ชวนคิด-พินิจธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

พรปีใหม่
สำหรับชาวไทยทุกคน

ในปีใหม่นี้ มีธรรมอยู่หมวดหนึ่ง เรียกว่า รุ่งอรุณของการศึกษา เหมือนกับปีใหม่ การเริ่มต้นขึ้นปีใหม่ ก็เหมือนกำลังเข้าอรุณของปี รุ่งอรุณของการศึกษา มี ๗ ข้อ คือ

๑. รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้ และแบบอย่างที่ดี พูดง่าย ๆ ว่าให้มี กัลยาณมิตร สังคมต้องประพฤติตัวเป็นกัลยาณมิตรแก่กัน ในแง่ของแต่ละคนก็พยายามคบหาคนที่เป็นกัลยาณมิตรของประชาชน คือเป็นแหล่งความรู้ เป็นแบบอย่างที่ดี รัฐบาลจะต้องจัดสรรแหล่งความรู้ และแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน โดยต้องทำให้รัฐบาลเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนด้วย สังคมเรากำลังต้องการกัลยาณมิตร

๒. มีชีวิตและอยู่ร่วมสังคมเป็นระเบียบด้วยวินัย สังคมไทยกำลังขาดแคลนวินัยมาก ตามสภาพที่เป็นอยู่ สับสนวุ่นวายไปหมด ทำอะไรไม่สะดวก การมีวินัยก็เพื่อเปิดโอกาสแก่การที่จะทำงาน ไม่ได้มีวินัยเพื่อเข้มงวดกวดขันให้ไม่ขยับเขยื้อน วินัยไม่ได้สำเร็จในตัว วินัยคือการจัดสรรชีวิตและสังคมให้อยู่ในสภาพที่เหมาะ ที่จะทำอะไรต่ออะไรได้ การพัฒนาก็จะดำเนินไป

๓. พร้อมด้วยแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ เป็นความจริงที่คนไทยเราขาดความใฝ่รู้สร้างสรรค์ มีแรงจูงใจใฝ่บริโภคมาก คนไทยใฝ่สนุกสนานบันเทิง ไม่ใฝ่รู้แต่ใฝ่เสพสังเวยความสุข ไม่ใฝ่สร้างสรรค์ ใฝ่บริโภค ไม่ใฝ่ผลิต เราจะต้องให้มีแรงจูงใจใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ จึงจะสร้างประเทศให้เจริญได้

๔. มุ่งมั่นพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ ทางพุทธศาสนา ถือว่าคนมีศักยภาพ จะประเสริฐได้ด้วยการฝึก จึงให้พัฒนาศักยภาพให้เต็มที่ เน้นให้มีจิตสำนึกในการพัฒนาตน

๕. ปรับทัศนคติและค่านิยมให้สมเหตุผล คือ จะต้องมีทัศนคติมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย อย่างกรณี สมีเจี๊ยบ กรณีพระนิกร ซึ่งอื้อฉาว ทัศนคติที่ถูกต้อง ไม่ใช่มองเพียงว่าใครจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าตื่นเฮฮาไปตามกัน แต่มองหาเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยง ทางสังคม การศึกษา เป็นต้น ที่จะต้องแก้ไขปรับปรุง เนื่องกันไป

๖. มีสติกระตือรือร้นทุกเวลา คือหลักที่พระเรียกว่า ความไม่ประมาท ซึ่งสำคัญมากเกี่ยวกับปีใหม่เพราะเป็นเรื่องของเวลา พระพุทธศาสนาสอนให้ใช้ความไม่ประมาท จะต้องถือว่าไม่ให้เวลาผ่านไปเปล่าๆ เร่งทำกิจหน้าที่ของตน เร่งทำให้ชีวิตมีคุณค่า ให้มีประโยชน์ ไม่ว่างเปล่า

๗. แก้ปัญหาและพึ่งพาตนได้ด้วยความรู้คิด หลักของการพึ่งพาตน จะทำได้ต้องอาศัยแต่ละคนรู้จักคิดหรือคิดเป็น จะทำห้รู้จักพึ่งตนเอง

ข้อ ๑ กับข้อสุดท้ายนี้จะต้องเน้น คืดรู้จักเลือกกัลยาณมิตร และรู้จักคิด คิดเป็น โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่โลกก้าวเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสาร มีข้อมูลข่าวสารมากมายท่วมท้น จริงบ้างเท็จบ้าง จะต้องใช้หลักการนี้มาก เวลารับข้อมูล ต้องรู้จักเลือกสรรและรู้จักพิจารณาไตร่ตรอง นำมาปรุงเป็นความคิดใหม่ๆ ในการพัฒนาตนเอง พัฒนาชีวิต พัฒนาท้องถิ่นของตน

ตกลงว่าจะต้องมี ๗ ข้อ ถ้าทำได้ ๗ ข้อนี้แล้ว จะเป็นต้นทางของการศึกษา ที่จะนำการพัฒนาไปให้ถูกต้อง การศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญ ของการพัฒนาประเทศชาติ หลักนี้เราเรียกว่ารุ่งอรุณของการศึกษา เมื่อการศึกษาเริ่มอรุณ สังคมก็จะสว่างต่อไป

ประเทศก็พัฒนาได้

(ลงพิมพ์ใน "มติชน" ฉบับ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๓)

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง