กระแสธรรม เพื่อชีวิตและสังคม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ทรัพย์สิน:
มุมสำคัญของการปฏิบัติธรรม1

ภุตฺตา โภคา ภฏา ภจฺจา   วิติณฺณา อาปทาสุ เมติ

ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้วิสัชชนาพระธรรมเทศนาอนุโมทนาบุญกิริยา เนื่องในโอกาสแห่งงานพระราชทานเพลิงศพ คุณบัญชา ล่ำซำ

คณะท่านเจ้าภาพ มีหม่อมราชวงศ์ สำอางวรรณ ล่ำซำ เป็นประธาน พร้อมทั้งบุตรหลานและญาติมิตรทั้งหลาย ได้มีจิตใจเป็นสมานฉันท์ พร้อมกันบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน อุทิศแด่ท่านผู้ล่วงลับตามลำดับมาเป็นการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา โดยอนุวรรตน์ตามประเพณีไทย กล่าวคือ เป็นการบำเพ็ญญาติธรรม ได้แก่ หน้าที่ต่อญาติและแสดงออกซึ่งกตัญญูกตเวทิตาธรรม

นอกจากในฝ่ายครอบครัว ก็ยังมีท่านที่เคารพนับถืออีกจำนวนมาก โดยเฉพาะก็คือ บุคคลากร ในวงการของธนาคารกสิกรไทยทั่วประเทศ ซึ่งได้มาร่วมในการบำเพ็ญกุศลสืบมาตามลำดับอย่างพร้อมเพรียงเช่นเดียวกัน เป็นการแสดงน้ำใจ บูชาคุณงามความดีของท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว สอดคล้องกับหลักการที่ถือว่า การบูชาคุณความดีของท่านผู้ล่วงลับไปแล้วนี้ เป็นกิจสำคัญสำหรับผู้ยังมีชีวิตอยู่ เป็นการแสดงออกที่บ่งชี้ถึงคุณธรรมที่มีในใจของท่านที่มาร่วมงาน พร้อมทั้งเป็นการประกาศคุณความดีของท่านผู้ล่วงลับไปด้วยพร้อมกันในตัว

ที่กล่าวนี้หมายความว่า การบำเพ็ญกุศลอุทิศแด่ท่านผู้ล่วงลับนั้น เป็นการประกาศคุณความดีของทั้งสองฝ่าย ในฝ่ายของท่านที่ล่วงลับไปแล้ว ก็แสดงให้เห็นว่า ท่านต้องมีคุณความดีที่ได้บำเพ็ญไว้ จึงทำให้คนที่อยู่ข้างหลัง นิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ ต้องทำการแสดงออก กล่าวคือ มาประกอบพิธีทำบุญบำเพ็ญกุศลต่างๆ และพร้อมกันนั้น ก็เป็นการประกาศคุณความดี ของท่านที่อยู่ข้างหลังนี้เช่นเดียวกัน ว่าท่านที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ มีน้ำใจ มิได้ทอดทิ้งท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว เมื่อมีกิจที่จะควรทำอุทิศแก่ท่านได้ ก็มิได้ปล่อยปละละเลยหรือนิ่งเฉยดูดาย นับว่าเป็นการแสดงถึงคุณความดี อันประกอบด้วยน้ำใจ ที่ทางพระศาสนาเรียกรวมโดยศัพท์ว่า ญาติธรรม และ มิตรธรรม รวมความว่า ท่านทั้งหลายได้บำเพ็ญกิจอันแสดงออกแล้ว ซึ่งญาติธรรมและมิตรธรรมตามโอกาสเป็นลำดับมา

บัดนี้ คุณบัญชา ล่ำซำ ก็ได้จากไปครบ ๓๕ วันแล้ว ย่างขึ้นวันที่ ๓๖ ในฐานะที่ท่านเป็นบุคคลผู้เป็นที่รัก เป็นที่เคารพนับถือ เมื่อท่านจากไป ย่อมเป็นธรรมดาว่า บุคคลที่อยู่ใกล้ชิดในแวดวง ตั้งแต่ครอบครัวเป็นต้นไป ย่อมจะมีความเศร้าโศกอาลัย แต่ ความเศร้าโศกอาลัยนี้ ก็อาจจะบรรเทาลงได้บ้าง ด้วยปัจจัยแวดล้อม และการรู้จักทำใจ

ปัจจัยแวดล้อม ที่จะช่วยให้ความเศร้าโศกบรรเทาลงได้นั้น มีประมาณ ๓ ประการด้วยกัน บางอย่างนั้น อาจจะทำให้เราผู้ยังอยู่นี้ สามารถเกิดความปลาบปลื้ม ปิติยินดีขึ้นมาท่ามกลางความเศร้าโศกก็ได้ หมายความว่า ทั้งๆ ที่ยังมีความเศร้าโศกอาลัยอย่างมากมายนี่แหละ แต่เมื่อทำใจอย่างถูกต้อง มีเหตุปัจจัยมาช่วยเกื้อหนุนจิตใจ ก็อาจจะมีความปลาบปลื้มปีติยินดีขึ้นมาได้ กลายเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจให้มีความสุขขึ้นได้ในยามนี้

ประการที่หนึ่ง ปัจจัยที่จะช่วยให้เกิดความปีติยินดี ก็คือ การที่ได้ระลึกว่า ท่านผู้ล่วงลับไปแล้วนี้ เป็นผู้ที่ได้บำเพ็ญคุณความดีไว้ ได้ทำชีวิตของท่านให้มีค่า ด้วยการสร้างผลงาน และด้วยการบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ เมื่อได้ระลึกขึ้นมาอย่างนี้แล้ว ก็จะทำให้ลูกหลาน เป็นต้น ที่กำลังมีความอาลัย เกิดความสบายใจ เกิดความอิ่มใจ ในคุณความดีของท่าน แม้จะเศร้าโศก แต่ในยามนั้นเองก็สามารถฟื้นฟูใจให้มีความปลาบปลื้มยินดีขึ้นมาได้ โดยระลึกถึงว่า คุณพ่อของเรา หรือว่า ท่านผู้เป็นที่รักที่เคารพนับถือของเรานี้ ท่านเป็นผู้มีชีวิตที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ ท่านได้ทำสิ่งที่ควรรำลึกจดจำบูชาไว้แล้วเป็นอย่างดี ในข้อนี้ สำหรับคุณบัญชา ล่ำซำนั้น ผลงานของท่านก็เป็นที่ปรากฏชัด ดังจะเห็นได้จากการที่ว่า ในวันนี้ ซึ่งเป็นวันพระราชทานเพลิงศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ จะได้เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพด้วย เป็นประกาศอย่างชัดเจนถึงความสำคัญแห่งชีวิตและผลงานของท่าน พร้อมทั้งคุณประโยชน์ที่ท่านได้บำเพ็ญไปแล้ว

ประการที่สอง ปัจจัยข้อต่อไป ที่จะช่วยให้ญาติมิตรโดยเฉพาะครอบครัว ได้เกิดความรู้สึกสบายใจหายโศกเศร้า ผ่อนคลายความอาลัยลงได้ ก็คือ น้ำใจไมตรี คือความมีมิตรภาพของท่านที่เคารพนับถือ ท่านผู้อยู่ในวงการ และท่านที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ที่ได้มาแสดงออก ด้วยการร่วมพิธีบำเพ็ญกุศล ทำให้เกิดความอบอุ่นใจแก่ครอบครัว การแสดงออกซึ่งน้ำใจของท่านทั้งหลายนี้เป็นสิ่งที่เกิดจากคุณธรรมคือเมตตาและไมตรีธรรมในจิตใจ เมื่อได้แสดงออกแล้ว ก็มีผลทำให้เจ้าภาพ ได้มีความชุ่มชื่นจิตใจขึ้นมา บรรเทาความเศร้าโศกอาลัยได้ และเครื่องปลุกปลอบชะโลมใจนี้ก็แสดงออกในน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถด้วย

ประการที่สาม ปัจจัยที่จะเป็นเครื่องบรรเทาความเศร้าโศกาลัย ก็คือ การรำลึกถึงคติธรรมดาแห่งชีวิตตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชนได้สดับธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว ย่อมรู้เข้าใจถึงหลักแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เรียกรวมว่า พระไตรลักษณ์ เราย่อมรู้ว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง รวมทั้งชีวิตของเรานี้ ล้วนเป็นสังขาร เมื่อมีการเกิดขึ้น ก็ย่อมมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา เมื่อเรารู้เข้าใจธรรมดาของชีวิต และธรรมดาของสังขารเหล่านี้แล้ว พิจารณาคล้อยไปตามกฎแห่งความจริง หรือกฎธรรมชาตินั้น ด้วยความรู้เท่าทัน ปัญญาที่รู้เท่าทันนั้น ก็จะทำให้ความเศร้าโศกอาลัยบรรเทาลงได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการปฏิบัติในข้อนี้เป็นความเข้าใจตามหลักความจริง จึงเป็นปัจจัยข้อสำคัญทีเดียว เรียกว่าเป็นการทำจิตใจให้ถูกต้อง โดยวิธีปฏิบัติทางธรรม ซึ่งถ้าปฏิบัติได้ตามนี้ ก็ชื่อว่า เป็นผู้ดำเนินตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

นี้เป็นปัจจัยอย่างน้อยสามประการ ที่จะทำให้จิตใจได้เกิดความผ่อนคลาย บรรเทาจากความเศร้าโศก และอาจจะทำให้เกิดความปีติปลาบปลื้มใจ แทรกเข้ามาในระหว่างท่ามกลางความโศกเศร้านี้ได้

. . .

โดยเฉพาะการที่ท่านผู้ล่วงลับไปได้ทำประโยชน์ต่างๆ ไว้นั้น เมื่อพิจารณาตามคติทางพระศาสนา ก็เรียกว่า เป็นการทำชีวิตให้มีค่า ที่ท่านเรียกว่า 'อโมฆชีวิต' แปลว่า 'ชีวิตที่ไม่ว่างเปล่า' เมื่อได้รำลึกถึงในแง่นี้แล้ว ครอบครัวญาติมิตรก็จะได้มีความสบายใจ ว่าบุคคลผู้เป็นที่รักที่เคารพของเรานั้น เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์อย่างคุ้มค่า เป็นชีวิตที่มีค่าแล้ว เราก็ควรเบาใจ ความเศร้าโศกอาลัยที่เกิดขึ้น แม้จะยังมีอยู่อย่างลึกซึ้ง ก็จะได้บรรเทาเบาลงไป

แต่จะให้บรรเทาได้โดยสมบูรณ์ หรือโดยสิ้นเชิงนั้น ก็ด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรมในทางพระศาสนา ที่เป็นประการที่สาม ดังกล่าวมาแล้ว กล่าวคือ การที่ต้องพิจารณาให้เห็นคติธรรมดาแห่งชีวิตที่เป็นสังขาร ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันความเป็นจริง ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ชีวิตของมนุษย์เรานี้ก็เป็นสังขาร คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจากปัจจัยปรุงแต่ง สิ่งที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งนั้น ย่อมไม่เป็นตัวของมันเอง แต่เป็นไปตามปัจจัยทั้งหลายที่ขัดแย้ง เมื่อมีปัจจัยที่ขัดแย้งเข้ามา ก็ทำให้เกิดมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็มีการแตกสลายไปในที่สุด

ทั้งนี้ไม่เฉพาะชีวิตของคนเราเท่านั้น ทุกสิ่งที่มนุษย์เราประสบพบเห็น รวมทั้งทรัพย์สินสมบัติต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่ตกอยู่ในอำนาจพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยเช่นเดียวกัน เราได้มาพบกับสิ่งเหล่านั้น ก็เป็นการชั่วคราว แล้วในที่สุด เรากับสิ่งเหล่านั้น ก็ต้องพลัดพรากแยกจากกันไป โดยที่ว่า บางทีเราก็แยกจากสิ่งเหล่านั้นไปก่อน หรือบางทีสิ่งเหล่านั้นก็แยกพรากจากเราไป แต่รวมความก็คือการที่ว่าต้องพลัดพรากแยกจากกันไป

เพราะฉะนั้น ในทางพระศาสนา ท่านจึงสอนเตือนสติพุทธศาสนิกชนอยู่เสมอ ให้ทำใจให้ถูกต้องต่อสิ่งต่างๆ ที่ตนเข้ามาประสบเกี่ยวข้อง คือ ให้รู้เท่าทันความจริง ปฏิบัติจัดทำสิ่งนั้นๆ ให้ถูกต้องตามเหตุผล และให้มีความรู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดติดถือมั่นเกินไป เมื่อเรายังอยู่กับสิ่งเหล่านั้น เราก็เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง แต่เมื่อต้องมีการพลัดพรากแยกจากกัน ก็มีสติรู้เท่าทัน มีจิตใจเป็นอิสระ ไม่ถูกความทุกข์ครอบงำเพราะอำนาจของความยึดติดถือมั่น

ปฏิบัติธรรมโดยปฏิบัติต่อทรัพย์ให้ถูกต้อง

การปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย ที่เราเกี่ยวข้องนี่แหละ เป็นการปฏิบัติธรรม และเป็นการปฏิบัติธรรมขั้นพื้นฐานทีเดียว

ก่อนที่จะปฏิบัติธรรมอะไรต่อไปก็ตาม ธรรมะที่จะต้องปฏิบัติขั้นต้นที่สุด ก็คือ การปฏิบัติต่อสิ่งที่เราต้องเกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง เริ่มตั้งแต่สิ่งที่ใกล้ชิดเราที่สุดเป็นต้นไป สิ่งที่ใกล้ชิดที่สุด ก็คือ ชีวิตของเรา ต่อจากชีวิตของเรา ก็คนที่แวดล้อมสัมพันธ์ แล้วก็สิ่งของเครื่องใช้และทรัพย์สมบัติที่เราครอบครอง ทรัพย์สินเงินทองเหล่านี้ ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชีวิตของชาวบ้านหรือคฤหัสถ์นั้น จะต้องมีความเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินสมบัติเป็นธรรมดา จึงจะต้องมีการปฏิบัติให้ถูกต้อง

ผู้ใดที่ปฏิบัติถูกต้องต่อเรื่องเงินทองทรัพย์สิน ก็ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติธรรมในพระศาสนาด้วย แม้ไม่ได้เข้าไปในป่า ไม่ได้ไปบำเพ็ญกรรมฐานอะไร ก็ชื่อว่าปฏิบัติธรรมอยู่ในตัว

บางท่านอาจจะสงสัยว่า เมื่อเงินทองทรัพย์สมบัติเป็นของไม่เที่ยง และทางพระศาสนาก็สอนไม่ให้ยึดติดถือมั่น จนกระทั่งบอกว่า 'เมื่อตายแม้แต่เงินสักบาทเดียวก็ติดตัวไปไม่ได้' ท่านสอนกันไว้ถึงอย่างนี้ แต่เหตุใดพระพุทธเจ้าจึงสอนไว้ว่า ให้เราทั้งหลายนี้มีความขยันหมั่นเพียรในการแสวงหาทรัพย์สิน ดูคล้ายๆ ขัดกัน ก็ในเมื่อมันเป็นของไม่เที่ยง ไม่มีค่าอะไร แล้วจะแสวงหาไปทำไม

อันนี้แหละ ก็คือ หลักการที่ได้กล่าวเมื่อกี้นี้ว่า การปฏิบัติต่อสิ่งที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องนั้น คือการปฏิบัติธรรมขั้นพื้นฐาน เมื่อเราต้องเกี่ยวข้องกับเงินทองทรัพย์สินสมบัติ ต้องใช้มันในการดำเนินชีวิต ก็จะต้องปฏิบัติต่อทรัพย์สินเงินทองให้ถูกต้องด้วย และการปฏิบัติถูกต้องนั้น ก็มีหลายแง่หลายขั้น ซึ่งรวมไปถึงการรู้เท่าทันความจริง ที่เป็นธรรมชาติของทรัพย์สินเงินทองนั้นด้วย

โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อเรื่องทรัพย์สินเงินทองโดยถูกต้องชอบธรรมนั้น เป็นเรื่องสามัญที่จะใช้พิจารณาการดำเนินชีวิตของคฤหัสถ์หรือการปฏิบัติธรรมของคฤหัสถ์ คล้ายๆ เป็นเครื่องตรวจสอบว่า เราปฏิบัติธรรมได้ผลหรือไม่ ถ้าหากว่า แม้แต่ทรัพย์สินสมบัติที่เป็นของต้องเกี่ยวข้องอยู่ในชีวิตประจำวัน ก็ยังปฏิบัติไม่ถูกต้องแล้ว จะไปหวังให้ปฏิบัติถูกต้อง ต่อสิ่งทั้งหลายที่กว้างขวางออกไปอย่างไร

แม้จะกล่าวโดยสรุป การปฏิบัติถูกต้องต่อทรัพย์สินสมบัติ ก็มีหลายอย่างหลายประการด้วยกัน ในที่นี้จะยกมาเฉพาะหลักสำคัญๆ ซึ่งกล่าวได้ว่ามี ๓ ประการ

การปฏิบัติโดยถูกต้องต่อทรัพย์สินเงินทอง ประการที่หนึ่ง คือ การรู้จักทำให้ทรัพย์สมบัตินั้น เกิดมีและเจริญเพิ่มพูนขึ้นโดยชอบธรรม คนอยู่ในโลก ก็จำเป็นจะต้องมีทรัพย์ สินเงินทองบ้าง โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันนี้ ต้องอาศัยทรัพย์สินเงินทองเป็นอย่างมาก และไม่ใช่เฉพาะการดำเนินชีวิตของบุคคล แม้แต่กิจการของส่วนรวม ความเจริญก้าวหน้าของสังคม ก็ต้องอาศัยทรัพย์สินเงินทอง แต่ทรัพย์สินเงินทองก็มิใช่เกิดขึ้นมาได้เฉยๆ โดยเลื่อนลอย วิธีการที่จะให้เกิดทรัพย์สินเงินทองนั้น จะต้องอาศัยความมีสติปัญญา ความขยันหมั่นเพียร ความอดทน ที่เป็นคุณธรรมในจิตใจของบุคคล บุคคลใดรู้จักทำให้ทรัพย์สินเกิดมีขึ้นมาได้ และเจริญเพิ่มพูนขึ้นได้โดยชอบธรรม อันนั้นถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมขั้นที่หนึ่งในแง่ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทอง

คนมีสติปัญญา มีความขยันหมั่นเพียร รู้จักแสวงหา บางทีสิ่งที่ไม่มีค่า ก็ทำให้เกิดมีคุณค่าขึ้นมาได้ สิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ก็ทำให้มีประโยชน์ขึ้นมาได้ ในทางพระศาสนา ท่านเล่าเรื่องไว้เป็นตัวอย่าง ดังเช่นบุคคลผู้หนึ่ง เป็นคนรับใช้ของเศรษฐี เดินตามเศรษฐีไป ในระหว่างทางนั้นบังเอิญไปพบเอาหนูตายตัวหนึ่ง เศรษฐีก็หันมา ชี้ให้คนรับใช้ดู บอกว่า หนูตัวนี้ถ้ารู้จักเอาไปจัดทำก็จะทำให้มีเงินมีทองเป็นเศรษฐีได้ คนรับใช้คนนั้นมีสติปัญญา ปรากฏว่า สามารถตั้งตัวได้ โดยเริ่มต้นจากเอาหนูตัวนั้น ไปทำให้เกิดเป็นเงินเป็นทองขึ้นมา แล้วก็ตั้งตัวได้ จนกระทั่งในที่สุดคนรับใช้คนนั้นก็กลายเป็นเศรษฐีคนหนึ่ง อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของการที่ว่า คนที่มีสติปัญญา คนที่มีความสามารถ มีคุณธรรมในใจ มีความเพียรพยายาม ขยัน อดทน เป็นต้น สามารถทำสิ่งที่ไม่มีค่า ไม่มีคุณประโยชน์ ให้เกิดมีค่า มีคุณประโยชน์ เกิดทรัพย์สินเพิ่มพูนขึ้นมาได้

มีเรื่องเล่าถึง ท่านเศรษฐีผู้หนึ่ง ในเมืองไทยนี้เอง แต่ก่อนก็เป็นคนยากจน แต่ใช้วิธีสร้างทรัพย์ขึ้นมา โดยที่ว่า วิธีหนึ่งก็คือ ในระยะที่มีการรับประทานข้าวเหนียวมะม่วงกันมากๆ นั้น ท่านผู้นี้ก็เอาตะกร้า หรือเข่ง ไปวางไว้ตามร้านที่ขายข้าวเหนียวมะม่วง โดยเฉพาะร้านที่ขายดี ร้านข้าวเหนียวมะม่วงนั้น เมื่อฝานมะม่วงเสร็จแล้ว ก็จะต้องทิ้งเมล็ด แล้วก็เป็นภาระในการที่จะต้องหาถังขยะ หรือในการที่จะนำไปทิ้ง ท่านผู้นี้ก็นำเอาเข่ง หรือตะกร้า ไปวางให้เลย บอกว่า ‘เอาละ ฉันจะช่วย คุณไม่ต้องไปมีภาระลำบาก ในการที่จะเอาขยะ หรือเอาเศษเมล็ดมะม่วงเหล่านี้ไปทิ้ง ฉันจะทำให้เอง’ สำหรับมะม่วงที่เอามาขายในที่นั้น ร้านที่ว่าขายดี ก็ย่อมเอามะม่วงที่ดีมาขาย เมื่อเขาวางเข่งลงไปแล้ว คนที่ขาย เมื่อเอาเนื้อมะม่วงออกแล้ว ก็โยนเมล็ดมะม่วงลงในเข่งหรือตะกร้านั้น เมื่อเข่งหรือตะกร้าเต็ม หรือได้จำนวนพอสมควร ท่านผู้นั้นก็มาเก็บเอาไป แล้วก็เอาเม็ดมะม่วงไปเพาะ ไปปลูก ก็ได้สวนมะม่วงที่ดีขึ้นมา แล้วก็ขาย ทำให้ท่านมีเงินมีทองมากขึ้น จนกระทั่งในที่สุด ด้วยวิธีการต่างๆ ทำนองนี้ ก็กลายเป็นเศรษฐีผู้หนึ่ง

อันนี้ก็คือ ความสามารถในการทำให้เกิดมีทรัพย์ และทำให้ทรัพย์ขยายเพิ่มพูนขึ้น คนที่มีความสามารถนั้น ทรัพย์ที่ยังไม่มีก็ทำให้เกิดมีขึ้นได้ สิ่งที่ไม่มีค่า ไม่มีประโยชน์ ก็ทำให้เกิดมีประโยชน์ขึ้นได้ อันนี้ถือว่าเป็นความสามารถที่สำคัญ ในสังคมนี้ ต้องการคนที่มีความสามารถประเภทนี้

การสร้างสรรค์ทรัพย์ที่ยังไม่มีให้มีขึ้นอย่างนี้ เป็นเหมือนกับว่า มีผืนแผ่นดินที่แห้งแล้งร้างว่างเปล่าไร้ประโยชน์ คนมีสติปัญญา มีความปรารถนาดี และขยันหมั่นเพียร เข้ามาฟื้นฟู ที่แห้งแล้งก็ทำให้มีน้ำขึ้นมา ที่ร้างว่างเปล่า ก็ปลูกพืชพันธุ์ไม้ ให้มีป่ามีสวนขึ้นมา จนกลายเป็นที่อุดมสมบูรณ์

อย่างไรก็ดี คนจำนวนมาก มักทำในทางตรงข้าม คือ สิ่งที่มีอยู่ ที่มีคุณค่า ก็ทำให้หมดคุณค่าไป ดังนั้น สิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ แม้แต่ทรัพย์สินที่มีอยู่แล้ว ถ้าไปอยู่กับคนที่ไม่มีสติปัญญา ไม่มีคุณธรรม ก็มีแต่สูญหายสลายไป ไม่เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของเขาผู้นั้น และไม่เกิดประโยชน์แก่สังคม

เพราะฉะนั้น สังคมจึงต้องการบุคคลที่มีสติปัญญา มีความสามารถทำนองนี้ เพื่อที่จะปฏิบัติต่อทรัพย์อย่างถูกต้องและให้เกิดผลดี และการที่จะทำให้เกิดมีทรัพย์ และเพิ่มพูนขึ้นมาด้วยการปฏิบัติต่อทรัพย์อย่างถูกต้องนี้ ก็มีความหมายรวมไปถึงว่าจะต้องให้เป็นไปโดยทางชอบธรรมด้วย คือไม่เป็นไปโดยการเบียดเบียน หรือโดยการทุจริต เช่นว่า มิใช่รวบรวมทรัพย์สมบัติขึ้นมา ด้วยการลักปล้นแย่งชิง โกง ข่มเหงผู้อื่นเอามา เป็นต้น นี้เป็นประการที่หนึ่ง เรียกว่าเป็นการปฏิบัติถูกต้อง ต่อทรัพย์สินเงินทอง ในแง่ของการทำให้เกิดมี และทำให้เพิ่มพูนขึ้นโดยชอบธรรม

ประการที่สอง คือ ท่าที หรือการวางเป้าหมายต่อทรัพย์สินเงินทองนั้น ท่าที หรือเป้าหมาย ต่อทรัพย์สินเงินทองนั้น โดยทั่วไป จะมีเป็นสองประการ ประการที่หนึ่ง ที่มองเห็นกันมาก ก็คือ เรามองว่า ทรัพย์สินเงินทองหรือโภคสมบัตินั้น เป็นทางมาของความสุขสบาย เป็นทางมาของการที่จะได้รับสิ่งสำหรับปรนเปรอ บำเรอ อำนวยความสุขความสบายแก่ตนเอง คนทั้งหลายก็แสวงหาทรัพย์สมบัติเพื่อจะมาบำรุงบำเรอตนเอง ซึ่งบางทีก็เป็นเหตุที่ทำให้สังคมมีการเบียดเบียนกัน เพราะแต่ละคนก็แย่งชิง เพื่อจะเอามาให้แก่ตน เพื่อจะบำรุงบำเรอตนเอง

แต่มีคติอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรม ก็คือการที่มองเห็นโภคทรัพย์ หรือเงินทองนี้ เป็นอุปกรณ์ เป็นช่องทาง เป็นโอกาสในการที่จะทำความดีให้ได้กว้างขวาง หรือทำประโยชน์ได้มากมายแพร่หลาย บางคนนั้น บางที เป็นคนมีความคิดดีๆ มีสติปัญญาและมีคุณธรรม ทั้งที่อยากจะทำความดี อยากจะทำประโยชน์แก่สังคม แต่ในเมื่อไม่มีทุนรอน ไม่มีทรัพย์สมบัติ ก็ทำไม่ได้อย่างใจปรารถนา ทำได้ก็คับแคบ ประโยชน์นั้นก็ไม่แผ่ไพศาล ทั้งๆ ที่มีสติปัญญา ความคิดดีเหลือเกิน แต่ทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้ในขอบเขตจำกัด แต่ถ้าเขามีเงินทองมากเพียงพอ ก็สามารถทำให้ประโยชน์ที่ตนคิดจะทำนั้น เกิดขึ้นได้สมจริงดั่งใจหวัง แล้วก็ทำได้อย่างมากมายเสียด้วย

ในเรื่องนี้ เรามีพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นแบบอย่าง กล่าวคือ พระเจ้าอโศกมหาราชนั้น แต่เดิมก็ทรงหวังที่จะครองบัลลังก์ เพื่ออำนาจและโภคทรัพย์ ที่จะนำมาบำรุงบำเรอตนเอง และจะได้มีความยิ่งใหญ่ พระองค์ก็คิดอย่างนั้นตามวิถีของปุถุชนทั่วไป แต่เมื่อมาได้สดับธรรมะแล้ว พระองค์ก็เปลี่ยนพระทัย ทรงเห็นความจริงว่า ทรัพย์สินสมบัติเหล่านั้น มิใช่เป็นสิ่งที่จีรังยั่งยืน มิใช่เป็นความหมายที่แท้จริงของชีวิต แต่แทนที่พระเจ้าอโศกมหาราช จะทรงสละราชสมบัติออกไปผนวช ก็มิได้ปฏิบัติเช่นนั้น แต่พระองค์ทรงพิจารณาใหม่ว่า ถ้าหากเราเปลี่ยนเสียใหม่ แทนที่จะเอาทรัพย์สมบัติ หรืออำนาจนี้มาใช้เพื่อการปรนเปรอตนเอง ให้ความสุขแก่ตนเอง ก็เอาไปใช้เป็นเครื่องมือทำประโยชน์แก่ประชาชน ก็จะเป็นทางให้เกิดประโยชน์สุขอย่างกว้างขวางยิ่งใหญ่ พระองค์ก็เลยเปลี่ยนความหมายของการมีทรัพย์สมบัติและเกียรติยศอำนาจเสียใหม่ว่า ให้ทรัพย์สมบัติและอำนาจนั้น เป็นไปเพื่อขยายขอบเขตและโอกาส ในการที่จะทำประโยชน์สุขแก่ประชาชน เพราะฉะนั้นพระเจ้าอโศกก็เลยสามารถทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมได้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งการที่ได้ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ขยายมาจนปัจจุบัน

เพราะฉะนั้น การวางท่าทีและเป้าหมายอย่างถูกต้องต่อเรื่องทรัพย์สมบัตินี้ จึงเป็นเรื่องใหญ่ ถือว่าเป็นการปฏิบัติถูกต้องต่อเรื่องทรัพย์เป็นประการที่สอง และข้อที่สองนี้ เป็นตัวตัดสินที่สำคัญอย่างมาก ในการที่ว่า วิถีทางของการดำเนินกิจการเกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทองนี้ จะเป็นไปในรูปใด

ต่อไป ประการที่สาม ที่เป็นการปฏิบัติถูกต้อง ต่อเรื่องทรัพย์สินเงินทอง ก็คือ ความสามารถในการจัดสรร และบริหารโภคทรัพย์ ให้เกิดเป็นประโยชน์ขึ้นมาสมตามความมุ่งหมาย ทรัพย์สินเงินทองนั้น แม้เกิดมีขึ้นแล้ว และแม้จะมีจำนวนมากมาย แต่ถ้าไม่รู้จักบริหาร ไม่รู้จักจัดสรร ก็ไม่เกิดประโยชน์กว้างขวาง

สมมุติว่า มีเงินจำนวน ๑๐ ล้านบาท แจกให้แก่คนทั่วๆ ไป ๑๐ ล้านคนๆ ละ ๑ บาท เงิน ๑๐ ล้านบาทที่กระจายไปอยู่ที่คน ๑๐ ล้านคนๆ ละ ๑ บาทนั้น บางทีก็ไม่เกิดคุณค่าเป็นประโยชน์ แต่ถ้าเงินจำนวนนั้นมาอยู่กับบุคคลที่มีสติปัญญา มีคุณธรรม คนเดียว เงิน ๑๐ ล้านนั้น อาจจะเกิดประโยชน์อย่างมากมายกว้างขวางก็ได้ อันนี้ก็อยู่ที่ความสามารถในการบริหาร แล้วก็อยู่ที่คุณธรรมของบุคคลนั้นเอง

บางที บุคคลที่ไม่รู้จักจัดสรรบริหารทรัพย์นั้น แม้ทรัพย์ที่มีขึ้นมาแล้ว ก็ยังทำให้หมดสลายไป อย่างบุคคลบางคนที่ยากจน ไม่เคยมีทรัพย์สมบัติ ไม่รู้จักจัดสรรทรัพย์สมบัติ ถูกล็อตเตอรี่ ได้เงินจำนวนมากหลายล้านบาท ปรากฏว่า ได้มาแล้ว ก็ได้แต่หาความสุขสะดวกสบาย เที่ยวสนุกสนาน สำมะเลเทเมา เล่นการพนัน ไม่ช้าเงินนั้นก็หมด กลับจนลงอย่างเดิม หรือยิ่งกว่าเดิม ก็เลยเป็นอันว่า เงินนั้นไม่เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของตนด้วย และไม่เกิดประโยชน์แก่สังคมด้วย แต่กลับกลายเป็นการทำลายล้างไปเสีย อันนี้ก็เป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ในเรื่องทรัพย์สินเงินทอง เพราะฉะนั้น ความสามารถบริหาร และจัดสรรโภคะให้เกิดประโยชน์นี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ อีกประการหนึ่ง

ที่กล่าวมานี้คือ การปฏิบัติที่ถูกต้องชอบธรรม ต่อเรื่องทรัพย์สินเงินทอง ซึ่งคนที่มีความสามารถ และมีคุณธรรมที่ทำได้อย่างนี้ ย่อมเป็นบุคคลที่มีค่า เป็นสมบัติของสังคม เพราะคนเช่นนี้เกิดมีขึ้นแล้ว ก็เป็นผู้ที่ช่วยให้สังคมนั้น มีความสุขความเจริญ กระจายประโยชน์ให้แพร่หลาย เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ‘สัตบุรุษ’ แปลว่า ‘คนดี’ เกิดขึ้นในที่ใด ก็เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์สุขแก่คนจำนวนมาก เปรียบเหมือนมหาเมฆหลั่งฝนใหญ่ลงมา ยังมหาปฐพีให้ชุ่มฉ่ำ และช่วยให้พืชพันธุ์ธัญญาหาร เจริญงอกงาม อุดมสมบูรณ์ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน สิ่งที่ไม่เคยเป็นประโยชน์ เขาก็มาทำให้เป็นประโยชน์ สิ่งที่ไม่มีเขาก็ทำให้มีขึ้นมา และทำให้มีขึ้น ในลักษณะที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตและสังคมด้วย

อันนี้แหละคือความหมายของถ้อยคำที่เรียกว่า ‘เศรษฐี’ เศรษฐีโดยธรรมก็จะเป็นคนที่มีลักษณะอย่างนี้ เราอาจจะแปล ‘เศรษฐี’ นั้นว่า เป็นคนที่ประเสริฐในเรื่องทรัพย์ คือ มีความสามารถในการสร้างสรรค์และจัดสรรทรัพย์ แต่ต้องเป็นไปโดยธรรม ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ทั้งสามประการ

ถ้าเป็นคนที่ตรงข้าม ก็คือ หนึ่ง ในแง่ของการทำให้เกิดมี และเพิ่มพูนโภคทรัพย์ เขาก็ทำไม่ได้ไม่เป็น หรือทำโดยไม่สุจริต โดยแย่งชิงเบียดเบียนผู้อื่น ประการที่สอง ในแง่ของเป้าหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทอง แทนที่จะนำมาเป็นเครื่องมือขยายขอบเขตหรือขยายโอกาสในการที่จะทำประโยชน์สุข ให้แพร่หลายกว้างขวาง ก็มุ่งแต่จะนำมาใช้เป็นเครื่องบำรุงบำเรอความสุขของตนเองและประการที่สาม แม้มีขึ้นมาแล้ว ก็ไม่รู้จักบริหาร ไม่รู้จักจัดสรร ได้แต่ทำให้ละลายหายสูญไป หรือได้แต่หวงแหนเก็บไว้ เข้าคติที่ในทางธรรมท่านบอกว่า ‘เหมือนกับสระโบกขรณีที่มีน้ำใส มีชายฝั่งอันน่ารื่นรมย์ แต่เป็นถิ่นที่อมนุษย์ครอบครอง ไม่มีใครสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้’

ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากว่าทรัพย์สินนั้นเกิดแก่สัตบุรุษ แก่คนดี ผู้มีคุณธรรม และมีความสามารถในการบริหาร ก็จะเหมือนกับสระน้ำโบกขรณี ที่มีน้ำใสแจ๋ว และมีชายฝั่งอันน่ารื่นรมย์ ที่เปิดให้คนทั่วไปได้รับประโยชน์ สามารถที่จะมาดื่ม มากิน มาใช้ แล้วก็มาพักผ่อนที่ริมสระนั้น ทำให้มีความสุขความสดชื่นเบิกบานได้ อันนี้ ก็เป็นคติเกี่ยวกับเรื่องของการปฏิบัติต่อทรัพย์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ไม่ควรจะมองข้ามในการปฏิบัติธรรม

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมา ทั้งสามประการนี้ เรียกว่า เป็นการปฏิบัติถูกต้องต่อโภคทรัพย์ในระดับ ‘โลกิยะ’ นอกจากนี้ ยังมีการปฏิบัติถูกต้องชอบธรรม อีกระดับหนึ่ง คือ ระดับที่เป็นโลกุตตระ หรือ ระดับเหนือโลก ได้แก่การที่มีปัญญารู้เท่าทันธรรมดาของสังขาร หรือ เข้าใจกฎธรรมชาติ แห่งความเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป รู้ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว แม้จะครอบครองทรัพย์สมบัติ ก็ครอบครองด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันนั้น ไม่มีความยึดติดถือมั่น มีลักษณะอย่างที่ท่านเรียกว่า ‘ไม่สยบมัวเมา ไม่ตกเป็นทาส ไม่อยู่ใต้อำนาจครอบงำของทรัพย์สินสมบัติของตนเอง จนกระทั่งทำให้เกิดความทุกข์’

การปฏิบัติเช่นนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่ยาก เป็นเรื่องของจิตใจที่พัฒนาในระดับโลกุตตระ ซึ่งมีความหมายว่า ทำอย่างไร เมื่อต้องเกี่ยวข้องกับทรัพย์แล้ว จิตใจของตนเองนี้จะเป็นจิตใจที่ยังคงเป็นอิสระเสรีอยู่ได้ อย่างที่เรียกว่า ‘เป็นนายของโภคทรัพย์’ ไม่ตกเป็นทาสของโภคทรัพย์ ถ้าทำได้อย่างนี้ จิตใจก็จะมีความสดใสเบิกบาน แม้จะต้องมีความเกี่ยวข้องกับทรัพย์อยู่ ก็จะมีความเกี่ยวข้องในฐานที่ว่า ไม่ปล่อยให้อิทธิพลของทรัพย์เข้ามาครอบงำจิตใจของตนเอง เป็นจิตใจที่เบิกบาน สดใส ได้ตลอดเวลา

ถ้าผู้ใด ปฏิบัติถูกต้องต่อทรัพย์สมบัติได้ทั้งสองระดับนี้ ก็เป็นบุคคลที่ชื่อว่า ปฏิบัติถูกต้องสมบูรณ์ ตามหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการอาศัยสิ่งที่มีอยู่ในโลก นำมาสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้เกิดแก่ชาวโลก และพร้อมกันนั้นตนเองก็เป็นอิสระ ไม่ถูกสิ่งนั้นครอบงำด้วย

ถ้าหากว่าเป็นไปในทางตรงกันข้าม บุคคลนั้นก็จะมีพฤติกรรมในลักษณะที่ว่า มุ่งมาแสวงหา รวบรวมเอา หรือแม้แต่อาจจะใช้คำรุนแรงว่า กอบโกยเอาสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ เพื่อมาบำรุงบำเรอตนฝ่ายเดียว พร้อมทั้งในเวลาเดียวกันนั้น จิตใจของตนเองก็ตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้นด้วย ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องอย่างนี้ ชีวิตนั้น ก็ไม่มีคุณค่าอย่างแท้จริง และเมื่อถึงคราวจากโลกนี้ไป ก็เป็นการจากไปอย่างที่เรียกว่า ไม่เป็นอิสระเสรี

แต่ถ้าปฏิบัติถูกต้องครบทั้งสองระดับนี้ ทางพระท่าน เรียกว่า เป็นผู้มีชัยในโลกทั้งสอง คือ ทั้ง ‘โลกนี้’ และ ‘โลกหน้า’ เป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์สุขอันยิ่งใหญ่แก่โลกด้วย และตนเองก็ประสบประโยชน์สุขสูงสุด คือเป็นอิสระเสรีอยู่เหนือโลกด้วย นับเป็นความสุขที่แท้จริง คือ ให้เกิดสุขทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น และเป็นความสุข ทั้งในระดับในโลกและระดับเหนือโลก นี้เป็นความหมายของการปฏิบัติถูกต้องชอบธรรม ต่อเรื่องทรัพย์สินเงินทอง ดังที่อาตมภาพได้กล่าวมา

สำหรับคนที่ได้ปฏิบัติถูกต้องต่อเรื่องทรัพย์ดังที่ได้กล่าวมา คือสามารถทำให้ทรัพย์สินเกิดมีขึ้น และเจริญเพิ่มพูนขึ้นโดยชอบธรรมด้วย ปฏิบัติต่อทรัพย์ โดยเป็นอุปกรณ์ในการที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นด้วย แล้วก็สามารถบริหารจัดสรรทรัพย์นั้น ให้เป็นไปในทางที่ก่อประโยชน์อย่างแท้จริงด้วย เมื่อกาลเวลาผ่านไป ท่านผู้นี้ ผู้ได้ปฏิบัติถูกต้องแล้ว มารำลึกถึงตนเอง ในแง่ที่เกี่ยวกับทรัพย์สมบัติ ก็จะมีความปลาบปลื้มปีติยินดี ดังคาถาที่อาตมภาพได้ยกขึ้นมากล่าวในเบื้องต้น ว่า ‘ภุตฺตา โภคา ภฏา ภจฺจา’ เป็นต้น ที่พระสงฆ์นำมาอนุโมทนา ในบางคราวบางโอกาส เช่นเมื่อได้รับนิมนต์ไปฉันภัตตาหารในงานทำบุญอุทิศกุศล ซึ่งเป็นการบอกกล่าวสอนธรรมแนะนำคำสอนของพระพุทธเจ้าแก่ญาติโยมด้วย คือบอกให้รู้ว่า ถ้าเราปฏิบัติต่อทรัพย์สินเงินทองอย่างถูกต้องแล้ว เราจะเกิดความรู้สึกสบายใจ เกิดปีติอิ่มใจ อย่างที่ว่าสามารถกล่าวกับตนเองว่า ‘ภุตฺตา โภคา ภฏา ภจฺจา’ เป็นต้น คือ อิ่มใจร่าเริงใจว่า ‘โภคทรัพย์ที่ควรจะใช้จ่าย เราก็ได้กินใช้จ่ายมาบริโภคให้เป็นประโยชน์แล้ว คนที่เราควรรับผิดชอบเลี้ยงดู เราก็ได้เลี้ยงดูรับผิดชอบแล้ว ประโยชน์ที่ควรจะทำจากทรัพย์นี้ เราก็ได้ทำแล้ว’

ผู้ใดที่พิจารณาตนเอง เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินเงินทองแล้ว สามารถมีความสบายใจ พูดกับตนเองได้อย่างนี้ ท่านเรียกว่า เป็นผู้มีชัยในโลกนี้ และถ้ามีจิตใจเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำด้วยสิ่งเหล่านั้น ก็ถือว่า มีชัยในโลกหน้าด้วย

พุทธศาสนิกชน เมื่อได้สดับคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็จะได้ปฏิบัติธรรมให้ถูกต้อง โดยเริ่มตั้งแต่สิ่งที่ตนต้องเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันนี้เอง มีทรัพย์สินสมบัติเงินทอง เป็นต้น และเมื่อปฏิบัติธรรมในเบื้องสูงก็จะส่งผลย้อนกลับมา ถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันด้วย ท่านที่เจริญจิตตภาวนา บำเพ็ญสมาธิ บำเพ็ญสมถภาวนาตลอดจนกระทั่ง เจริญวิปัสสนาภาวนา ก็เพื่อทำจิตใจให้เป็นอิสระเสรีหลุดพ้น เมื่อท่านปฏิบัติได้ผลจนเป็นผู้มีจิตใจเป็นอิสระเสรีแล้ว แม้ท่านจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติ ท่านก็จะไม่ตกอยู่ใต้อำนาจครอบงำ ไม่เป็นทาสของทรัพย์สมบัติเหล่านั้น แต่จะทำให้ท่านมีความสามารถมากยิ่งขึ้นในการที่จะปฏิบัติต่อทรัพย์สมบัติให้เป็นคุณเป็นประโยชน์ทั้งแก่ชีวิตและแก่สังคมยิ่งขึ้นไป

อาตมภาพได้บรรยายมาในธรรมกถา โดยมีความมุ่งหมายเพื่อนำเอาหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ที่เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สมบัติเงินทองนี้ มาเป็นเครื่องเตือนสติเสริมปัญญาแก่พุทธศาสนิกชน ในโอกาสที่ท่านทั้งหลาย ได้มาบำเพ็ญกุศล ทำบุญร่วมกัน เพื่ออุทิศแก่ คุณบัญชา ล่ำซำ ผู้ได้ล่วงลับจากไป

คุณบัญชา ล่ำซำ เป็นผู้ที่ได้ปฏิบัติงานมา ในฐานะผู้บริหาร มีหน้าที่จัดสรรและจัดการเกี่ยวกับเรื่องโภคทรัพย์ ผลงานที่เป็นรูปธรรมปรากฏ ก็คือ ธนาคารกสิกรไทย ดังที่ได้ปรากฏอยู่นี้ ธนาคารนั้น เป็นสถาบันสำคัญทางเศรษฐกิจ และมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติ ความเจริญก้าวหน้าอย่างถูกต้องของธนาคาร ก็จะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าแก่เศรษฐกิจของประเทศชาติด้วย คุณบัญชา ล่ำซำ ท่านได้ดำเนินกิจการของธนาคารมาด้วยความขยันหมั่นเพียร และด้วยความสามารถในการบริหาร จนกระทั่งทำให้ธนาคารกสิกรไทยนั้น ได้เจริญรุ่งเรืองงอกงามมา ดังปรากฎทางสื่อมวลชนที่กล่าวขวัญถึงว่า ได้เจริญก้าวจากการเป็นธนาคารอันดับที่ ๙ ขึ้นมาเป็นธนาคารอันดับที่ ๒ มีสาขามากมายทั่วประเทศถึง ๓๘๐ แห่งโดยประมาณ นับเป็นความดีเด่น ที่เกิดจากความสามารถของท่าน เรียกว่า เป็นความสำเร็จที่น่าปลื้มใจ

เมื่อกิจการที่เจริญก้าวหน้านี้มาอำนวยประโยชน์แก่สังคมขยายกว้างออกไป ก็นับว่าเป็นคุณค่าแห่งชีวิตของท่าน ซึ่งเป็นความดีงาม และความดีงามนี้จะสำเร็จได้ ก็ต้องอาศัยคุณธรรมในใจของท่านนั่นเอง กล่าวคือความมีจิตใจที่ประกอบด้วยสติปัญญาและเมตตากรุณา เป็นต้น ซึ่งนำไปสู่ความคิดที่จะเอื้อเฟื้อช่วยเหลือเกื้อกูลต่อสังคม ซึ่งท่านได้แสดงออกแล้วในบทบาทด้านต่างๆเกี่ยวกับกิจกรรมทางสังคม ดังปรากฏในกิจการหลายอย่างนอกเหนือจากธนาคารด้วย ดังที่อาตมภาพได้ยกตัวอย่างมาแสดงแล้ว

จึงนับว่าเป็นสิ่งที่ญาติมิตร ครอบครัว ควรจะรำลึกถึงด้วยความยินดี ด้วยความมีปีติอิ่มใจ เมื่อมีปีติอิ่มใจแล้ว ก็จะเป็นเครื่องบรรเทาความเศร้าโศกอาลัยลงได้ประการหนึ่ง นอกจากนั้น ก็จะทำให้จิตใจมีความเบิกบาน ผ่องใส ซึ่งเป็นกุศลธรรม เมื่อมีจิตใจแช่มชื่น เบิกบาน ด้วยการรำลึกถึงคุณความดีของท่านผู้ล่วงลับแล้ว ก็เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามหลักการของการประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ทางพระศาสนาคือ การบูชาคุณความดีของท่านผู้ล่วงลับ และนอกเหนือจากการบูชาคุณความดี ก็คือ การที่ได้อุทิศกุศลให้แก่ท่านสมเจตนา

เพราะฉะนั้น ในวาระนี้ อาตมภาพจึงขอเชิญชวนญาติมิตรทั้งหลาย ตั้งต้นแต่ครอบครัวเป็นต้นไป รวมทั้งชาวพนักงานธนาคารกสิกรไทยทุกท่าน ขอจงร่วมใจกัน ตั้งจิตเป็นกุศล น้อมรำลึกถึงคุณความดีของคุณบัญชา ล่ำซำ แล้วตั้งใจอุทิศกุศลที่ได้บำเพ็ญแล้วทั้งหมดตลอดมา ตั้งแต่วาระที่ท่านล่วงลับจากไป ขอให้ท่านได้อนุโมทนาบุญกุศลที่เจ้าภาพทุกท่านได้บำเพ็ญแล้ว และขอให้ท่านประสบประโยชน์สุข เจริญในสุขสมบัติในสัมปรายภพ ยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดกาลนาน

อาตมภาพวิสัชชนาพระธรรมเทศนาพอสมควรแก่เวลา ยุติลงแต่เพียงเท่านี้ เอวัง ก็มี ด้วยประการฉะนี้

1พระธรรมเทศนา แสดงในวันพระราชทานเพลิงศพ นายบัญชา ล่ำซำ ณ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๓๕ (ในการพิมพ์ครั้งนี้ ขอโอกาสละรายละเอียดผลงานของท่านผู้ล่วงลับ)
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง