ทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ความสามารถที่จะดำรงรักษาพระศาสนา: คุณภาพที่ยังไม่เพียงพอ

ต่อไปประการที่ ๓ การศึกษาของคณะสงฆ์เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีคุณภาพเป็นอย่างไร เรื่องนี้ก็เป็นข้อพิจารณาที่สำคัญอย่างหนึ่ง ได้พูดสรุปไว้ว่า การศึกษาของคณะสงฆ์เท่าที่เป็นอยู่ ไม่เพียงพอที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้ด้วยดี ในท่ามกลางสภาพสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง และมีภัยคุกคามทั้งจากภายนอกและภายใน อันนี้ก็เป็นสภาพที่จะต้องถือเป็นหลักในการพิจารณาทิศทางด้วย เป็นด้านที่เกี่ยวกับคุณภาพ

เวลานี้ เราพูดได้ว่า ความสนใจในพระพุทธศาสนามีเพิ่มขึ้น ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ในประเทศที่เจริญแล้ว อย่างอเมริกา ความสนใจในการศึกษาพระพุทธศาสนาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่ลด หันมาดูในประเทศไทยปัจจุบันนี้ เราเห็นแนวโน้มที่น่ายินดีอย่างหนึ่งว่า คนจำนวนมากก็สนใจในการศึกษาปฏิบัติพระพุทธศาสนามากขึ้น ทั้งในด้านการเล่าเรียนปริยัติก็ดี ในการที่จะไปปฏิบัติทำกรรมฐานอะไรก็ดี จะเห็นว่ามีแนวโน้มในทางเพิ่มขึ้น และที่อาจจะน่าพอใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ทางด้านคนหนุ่มสาว ก็มีความสนใจมากขึ้นด้วย อาจจะพูดได้ว่า ความสนใจนั้นเป็นไปมากในหมู่คนหนุ่มสาว หนังสือพระพุทธศาสนาตอนนี้ปรากฏว่า มีการพิมพ์จำหน่ายแพร่หลายมาก การตลาดในการขายหนังสือทางธรรมนี้ ต่างจากสมัย ๑๐, ๒๐ ปีมาแล้ว อย่างผิดกันไกลทีเดียว สมัยก่อนนี้หนังสือทางศาสนาขายได้ยาก แต่สมัยนี้ เราจะเห็นว่า หนังสือธรรมมีวางขายกันเกลื่อน คนนิยมกันมาก เป็นหนังสือที่มีสถิติขายได้อันดับสูง

ในขณะที่สังคมหันมาสนใจพระพุทธศาสนา สถาบันการศึกษาต่างๆ ก็มีการนำเอาพระพุทธศาสนาเข้าไปบรรจุในหลักสูตร อย่างในวิทยาลัยครูก็มีการศึกษาวิชาพุทธศาสน์ เป็นต้น แต่น่าเสียดายที่ปรากฏว่า ทางฝ่ายคณะสงฆ์ซึ่งควรจะเป็นผู้นำ ที่จะสนองความต้องการให้มีบุคลากรในการให้การศึกษาทางพระพุทธศาสนา กลับตามไม่ทัน ก้าวไม่ทันเขา เราไม่มีบุคลากรที่จะไปสนองความต้องการด้านนี้ เพราะเราไม่ได้ผลิตขึ้น และไม่มีนโยบายที่จะดำเนินการให้มีขึ้นด้วย เราจึงขาดบุคลากรที่จะไปสนองความต้องการของสถาบันที่มีการศึกษาพระพุทธศาสนา ผมไปในต่างจังหวัดก็ได้พบปัญหาความขาดแคลนอย่างนี้ เช่นในวิทยาลัยครู ผู้ที่ไปจากวงการพระก็เร่งเร้าว่า ขอให้ช่วยหน่อย ทำอย่างไรจะมีผู้สำเร็จพุทธศาสตรบัณฑิต หรือ ผู้สำเร็จการศึกษาพระพุทธศาสนาระดับสูง ไปช่วยสอนเป็นครูอาจารย์ เราก็มีให้ไม่พอ ทีนี้ มหาวิทยาลัยทางโลกก็มีการศึกษาพระพุทธศาสนาระดับปริญญาโท ปริญญาเอกแล้ว และทางวิทยาลัยของศาสนาคริสต์ก็มีการศึกษาพระพุทธศาสนาในระดับปริญญาชั้นสูง เมื่อทางคณะสงฆ์ของเราไม่สามารถสนองความต้องการได้ เขาก็ต้องรับเอาคนจากวงข้างนอก จากมหาวิทยาลัยทางบ้านเมือง หรือแม้แต่ของศาสนาอื่น ซึ่งเป็นผู้สำเร็จการศึกษาทางศาสนาไปบรรจุเป็นอาจารย์ต่อไป อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา ในแง่ของการที่จะผลิตบุคลากร

ประการต่อไปก็คือ วิชาการที่สอนหรือวิชาที่มีในหลักสูตรการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาปริยัติธรรมแผนเดิมของเรานั้น เรียกได้ว่ามีขอบเขตคับแคบ และจำกัดด้านเดียว เช่นอย่างภาษาบาลีในสายเปรียญนี้ ก็เรียนกันแต่ภาษาบาลีอย่างเดียว ทั้งๆ ที่ ภาษาบาลีนั้นก็เรียนในคัมภีร์ที่ว่าด้วยธรรมวินัย แต่เวลาเรียนและสอนกันจริงๆ ไม่ได้สนใจเนื้อหาที่เป็นตัวธรรมวินัย หรือตัวหลักในคัมภีร์ หรือในตำราเรียน มุ่งเอาแต่ภาษาให้แปลออกมาได้ และไม่ได้ฝึกให้รู้จักค้นคว้า ฉะนั้น ผู้สำเร็จการศึกษา ก็จึงมีความรู้ความเข้าใจคับแคบอยู่ในวงของภาษาบาลีในคัมภีร์นั้นๆ อย่างเดียว เมื่อมีความเข้าใจคับแคบ แม้จะมีความรู้สูงในทางภาษา แต่เมื่อไปปฏิบัติหน้าที่ทางพระศาสนาและทางสังคม ก็ถูกขอบเขตและขีดจำกัดทางการศึกษาของตนเองนั้นบีบรัดเอาไว้ ทำให้ทำงานไม่ได้ผลดี ไม่ทันต่อสถานการณ์ เพราะฉะนั้น อันนี้จึงเป็นจุดอับอย่างหนึ่งในการศึกษาของคณะสงฆ์ ในแง่นี้ เราสามารถพูดได้ว่า การศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ ได้มาช่วยไว้มิใช่น้อย ในระยะเวลาที่ผ่านมา แต่ก็อย่าเพิ่งประมาทว่าเท่านี้พอแล้ว จะต้องทำต่อไป

อีกข้อหนึ่งก็คือ พระสงฆ์ที่มีคุณภาพของเรานั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างหนึ่งว่า ต้องมีความสามารถในการที่จะแก้ปรัปวาทะ คือคำกล่าวของลัทธิภายนอก เมื่อมีการกล่าวจ้วงจาบของบุคคลภายนอกต่อพระพุทธศาสนา บุคคลที่จะสืบต่อพระพุทธศาสนาต้องสามารถกล่าวแก้ชี้แจง ให้วาทะที่กล่าวจ้วงจาบนั้นตกไป หรือหมดความหมายไป แต่เท่าที่ผ่านมานี้ การศึกษาของเรายังทำหน้าที่นี้ได้ไม่เพียงพอ พวกเผยแผ่ศาสนาอื่น ยังอาศัยความได้เปรียบทางนี้อยู่มาก เพราะพวกผู้เผยแผ่ศาสนาอื่น มีพื้นการศึกษาซึ่งระบบการศึกษาของเขาได้ตระเตรียมฝึกอบรมให้ไว้เป็นอย่างดี ทั้งวิชาการทางโลก และวิชาการทางศาสนา รวมทั้งวิชาด้านพระพุทธศาสนา ตามนโยบายที่เขาวางไว้ ทำให้เขาพร้อมที่จะเผยแพร่ศาสนาของเขา แก่ชาวพุทธในสังคมไทย อย่างไปเผยแผ่ศาสนาในต่างจังหวัด เมื่อพูดกับชาวบ้าน หรือแม้แต่พูดกับพระในบ้านนอก บางทีเขาใช้วิธีที่อาจเรียกได้ว่าหลอกลวง คนของเราก็รู้ไม่ทัน และไม่มีความรู้ที่จะชี้แจงตอบโต้ ยกตัวอย่างเช่น เวลานี้ นักเผยแพร่ศาสนาคริสต์พยายามสร้างความรู้สึกอย่างหนึ่งให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวบ้าน ตามเรื่องในทำนองที่จะเล่าต่อไปนี้

นักเผยแผ่ศาสนาหนึ่งมาพูดกับชาวบ้านว่า ท่านรู้จักประเทศอเมริกา ประเทศอังกฤษ ประเทศในยุโรปไหม? ชาวบ้านก็บอกว่ารู้จัก นักเผยแผ่ก็ว่า เขาเป็นประเทศเจริญแล้ว พัฒนาแล้วใช่ไหม? พอบอกว่าใช่ ก็ถามต่อไปว่า ประเทศฝรั่งนั้นเขานับถือศาสนาอะไร ชาวบ้านหรือพระในต่างจังหวัดก็บอกว่า นับถือศาสนาคริสต์ ถามต่อไปอีกว่า แล้วประเทศไทย ประเทศลาว เขมร และประเทศแถวๆ นี้ เป็นประเทศกำลังพัฒนาใช่ไหม? ไม่เจริญใช่ไหม? ก็บอกว่าใช่ แล้วประเทศไทยนับถือศาสนาอะไร บอกว่านับถือพระพุทธศาสนา เขาก็บอกว่า เห็นไหม ประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์นั้น เจริญ แต่ประเทศที่นับถือศาสนาพุทธนั้น ยังไม่พัฒนา หรือด้อยพัฒนา ก็เอาสภาพที่เจริญหรือพัฒนา กับไม่เจริญหรือด้อยพัฒนานี้ มาสัมพันธ์กับการนับถือศาสนา แล้วสรุปบอกว่า เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์นั้น เจริญ หรือพัฒนา ส่วนประเทศที่นับถือพุทธศาสนานี้ ไม่พัฒนา ถ้าจะเจริญหรือพัฒนา ก็ต้องถือศาสนาคริสต์ อะไรทำนองนี้ พอพูดไปอย่างนี้แล้ว ชาวบ้านก็เห็นจริง แม้แต่พระเอง ไม่มีความรู้ก็เห็นจริงไปด้วย พลอยคล้อยตามเขาไป แต่เวลาเขาชี้แจงชักจูงจริงๆ ก็ย่อมพูดมากกว่านี้ ถ้าเราไม่มีความรู้เพียงพอ ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ ไม่เข้าใจพื้นเพอารยธรรมตะวันตก เราก็ไม่สามารถยกเอาความจริงและเหตุผลมาโต้แย้งได้ ได้แต่คล้อยตามไป ความจริงนั้น เป็นความรู้ที่ง่ายๆ ประเทศตะวันตก ที่เจริญขึ้นมาได้ พัฒนาขึ้นมาได้ ก็เพราะต่อสู้กับคริสต์ศาสนา คือศาสนจักรคริสต์ครอบงำบีบบังคับความเชื่อถือ ทำให้เขาดิ้นรนจนหลุดพ้นออกมาได้ และวิทยาศาสตร์ก็เจริญขึ้นมา ถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์ เราก็จะเห็นความเป็นไปเช่นนี้ ส่วนประเทศที่ไม่ได้ผ่านประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้กับคริสต์ศาสนาเช่นนี้ แต่มานับถือภายหลัง เช่น ฟิลิปปินส์ เป็นคริสต์แทบทั้งประเทศ ก็หาได้เจริญน่าชื่นชมอย่างใดไม่

อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า การศึกษาของคณะสงฆ์นี้ ยังไม่เพียงพอที่จะเตรียมบุคคลในพระศาสนา ให้มีความพร้อมที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้ เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องมีการปรับปรุงคุณภาพ ปรับปรุงเนื้อหา ปรับปรุงหลักสูตรให้ทันต่อสภาวการณ์ ให้พระสงฆ์มีความรู้เท่าทันต่อสภาพปัจจุบัน และสามารถที่จะนำความรู้ทางพระศาสนา มาประยุกต์ใช้ในการเผยแผ่ให้คนสมัยปัจจุบันนี้เข้าใจ มองเห็นคุณค่า และใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ และในแง่ขอบเขตของการศึกษา นอกจากปรับปรุงเนื้อหาของวิชาแล้ว จะต้องขยายขอบเขตวิชาให้กว้างออกไปด้วย แล้วก็ผลิตคนที่มีคุณภาพให้มีจำนวนเพียงพอ เรื่องนี้ก็เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งและเป็นสิ่งที่ท้าทาย ที่จะต้องทำ นับว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับทิศทางอีกประการหนึ่ง

 

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง