กระแสธรรม เพื่อชีวิตและสังคม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ปลูกต้นไม้แห่งคุณธรรม1

ขอเจริญพร คณะกรรมการโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง พร้อมทั้งญาติมิตรทุกท่านที่ได้มาร่วมพิธีทำบุญในวันนี้ โดยเฉพาะเป็นที่น่ายินดีที่ท่านอาจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ผู้อำนวยการอายุรเวทวิทยาลัย ก็ได้มีเมตตามาร่วมในงานและเป็นประธานในพิธีให้ด้วย

การทำบุญในวันนี้ นอกจากจะเป็นพิธีทางพระศาสนาตามประเพณีของพุทธศาสนิกชนแล้ว ยังเป็นเครื่องแสดงอย่างหนึ่งถึงความเจริญก้าวหน้าในขั้นตอนหนึ่งของโครงการสมุนไพรฯ นี้ด้วย โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองได้ตั้งมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และได้เจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ การที่ได้มาทำบุญในวันนี้ ก็เพราะได้มีสถานที่ตั้งเป็นสำนักงานที่ทำการแห่งใหม่ ซึ่งเป็นสถานที่อันร่มรื่น เหมาะสม และมีบริเวณเป็นสัดส่วนของตนเอง เท่าที่ดูก็เห็นว่าเป็นเครื่องแสดงอย่างหนึ่ง ถึงการที่งานได้เจริญก้าวหน้ามาเป็นขั้นตอนสำคัญ การทำบุญก็เป็นการเชื่อมโยงเอาหลักปฏิบัติในทางพุทธศาสนาเข้ามาสัมพันธ์กับกิจการของตนเองด้วย อย่างน้อยก็เป็นการระลึกถึงประเพณีวัฒนธรรม ไม่ได้ละทิ้ง

ทำงานที่ดี และทำให้ดี คือได้ทำบุญตลอดเวลา

การทำบุญในวันนี้เป็นการกระทำอันหนึ่งที่เป็นบุญ คือเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำและการดำเนินชีวิตอันเป็นบุญที่เราได้บำเพ็ญเป็นปกติอยู่แล้ว เพราะว่างานโครงการสมุนไพรฯ นี้ ทำให้ผู้ที่มีส่วนร่วม และผู้ที่ทำงาน ได้ทำบุญอยู่เรื่อยๆ

อาชีพบางอย่าง การงานบางอย่างเป็นกลางๆ ทำไปแล้วเป็นบุญก็ได้ ไม่เป็นบุญก็ได้ งานการบางอย่าง บางอาชีพมีลักษณะเป็นบาปด้วยซ้ำไป แต่โครงการสมุนไพรฯ นี้เป็นเรื่องของการทำให้เกิดยาที่จะนำมาใช้รักษาโรค ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้น ตัวงานเองก็เป็นบุญโดยสภาพของมันอยู่แล้ว พูดในเชิงเปรียบเทียบว่า ถ้าจะเอาบุญกันแล้ว ผู้ที่อยู่ในโครงการฯ นี้ก็ได้เปรียบคนอื่นในแง่ที่มีโอกาสจะได้บุญอยู่เสมอ โดยที่ว่างานของตัวเองเป็นการทำบุญอยู่ตลอดเวลา คือการทำงานเกี่ยวกับสมุนไพรนี้ ก็อย่างที่กล่าวแล้วว่าทำให้เกิดยารักษาโรค ยารักษาโรคนั้นเอามาช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ทำให้รอดพ้นจากความตายในเมื่อยังไม่สมควรแก่เวลา ทำให้รอดชีวิตอยู่เพื่อทำประโยชน์ต่อไปได้ หรือบางคราวก็เอามาช่วยในแง่รักษาอวัยวะบางอย่างให้ดำรงอยู่ ให้ทำงานได้ต่อไป

อย่างน้อยยานั้นก็ช่วยเหลือเกื้อกูลในเรื่องสุขภาพ ทำให้เกิดความไม่มีโรค ในทางพระพุทธศาสนา เราจำคติที่เป็นพุทธภาษิตบทหนึ่งได้กันแม่น รู้กันทั่วไปในสังคมคนไทย เรามักจะพูดติดปากกันว่า ‘อโรคยา ปรมา ลาภา’ ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าจะพูดตามภาษาบาลีแท้ๆ ก็เป็น ‘อาโรคฺยปรมา ลาภา’ ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ก็ได้ความหมายเดียวกันว่า ความไม่มีโรคหรือความมีสุขภาพดีเป็นลาภอย่างสูงสุด ในเมื่อเราช่วยให้คนมีสุขภาพดี ไม่มีโรค และความไม่มีโรคเป็นลาภสูงสุด ก็เท่ากับว่า เราได้ให้ลาภอย่างสูงสุดแก่เขา เป็นทานอันประเสริฐ จึงได้บอกว่างานโครงการสมุนไพรฯ เป็นการทำบุญกุศล คือในแง่ตัวงานเองก็เป็นการทำบุญอยู่แล้ว

ในเมื่อเรามีข้อที่ได้เปรียบหรือเป็นโอกาสอันดี สามารถทำบุญได้เรื่อยๆ อยู่แล้ว เราก็ควรจะเสริมความมีบุญหรือได้บุญนั้นให้หนักแน่นยิ่งขึ้น โดยทำให้เกิดเป็นบุญจริงขึ้นมา ซึ่งบุญจริงๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยมีจิตใจเป็นบุญแท้ๆ คือการช่วยเหลือผู้อื่นที่เป็นการกระทำภายนอกนั้น จะต้องเกิดจากจิตใจที่ต้องการช่วยเหลือ มีเจตนาต้องการช่วยเหลือเกื้อกูลมนุษย์เข้าไปสำทับอีกชั้นหนึ่ง จึงจะเกิดความเป็นบุญอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้บุญที่กระทำนั้นเป็นบุญที่สมบูรณ์ ทีนี้บุญในการช่วยเหลือผู้อื่นนั้น ถ้าเราจะทำด้วยความตั้งใจจริงให้เป็นบุญแท้ๆ ก็ควรปฏิบัติตามหลักธรรม เพราะการปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักธรรมนั้น เป็นการแสดงถึงจิตใจที่มีความตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล หลักธรรมอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดผลอย่างนั้นก็คือ สังคหวัตถุ ๔ ประการนั่นเอง

งานช่วยเหลือจะดำเนินไปดี ต้องให้ครบองค์สี่

สังคหวัตถุ คือหลักแห่งการช่วยเหลือสงเคราะห์ หรือหลักของการยึดเหนี่ยวจิตใจคนและยึดเหนี่ยวสังคมไว้ให้อยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็นการผูกใจในระดับบุคคลหรือการยึดเหนี่ยวสังคมในระดับหมู่ชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็ตาม ก็เริ่มต้นด้วยทานก่อน อย่างที่กล่าวเมื่อกี้นี้ งานของโครงการฯ นี้ก็เริ่มต้นด้วยการให้ เราทำให้มีสมุนไพรขึ้นมา ทำให้มียารักษาโรค แล้วก็นำมาให้แก่กัน จะให้เปล่าหรือไม่ให้เปล่าก็ตาม ก็เป็นทาน แม้จะไม่ให้เปล่า แต่ถ้าเรามีเจตนาที่จะช่วยเหลือ ก็เป็นทาน เพราะเริ่มต้นด้วยเจตนาที่จะให้ ในทางพระศาสนาท่านตัดสินกันด้วยเจตนา เจตนาที่จะให้ ในกรณีนี้ก็คือให้ลาภอันประเสริฐ ได้แก่ความมีสุขภาพดี ความไม่มีโรค

การให้นั้นบางทีก็ดำเนินไปได้ด้วยดี บางทีก็ดำเนินไปได้ยาก เพราะว่าคนเราต้องมีความเข้าใจด้วย บางทีทั้งๆ ที่มีเจตนาที่จะให้ความช่วยเหลือให้ลาภแก่เขา แต่ถ้าเขาไม่เข้าใจดี เขาอาจจะไม่ยอมรับลาภที่เราจะมอบให้ด้วยซ้ำไป เราจึงต้องมีวิธีที่จะสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น คือวิธีที่จะเข้าถึงซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสอนหลักข้อต่อไปว่า จะต้องมีปิยวาจาด้วย

ปิยวาจาก็คือถ้อยคำ หรือคำพูดที่เกิดจากน้ำใจปรารถนาดี อย่างน้อยตอนต้นก็เป็นเครื่องเชื่อมโยงเข้าหากันให้ยอมรับฟังกัน ปิยวาจาในขั้นต้นก็คือวาจาทักทายปราศรัยที่ช่วยให้คนเข้าถึงกันและสื่อสารสัมพันธ์กันได้ พอสื่อสารสัมพันธ์กัน เริ่มติดต่อกันได้แล้ว ปิยวาจาก็ก้าวคืบหน้าไปสู่การให้ความเข้าใจ แนะนำอธิบายให้เขาเข้าใจถึงการรักษาสุขภาพ เรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ เรื่องของการที่จะแก้ไขเยียวยาว่าจะทำได้อย่างไร จะใช้อะไรแก้ไข เมื่อเรามีสมุนไพรก็แนะนำสมุนไพรที่ถูกต้องซึ่งจะแก้ไขโรคนั้นได้ และอธิบายสรรพคุณอะไรต่างๆ ให้เขาเข้าใจและพร้อมใจด้วย เหล่านี้ก็เป็นเรื่องของการใช้ปิยวาจาใช้คำพูดให้เป็นประโยชน์ ปิยวาจานี้มีความสำคัญมาก สำคัญทั้งในการเข้าถึงกันในเบื้องต้นและในการที่จะให้งานดำเนินต่อไป ตลอดจนจะให้ประโยชน์ที่ต้องการนั้นสำเร็จแก่ตัวเขาผู้ที่เราจะไปช่วยเหลือด้วย

ต่อไปอย่างที่ ๓ ก็คือ นอกจากจะให้สิ่งของ ให้ยา และเอาวาจาเป็นเครื่องเชื่อมแล้ว ต้องเอาแรงงานไปช่วยด้วย การช่วยด้วยแรงงาน ด้วยแรงกำลังของเรานั้น ก็มีทางที่จะทำได้หลายประการสุดแต่โอกาส แม้แต่การที่เราไปหาเขาในสถานที่ที่ไปได้ยากหรือปกติไม่อยากจะไป ไม่น่าไป แต่ด้วยจิตใจที่ประสงค์จะช่วยเหลือก็เดินทางไปหา อย่างนี้ก็เรียกว่าบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นการช่วยเหลือที่เรียกทางพระว่า อัตถจริยา อัตถจริยาก็คือการช่วยเหลือด้วยแรงกำลัง หรือแรงงานของเรา

ต่อไปข้อสุดท้ายก็คือ เมื่อเข้าถึงกันแล้ว มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ก็ต้องมีการวางตัวให้เหมาะสม ทำตัวให้เข้ากันได้ สิ่งที่กล่าวมาเบื้องต้นทั้งหมดนั้น จะเป็นทานก็ดี ปิยวาจาก็ดี อัตถจริยาก็ดี ก็เป็นเครื่องที่จะทำให้เข้ากันได้ดีอยู่แล้ว แต่การปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันในการที่เข้าไปสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันนั้นจะได้ผลสำเร็จด้วยดี ก็ต้องอาศัยการมีอัธยาศัยมีท่าทีอะไรต่างๆ เช่น การไม่ถือเนื้อถือตัว ความเป็นกันเองเป็นต้น เป็นเครื่องช่วยเสริมเข้าไปอีกด้วย เรียกว่า สมานัตตตา คือทำตัวให้เข้ากันได้ วางตัวเสมอต้นเสมอปลาย ปฏิบัติตัวเหมาะสม ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอกัน ให้เกิดความรู้สึกว่าเราร่วมสุขร่วมทุกข์กับเขา แล้วก็ร่วมมือกัน ไม่เฉพาะจะร่วมมือกับคนที่เราไปช่วยเหลือเท่านั้น แม้แต่คนที่ร่วมงานก็ต้องมีการร่วมมือกัน การร่วมมืออะไรต่างๆ เหล่านี้ที่เป็นการกระทำในประเภทที่ร่วมกัน อยู่ด้วยกัน ปฏิบัติตนเหมาะสมสม่ำเสมอโดยทั่วไป ก็เป็นเรื่องของหลักที่เรียกว่า สมานัตตตา

งานเพื่อสังคมจะได้ผลสมบูรณ์
ต้องมีฐานที่มั่นคงอยู่ในใจบุคคล

ถ้าได้นำเอาหลักธรรม ๔ ประการนี้มาใช้ปฏิบัติในการดำเนินงาน ก็คิดว่าการทำบุญในโครงการสมุนไพรฯ คงจะสำเร็จผลได้ดี แต่การที่สำเร็จผลได้ดีนั้น ความจริงมันยังมีอะไรลึกซึ้งลงไปอีก ที่ลึกซึ้งก็คือ เมื่อกี้นี้ได้พูดถึงว่า บุญนั้นมีบุญภายนอกกับบุญภายใน บุญที่เรากระทำหรือแสดงออกมานี้เป็นส่วนที่มองเห็นๆ กันอยู่ แต่เรายังไม่รู้จิตใจแท้จริง แม้ว่าการกระทำจะเป็นเครื่องแสดงเจตนา แต่เจตนาของจิตใจที่ประกอบด้วยความปรารถนาดีอย่างแท้จริงเท่านั้นที่จะเป็นรากฐานของการกระทำที่มั่นคง เพราะฉะนั้นการแสดงออกภายนอกอันเป็นการให้ความช่วยเหลือที่เรียกว่าทานก็ดี การใช้คำพูดเพื่อสื่อสัมพันธ์กันให้เกิดผลดีที่เรียกว่าปิยวาจาก็ดี การช่วยเหลือด้วยแรงกำลังบำเพ็ญประโยชน์ที่เรียกว่าอัตถจริยาก็ดี และการปฏิบัติตนให้เข้ากันได้โดยเหมาะสม ร่วมมือกัน ร่วมงานกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอต่อกัน ที่เรียกว่าสมานัตตตาก็ดี จะต้องมีรากฐานเกิดมาจากคุณธรรมในใจ ซึ่งหนีไม่พ้นหลักการที่เรียกว่า พรหมวิหาร ๔ ประการ

พรหมวิหาร ๔ ประการนั้นเป็นคุณธรรมที่เมื่อถูกปลูกฝังขึ้นมาในใจแล้ว ก็เป็นรากฐานของการกระทำในทางปฏิบัติการที่เรียกว่าสังคหวัตถุ ซึ่งเป็นการแสดงพฤติกรรมออกมาภายนอก หมายความว่าการกระทำของเราจะหนักแน่นจริงจังได้นั้น ในใจของเราจะต้องมีคุณธรรมที่เรียกว่า

๑. มีเมตตา ต้องมีความรักความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง นี่เริ่มต้นก่อน ถ้าเรามีความรัก ความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง เราก็ต้องการให้เขามีความสุข เห็นเพื่อนมนุษย์ก็อยากให้เขามีสุขภาพดี อยากให้เขามีร่างกายแข็งแรง ความรักความปรารถนาดีอันนี้ จะนำไปสู่การกระทำในภายนอกขึ้นมาเอง

เมื่อเราได้เล่าเรียนมีความรู้ เราก็ทำการได้อย่างสำเร็จผล แต่ถ้าไม่มีคุณธรรมคือความรักความปรารถนาดีแล้ว การกระทำภายนอกก็จะไม่ยั่งยืน ไม่มั่นคง ไม่เป็นไปอย่างจริงใจ ทำไปนานๆ เข้าก็เบื่อหน่ายหรือว่าทำโดยบางทีกลายเป็นสักแต่ว่าทำไปอย่างนั้นเอง ซ้ำร้ายอาจจะแปรไปในทางแสวงหาผลประโยชน์อะไรต่างๆ ไปก็ได้ แต่ถ้ามีคุณธรรมคือความรักความปรารถนาดีอยู่ในใจแล้ว พฤติกรรมและแรงจูงใจจะไม่แปรเปลี่ยนไป มันจะทำให้พฤติกรรมของเราที่เป็นบุญนั้นเป็นบุญอยู่ได้ตลอดไป ดังนั้น คุณธรรมในใจข้อแรกคือเมตตาความรักความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์นี้จึงเป็นรากฐานสำคัญ เป็นคุณธรรมประการที่ ๑

ทีนี้ ความรักความปรารถนาดีนั้น เมื่อเราไปเห็นมนุษย์ประสบความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อน มันก็จะ แสดงออกในคุณธรรมข้อที่ ๒ ที่อยากช่วยเหลือเขาให้พ้นจากทุกข์ เห็นเขาเป็นทุกข์แล้วจิตใจก็หวั่นไหวทนอยู่ไม่ได้ นิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ ต้องพยายามขวนขวายดิ้นรนไปเพื่อช่วยเหลือ เรามียารักษาโรค เมื่อไปเห็นคนมีความทุกข์เราก็ต้องรีบมาเอายาไปให้หรือแนะนำให้ความรู้แก่เขาให้เขาใช้ยารักษาโรค อย่างนี้ก็เข้าสู่คุณธรรมที่เรียกว่า กรุณา คือความคิดจะช่วยเหลือ หรือความสงสารอยากให้เขาพ้นจากความทุกข์

ต่อไป ถ้าคนเขามีความสุขสบาย มีสุขภาพดีเป็นปกติหรือว่าเขาได้รับการเยียวยารักษาแล้วหายโรค เราก็พลอยยินดีด้วยแล้วก็ส่งเสริมให้คนที่มีสุขภาพดี มีสุขภาพยั่งยืน รักษาสุขภาพไว้ได้ หรือมีสุขภาพดีแข็งแรงยิ่งขึ้นไป นี่เป็นการช่วยในด้านการส่งเสริม เมื่อกี้ช่วยให้พ้นจากทางลบ คือมีกรุณาช่วยให้พ้นขึ้นมาจากความทุกข์ ให้พ้นจากโรค คราวนี้ก็คืบหน้ามาถึงหลัก มุทิตา ช่วยดำรงรักษาความสุข ความมีร่างกายแข็งแรงไร้โรคและส่งเสริมให้เขามีสุขภาพดียิ่งขึ้นไป

ประการสุดท้าย ในการปฏิบัติงานนี้จะต้องเป็นคนรู้จักวางใจเฉยคอยดูได้ด้วย เรียกว่า วางใจเป็นกลาง คือบางทีต้องเฝ้าดูอยู่ก่อนโดยรู้จักรอจังหวะ รู้จักรอเวลา รอได้ คอยได้ ไม่ทุรนทุรายกระวนกระวาย แม้จะมีเมตตาอยากช่วยเหลือให้ผู้อื่นมีความสุข แต่บางครั้งก็จะทำการช่วยเหลือทันทีไม่ได้ หรือจะให้อะไรแก่ใครในทันทีบางทีกลายเป็นเกิดโทษ ต้องรอให้เขาพร้อมเสียก่อน บางทีจะทำอะไรเขายังไม่พร้อมต้องรอไว้ แล้วใช้ปิยวาจาช่วยทำให้ใจเขาพร้อม แล้วจึงทำได้ จะทำอะไรๆ ก็มักต้องรอดูให้เหตุปัจจัยพร้อม บางทีเรียกว่าต้องรอให้สุกงอม จึงจะทำได้ผล จึงต้องรู้จักวางใจให้เรียบสงบเฉยไว้ รอจังหวะเวลา ทำในเวลาที่เหมาะสม ให้เกิดผลอย่างแท้จริงโดยใช้ปัญญาพิจารณา อันนี้เข้าหลักธรรมที่เรียกว่า อุเบกขา คือวางใจให้พอดี เป็นกลางไว้ เฝ้าดูเฉยรอจังหวะได้ อย่างนี้เป็นการเฉยดูรอเวลาที่จะทำ

แต่อุเบกขาไม่ใช่เพียงเท่านี้ ถึงแม้ทำไปแล้ว ก็ต้องวางใจเฉยรอดูได้ คือรอดูผลที่จะเกิดขึ้นมาตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เข้าไปแทรกแซงทำอะไรให้ปั่นป่วนวุ่นวาย ซึ่งบางทีก็เลยเสียผล และก็ไม่ใช่มัวกระสับกระส่ายครุ่นคิดกังวลถึงผลนั้น จนจิตใจไม่มีความสงบสุข ยิ่งกว่านั้น ถ้าทำไปแล้ว อะไรก็ไม่เป็นไปอย่างใจหวัง เช่น ช่วยเหลือเขาไปแล้ว ให้อะไรเขาไปแล้ว ใช้ปิยวาจาแนะนำสั่งสอนเขาไปแล้ว เขาไม่ทำตามบ้าง อะไรๆ ไม่เป็นไปตามที่ใจหวังคิดคาดหมายบ้าง ก็ต้องไม่วู่วาม ไม่กระสับกระส่าย ทุรนทุราย รู้จักวางใจเรียบเป็นกลาง สงบเฉยอยู่ พร้อมนั้นก็มองดูพิจารณาดูว่าจะแก้ไขอย่างไร ตามวิถีทางแห่งเหตุปัจจัย การทำอย่างนี้หรือการมีอุเบกขาอย่างนี้ก็จะช่วยให้ทำงานได้ผลดีด้วย จิตใจตัวเองก็มีความสุขด้วย แล้วก็สามารถรักษาสถานการณ์ให้เป็นไปด้วยดีด้วย

หลักธรรม ๔ อย่างนี้ เป็นหลักปฏิบัติในพระศาสนา เป็นพื้นฐานอยู่ในใจ เป็นภาคคุณภาพที่จะให้แสดงออกมาภายนอก ที่จะปรากฏเป็นพฤติกรรมในการช่วยเหลือที่เรียกว่าสังคหวัตถุ ๔ ประการนั้น ถ้ามีคุณธรรมเหล่านี้อยู่ในใจแล้ว ฝ่ายคุณภาพภายในใจของเราก็จะออกมาเชื่อมประสานกับพฤติกรรมภายนอก ทำให้การงานของเราเป็นไปด้วยความจริงใจและจริงจัง ดำเนินไปสมตามวัตถุประสงค์ บรรลุเป้าหมายได้อย่างแท้จริง

ปลูกต้นไม้แห่งคุณธรรม เพื่อให้ต้นสมุนไพรงอกงาม

วันนี้เรามาทำบุญกัน สถานที่ทำงานของเราก็ได้เจริญก้าวหน้ามีที่ตั้งใหม่ และมีความหวังว่าจะทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น ก็หวังว่าโครงการฯ จะเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น เราอาจจะทำงาน เช่น ปลูกสมุนไพรได้มากขึ้น แล้วก็เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเยียวยารักษาโรคด้วยสมุนไพรนี้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น นี้เรียกว่าเป็นการปลูกข้างนอกคือปลูกสมุนไพร ปลูกสิ่งที่เป็นยา ตลอดจนปลูกฝังความรู้ความเข้าใจในหมู่ประชาชน ปลูกให้เกิดความเชื่อ ปลูกให้มีศรัทธาในการใช้ยาสมุนไพรนี้ แล้วก็ปลูกความรู้ในการที่จะใช้ให้ถูกต้อง นำไปใช้ให้สำเร็จประโยชน์อย่างแท้จริง

การที่จะปลูกข้างนอกทั้งหมดนี้ให้เจริญงอกงามไปด้วยดี ก็ต้องมาเชื่อมโยงเข้ากับหลักธรรมข้างในที่กล่าวมาเมื่อกี้ กล่าวคือเราจะต้องปลูกคุณธรรมขึ้นในใจของเราด้วย เช่น อย่างเมตตาเป็นต้น ธรรมะนั้นมีหลายอย่าง แต่เมตตารู้สึกว่าจะเป็นข้อสำคัญในกรณีนี้ อย่างน้อยเมตตานั้นก็เป็นน้ำสำหรับหล่อเลี้ยงให้เกิดความงอกงาม พืชพันธุ์ในภายนอกต้องอาศัยน้ำเป็นเครื่องทำให้เกิดความเจริญงอกงาม เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงรักษาชีวิตของพืชฉันใด จิตใจของคนเราก็อาศัยเมตตาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงฉันนั้น จากการที่จิตใจได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยเมตตานั้น คุณธรรม ความต้องการ และเจตนาที่คิดช่วยเหลือผู้อื่นก็จะดำรงอยู่ งานในโครงการฯ นี้ก็จะยืดยาวและก็จะยืนยงได้สืบต่อไป

เพราะฉะนั้น เราจึงควรมาปลูกต้นไม้ในใจของเรา คือต้นไม้แห่งคุณธรรมที่มีเมตตาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงนี้ขึ้น เพื่อให้พืชพันธุ์ที่ดีงามคือคุณธรรมภายในกับพืชพันธุ์ที่ดีงามคือสมุนไพรในภายนอก ได้เติบโตไปด้วยกัน นำไปสู่ผลสำเร็จแห่งงาน และความสำเร็จแห่งงาน แล้วทั้งหมดนี้ก็จะนำไปสู่ความสำเร็จแห่งประโยชน์สุขของประชาชนซึ่งเป็นสิ่งที่เรามุ่งหมายสืบต่อไป

ในโอกาสนี้ซึ่งถือว่าเป็นวาระอันเป็นมงคล เราทั้งหลายได้ทำบุญในทางพระศาสนา ได้ประกอบพิธีในภายนอกซึ่งเป็นพิธีมงคลแล้ว แต่ยังมีมงคลอีกอยางหนึ่งที่ลึกซึ้งเข้าไป คือมงคลในใจซึ่งเกิดจากความมีคุณธรรมความปรารถนาดีอย่างที่ว่าเมื่อกี้นั้นแล้ว เมื่อมีเจตนาดีแล้วก็ออกมาเป็นการกระทำที่ดี สิ่งที่อยู่ภายในใจที่ชักนำการกระทำภายนอกเหล่านี้เรียกว่าเป็นธรรมมงคล เป็นมงคลชั้นใน ซึ่งจะทำให้ความเป็นมงคลในภายนอกพลอยมีสาระเนื้อหาขึ้นมาอย่างแท้จริงด้วย

ในโอกาสนี้ อาตมาขออนุโมทนาทั้ง ๒ ด้าน คือทั้งพิธีภายนอก ที่เรียกว่าเป็นพิธีมงคล และความเป็นมงคลภายในซึ่งเกิดจากการสร้างคุณธรรมขึ้นในใจ และการปฏิบัติตามหลักธรรมซึ่งเรียกว่าธรรมมงคล ขอให้พิธีมงคลและธรรมมงคลนี้เป็นเครื่องนำมาซึ่งความสุข ความเจริญก้าวหน้าของท่านทั้งหลายที่ได้ร่วมงานกันในโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองนี้ และนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าแห่งงานของโครงการฯ พร้อมทั้งความงอกงามแห่งประโยชน์สุขของประชาชนทั้งหลายสืบไปชั่วกาลนาน

ถาม เรากระทำกิจไปโดยความปรารถนาดี มีความตั้งใจดีที่จะช่วยให้ชนหมู่มากได้พ้นจากความทุกข์ยาก ความลำบาก แต่บางทีกิจต่างๆ ที่เราทำไปนั้น ทำไปๆ เราก็เห็นว่า ปัญหาของชาวบ้านมันมีมากมายเหลือเกิน บางทีงานที่เราทำมันเป็นเพียงจุดเล็กๆ จุดหนึ่งซึ่งมันคงจะไม่สามารถที่จะประสบความสำเร็จโดยบริบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าปัญหาในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้รับการแก้ไขด้วย ทีนี้เราก็พบอีกว่าปัจจัยอื่นๆ ที่จะช่วยให้ปัญหามันคลี่คลายไปได้นั้น เราไม่สามารถเป็นผู้ควบคุมไปได้ทั้งหมด เราก็เลยรู้สึกว่างานของเรานี่ ไม่สามารถแก้ปัญหาของชาวบ้านได้จริงๆ แล้วบางครั้งมันก็ชวนให้เรารู้สึกท้อแท้ใจด้วย ในทำนองว่า งานของเรานี่ในที่สุดแล้วทำไป ไม่ได้แก้ปัญหาให้ใครๆ อันนี้ไม่ทราบว่าเจ้าคุณอาจารย์จะมีข้อเตือนสติอะไรบ้าง

ตอบ ก็เราเอาความหวังความตั้งใจมาตั้งไว้เป็นเกณฑ์ตัดสินนี่ แล้วทีนี้งานมันยังเดินไปไม่ถึงความหวังของเรานั้น มันก็ทำให้เกิดความรู้สึกผิดหวังขึ้นมา บางทีเราอาจจะมองไม่ตรงตามสภาพที่เป็นจริง เพราะความหวังของเรานั้นกลายมาเป็นเครื่องตัดสินแล้ว การที่เราหวังไว้ก็ดีแล้ว คือความหวังนั้นจะช่วยให้เราเดินหน้าไป แต่เวลาวัด เราอย่าไปวัดด้วยความหวัง แต่ควรวัดด้วยความเป็นจริง เราทำงานไปได้แค่ไหน เราก็ต้องรู้ตามสภาพที่ได้ อย่างน้อยมันก็ได้แล้วแหละ เช่น ได้เป็นคนคนไป เป็นจุดๆ หย่อมๆ ทีนี้ขณะที่เรายังทำระดับจุดหรือหย่อม หรือบุคคล แล้วเราไปหวังในระดับสังคมทั้งหมด เราจะไปวัดโดยเกณฑ์ให้สังคมนี้เป็นอย่างนั้นตามหวังคงไม่ได้ ก็ต้องถือว่าได้ทำงานสำเร็จตามเป้าหมายในขั้นต้นของเราที่ตรงกับตัวงานแท้ๆ ทำไปแค่ไหนก็ได้แค่นั้น แต่ในระยะยาวเรามีความหวังไว้ว่าเราจะเดินไปสู่เป้า ไม่ว่าจะเดินไปถึงหรือไม่ถึงก็แล้วแต่ แต่ตอนที่ทำนั้น เราได้ผลอยู่แล้ว คือส่วนที่ผ่านไปเราได้ผลอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นมันก็ไม่ได้ผล หลายคนที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องช่วยเหลือ ไปรู้จัก เขาได้ยาไปเขาไปใช้รักษา เขาก็ได้ผลประโยชน์ไปแล้ว

เป็นอันว่าจะต้องตัดเป็น ๒ ส่วน แยกส่วนที่ทำไปตามขั้นตอนของมัน เฉพาะขั้นตอนที่ได้ทำไปๆ ก็ส่วนหนึ่งแล้ว เรื่องของความหวังที่ตั้งเป็นเป้าหมายจะให้ได้นั้น มันเป็นปัจจัยในส่วนสังคมที่ต้องขึ้นต่อปัจจัยอื่นๆ ด้วย อันนี้เราไม่ได้ละทิ้งนะ เรามีโอกาสเราก็หาทางไปช่วยแก้ไขปัจจัยด้านอื่นด้วย หรือให้ปัจจัยด้านอื่นมันมาร่วมกับปัจจัยด้านของเราที่ทำให้เกิดผลต่อสังคม เราคนเดียวจะทำให้หมดมันก็คงจะไม่ได้ อย่างน้อยก็จับให้มั่นไว้ในส่วนที่ตนถือเป็นหน้าที่โดยตรง ส่วนอื่นนั้นเท่าที่ทำได้ทำกันได้ก็เอา คอยดูคอยมอง ได้ช่องก็ทำ อย่าลืมหลักอุเบกขาที่ว่ามาเมื่อกี้

ถาม คนที่เรียกว่านักพัฒนานี่มักจะพูดถึงเรื่องการพึ่งตนเองของชาวบ้าน ไม่ทราบว่าท่านเจ้าคุณอาจารย์มีทัศนะอย่างไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องที่เขาเรียกว่าพึ่งตนเองนะคะ

ตอบ การพึ่งตนเองเป็นไปตามหลักธรรมอยู่แล้ว คือมันเป็นเรื่องของความรู้สึกรับผิดชอบที่เราจะต้องพยายามกระทำด้วยตนเอง แต่มันมีแง่ที่ต้องระวังอยู่อันหนึ่ง ในเรื่องการพึ่งตนเองนี้ คือถ้าเราไปมองคนอื่น เราจะบอกว่าเขาก็ต้องพึ่งตนเองไปสิ ถ้าอย่างนี้ละก็แย่ ถ้ามองในแง่ตัวเองว่า เราต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง ต้องพึ่งตนเองนี้ดี เพราะจะทำให้เกิดการกระทำมีความพยายามที่จะทำ แต่ถ้าไปมองคนอื่นว่าคนก็ต้องพึ่งตนเอง ก็ให้เขาพึ่งตนเองไปสิ เราก็เลยไม่ช่วย อย่างนี้ก็แย่ มันอยู่ที่ว่าจะมองในแง่มุมไหน ถ้าใช้ธรรมผิดทางก็เสีย

ธรรมนั้น ต้องมองจากแง่ความรับผิดชอบของตนเอง คือ ธรรมข้อใดๆ ก็เป็นเรื่องความรับผิดชอบของตัวเราที่จะปฏิบัติธรรมข้อนั้นๆ ไม่ใช่มองหาผู้อื่นที่จะมาปฏิบัติ ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนอื่นก็เป็นธรรมของเราที่จะต้องใช้เมตตากรุณาออกไปช่วยเหลือ โดยมีทาน มีปิยวาจาอย่างที่ว่ามาแล้ว แต่ทีนี้ในแง่ของตัวเราเอง การที่เราช่วยเขาก็คือ ไปช่วยให้เขารู้จักพึ่งตนเอง ทีนี้ การที่เขาจะพึ่งตนเอง เขาก็ต้องทำตนเองให้เป็นที่พึ่งได้ อยู่ๆ เราจะไปให้เขาพึ่งตนเองๆ เฉยๆ ก็ไม่ได้เหมือนกันอีกแหละ ก็ต้องไปทำให้เขาพึ่งตนเองได้ ให้เขาพัฒนาความสามารถที่จะพึ่งตนเอง หรือว่าทำตนเองให้เป็นที่พึ่งได้ เพราะฉะนั้น เรื่องนี้มันก็ต้องสัมพันธ์กัน ถ้าอีกอักเราไปบอกให้เขาพึ่งตนเองๆ ทันที บางทีมันก็เคว้งคว้างเหมือนกัน ท่านจึงบอกว่าจะพึ่งตนเองก็ต้องทำตนเองให้เป็นที่พึ่งได้ ทีนี้ ทำตนเองให้เป็นที่พึ่งได้นี่จะทำอย่างไร ตอนนี้แหละจะถึงเนื้อหาละ จะเข้าสู่เนื้อหาของการปฏิบัติที่แท้จริง เป็นอันว่าจะต้องว่ากันเป็นขั้นเป็นตอน

ปัจจุบันนี้เราทำไม่ครบทุกขั้น เช่นบางพวกเขาแค่บอกว่าคนเราก็ต้องพึ่งตนเองสิ เพราะฉะนั้น พวกนั้นก็ต้องพึ่งตัวเองไป อย่างนี้แย่ที่สุด ใช่ไหม เป็นการตัดการช่วยเหลือกันเลย ปล่อยให้เขาถูกทอดทิ้งอยู่ตามลำพัง ในขณะที่เขายังไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบตัวเอง คนก็แย่ ขั้นที่ ๒ ดีขึ้นหน่อย ให้เขาพึ่งตัวเอง ไปสอนให้เขาพึ่งตนเอง แต่เขาก็ไม่มีทางไป เพราะบอกแค่ว่าให้เขาพึ่งตัวเอง เขาก็เคว้งคว้างอยู่ นั่นว่าต้องพึ่งตัวเอง ต้องช่วยตัวเอง ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ต้องขั้นต่อไป คือบอกว่าพึ่งตนเอง โดยการทำตัวเองให้เป็นที่พึ่งได้ ทีนี้เราจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรที่จะทำให้ตัวเองเป็นที่พึ่งได้ พอถึงขั้นนี้แหละถึงจะได้ผลดี ที่ว่าให้เขารู้จักทำตนเองให้เป็นที่พึ่ง อาตมาว่าโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองก็คงมุ่งในแง่ที่ว่าจะช่วยให้คนเขาสามารถทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้ด้วยใช่ไหม

ถาม ฟังแล้วมันมีหลายความหมายเหลือเกิน คือยังงงๆ อยู่ว่าหลายหน่วยงานเขาบอกว่าให้ชาวบ้านพึ่งตนเอง

ตอบ ก็อย่างตัวอย่างที่ ๑ นั่นแสดงว่าแย่ที่สุด บอกว่าคนทุกคนต้องพึ่งตัวเอง คุณก็พึ่งตัวเองไปสิ อันนี้แย่ที่สุด ถ้ามองในแง่ความรับผิดชอบของตัวเราจะพูดว่าต้องพึ่งตัวเอง แต่ถ้ามองในแง่ผู้อื่นเราต้องมองในแง่เมตตากรุณาที่จะไปช่วยเหลือ ถ้าเราใช้ผิดอย่างที่ว่าก็กลายเป็นต่างคนต่างอยู่ ต่างฝ่ายต่างซัดกันว่า คุณก็พึ่งตัวเองไปสิ

ถาม หมายถึงว่าตัวเราจะต้องเป็นตัวอย่างด้วยหรือเปล่าคะ

ตอบ เรื่องการพึ่งตัวเองเป็นความรับผิดชอบในแง่มองตัวเอง เมื่อเรามองตัวเองเราจะต้องพึ่งตัวเองให้ได้ ทำตัวเองพัฒนาความสามารถของตนเพื่อให้ตนเป็นที่พึ่งของตนให้ได้ และพยายามพึ่งตนเอง พึ่งตนเองได้แล้วเราจะได้ช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย ถ้าเราพึ่งตัวเองไม่ได้เราจะไปช่วยคนอื่นได้อย่างไร เราเองก็จะจมน้ำอยู่แล้ว ถ้าทุกคนพยายาม ทำให้ตัวเองพึ่งตัวเองได้ ต่อไปสังคมก็สบาย เพราะว่าเหลือแต่คนพึ่งตัวเองได้และช่วยคนอื่นได้ด้วย ทีนี้ ปัจจุบันอาตมาว่าสังคมไทยกำลังมีแนวโน้มในทางตรงกันข้าม เพราะเรากำลังกลายเป็นสังคมรอคอยความช่วยเหลือ ทั้งระดับบุคคล ระดับชุมชนและระดับประเทศ อะไรๆ ก็รอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ จากภายนอกสังคม ชาวบ้านก็รอความช่วยเหลือจากกรุงเทพฯ ว่าจะเอาอะไรมาให้ ตกลงก็ทำอะไรไม่เป็น

เดี๋ยวนี้เขามีคติอันหนึ่งว่า คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น อันนี้เป็นเรื่องของการพึ่งตนเองได้ทั้งนั้น คิดเป็น ก็พึ่งตัวเองได้ ทำเป็นก็พึ่งตัวเองได้ แก้ปัญหาเป็นก็พึ่งตัวเองได้ ในความหมายแง่หนึ่ง การพึ่งตัวเองได้ คือ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น นี่เราพูดให้เข้ากับนักการศึกษาสมัยนี้นะ และเราก็คงจะต้องช่วยชาวบ้านในแง่นี้ด้วย คือช่วยโดยไม่ให้เกิดความรู้สึกว่า เขาจะรอคอยเทวดามาโปรด

ทีนี้ถ้าการช่วยของเราไปออกผลในลักษณะรอเทวดามาโปรดอย่างนั้น อาตมาว่าก็เสียอีกนั่นแหละ พอช่วยเสร็จแล้วเขามีความรู้สึกว่าต่อไปเราไม่ต้องทำอะไรแล้ว จะมีคนภายนอก กลุ่มนี้เขาจะมาช่วย มาให้เราตลอดเวลา อันนี้ก็จะทำให้เขาเสียคนต่อไป เราจึงจะต้องช่วยในลักษณะที่ว่า ให้เขาพยายามพึ่งตนเองได้ พัฒนาความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง และพร้อมกันนั้น อย่าให้เขาจำกัดความรู้สึกว่า เป็นตัวใครตัวมัน แต่ให้เกิดความรู้สึกว่าให้คุณพึ่งตนเองโดยสามารถพึ่งตนเองได้แล้ว คุณจะได้มีความสามารถพร้อมที่จะเป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่นได้ต่อไปอีกด้วย

หลักที่ว่านี้หมายความว่า เราสอนชาวบ้านให้รู้จักที่จะพึ่งตัวเองได้ แล้วพร้อมกันนั้น เราให้ความรู้สึกว่าเขาควรจะช่วยเหลือคนอื่นด้วย อย่าลืมอันนี้ คือให้เขาเผื่อแผ่ที่จะช่วยคนอื่น เพราะว่าถ้าชุมชนของคุณดีแล้ว มีสุขภาพดี คุณรู้จักสมุนไพร มียาดีนะ ต่อไปคุณจะได้ไปช่วยชุมชน ชาวบ้านอื่นๆ ต่อไปด้วย เผื่อแผ่ยานี้ไป เราอย่าไปจำกัด เดี๋ยวเขาจะรู้สึกขึ้นมาอีก เอ๊ะ ชุมชนของเราก็ช่วยตัวเองได้แล้ว ชุมชนนั้นมันไม่เห็นช่วยตัวมันเองเลย งั้นเราก็ต้องปล่อยมัน อย่าไปยุ่งกับมันเลย เป็นอย่างนี้ก็เสียอีก

แต่ละคนต้องมองธรรมในแง่ความรับผิดชอบของตนเองที่จะเป็นผู้ปฏิบัติ ที่ว่าพึ่งตัวเองก็คือเราจะต้องพยายามพึ่งตัวเอง แล้วก็ไปช่วยคนอื่น ซึ่งก็คือช่วยให้เขาพึ่งตัวของเขาเองได้นั่นแหละ แต่ไม่ใช่ปัดไปเสีย ซัดให้เขาพึ่งตัวเองทันทีเลย เมื่อเขาล้มหรือตกอยู่ในหล่ม ต้องไปช่วยให้เขายืนขึ้นมาหรือหลุดออกมา ทรงตัวตั้งหลักได้ก่อน เขาจะได้ช่วยตัวของเขาเองได้ต่อไป

1สัมโมทนียกถา เนื่องในวันทำบุญสำนักงาน โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง ๒๘ เมษายน ๒๕๒๙
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง