ว่าที่จริง ความโลภอยากได้ทรัพย์ มิได้มีความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยโดยตรงกับความขยันทำงานเลยด้วยซ้ำ หมายความว่า ความโลภอยากได้ทรัพย์ ไม่ใช่เป็นเหตุของความขยันทำงานแต่อย่างใดเลย แต่การที่สองอย่างนี้ถูกจับมาเข้าลำดับกันในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ก็เพราะมนุษย์ถูกหลอกด้วยปัจจัยที่แทรกเข้ามาในระหว่างที่ละไว้ในฐานเป็นที่เข้าใจ และมนุษย์หลงลืมปัจจัยนั้นไป แล้วทำให้มองข้ามปัจจัยนั้นไปพร้อมทั้งทำให้เกิดความผิดพลาดทางปัญญาในการมองเหตุปัจจัยไปโดยไม่รู้ตัว
ปัจจัยที่ถูกมองข้ามไปโดยไม่รู้ตัวนั้น ก็คือตัวแทรกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นบัญญัติของสังคมแท้ๆ หมายความว่ามนุษย์ถูกหลอกโดยวัฒนธรรมที่ตนเองสร้างขึ้นมา แล้วก็หลงติดจนทำให้มองภาพกระบวนการของเหตุปัจจัยในธรรมชาติผิดพลาดไป ปัจจัยตัวแทรกทางวัฒนธรรมนี้ มนุษย์สร้างหรือสมมติขึ้นในลักษณะที่เป็นเงื่อนไข เงื่อนไขนี้เอง เป็นตัวเชื่อมโยงความโลภอยากได้ทรัพย์ให้เข้ามาต่อกับความขยันทำงานโดยเป็นตัวบังคับ ว่าจะต้องทำงานและต้องทำให้ได้อย่างนั้นอย่างนี้เท่านั้นเท่านี้ จึงจะไปเอาทรัพย์ที่ต้องการมาได้ (เท่านั้นเท่านี้)
เพราะฉะนั้น ความขยันทำงานอันเป็นผลที่ต้องการ จึงเกิดขึ้นได้ด้วยอาศัยเงื่อนไขที่แทรกเข้ามาในระหว่างนั้น นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่บัญญัติธรรม หรือกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนดขึ้น เข้ามาปะปนกับกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยตามกฎธรรมชาติ สังคมที่ฉลาดรู้เท่าทัน จับจุดนี้ได้ถูก แล้วจัดการกับตัวแทรกที่เป็นเงื่อนไขนี้ให้ได้ผลดี จึงจะสามารถเชื่อมโยง ทำให้สมาชิกในสังคมของตนก้าวจากการอยากได้ทรัพย์ไปสู่การขยันทำงาน และทำการพัฒนาให้สำเร็จได้
อย่างไรก็ตาม ในสังคมบางแห่ง ตัวแทรกทางวัฒนธรรม ที่เป็นเงื่อนไขนี้ อาจเกิดจากการสั่งสมสืบทอดกันมา และเป็นไปอยู่โดยไม่รู้ตัวก็ได้
ส่วนสังคมใดไม่รู้เท่าทันความจริงข้อนี้ ไม่รู้ตระหนัก และไม่จัดการกับตัวแทรกทางวัฒนธรรมที่เป็นเงื่อนไขนี้ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดี ก็จะประสบภาวะเสี่ยงอันตราย ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการของธรรมชาติ คือกระตุ้นให้คนโลภอยากได้ทรัพย์หรืออยากร่ำรวย แล้วคนก็พากันขยันขันแข็งในการหาทรัพย์เอาทรัพย์มาให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม แล้วแต่ว่าวิธีนั้นๆ จะให้ได้มากได้ไว โดยไม่ต้องลำบากชักช้าผ่านตัวแทรกที่เป็นเงื่อนไข ในสังคมเช่นนี้ ย่อมเป็นที่แน่นอนว่างานก็จะไม่เดิน และความทุจริตก็จะระบาดทั่ว อย่างน้อยก็เต็มไปด้วยการกู้หนี้ยืมสิน
ตัวแทรกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นบัญญัติธรรม ที่ถูกนำมากำหนดเป็นเงื่อนไข ก็คือการวางกฎเกณฑ์ระเบียบข้อบังคับ หรือข้อตกลงอย่างใดอย่างหนึ่งทางสังคม ซึ่งเชื่อมโยงหรือผูกมัดการได้ทรัพย์เอาไว้กับการทำงาน และในบัญญัตินั้นก็พยายามสร้างแรงจูงใจทำนองว่าถ้าทำงานได้มากได้ดี ก็จะได้ทรัพย์มากหรือได้เพิ่มมาก
เมื่อมีตัวแทรกที่เป็นเงื่อนไขเข้ามาเชื่อมอย่างนี้แล้ว กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยจึงต่อเต็มครบลำดับ กลายเป็นว่า: ความโลภอยากได้ทรัพย์ + ข้อกำหนดหรือข้อตกลงว่าจะได้ทรัพย์ต่อเมื่อทำงาน --> จึงเป็นเหตุให้ขยันทำงานเพื่อจะได้ทรัพย์
แต่เงื่อนไขของมนุษย์จะเชื่อมต่อเข้าในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติไม่สำเร็จ ถ้าไม่ทำให้เป็นไปตามหลักของความเป็นเหตุปัจจัย คือ ต้องทำให้เงื่อนไขนั้นกลายเป็นเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ แต่เงื่อนไขไม่ใช่เหตุปัจจัย จึงต้องเอาธรรมชาติมาช่วยอีก
มนุษย์มีธรรมชาติส่วนที่ยืดหยุ่นปรุงแต่งไปได้ต่างๆ มากที่สุดคือจิตใจ จึงใช้การปรุงแต่งทางจิตใจมาช่วย อย่างน้อยให้จิตใจยอมรับเงื่อนไขนั้น ซึ่งอาจรวมไปถึงการมีปัจจัยเสริมที่เป็นเครื่องพยุงและเหนี่ยวรั้ง เช่น เกียรติยศชื่อเสียง ความมีหน้ามีตา การได้รับความนิยมสรรเสริญ เป็นต้น และจัดลำดับความคิดไปตามกระบวนเหตุปัจจัยเทียมที่มนุษย์ตกลงกันจัดวางไว้ คืออยากได้ทรัพย์ ก็ต้องขยันทำงาน แล้วจะเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์
ในแง่หนึ่งมนุษย์ก็อยู่ด้วยการหลอกตัวเองในทางความคิดนี้จนกลายเป็นความเคยชินของจิต ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง และในอีกแง่หนึ่ง กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่เกี่ยวกับกิจกรรมของมนุษย์ก็มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเอาปัจจัยเกี่ยวกับการปรุงแต่งของจิตใจเพิ่มเข้าไปอย่างที่มนุษย์เองก็มักไม่รู้ตัวว่าตนตกอยู่ใต้อิทธิพลของปัจจัยเสริมนี้ด้วย
เมื่อมีปัจจัยซับซ้อนมากขึ้น อีกทั้งมนุษย์เองก็ไม่ค่อยรู้ตัวตระหนักต่อปัจจัยนั้นด้วย การปฏิบัติจัดการกับกระบวนการหรือกิจการของมนุษย์ในเรื่องนี้ก็จึงเป็นเรื่องยุ่งยากใหญ่โตมากขึ้น จนกลายเป็นเรื่องของวัฒนธรรม และศาสตร์หรือวิชาการต่างๆ ที่จะศึกษาและจัดการ