ทางสายอิสรภาพของการศึกษาไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จริยธรรมแห่งความเป็นจริง
ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย

ลึกลงไปอีก ในแง่สภาพความเป็นจริง ความดี-ความชั่ว ที่เป็นแกนของจริยธรรมนั้น เป็นสภาวธรรม หรือเป็นสิ่งที่มีสภาวะของมันอยู่ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติด้วย หรือพูดง่ายๆ ว่า มันเป็นธรรมชาติที่เป็นไปตามธรรมดา ซึ่งมีความเป็นเหตุเป็นผลอยู่ภายในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติทั้งหมด มิใช่สิ่งสมมติที่มนุษย์จะมองข้ามความสำคัญหรือเล่นสนุกได้ตามชอบใจ

ยกตัวอย่าง เช่น ความโกรธ และเมตตา เป็นสภาวธรรม หรือสภาพความจริงที่เป็นนามธรรม เมื่อความโกรธหรือเมตตาเกิดขึ้นแก่ใครคนหนึ่ง จิตใจของเขาย่อมมีสภาพและอาการต่างออกไปคนละอย่าง พร้อมทั้งผลต่อเนื่องในทางสร้างเสริมหรือทำลายก็ตามมา เช่น ความชุ่มฉ่ำเยือกเย็น ความสงบผ่องใส และผ่อนคลาย หรือความเร่าร้อนกระวนกระวาย ความกระสับกระส่าย ความขุ่นมัวเศร้าหมองและคับเครียด ผลกระทบหรือเสริมแรงนี้ ปรากฏทั้งต่อคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพของจิตใจ สภาพความจริงนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ประจักษ์แก่บุคคลผู้นั้นอย่างนั้น โดยที่เขาไม่จำเป็นจะต้องได้เรียนรู้ หรือจดจำมาหรือแม้แต่เรียกชื่อมันว่าเป็นความดีหรือความชั่ว

มิใช่เฉพาะในด้านจิตใจเท่านั้น เนื่องจากความสัมพันธ์เป็นปัจจัยต่อกันระหว่างกายกับจิต ความโกรธและเมตตานั้นก็มีผลต่อสภาพและความเป็นไปของร่างกายด้วย เริ่มแต่มีสารเคมีที่หลั่งออกมาในสมองคนละอย่าง การหายใจหยาบแรงหรือผ่อนสงบต่างกัน โลหิตฉีดแรงหรือราบรื่นไม่เหมือนกัน อย่างหนึ่งให้เกิดความเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ แต่อีกอย่างหนึ่งทำให้กล้ามเนื้อสงบผ่อนคลาย การเผาผลาญใช้พลังงานของร่างกายแตกต่างกัน แล้วมีผลระยะยาวต่อสุขภาพ ผิวพรรณ ความแก่ช้าแก่เร็ว เป็นต้น ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพ ซึ่งมีผลส่งทอดโยงต่อไปถึงโชคชะตาของชีวิต

ความโกรธและเมตตานี้เป็นเพียงตัวอย่าง แม้นามธรรมอื่นๆ ก็ทำนองเดียวกัน สิ่งเหล่านี้เป็นสภาพความจริง ซึ่งมีผลโดยตัวของมันเอง โดยไม่เกี่ยวกับการที่จะมีชื่อเรียกว่าเป็นความดี-ความชั่วหรือไม่ แต่ในระบบจริยธรรมที่สากลตามกฎธรรมชาติ เราถือเอาสภาพความจริงนี้เป็นหลัก แล้วจึงเรียกชื่อว่าดี-ชั่ว ไปตามสภาพความจริงหรือตามสภาวธรรมนั้นๆ มิใช่ดีหรือชั่ว เพราะตกลงว่ากันเอาเองหรือมีใครสั่งบังคับให้เรียกอย่างนั้น

นอกจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสภาพความจริงของความดี-ความชั่ว ถึงกับหลงว่าเป็นเรื่องสมมติหรือกำหนดเอาเองแล้ว คนที่เจริญมาในอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก ยังมักมีความสับสนคลุมเครือเกี่ยวกับความเป็นเหตุปัจจัยในทางจริยธรรมด้วย โดยที่คนเหล่านั้นมักชื่นชมวิทยาศาสตร์ แต่ไม่นำเอาวิธีวิทยาศาสตร์มาใช้กับสภาพความจริงทางจริยธรรม เพราะติดกับความเชื่อถือว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของระบบคุณค่าเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น คนสมัยใหม่นี้จำนวนมากจะพูดว่า ความโลภ หรือตัณหา ที่อยากรวยอยากมีทรัพย์สินเงินทองของใช้ของบริโภคมาก เป็นเหตุให้คนขยันทำงาน หมั่นเพียรทำมาหาเลี้ยงชีพ (แล้วก็เลยทำให้เกิดการผลิต เศรษฐกิจเจริญเติบโต ขยายตัว ทำให้ประเทศชาติพัฒนา)

ความคิดอย่างนี้ ขาดความประณีตในการมองกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ทำให้จับเหตุปัจจัยผิด หรือสับสนคลุมเครือในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล เป็นความผิดพลาดทางปัญญา หรือจุดอ่อนทางปัญญาที่ก่อความล้มเหลวในการพัฒนา หรือทำให้เกิดการพัฒนาที่ผิดทาง

ความโลภอยากได้ทรัพย์ ย่อมไม่ใช่เป็นเหตุของการเพียรพยายามทำงาน แต่ความโลภอยากได้ทรัพย์ เป็นเหตุของการพยายามหาทางให้ได้ทรัพย์นั้นมา

การพยายามหาทางให้ได้ทรัพย์นั้น อาจทำด้วยการขยันทำงาน หรือด้วยการไปเอาทรัพย์มา เช่นด้วยการแย่งชิงลักขโมยก็ได้ นี่คือ มีทางเลือกหรือความเป็นไปได้ในส่วนผล ๒ อย่าง

แต่ถ้ามองให้แม่นยำตรงตามกระบวนการของเหตุปัจจัยอย่างแท้จริงแล้ว จะเห็นชัดว่า การวางลำดับว่าความโลภอยากได้ทรัพย์ เป็นเหตุของการไปเอาทรัพย์มาแม้ด้วยการแย่งชิงหรือลักขโมย เป็นปัจจยาการหรือปัจจัยสัมพันธ์ ที่มีความเป็นเหตุเป็นผลถ่องแท้เที่ยงตรงมากกว่าการพูดว่า ความโลภอยากได้ทรัพย์เป็นเหตุของการขยันทำงาน

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง