็ดี พระหนุ่มก็ดีนี้ เป็นอนาคตของพระศาสนา แต่ในชนบท พระหนุ่มเณรน้อยประเภทอยู่ประจำวัดนานๆ นี้ กำลังหมดไป เราก็มีแต่พระแก่ที่ไม่มีความรู้ มาบวชอยู่เฉยๆ รักษาวัด แม้แต่พระฝ่ายบริหารก็รู้เข้าใจสภาพนี้กันพอสมควร เคยได้ยินพระสงฆ์ที่เป็นฝ่ายบริหารเอามาพูดทายกันเล่น เข้าใจว่าทุกท่านหรือหลายๆ ท่านในที่นี้คงเคยได้ยิน ท่านว่า ปัจจุบันนี้มีวัดหลวงชนิดใหม่เกิดขึ้นมาก คนฟังก็งง เอ! วัดหลวงชนิดใหม่ วัดหลวงอะไร? ก็คิดไม่ออก ในที่สุดท่านก็เฉลย บอกว่าวัดหลวงตา ปรากฏว่าในปัจจุบันนี้ วัดหลวงตามีมากขึ้น การที่มีพระหลวงตามากขึ้นนั้น คือเรื่องที่แสดงถึงสภาพความเสื่อมโทรมของพระศาสนาได้ด้วย ฉะนั้น เป้าอย่างหนึ่งในการพัฒนาการศึกษาของคณะสงฆ์ ก็คือ ทำอย่างไรจะไปขยายส่งเสริมการศึกษาในชนบทให้แพร่หลายขึ้นได้ ถ้าไม่สำเร็จวัตถุประสงค์นี้ ก็ยากที่จะฟื้นฟูพระศาสนาได้

ขอให้คำนึงถึงอดีตด้วย พระพุทธศาสนานี้เคยเจริญรุ่งเรืองในประเทศอินเดียประมาณ ๑,๗๐๐ ปี ซึ่งนับว่ายาวนานมาก ในประเทศไทยนี้ นับจากยุคที่เรารู้จักพระพุทธศาสนาแบบปัจจุบันมา เริ่มจากสมัยสุโขทัยก็เพียง ๗๐๐ กว่าปี เราก็ยังบอกว่าพระพุทธศาสนาในประเทศไทยเรานี้ เจริญรุ่งเรืองมาก เราภูมิใจว่าเจริญที่สุดในโลก ถึงกับพูดกันอย่างนั้น แต่ก็แค่ ๗๐๐ กว่าปีเท่านั้น หวนไปดูในอินเดีย พระพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองมากนานถึง ๑,๗๐๐ ปีจึงได้เสื่อมสูญไปจากชมพูทวีป และในระหว่าง ๑,๗๐๐ ปีนั้น ก็มีหลักฐานที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากมาย มีซากของปูชนียวัตถุปูชนียสถานในประเทศอินเดีย ไม่รู้ว่ามากมายเท่าไร เมื่อเทียบกันกับในประเทศไทย เราคงเทียบอินเดียไม่ได้ ในอินเดียยิ่งใหญ่กว่าเป็นอันมาก แต่กระนั้น พระพุทธศาสนาก็ยังเสื่อมสูญไปได้

อนึ่ง ระหว่างที่พระพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรืองนั้น ด้านหนึ่งที่เจริญมากก็คือการศึกษา เราสามารถพูดได้ว่า มหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา ทางฝ่ายอารยธรรมตะวันตก เมื่อพูดกันถึงมหาวิทยาลัยว่า ได้มีมหาวิทยาลัยแห่งแรกในโลกเมื่อไร เขาจะพูดกันถึง มหาวิทยาลัยโบโลนยา (Bologna) เขาภูมิใจกันว่า มหาวิทยาลัยแห่งแรกในโลกเกิดขึ้นในแถบยุโรป ในแถบของอารยธรรมตะวันตก แต่เมื่อตรวจสอบกันไปในประวัติศาสตร์ให้ทั่วถึง จึงจะเห็นว่า มหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนานี้เก่าแก่กว่าเป็นอันมาก มหาวิทยาลัยแห่งแรกในโลก ก็คือ มหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งได้ถูกเผาราบเรียบไปเมื่อ ๑,๗๐๐ กว่าปีมาแล้ว เป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่โต ซากที่เห็นในปัจจุบันก็แสดงถึงความยิ่งใหญ่นั้น เรื่องนี้แสดงว่า การศึกษาพระพุทธศาสนาได้เคยเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง มีมหาวิหารที่เป็นมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นแล้ว แต่ในที่สุดก็เสื่อมสูญไป

อย่างไรก็ดี เมื่อทำการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ ก็มีผู้ให้ความเห็นว่า การที่มหาวิทยาลัยเกิดขึ้น มีนาลันทาเกิดขึ้น มีมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งอื่นอีกหลายแห่ง เช่น วิกรมศิลา โอทันตปุระ อะไรพวกนี้เกิดขึ้น รวมแล้วหลายแห่งนั้น แม้จะเรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา ซึ่งมีความยิ่งใหญ่มาก แต่พระพุทธศาสนาก็กำลังเสื่อมด้วยเช่นเดียวกัน และการมีมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ก็อาจจะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสื่อมนั้นด้วย อันนี้เป็นข้อพิจารณาที่เราจะต้องเอามาคิดตรองดูด้วยความไม่ประมาท เหตุที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมทั้งๆ ที่มีสถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้น อย่างหนึ่งก็คือ พระภิกษุทั้งหลาย ที่อยู่ในถิ่นต่างๆ เมื่อต้องการความรู้ ต้องการการศึกษาชั้นสูง ก็หลั่งไหลมารวมกันอยู่ที่ศูนย์กลาง รวมอยู่ที่วัดใหญ่ๆ เช่นนาลันทาเป็นต้นนี้ แล้วก็อยู่กันอย่างสุขสบาย เพราะว่ามหาวิทยาลัยเหล่านี้ได้รับการอุปถัมภ์อย่างดี พระมหากษัตริย์พระราชทานหมู่บ้านสำหรับเก็บภาษีเลี้ยงมหาวิทยาลัย พระไม่ต้องไปลำบากในการหาเลี้ยงชีพ ได้รับการบำรุงเต็มที่ ก็อยู่สบาย ไร้กังวล เล่าเรียนวิชากันได้เต็มที่ แต่พอดีในยุคนั้น วิชาที่เรียนได้หนักไปทางความรู้แบบตำรับตำรา โดยเฉพาะเรื่องอภิปรัชญา ก็เลยเพลิดเพลินกันทางวิชาการ กลายเป็นนักถกเถียงปัญหากัน ตีฝีปากกันในทางปรัชญา ตลอดจนในระยะท้ายๆ น่าจะเพลิดเพลินทางด้านไสยศาสตร์มากเสียด้วย ในที่สุด อย่างน้อยในแง่หนึ่ง ก็เกิดผลขึ้นว่า พระห่างเหินจากประชาชน และพระสงฆ์ในชนบทต่างๆ หลั่งไหลมารวมอยู่ที่ศูนย์กลางแห่งเดียว เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาในท้องถิ่นต่างๆ อ่อนกำลังลง และเป็นช่องทางให้ศาสนาอื่นได้ฟื้นฟูตัวขึ้นมา โดยเฉพาะศาสนาฮินดูนั้นได้โอกาส เมื่อวัดพุทธไม่มีพระจะอยู่ ก็เข้าไปยึดครอง วัดพุทธก็กลายเป็นวัดฮินดูไป จำนวนก็มากขึ้นตามลำดับ พระพุทธศาสนาก็เสื่อมลงๆ

เรื่องที่ว่ามานี้ก็เป็นเครื่องเตือนใจให้เราต้องมาคิดถึงปัญหาที่ว่าเมื่อกี้ ว่าในความเจริญของพระพุทธศาสนา และในความเจริญของการศึกษาของเรานั้น ในด้านหนึ่ง เราจะต้องเตรียมใจไว้เสมอว่า มันมักจะมีด้านอื่นที่เสื่อมไปด้วยพร้อมกับความเจริญนั้น เพราะตามปกติ เมื่อเกิดความเจริญขึ้นในด้านหนึ่ง ก็อาจทำให้เกิดความเสื่อมในอีกด้านหนึ่งไปพร้อมกัน ผู้ที่ไม่ประมาทจะต้องตระหนักถึงภัยนี้ด้วยเสมอ เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีปริญญาโทขึ้น มีมหาวิทยาลัยที่เจริญรุ่งเรืองขึ้น เราจะต้องพิจารณาบทเรียนในอดีต แล้วจับตามองดูสภาพสังคมของเราทั้งหมด ให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาของเราในวงกว้างเป็นอย่างไร โดยเฉพาะขอให้มองไปทั่วๆ ในระดับการศึกษาขั้นต้น ที่แพร่ไปในชนบทซึ่งเป็นสังคมส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ว่ามีสภาพการศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร อย่าได้มองข้ามเป็นอันขาด และสำหรับการศึกษาในชนบทนั้น ก็เอาแค่การศึกษาในระดับพื้นฐาน หรือระดับเบื้องต้นก็พอ ไม่จำเป็นจะต้องให้สูงถึงขั้นมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ หรอก ให้พระทั่วไปนี้ มีการศึกษาระดับพื้นฐานสักระดับหนึ่ง ที่เห็นว่าพอจะทำหน้าที่สืบต่อพระพุทธศาสนาได้ เราก็พอใจอยู่ ดังนั้น ในการวางนโยบายและแผนการศึกษาของคณะสงฆ์ จึงได้กำหนดไว้ข้อหนึ่งว่า จะให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศ ในท้องถิ่นต่างๆ เท่าที่เราพิจารณาแล้วเห็นว่า พอสมควรแก่การสืบต่อพระศาสนาได้ สามารถทำหน้าที่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และเผยแผ่ธรรมแก่ประชาชนในท้องถิ่นได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องสภาพการศึกษาในชนบท

พอมาถึงขั้นนี้ ก็เป็นอันว่าจะต้องขยายการศึกษา การขยายการศึกษานี้เป็นไปในสองด้าน ด้านที่หนึ่งก็คือ เรื่องที่ได้พูดมาแล้วในระดับมหาวิทยาลัยสงฆ์ คือการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไป เป็นปริญญาโท ปริญญาเอก เรียกว่า การขยายในแนวตั้ง หรือแนวดิ่ง และอีกด้านหนึ่งก็คือ ขยายการศึกษาแนวราบ ได้แก่เรื่องที่กำลังพูดอยู่นี้ ที่ว่าจะต้องขยายการศึกษาระดับพื้นฐานทั่วประเทศ โดยเฉพาะในชนบทให้ทั่วถึง ทั้งสองด้านนี้จะต้องดำเนินควบคู่กันไป เป็นอันว่า จะต้องขยายการศึกษาทั้งแนวตั้ง และแนวราบ ให้มีขึ้นโดยสมบูรณ์ นี้ก็เป็นอีกแง่หนึ่งที่เกี่ยวกับการศึกษา

อนึ่ง การศึกษาในชนบทนี้ ก็มีความหมายสองด้านไปพร้อมกัน คือ จะต้องพูดถึงปัญหาพระศาสนาของคณะสงฆ์นี้ โดยสัมพันธ์กับปัญหาของชาติบ้านเมืองหรือของสังคมไทยทั้งหมด เวลาเราพิจารณาปัญหา จะต้องพิจารณาทั้งสองด้านพร้อมกัน เพราะสองอย่างนี้อิงอาศัยซึ่งกันและกัน การดำเนินการศึกษาระดับพื้นฐานในชนบทนี้ มีความหมายสองแง่ คือในแง่ของพระศาสนาเอง และในแง่ของสังคมหรือบ้านเมือง

สำหรับในแง่ของพระศาสนาเองนั้น ก็คือการที่จะทำให้พระศาสนานี้ มีความเจริญมั่นคงอยู่ได้ เพราะถ้าการศึกษาในชนบทเสื่อมโทรม พระในชนบทไม่มีการศึกษา การพระศาสนาในชนบทก็ต้องเสื่อมโทรม อย่างสภาพที่เห็นๆ กันอยู่นี้ พระปฏิบัติไม่ถูกต้อง เพราะไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร ไม่มีความรู้ที่จะปฏิบัติ ก็จึงทำอย่างที่เราเรียกว่า นอกลู่นอกรอยเป็นอันมาก นี้ก็เป็นเพราะความเสื่อมของการศึกษา เพราะฉะนั้น การดำเนินการศึกษาทางพระศาสนาในชนบทนั้น ประการแรกก็เพื่อป้องกันความเสื่อมโทรมของพระศาสนาในสังคมส่วนใหญ่ และเพื่อความเจริญมั่นคงของพระศาสนาในหลักการที่ถูกต้อง

ประการที่สอง ในแง่ของสังคม พระสงฆ์นั้นมีฐานะเป็นผู้นำของชุมชนในท้องถิ่น เป็นประเพณีของสังคมไทยที่มีมาแต่ไหนแต่ไร เพราะวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนไทย พระเป็นผู้นำ ชาวบ้านนั้นนับถือพระมากกว่าใครอื่นหมด พระเป็นผู้นำอันดับหนึ่ง ถ้าพระไม่มีคุณภาพ ก็หมายความว่า ผู้นำของชุมชน หรือผู้นำของท้องถิ่นไม่มีคุณภาพ ถ้าผู้นำไม่มีคุณภาพแล้ว ชุมชนนั้นจะเจริญด้วยดีไปได้อย่างไร การพัฒนาสังคม พัฒนาประเทศชาติ จะเจริญไปได้ด้วยดีอย่างไร ขณะนี้ เรามองข้ามความจริงข้อนี้ จึงไม่พัฒนาผู้นำระดับที่หนึ่ง คือพระสงฆ์ แล้วพยายามไปหาไปสร้างผู้นำอะไรต่างๆ ขึ้นมา โดยละทิ้งสิ่งที่มีอยู่เดิม ทรัพยากรที่มีอยู่ก็ไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ ฉะนั้น การพัฒนาประเทศไทยที่เป็นมา ที่ผิดพลาดก็มีเรื่องนี้เป็นสาเหตุอย่างหนึ่ง ฉะนั้น การให้การศึกษาแก่พระสงฆ์ในชนบท ก็คือการสร้างสรรค์ผู้นำที่มีคุณภาพให้แก่ชุมชนหรือท้องถิ่นนั้น ด้วยเหตุนี้ การที่เราปรับปรุงการศึกษาของคณะสงฆ์ในชนบท จึงมีความหมายทั้งในแง่พระศาสนา และในแง่ของสังคมทั่วไปของประเทศไทยทั้งหมด

 

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง