เคยกล่าวแล้วว่า ในวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งไม่เคยรู้จักจริยธรรมตามหลักเหตุผลในกฎธรรมชาติมาก่อนนั้น เมื่อวิทยาศาสตร์เจริญขึ้นแล้ว ปฏิกิริยาต่อจริยธรรมแบบเทวบัญชาที่มีมาในภูมิหลังของตนเอง ได้ทำให้คนสมัยใหม่มองจริยธรรม ตลอดจนความดี-ความชั่ว ความถูก-ความผิดที่เนื่องอยู่กับจริยธรรมนั้นว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์คิดกำหนดกันขึ้นเอง เป็นเพียงบัญญัติของสังคมเท่านั้น คือไม่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในธรรมชาติ หรือไม่เป็นความจริง แต่เป็นเพียงของสมมติเท่านั้นเอง
คนเหล่านี้จะยกตัวอย่างและหลักฐานต่างๆ มาอ้างว่า สิ่งหนึ่งหรือการกระทำอย่างหนึ่งที่ถือกันในสังคมถิ่นหนึ่งหรือยุคสมัยหนึ่งว่าเป็นความดี แต่สิ่งนั้นหรือการกระทำอย่างนั้นเองในสังคมอีกถิ่นหนึ่งหรืออีกยุคสมัยหนึ่งกลับถือว่าเป็นความชั่ว ในทางกลับกัน สิ่งที่ถือกันในสังคมถิ่นนี้ยุคนี้ว่าเป็นความชั่ว กลับเป็นที่ยอมรับในสังคมอีกถิ่นหนึ่งหรืออีกยุคหนึ่งว่าเป็นความดีงาม
จะเห็นว่า ตัวอย่างและหลักฐานต่างๆ ที่คนเหล่านี้ยกมาอ้างล้วนเป็นจริงอย่างนั้นแทบทั้งสิ้น แต่พร้อมกันนั้นเอง คนเหล่านี้ก็ได้ถูกหลักฐานหรือตัวอย่างที่เป็นจริงเหล่านั้นเองหลอกหรือบังตาไว้ไม่ให้เห็นความจริงที่ซ้อนอยู่ในนั้นอีกชั้นหนึ่ง
จุดพลาดของคนเหล่านี้ก็คือ ความไม่สามารถแยกระหว่างบัญญัติธรรม คือกฎเกณฑ์ที่สังคมบัญญัติหรือกำหนดขึ้น กับจริยธรรม คือตัวความดีความงามที่มนุษย์ต้องการเพื่อประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคมของเขานั้น
มนุษย์กำหนดวางบัญญัติธรรม เช่นกฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีขึ้นมา ก็เพื่อเป็นหลักประกันที่จะให้จริยธรรมเกิดมีหรือดำรงอยู่ในสังคมของเขา
กฎเกณฑ์ กติกา ธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับการต้อนรับแขก การค้าขาย ชีวิตครอบครัว ฯลฯ ในสังคมมากหลาย ต่างถิ่นต่างกาล อาจแตกต่างกันมาก จนบางทีถึงตรงข้ามกันก็มี แต่ทั้งหมดนั้นเป็นบัญญัติธรรม และบัญญัติธรรมทั้งหมดนั้น มนุษย์กำหนดกันขึ้นก็เพื่อมุ่งประสงค์จริยธรรมอย่างเดียวกัน คือต้องการให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสงบราบรื่น การไม่เบียดเบียนข่มเหงเอารัดเอาเปรียบกัน ความมีไมตรี การอยู่ร่วมกันด้วยดี และความเป็นธรรมต่อกัน เป็นต้น
ความแตกต่างหลากหลายของบัญญัติธรรมนั้น นอกจากเป็นเพราะปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมเกี่ยวด้วยกาลเทศะแล้ว ก็ย่อมสืบเนื่องมาจากขีดขั้นแห่งสติปัญญา และความสุจริตของมนุษย์ที่จัดวางหรือกำหนดบัญญัติธรรมเหล่านั้นขึ้น
ด้วยเหตุนี้ บัญญัติธรรมทั้งหลายของสังคมต่างถิ่นต่างสมัย จึงมีประสิทธิภาพไม่เท่ากันหรือไม่เหมือนกันในการที่จะช่วยให้เกิดจริยธรรมและดำรงรักษาจริยธรรมไว้ในสังคมนั้น บางทีในบางสังคม บัญญัติธรรมอาจวางกันผิดพลาดถึงกับกลายเป็นให้ผลตรงข้าม กลับเป็นการทำลายจริยธรรมไปก็มี และด้วยเหตุทั้งหมดนั้น บัญญัติธรรมจึงมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงแก้ไขตามกาลเทศะ
ถึงแม้บัญญัติธรรมจะแตกต่างหลากหลายแปลกกันไปได้มากอย่างนี้ ผู้มีปัญญาก็มิได้มองว่าบัญญัติธรรมเหล่านั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดกันขึ้นมาอย่างเลื่อนลอย เป็นของเล่นสนุก หรือบัญญัติวางตามชอบใจ แต่เขามองว่าบัญญัติธรรมเหล่านั้นเป็นความเพียรพยายามของมนุษย์ในการที่จะประดิษฐานจริยธรรมในชีวิตและสังคมของตน แต่ความเพียรพยายามนั้นจะบรรลุความสำเร็จหรือไม่เพียงใด ก็เป็นไปตามวิสัยแห่งปัญญาของสังคมนั้น ตลอดจนความสุจริตหรือทุจริตของกลุ่มชนที่มีอำนาจหรือได้รับมอบหมายให้จัดวางบัญญัติธรรมสำหรับสังคมนั้น
การที่ว่าบัญญัติธรรมนั้นๆ จะช่วยให้มนุษย์เข้าถึงและดำรงรักษาจริยธรรมไว้ได้สำเร็จจริงหรือไม่ ก็อยู่ที่ว่ามันมีความสอดคล้องและสมบูรณ์ที่จะให้เกิดผลตามระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ตามกฎธรรมชาติแค่ไหนเพียงไร พูดสั้นๆ ว่าจะต้องเป็นไปตามระบบและกระบวนการของความจริงแห่งสัจธรรม ถ้าบัญญัติธรรมที่วางกันไว้ ทำให้เกิดองค์ประกอบและปัจจัยสัมพันธ์สืบทอดกันพรั่งพร้อมที่จะให้เกิดผลพอดีที่จะเกิดมีจริยธรรมที่ประสงค์ บัญญัติธรรมนั้นก็นำให้เข้าถึงจริยธรรมที่ต้องการได้ โดยนัยนี้ สัจธรรมจึงเป็นฐานรองรับจริยธรรมอีกชั้นหนึ่ง