ท่านพระเถรานุเถระที่นับถือ
ขอเจริญพรท่านสาธุชนผู้สนใจใฝ่ธรรมทุกท่าน
รายการอภิปรายวันนี้ ขอทำความเข้าใจเบื้องต้นนิดหน่อย ว่ามีความเข้าใจเคลื่อนคลาดเกี่ยวกับชื่อเรื่องกันบ้าง ตอนแรกบางท่านได้ยินว่าเป็นเรื่อง พระพุทธศาสนากับสังคมปัจจุบัน ต่อมามีการทำความเข้าใจกันให้ชัดโดยตกลงว่า เป็นเรื่องพระพุทธศาสนากับสังคมไทย และต่อมาอีกครั้งได้ยินเป็นว่า พระพุทธศาสนากับสังคมไทยปัจจุบัน รู้สึกว่าชื่อมีการยักย้ายกันไป จึงทำให้ผู้พูดเองสับสนเล็กน้อย ว่าจะพูดในขอบเขตแค่ไหน คือชื่อเรื่องทั้งหมดทั้งสามอย่างนั้นก็ลงเป็นอันเดียวกันในแง่พระพุทธศาสนากับสังคม แต่มีความแตกต่างที่ว่าขอบเขตกว้างแคบกว่ากัน สำหรับอาตมภาพนั้น จำได้ในชื่อว่า “พระพุทธศาสนากับสังคมไทย” เพราะฉะนั้นก็จะพูดในหัวข้อนี้
มองกันง่ายๆ เรื่องพระพุทธศาสนากับสังคมไทยนั้น อาตมภาพว่าเห็นได้ชัดเจนที่งานวัดธัมมารามนี้เอง พระพุทธศาสนาทำให้สังคมไทยเป็นอย่างไร มีบทบาทอย่างไรในสังคมไทย แล้วสังคมไทยทำอะไรกันบ้าง และทำอย่างไรโดยสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนา อันนี้เรามองได้โดยตัวอย่างจากงานวัดธัมมารามนี้ ซึ่งเราจะมองเห็นได้ทันทีว่า พระพุทธศาสนานั้นได้มีบทบาทเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยอย่างไร ในกรณีนี้เราถือว่า ชุมชนไทยในนครชิคาโกนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย แม้ว่าจะมาอยู่ในต่างแดนก็ตาม วัดธัมมารามนี้ก็เป็นที่แสดงออกของพระพุทธศาสนา และเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของชุมชนไทย และจากพฤติกรรมของคนไทยที่ได้มาวัดนี้ ก็แสดงให้เห็นถึงการที่ว่า พระพุทธศาสนาได้เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของคนไทยอย่างไรบ้าง และคนไทยได้แสดงออกอย่างไร มีวัฒนธรรมประเพณีอย่างไร ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง นี่เรามองเห็นได้จากชุมชนไทยที่มาที่วัดธัมมารามนี้ เพราะฉะนั้น คำตอบเกี่ยวกับหัวข้อที่ว่าพระพุทธศาสนากับสังคมไทยนี้ เราสามารถบรรยายได้ จากกรณีของวัดธัมมารามนี้เป็นตัวอย่าง แต่ทีนี้ เราจะไม่จำกัดตัวอยู่แค่ตัวอย่างนี้เท่านั้น เราจะมองถึงสังคมไทยในวงกว้างทั้งหมด
เมื่อมองอย่างกว้าง เราจะเห็นว่าหัวข้อเรื่องพระพุทธศาสนากับสังคมไทยนี้มีความกว้างขวางมาก เราจะไม่สามารถมาพูดในเวลาอันสั้นนี้ได้ อาตมภาพก็เลยคิดว่า แทนที่ตัวเองจะมาบรรยายให้ฟังว่า พระพุทธศาสนากับสังคมไทยมีความสัมพันธ์กันอย่างไร หรือว่าพระพุทธศาสนามีบทบาท มีความสำคัญต่อสังคมไทยอย่างไรบ้าง แทนที่จะทำอย่างนั้น แทนที่จะอธิบายเสียเอง ก็จะฝากประเด็นความคิดไว้ให้ท่านสาธุชนทั้งหลายไปขยายความเอาเอง เพราะว่าเรื่องพระพุทธศาสนากับสังคมไทยนี้ เราสามารถมองได้หลายแง่หลายด้าน ก่อนที่จะเข้าใจว่า พระพุทธศาสนามีความสัมพันธ์กับสังคมไทยอย่างไร ได้มีบทบาทต่อสังคมไทยอย่างไรบ้างนั้น เราจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าพระพุทธศาสนาก่อน พระพุทธศาสนาที่จะเอามาพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องสังคมไทยนั้น เราสามารถพิจารณาได้ในสามด้าน คือ ตีความหมายของพระพุทธศาสนาออกเป็นเรื่องธรรม ธรรมที่พึงพิจารณาในที่นี้มีสามอย่าง
๑. สภาวธรรม สภาวธรรมก็หมายถึงธรรมที่เป็นเรื่องของสภาวะ หรือเป็นสัจจธรรมตามธรรมชาติ พระพุทธศาสนานี้ถือหลักว่า สิ่งทั้งหลายเป็นธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ เช่น ที่พระพุทธศาสนาสอนว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีความเป็นไปตามเหตุปัจจัย อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าสภาวธรรม หรือจะพูดว่า พระพุทธศาสนานั้นถือว่า สิ่งทั้งหลายเป็นธรรมชาติที่ประกอบด้วยรูปธรรมและนามธรรม หรือจะแยกเป็นโลกียธรรมและโลกุตรธรรม อย่างนี้เรียกว่าสภาวธรรม
ในแง่นี้ก็มาพิจารณาว่า คนไทยนั้นมีความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวธรรมตามหลักการของพระพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง แล้วความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวธรรมนั้นได้มีผลต่อสังคมไทยอย่างไรบ้าง เช่น ความเข้าใจเกี่ยวกับความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ได้ฝังรากอยู่ในจิตใจของคนไทย แล้วก็มีอิทธิพลในทางความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนพฤติกรรมอย่างไร เช่น เรามีความฝังใจในเรื่องความเป็นอนิจจังว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เมื่อสิ่งทั้งหลายแตกดับมีการพลัดพรากไป คนไทยก็จะมีการอุทานว่า อนิจจัง อนิจจา ดังนี้เป็นต้น อย่างนี้เราเรียกว่าเป็นอิทธิพลของคำสอนเกี่ยวกับสภาวธรรม นี้ด้านหนึ่ง นี่เป็นตัวอย่างที่ยกให้เห็นในด้านสภาวธรรม
๒. จริยธรรม จริยธรรมก็คือหลักธรรมที่เกี่ยวกับแนวความประพฤติปฏิบัติหรือหลักการดำเนินชีวิต เช่นว่า พระพุทธศาสนาสอนให้คนเรานี้มี เมตตา กรุณา ต่อกัน ตามหลักพรหมวิหาร นอกจาก เมตตา กรุณา ก็ให้มี มุทิตา อุเบกขา ด้วย หรือว่าเราสอนเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องภาวนา โดยเฉพาะการที่เราเน้นเรื่องทาน เป็นต้น ตลอดจนเรื่องศีลห้าที่เป็นมาตรฐานเบื้องต้น หลักธรรมประเภทที่เป็นแนวทางของการดำเนินชีวิต หรือแนวทางความประพฤติปฏิบัตินี้ เราเรียกว่าจริยธรรม
ในด้านนี้ ก็มาพิจารณากันดูว่าสังคมไทยนี้ ได้นำเอาจริยธรรมนั้นมาใช้อย่างไร เช่น เราอาจจะบอกว่าสังคมไทยนี้เอาพระพุทธศาสนามาใช้ในหลักจริยธรรมที่เด่นชัด เช่น เรื่องทาน เป็นต้น ดังที่ได้พัฒนาเรื่องทางวัฒนธรรมประเพณีอะไรต่างๆ ขึ้นมา เช่น เรื่องการเทศน์มหาชาติ เป็นต้น ซึ่งเป็นประเพณีเกี่ยวกับการให้ทาน และคนไทยก็ได้รับยกย่องว่ามีน้ำใจ เป็นคนที่พร้อมที่จะเสียสละเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน อันนี้เป็นด้านจริยธรรม
๓. บัญญัติธรรม บัญญัติธรรมก็คือ สิ่งที่สังคมมนุษย์ได้ตกลงวางแต่งตั้งกันขึ้นมา สมมติกันขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากจริยธรรม ก็อย่างที่อาตมภาพยกตัวอย่างเมื่อกี้ เช่นว่า พระพุทธศาสนาสอนเรื่องทาน ก็คือให้เราเผื่อแผ่แบ่งปันกัน โอบอ้อมอารีต่อกัน เราก็นำเอาหลักเรื่องทานนั้นมาใช้บัญญัติวางเป็นรูปแบบ เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ตัวทานนั้นเป็นจริยธรรม แต่ประเพณีเทศน์มหาชาตินี้เป็นบัญญัติธรรม หรือว่าเราอาจจะบัญญัติกฎหมายขึ้นตามหลักศีลห้า ท่านสอนว่าไม่ให้ทำร้ายร่างกาย ไม่ให้ทำลายชีวิตซึ่งกันและกัน เราก็อาจจะมาบัญญัติกฎหมายว่า ถ้าฆ่ากัน ทำร้ายร่างกายกันแล้ว จะมีความผิดจะถูกลงโทษอย่างนั้นอย่างนี้ กฎหมายตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีอะไรต่างๆ ที่บัญญัติแต่งตั้งกันขึ้น เพื่อจะให้จริยธรรมหรือศีลธรรมนั้นเกิดขึ้นในสังคม อย่างนี้เราเรียกว่าบัญญัติธรรม
ในด้านนี้ เราก็มาดูว่า สังคมไทยนี้ได้นำเอาพระพุทธศาสนามาวางไว้ในบัญญัติธรรมของตนเองเป็นกฎหมาย หรือขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม อย่างไรบ้าง แม้แต่ที่เรามากันในวันนี้ ก็มาร่วมในเรื่องของบัญญัติธรรมเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่พิธีกรรมและกิจกรรมต่างๆ แต่สาระของมันก็อยู่ที่จริยธรรม คือ หลักความประพฤติปฏิบัติที่ดีงามถูกต้อง
เมื่อเราเข้าใจหลักสามประการเกี่ยวกับธรรมว่า มีสภาวธรรม จริยธรรม และบัญญัติธรรมอย่างนี้แล้ว เรามาแยกแยะดูเกี่ยวกับสังคมไทย ก็จะมองเห็น และมีความเข้าใจชัดเจนขึ้น อันนี้ก็เป็นหลักของการแบ่งโดยความหมายของคำว่า ธรรม หรือหลักการของพระพุทธศาสนา
อีกอย่างหนึ่งเราอาจจะแบ่งโดยกาลเวลา แบ่งโดยกาลเวลาก็เป็นการพิจารณาในเรื่องที่ว่าพระพุทธศาสนาได้มีความสัมพันธ์กับสังคมไทยมาแล้วในอดีตอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องของความที่เป็นมาแล้ว เรื่องความหลัง ในด้านนี้จะเห็นว่าในอดีตนั้นพระพุทธศาสนาได้เข้ามามีบทบาทในสังคมไทยอย่างมากมายเพียงใด จนกระทั่งได้เป็นมรดกอันล้ำค่าของชนชาติไทย เป็นเอกลักษณ์ของชนชาติไทย เป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทยอะไรต่างๆ เหล่านี้ อันนี้เป็นส่วนอดีต
จากนั้นก็มาดูในสภาพปัจจุบันว่า เวลานี้เป็นอย่างไรบ้าง คนไทยยังรักษามรดกทางพระพุทธศาสนา มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสภาวธรรม มีการปฏิบัติตามหลักจริยธรรม มีการดำเนินตามบัญญัติธรรมที่พูดมาแล้วนั้นอย่างไรบ้าง หรือว่ามีความคลาดเคลื่อนห่างเหินออกไปอย่างไร นี้สภาพปัจจุบัน แล้วต่อไปก็มองดูว่า แนวโน้มในอนาคตจะเป็นอย่างไร สำหรับอนาคตนั้น ก็ดูจากสภาพปัจจุบันนี้เอง แล้วเราก็จะเห็นว่าในอนาคตนั้น พระพุทธศาสนาจะมีบทบาทในสังคมไทยน้อยลงหรือว่าเพิ่มขึ้น และจะเป็นไปในรูปไหน ดีหรือว่าร้าย
ต่อไป ขั้นที่สี่ก็มองว่า ถ้าแนวโน้มเป็นไปในทางไม่ดี เราจะแก้ไขอย่างไร เราจะปฏิบัติการอย่างไรเพื่อจะให้แนวโน้มนั้นเป็นไปในทางที่ดี หรือว่าถ้าแนวโน้มนั้นเป็นไปในทางที่ดีแล้ว เราจะส่งเสริมอย่างไรให้มันได้ผลดียิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการที่จะแก้ไขปัญหาสังคมของเราที่เป็นอยู่ ถ้าสังคมของเรานี้มีความห่างเหินจากพระพุทธศาสนา เราเห็นว่าเป็นอันตราย เราก็หาทางที่จะแก้ไขปัญหาสังคมไทยนั้น เช่น อาจจะมองว่า สังคมไทยเรานี้ มีการรับวัฒนธรรมตะวันตกมาก ตามวัฒนธรรมตะวันตกเกินไป หรือมีความคลั่งไคล้ใหลหลงมัวเมาในวัฒนธรรมตะวันตก แล้วมีโทษ มีข้อเสียหาย เราก็หาทางแก้ไขเปลี่ยนแปลง อันนี้ก็คือสิ่งที่ควรจะเป็นในอนาคต นี้เรียกได้ว่ามีสี่แง่ที่จะต้องพิจารณา ซึ่งเอาสามอย่างต้นมาคูณ ก็ได้ ๑๒ หัวข้อ
ทีนี้เรื่องยังไม่จบเท่านั้น เรื่องของสังคมก็มีหลายแง่หลายด้านอีก เช่นอาจจะมองในแง่ของการศึกษา การศึกษานั้นเป็นพื้นฐานสำคัญในการที่จะสร้างวิถีทางของสังคมขึ้นมา เพราะว่าเป็นตัวพื้นฐานในการพัฒนาสังคม เป็นตัวพัฒนาคุณภาพของคนที่จะมาร่วมกันสร้างสรรค์สังคมนั้นๆ เราก็มามองดูในแง่ของการศึกษาว่า ในแง่สภาวธรรมนั้น พระพุทธศาสนามีบทบาทต่อการศึกษาของไทยอย่างไร ในแง่ของจริยธรรม มีบทบาทอย่างไร ในแง่ของบัญญัติธรรม มีบทบาทอย่างไร เป็นการนำพระพุทธศาสนามาใช้ในการศึกษา ดังที่เราได้ทำกันมาจนกระทั่งว่าวัดได้เป็นศูนย์กลางการศึกษาของคนไทย คนไทยมีประเพณีบวชเรียน คนไทยชายหนุ่มทุกคนอายุถึง ๒๐ แล้ว แต่ก่อนนี้ก็ให้บวชเรียนอะไรต่างๆ เหล่านี้ แสดงถึงการที่วัดได้เป็นศูนย์กลางของสังคมในแง่ของการศึกษา ซึ่งก็มองเห็นได้ทั้งในแง่ของสภาวธรรม จริยธรรม และบัญญัติธรรม แล้วเราก็ดูว่า อดีตเป็นอย่างนี้ และปัจจุบันเป็นอย่างไร มองดูสภาพที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วก็ดูแนวโน้มในอนาคต พร้อมทั้งดูว่า ในอนาคตนั้นควรจะเป็นอย่างไร แล้วก็จะแก้ไขอย่างไรในแง่ของการศึกษา
นอกจากนั้นก็ดูในแง่เศรษฐกิจว่าพระพุทธศาสนานี้ ในแง่ของเศรษฐกิจนั้นได้มีอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างไร เช่นคนไทยนี้มีความเชื่อเกี่ยวกับหลักสันโดษ เราถือว่าหลักสันโดษนี้มาจากพระพุทธศาสนา แล้วเราปฏิบัติตามหลักสันโดษนี้ ได้มีผลในทางเศรษฐกิจอย่างไร นี้เป็นอดีตที่เป็นมา ปัจจุบันเป็นอย่างนั้นหรือไม่ แล้วแนวโน้มในอนาคตจะเป็นอย่างไร นี้เศรษฐกิจก็อย่างหนึ่ง
ต่อไป ก็ในแง่สังคม สภาพสังคมทั่วไปที่มองกว้างๆ ว่าปัญหาสังคมต่างๆ ที่สัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร เช่นว่า สังคมไทยมีปัญหาอาชญากรรม ปัญหาอบายมุข ปัญหายาเสพติด ปัญหาครอบครัว เรื่องเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความสามัคคีหรือความแตกแยก และเรื่องค่านิยม เป็นต้น อย่างไรบ้าง เกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างไร สมัยก่อนกับปัจจุบันแตกต่างกันมากไหม ดีขึ้นหรือเลวลง และควรจะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร เป็นต้น
มองกันต่อไปตลอดจนกระทั่งในแง่การเมือง ในแง่การเมืองนี้ พระพุทธศาสนาก็มีอิทธิพลมาก หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาท่านก็นำมาใช้ในเรื่องการเมือง แล้วเราก็ดูการใช้ธรรมในทางการเมืองนั้นในแง่สภาวธรรม จริยธรรม และบัญญัติธรรม แล้วก็ในแง่อดีต ปัจจุบัน อนาคต และก็หนทางหรือสภาพที่ควรจะเป็นในอนาคต อย่างนี้ก็เป็นตัวอย่าง
ถ้าพิจารณาอย่างนี้ ตอนแรกมี ๓ หัวข้อ คือ สภาวธรรม จริยธรรม และบัญญัติธรรม แล้วคูณด้วยสี่ข้อ คือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต และสิ่งที่ควรเป็นในอนาคต แล้วก็คูณด้วยสี่ คือ ในแง่การศึกษา สังคม เศรษฐกิจ การเมือง รวมกัน คูณแล้วได้ ๑๙๒ หัวข้อ ก็ไปคิดเอา ก็ได้หัวข้อ แล้วก็เรื่องราวเนื้อหามากมาย อย่างนี้เป็นตัวอย่าง แล้วจะมาบรรยายกันอย่างไรหวาดไหว อันนี้อาตมภาพพูดให้เห็นว่า ถ้าเราจะศึกษากันจริงให้เข้าใจ เรื่องของพระพุทธศาสนากับสังคมนี้ มันมีเนื้อหาที่จะต้องพูดมากมาย เราจะพูดกันในเวลาเล็กน้อยนิดหน่อยนี้ไม่พอหรอก ทีนี้เราจะทำอย่างไร ในเมื่อเรื่องราวมันมากมายอย่างนี้ ก็พูดได้เป็นตัวอย่าง วันนี้อาตมภาพก็จะยกตัวอย่างสักนิดหนึ่ง
ลืมไปอีกนิดหนึ่งต้องขออภัย ยังไม่ครบ ๑๙๒ ยังมีตัวแปรที่เป็นปัจจัยประกอบที่ต้องพิจารณาอีก นอกจากสี่หัวข้อที่พูดมาแล้วนี้ ยังมีตัวแปรที่เป็นปัจจัยประกอบเข้ามา ซึ่งเราจะต้องนำมาพิจารณาด้วย ก็คือว่า พระพุทธศาสนาที่คนไทยนำมาใช้กับสังคมของตนเองนี้ บางทีมันก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักการเดิมที่แท้จริง โดยมีตัวแปรอื่นปนหรือแทรกเข้ามา ซึ่งมีอิทธิพลกระทบได้ ตัวแปรเหล่านั้นก็อาจจะเป็น เช่นว่า
ประการแรก สภาพสังคม สังคมของเรานั้น สมัยก่อนเป็นสังคมเกษตรกรรม ตามลักษณะชีวิตในสังคมเกษตรกรรมนั้น ความเป็นอยู่ก็จะเป็นไปแบบหนึ่ง การนำธรรมมาใช้ก็จะไปในทำนองหนึ่ง หรือในสังคมที่เป็นแบบอุตสาหกรรม เวลานำธรรมมาใช้ ก็จะไปเลือกไปเน้นธรรมบางแง่บางข้อ ซึ่งจะไม่ตรงกับสังคมแบบเกษตร สังคมต่อไปเป็นสังคมแบบข่าวสารข้อมูล ก็จะมีการนำธรรมมาใช้ในอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน อันนี้ตัวแปรอย่างที่หนึ่ง ก็คือสภาพของสังคม
ต่อไปตัวแปรอย่างที่สอง ก็คือ ลัทธิความเชื่อถือ อุดมการณ์อย่างอื่นที่มีในสังคมไทย เพราะเราไม่ได้นับถือหรือไม่ได้รับเฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้น อาจจะมีความเชื่อถือลัทธิดั้งเดิม เช่น ความเชื่อภูตผีปีศาจ และมีลัทธิศาสนาอื่นเข้ามา เช่น ศาสนาพราหมณ์ หรือศาสนาฮินดู ก็เข้ามา
นอกจากนั้น อย่างที่สาม ความเข้าใจของคนไทยเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเอง ก็เป็นปัจจัยตัวแปรอย่างหนึ่ง ในแง่ที่ว่าความเข้าใจนั้นมีมากน้อยเพียงไร แล้วก็ในการนำมาใช้ปฏิบัติ ว่าเราเลือกเน้นในแง่ไหน ด้านใด เป็นต้น สังคมไทยกับสังคมลังกา เป็นสังคมที่นับถือพระพุทธศาสนาด้วยกัน แต่เวลานำธรรมมาใช้ก็ไม่เหมือนกัน เช่นสังคมไทยนี้ อาจจะเน้นเรื่องทาน เราพัฒนาประเพณีในเรื่องทานขึ้นมา ทำบุญทำกุศลด้านนี้มาก มีประเพณีเกี่ยวกับเรื่องทำบุญให้ทานนี้มากมายเหลือเกิน แต่สังคมพุทธแห่งอื่นก็อาจจะไม่ได้เน้นด้านนี้มากเหมือนเรา เขาอาจจะไปเน้นด้านอื่น เป็นต้น
ต่อจากนั้นก็ตัวแปรเกี่ยวกับเรื่องเจตนาของผู้นำธรรมมาใช้อีก เช่น ผู้นำในยุคนั้นๆ นำธรรมมาใช้สนองความปรารถนาในแบบไหน เป็นต้น
ตกลงว่าสิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปรทั้งนั้น ซึ่งจะต้องนำมาพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธศาสนากับสังคม อย่างที่บอกเมื่อกี้แล้วว่า เมื่อบรรยายไปตามแนวนี้จะได้ ๑๙๒ หัวข้อ ทีนี้ก็จะยกตัวอย่าง
วันนี้ เรามาพูดกันในรายการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ฉะนั้น เรื่องพระพุทธศาสนากับสังคมที่น่าจะพูดในวันนี้ ก็คือเรื่องพระพุทธศาสนากับการเมือง การเมืองในที่นี้ก็คือเรื่องเกี่ยวกับการปกครอง เราอาจจะยกเอาหัวข้อที่พูดไปแล้วมาพิจารณา เช่นหัวข้อที่หนึ่ง สามหัวข้อย่อย คือ เรื่องสภาวธรรม จริยธรรม แล้วก็บัญญัติธรรม เริ่มตั้งแต่ว่า พระพุทธศาสนานี้ พูดเกี่ยวกับเรื่องการปกครองในแง่สภาวธรรมอย่างไร
ในแง่สภาวธรรม พระพุทธศาสนาก็มีคำสอนที่คงตัว ถือว่าในเรื่องของการปกครอง ในเรื่องของบ้านเมืองต่างๆ นี้ มันก็เป็นไปตามหลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีความเปลี่ยนแปลง มีความเป็นไปที่เกิดแล้วดับ มีความเจริญแล้วก็เสื่อมได้ เสื่อมแล้วก็เจริญได้ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ต้องโยงไปหาความเป็นไปตามเหตุปัจจัย คือมันจะเสื่อมหรือจะเจริญอย่างไรนั้น ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย อย่างนี้เรียกว่าเป็นการพิจารณาในแง่สภาวธรรม
การพิจารณาในแง่ที่ ๒ ก็คือ จริยธรรม หลักธรรมเกี่ยวกับแนวทางความประพฤติปฏิบัติ เช่นคำสอนเกี่ยวกับแนวความประพฤติของพระมหากษัตริย์ ว่าให้ทรงมีทศพิธราชธรรม คือธรรมะ ๑๐ ประการ ได้แก่ ทานัง สีลัง ปริจจาคัง อาชชวัง มัททวัง ตะปัง เป็นต้น ดังที่เวลาเราพูดถึงองค์พระมหากษัตริย์เรามักจะพูดว่า พระองค์ทรงทศพิธราชธรรม หรือว่า กษัตริย์องค์นั้นองค์นี้มีทศพิธราชธรรมหรือไม่ เป็นต้น หรือว่ามี จักรวรรดิวัตร ๑๐ ประการ ซึ่งในสังคมไทยเรามาใช้เป็น ๑๒ ประการ แล้วก็มีราชสังคหวัตถุ ๔ มีขัตติยพละ ๕ ซึ่งได้ถือกันมาเป็นประเพณีในสังคมไทยว่า นี้เป็นจริยธรรมของพระมหากษัตริย์
ทีนี้ในแง่บัญญัติธรรม เราก็เอาจริยธรรมนี้แหละมาบัญญัติ เช่น เรามีประเพณีเกี่ยวกับการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อในหลวงเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น ก็จะมีการอ่านประกาศ มีการแต่งข้อความเกี่ยวกับจริยธรรมเหล่านี้ เช่น ทศพิธราชธรรม เป็นคำโคลง คำกลอน แล้วมาประกาศ คล้ายๆ ว่า เป็นการเสนอแนะ หรืออ้างอิงคำสั่งสอนในทางธรรมแก่องค์พระมหากษัตริย์ ในพิธีราชาภิเษกนั้น ซึ่งผู้ที่สนใจในเรื่องเก่าๆ ก็จะไปหาอ่านได้ ซึ่งจะทำให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ในสมัยโบราณของเรานี้ ได้นับถือจริยธรรมตามแนวทางของพระพุทธศาสนาในการปกครอง จนกระทั่งมาวางเป็นแบบแผนประเพณี เป็นบัญญัติธรรม
ทีนี้เราก็มาดูว่า ในอดีต พระมหากษัตริย์ได้ทรงถือปฏิบัติตามแนวธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างที่ว่ามานี้แล้วอย่างไรบ้าง จากนั้นในปัจจุบันนี้ เราได้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้ว เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไป เรารับเอาระบบประชาธิปไตยเข้ามา โอนพระราชอำนาจมาเป็นอำนาจของสถาบันการปกครองแบบประชาธิปไตย มีอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ มีรัฐสภา มีคณะรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี แล้วก็มีศาล เป็นผู้ใช้พระราชอำนาจเหล่านั้น ประเพณีการใช้ราชธรรมต่างๆ นี้ก็เลือนลางลงไป อันนี้เราจะถือว่าเป็นการห่างเหินจากหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาในแง่การปกครองก็ได้
เราอาจจะพูดว่า ในแง่ของการปกครองปัจจุบันนี้ เราโน้มไปในทางแนวความคิดแบบตะวันตก เราก็นำเอาหลักการของประชาธิปไตยแบบตะวันตกเข้ามาใช้ ซึ่งกินความไปถึงบัญญัติธรรม คือระบบการปกครอง หรือตัวรูปแบบต่างๆ อย่างที่ว่าเมื่อกี้ว่า มีระบบการบริหารแบบคณะรัฐมนตรี มีระบบรัฐสภาเป็นที่ออกนิติบัญญัติ แล้วก็มีระบบศาลทำหน้าที่ตุลาการ ซึ่งเป็นที่ใช้พระราชอำนาจด้านต่างๆ แต่ระบบการเหล่านั้นวางตามแบบของตะวันตก ก็แสดงว่าระบบแบบพระพุทธศาสนาที่เป็นบัญญัติธรรมนี้หายไป พระพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้ เหมือนกับว่าไม่มีอิทธิพลในด้านบัญญัติธรรมของการปกครอง หรือการเมือง ของประเทศไทยหรืออย่างไร
ต่อจากนั้นเราก็อาจจะมีข้อพิจารณาว่า ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ดูตามแนวโน้มในอนาคตถ้าเป็นอย่างนี้ พระพุทธศาสนาก็อาจจะหมดอิทธิพลในทางการเมืองลงไป แล้วเราก็พิจารณาว่า สภาพที่เป็นแนวโน้มอย่างนี้มันดีหรือไม่ เราอาจจะบอกว่าเวลานี้มีปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองของเรานี้ ที่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย ก็ไม่เป็นจริงสักที ต่อจากนั้นเราก็มองในแง่ว่า แล้วมันควรจะเป็นอย่างไร ยกตัวอย่าง เช่นอาจจะพิจารณาได้ในแง่ว่า ที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร ถ้าให้ดีแล้วควรจะทำอย่างไร การที่ประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตยที่ดีเท่าที่ควรนี้ ก็เป็นทั้งในแง่ของการที่ว่าไม่รู้จักตัวเอง และในแง่ที่ปรับปรุงตัวเองไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เช่นว่า ฝ่ายปกครองในยุคสมัยใหม่นี้ รับพระราชอำนาจไป แต่ว่าไม่รับราชธรรมไป เป็นต้น คือเอาอำนาจของในหลวงไป แต่ธรรมของในหลวงที่จะใช้ในการปกครอง เช่น ทศพิธราชธรรม ไม่รับเอาไป ดังนี้เป็นต้น
นอกจากนี้ก็อาจจะมองไปในแง่ที่ว่า เมื่อปรับปรุงการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตยแล้ว ธรรมในพระพุทธศาสนาที่เราเคยใช้ให้เหมาะสมสำหรับระบบราชาธิปไตยเป็นแบบหนึ่ง พอมาถึงตอนนี้ เราไม่ได้คิดพิจารณาที่จะค้นหาเอาหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่เหมาะสำหรับประชาธิปไตยขึ้นมาใช้ว่า หลักธรรมอะไรบ้างสำหรับจะใช้ในระบบการปกครองประชาธิปไตย ถ้ามีความรู้ความคิดอย่างนี้แล้ว เราก็จะคิดพิจารณาในแง่ว่าจะเลือกหาธรรมะที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยมาใช้ อันนี้ก็เป็นแง่มุมหนึ่งที่จะมองได้
ที่พูดมานี้อาตมภาพก็ยกตัวอย่างแต่เฉพาะเรื่องการเมืองมาอย่างเดียว เพื่อให้ที่ประชุมได้คิดเอาเอง ให้ไปขยายความเอาเองตามหัวข้อประมาณ ๑๙๒ หัวข้อนั้น แล้วก็เกินเวลาไปมากแล้ว เพราะฉะนั้นขอเสนอไว้เพียงเท่านี้ก่อน ขออนุโมทนา