ชวนคิด-พินิจธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ภาคผนวก

พุทธศาสน์เมืองไทย
สู่ปีใหม่ ๒๕๓๔1

พุทธศาสนากำลังวิกฤตจริงหรือ?

ในส่วนของประชาชนเท่าที่ฟังดู มีบางท่านพูดในทำนองว่าเสื่อมศรัทธา อาตมาเองก็ไม่ประจักษ์ แต่ในส่วนของท่านที่เกี่ยวข้องกับอาตมา ก็เห็นมีความศรัทธามั่นคงพอสมควร อาจจะเป็นด้วยอยู่ใกล้กัน ได้ทำความเข้าใจ เมื่อพูดในแง่เหตุผลก็เข้าใจกัน ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการเสื่อมศรัทธา นี่เป็นเครื่องแสดงอย่างหนึ่ง

ในสมัยโบราณพระสงฆ์กับประชาชนใกล้ชิดกัน แม้จะมีเหตุร้ายๆ เกิดขึ้นประชาชนก็เข้าใจ เพราะมีความใกล้ชิดและประชาชนมีทุนเดิมที่จะเข้าใจอยู่แล้ว ความใกล้ชิดทำให้พระสงฆ์มีโอกาสจะพูดให้เข้าใจ นอกจากนั้น ชุมชนสมัยก่อนค่อนข้างเล็ก วัดเป็นของหมู่บ้าน พระสงฆ์ต้องอาศัยศรัทธาของชาวบ้าน ต้องประพฤติตัวให้ดี ต้องรักษาศรัทธาของประชาชน ซึ่งเป็นผู้บำรุงเลี้ยงอยู่ตามหลักของพระพุทธศาสนา ทำให้เป็นเหมือนการควบคุมความประพฤติไปด้วย

ปัจจุบันนี้ ประชาชนกับพระสงฆ์ส่วนมากห่างเหินกัน ความห่างเหินทำให้หลักการควบคุมเปลี่ยนแปลงไป ท่าทีของพุทธศาสนิกชนชักคลาดเคลื่อน ประชาชนเริ่มห่างพระ ห่างพระศาสนา บางทีก็ไม่รู้จุดของตัวเองว่านับถือพระศาสนาเพื่อประโยชน์อะไร บางทีก็เพี้ยนไปเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ เรื่องของการได้ลาภ ไปเกี่ยวข้องกับพระเพื่อโชคลาภของตัวเอง กลายเป็นความสัมพันธ์ในทางที่ไม่ใช่ธรรม แต่สัมพันธ์เพื่อผลประโยชน์ ทำให้ไม่คำนึงว่าพระจะเป็นอย่างไร มองเพียงว่าพระจะสนองความต้องการของตนได้หรือไม่ หลักการควบคุมความประพฤติของพระก็หมดไป

นอกจากนั้น ทั้งที่พระที่อยู่ในธรรมวินัยประพฤติดีก็มี แต่ไม่ค่อยปรากฏ เพราะประชาชนให้ความสนใจแต่พระที่สนองความต้องการด้านโชคลาภ พระเหล่านี้จึงปรากฏโด่งดังขึ้นมา

อีกแง่ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนคือพุทธศาสนิกชนใช่ไหม เมื่อใช่ก็ต้องถือว่าเป็นเจ้าของศาสนาด้วยกัน ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ฆราวาส ชายหญิงก็ตาม เป็นเจ้าของพระพุทธศาสนาด้วยกัน ไม่มีใครมีสิทธิ์มากกว่ากัน หากเห็นพระไม่ดีเสื่อมศรัทธาในพระรูปนั้นก็ถูกต้อง แต่การไปเสื่อมศรัทธาต่อพุทธศาสนานั้น แสดงว่าคลาดเคลื่อนจากหลักการของพระพุทธศาสนา ตั้งตัวไม่ถูกต้องแล้ว หากเห็นว่ามีคนไม่ดีเข้ามา เขาบวชเป็นพระหรือเป็นอะไรก็ตาม ต้องมองว่าเป็นคนไม่ดีเข้ามาแอบแฝงศาสนาของเรา เรามีสิทธิ์จะปกป้องดูแลพระพุทธศาสนา และเอาคนไม่ดีออกไป วิธีที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้

ควรจะคิดอย่างไรกับเหตุการณ์ไม่ดีกับพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้น?

เหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้น มีเหตุปัจจัยมานาน มาโผล่ตอนนี้ ฉะนั้นโผล่มาก็ดีแล้ว จะได้รู้ ได้สำรวจหาทาง แก้ไข พระพุทธศาสนาในเมืองไทยนี้ เรามีความรู้สึกว่าเจริญรุ่งเรืองกัน ไปๆ มาๆ ก็ไม่ค่อยระวังตัว ตกอยู่ในความประมาท ไม่เตรียมการระยะยาว อยู่ในสภาพที่เรียกว่ากินบุญเก่า และเป็นหลักธรรมดา เมื่อสังคมเจริญรุ่งเรืองขึ้น มีความสุขสมบูรณ์ คนก็มักจะหลงระเริง เกิดความประมาท แล้วอารยธรรมต่างๆ ก็เริ่มเสื่อมแล้วก็จมพินาศไป แต่ถ้าคนในสังคมนั้นมีความไม่ประมาท หมั่นตรวจสอบเหตุปัจจัยของความเสื่อมความเจริญ ก็จะป้องกันแก้ไขได้

ถึงแม้จะมัวหลงระเริง และอยู่มามีเหตุร้ายเกิดขึ้น แต่ถ้าเราเป็นคนมีปัญญาก็รีบลุกขึ้นมาแก้ไขเสียตอนนั้น ก็ยังพอป้องกันภัยพิบัติได้ เหตุร้ายเกิดขึ้นเป็นเครื่องฟ้องแล้วว่ามันเสื่อม แทนที่จะปล่อยเลยตามเลย ท้อแท้ใจ ท้อถอย มาซัดทอดกันอยู่ ก็รีบแก้ไขทำให้มันดี มันก็จะกลับเจริญได้อีก ถ้าไม่มีความรู้สึกอย่างนี้ก็กลายเป็นว่าไม่มีความรับผิดชอบ มัวแต่ปัดออกนอกตัวว่าศาสนาไม่ดี พระไม่ดี เราไม่นับถือ ก็จบกันเลย

มีการวิจารณ์ผู้บริหารคณะสงฆ์ ว่าทำงานอืดอาดแก้ปัญหาไม่ได้?

อันนี้เป็นภาพที่เราเห็นเฉพาะหน้า มันมีปัจจัยลึกซึ้งกว่า ถ้าสืบลึกลงไปจะมองเห็นการแก้ปัญหาระยะยาว เรื่องการศึกษาของพระสงฆ์ต้องรีบแก้ไข ให้ได้รู้ได้เข้าใจหลักการของพระศาสนา ให้รู้หลักธรรมวินัยให้ชัดเจน ให้รู้ให้เข้าใจสภาพปัจจุบัน เพื่อนำหลักการนั้นมาปรับใช้ปฏิบัติต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

เรื่องการบริหารนั้น ระยะสั้น ต้องแก้ไขปรับปรุง ถ้าผู้บริหารอ่อนแอ เราจะต้องหาทางช่วยกัน ฝ่ายไหนทำอะไรได้ก็ต้องทำ จะมีส่วนผลักดันกระตุ้นเตือนฝ่ายบริหารให้เข้มแข็งได้อย่างไร เราต้องพยายาม แต่ในระยะยาว ก็คือตัวต้นเหตุปัจจัยที่ทำให้การบริหารอ่อนแอ ชาวพุทธทั้งหมดต้องไม่มองข้ามตัวเอง ว่ามีส่วนร่วมอย่างไร มีความรับผิดชอบอย่างไร และมีส่วนเป็นเหตุปัจจัยยังไงก็ต้องแก้ไขกันทั้งนั้น เดี๋ยวนี้เรามองกันเฉพาะหน้า ใครเป็นตัวเด่นในเหตุการณ์ ก็มุ่งอยู่นั่นแหละ

ต้องถามตัวเองก่อนว่า เราจะมีส่วนช่วยอะไรได้บ้าง ต่อไปก็มองว่าผู้ไหนมีความรับผิดชอบโดยตรง ตอนนี้เล่นงานผู้บริหารได้ก็เอาเข้าไป แต่อย่ามองจำกัดอยู่จุดเดียวแล้วจบ มันแก้อะไรไม่ได้

มีข่าวว่าพระซื้อพัดยศกัน ทำให้เกิดความแตกแยก?

อาตมาก็ได้ยิน แต่จะจริงหรือไม่ ไม่มีเวลาไปสอบสวน เพราะมีงานต้องทำมาก แต่ว่ามันก็มากด้วยกัน ก็คล้ายๆ กับบ้านเมืองนั่นแหละ สภาพปัจจุบันพระสงฆ์มีระบบอะไรต่างๆ หลายอย่างใกล้กับฆราวาส เราก็ได้ยินในระบบของบ้านเมืองมีการซื้อมีการอะไรต่างๆ เรื่องนี้มีส่วนโยงเข้ามาในระบบของพระได้ ถ้ามองในสภาพอย่างนี้ เมื่อเกิดกรณีสมีเจี๊ยบ เรื่องพระนิกร หรือเรื่องอะไรแบบนี้ ก็เป็นสัญญาณของความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้น แต่เป็นการมองแค่ตัวแหล่งที่เกิดคือพระสงฆ์ แต่ถ้าเรามองกว้างขึ้นอีกนิด จะเห็นสิ่งที่ต้องทำในสังคมไทยมากขึ้น

พระสงฆ์นั้นปกติถือว่า มีจริยธรรมสูงสุดในหมู่ประชาชน คณะสงฆ์เป็นสถาบันตัวแทนจริยธรรมหรือเป็นสถาบันที่ถือกันว่ามีจริยธรรมสูงสุด ถ้าหากพระสงฆ์เสื่อมโทรม สถาบันสงฆ์เสื่อมโทรมจนกระทั่งปรากฏไปทั่ว ก็เป็นเครื่องฟ้องว่า นี่สถาบันสงฆ์ยังขนาดนี้ แล้วสังคมไทยทั่วไปจะโทรมขนาดไหน

ในด้านหนึ่ง มันฟ้องถึงสภาพสติปัญญาของคนไทย ว่าการที่พระสงฆ์เหล่านี้เจริญด้วยลาภ ด้วยยศ อะไรขึ้นมาขนาดนี้ ได้รับการยกย่อง จนกระทั่งความประพฤติไม่ดีโผล่ขึ้นมาตอนนี้ ก่อนหน้านั้นเขาได้รับการยกย่องมาได้อย่างไร ทำไมคนอย่างนี้จึงเจริญขึ้นมา แสดงว่าคนไทยยังไม่ได้ใช้สติปัญญาพิจารณาให้เพียงพอ

หากรู้จักพิจารณาว่า พระศาสนามีหลักการสอนอย่างไร พระอย่างไรเป็นบุคคลที่พึงเป็นแบบอย่างที่ชาวพุทธเคารพศรัทธา ถ้าใช้ปัญญาอย่างนี้เราจะต้องยกย่องเชิดชูคนที่เหมาะสมขึ้นมา จะไม่ปล่อยให้เป็นมาถึงเช่นนี้

ฉะนั้น เราต้องมองที่เหตุปัจจัย ตัวบุคคลนั้นก็พิจารณาตามคดี ตามกระบวนการยุติธรรม มีความผิดก็ลงโทษไป ก็เสร็จเป็นรายบุคคล แต่สังคมเป็นอย่างไร ควรเอาใจใส่ มันจะเป็นประโยชน์กว่า ที่จะมัวไปพูดถึงคนเลวร้ายทำอย่างนี้ อย่างนั้น ว่ากันไปแล้วก็พูดกันไป สนุกปากกันไปไม่จบและไม่ได้อะไรขึ้นมา

คิดว่าหน่วยงานของรัฐควรเข้ามามีส่วนช่วยศาสนาตอนนี้ อย่างไรบ้าง?

สมัยก่อน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระศาสนายังดี หรือพุทธจักรกับอาณาจักรมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ถือหลักรัฐต้องเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุง ให้การสนับสนุนพระที่ประพฤติตัวตามพระวินัย โดยยกย่อง เชิดชู อะไรต่างๆ

ในแง่หนึ่งที่ถือเป็นสำคัญ คือคนที่ไปบวชในคณะสงฆ์ ไปจากชาวบ้าน คือคนของรัฐเข้าไปบวช รัฐต้องระวังว่าใครเข้าไปทำร้ายพระศาสนา จะต้องรักษาพระศาสนาไว้ เพื่อประโยชน์แก่สังคมของตัวเอง เพราะเมื่อพระสงฆ์ประพฤติดี ประพฤติชอบ เอาใจใส่สั่งสอนประชาชน ประชาชนมีศีลธรรมก็อยู่ร่มเย็นเป็นสุข รัฐก็ได้ประโยชน์ ฉะนั้นรัฐต้องรักษาคณะสงฆ์ให้อยู่ในความบริสุทธิ์ผุดผ่อง เจริญมั่นคง ให้พระมีการศึกษา เพื่อจะได้มีความรู้สั่งสอนประชาชน

รัฐต้องบำรุงการศึกษา ถือเป็นเรื่องสำคัญ พระมหากษัตริย์ ในหลวงรัฐกาลที่ ๕ ทรงถือเป็นพระราชกรณียกิจ เวลาพระสงฆ์สอบจะต้องเสด็จฯ ไปดูเอง ไปอำนวยการสอบ ถือว่าต้องอุปถัมภ์เป็นประเพณีสืบมา

ด้านที่หนึ่ง รัฐต้องเอาใจใส่การศึกษาของพระสงฆ์ นอกเหนือจากการบำรุงทั่วไป คือการถวายอาหาร เพื่อให้มีกำลังไปเล่าเรียน และเผยแผ่ธรรมแก่ประชาชน เป็นการบำรุงศาสนกิจ

ด้านที่สอง คือป้องกันคนของตัวเองที่ร้ายไม่ให้เข้าไปทำลายพระศาสนา ถ้าเข้าไปทำร้ายต้องไปเอาออกมา พระประพฤติไม่ดี ก็คือคนของรัฐเข้าไปแอบแฝงบวช รัฐต้องไปเอาออกมาชำระ ไม่มองว่าพระศาสนาเป็นเรื่องของพระ

เดี๋ยวนี้รัฐไม่เข้าใจเรื่องนี้ ไปมองว่าพระประพฤติไม่ดีก็เป็นเรื่องของพระ

นอกจากนั้น เมื่อพระศาสนาเสื่อมโทรม จะต้องมีการชำระสะสาง เช่น พระสงฆ์ดำริจะสังคายนา ก็เข้าไปอุปถัมภ์ เวลาคนบวชกันมากไปอาศัยวัดหาเลี้ยงชีพ ไม่ศึกษาเล่าเรียน อย่างสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จัดให้คณะสงฆ์ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนความรู้พระ ไม่มีความรู้จับสึกหมด

มองบทบาทของกรมการศาสนาเป็นอย่างไร ควรแยกออกจากกระทรวงศึกษาหรือไม่?

กระทรวงศึกษาธิการตั้งโดยรัชกาลที่ ๕ เดิมชื่อ กระทรวงธรรมการ ในกระทรวงนี้มีหน่วยงานหนึ่งชื่อ กรมศึกษาธิการ เพราะในประวัติของสังคมไทยโดยทางรูปธรรม วัดเป็นผู้ให้การศึกษาแก่บุตรหลานของประชาชน เป็นศูนย์กลางการศึกษา ฉะนั้น การศึกษาก็อยู่กับพระศาสนา ตัวศาสนาเป็นแหล่งใหญ่ การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของงานที่เกี่ยวกับศาสนา กระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงเกี่ยวกับพระศาสนา เป็นเรื่องของชีวิตจิตใจคน และกรมศึกษาธิการก็เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในกระทรวงนั้น

อันนี้เป็นรูปแบบจำลองสังคมไทยในทางรูปธรรม ชี้หลักการหรือนามธรรมที่สอดคล้องกัน คือ การให้ตัวพระศาสนาเป็นหลัก ให้การศึกษาอิงอยู่กับพระศาสนา อิงอยู่กับหลักของจริยธรรม สำหรับเรื่องความประพฤติดีงามแล้วในหลวง ร.๕ ทรงเน้นมาก การศึกษาหากจัดไม่ดีแล้วสามารถจะทำให้คนโกงได้มากขึ้น ฉะนั้นต้องถือธรรมเป็นส่วนสำคัญ ในแง่ของหลักการ หรือเนื้อหาทางนามธรรม ท่านต้องการที่จะให้ตัวศาสนา หรือเรื่องของชีวิตจิตใจที่ดีงามมาเป็นส่วนสำคัญที่ครอบคลุมการศึกษาไว้อีกทีหนึ่ง

แต่มาปัจจุบันนี้มันกลับกัน เมื่อสิ้นสมัย ร.๕ เราเปลี่ยนชื่อ กระทรวงธรรมการ เป็น กระทรวงศึกษาธิการ ให้การศึกษาเป็นกิจการใหญ่ แล้วกลับมีชื่อ กรมธรรมการ อยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ กรมธรรมการคือการศาสนา ซึ่งต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น กรมการศาสนา นั่นเอง

เวลานี้การศาสนาเป็นส่วนหนึ่ง อยู่ในการศึกษาส่วนรวม เราไม่มองในแง่ว่าเราต้องการเรื่องของชีวิตจิตใจ เรื่องของความดีงามเป็นใหญ่ ไม่ได้มองอย่างนั้น

ปัจจุบันนี้ก็มีอีกแนวความคิดหนึ่ง ให้แยกเรื่องศาสนาเป็นเรื่องหนึ่ง เรื่องการศึกษาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นี่ว่าควรแยกจากกันไปเลย

แล้วแต่ใครจะมีความคิดอย่างไร แต่เราจะต้องมีแนวความคิดหรือหลักปรัชญาก่อน จึงมาพิจารณาว่าควรแยกหรือไม่แยก อย่ามองดูแค่การบริหาร ต้องมองดูความคิดด้วยว่าความคิดพื้นฐานเป็นอย่างไร ถ้าเรามองแบบ ร. ๕ ก็กลับกันว่ากรมการศาสนาเป็นกระทรวงใหญ่ กระทรวงศึกษาฯ เป็นกรมในกระทรวงศาสนา ทีนี้เรามีวิธีประสานอย่างไรให้เป็นประโยชน์

ถ้าเราเห็นว่าแนวคิดแบบรัชกาลที่ ๕ นี้ดี เราจะประสานอย่างไร ถ้าจะไม่ใช้ระบบของพระองค์ เราต้องมาคิดเอา ไม่ใช่มาเถียงกันแค่ระบบบริหาร แค่ความสะดวกในการดำเนินงานเท่านั้นยังไม่พอ ยังเรียกว่าเป็นการดำเนินงานโดยไม่ใช้ความคิดเท่าไร เอาเพียงมุ่งให้ทำงานสะดวกอะไรอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ดูเป็นอย่างนั้น เวลาจะพิจารณาอะไร ก็ไม่ได้มองแนวความคิดเนื้อหาหรือเบื้องหลัง และภูมิหลังของสังคม ซึ่งต้องมองให้ทั่ว ไม่ใช่เอาแต่เฉพาะหน้าเท่านั้น

บางทีก็มองกันในแง่บริหารงบประมาณ เอาแค่นี้ก็เป็นเหตุแล้วที่จะมาแบ่งส่วนราชการ จัดสรรใหม่ นี่ก็เป็นตัวอย่าง ก็มีแง่มองหลายอย่าง

มีการพูดกันว่า การพัฒนาประเทศปัจจุบันละทิ้งด้านจิตใจ เป็นเหตุให้เกิดปัญหาสังคมมากมาย?

อันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของสังคมไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของสังคมโลกทั้งหมด สังคมที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกาปัจจุบันนี้ร่ำร้องกันมาก ในวงการศึกษาถึงกับมี คำพูดเป็นข้อความว่า “แผ่นดินนี้กำลังหิวศีลธรรม” นี่คือประเทศอเมริกา บทความทางการศึกษาบางบทมองว่า ไม่มียุคใดเลย ที่อเมริกาจะต้องการศีลธรรมมากเท่าปัจจุบัน ซึ่งโยงไปถึงเรื่องการศึกษา ว่าจะต้องแก้ไขปรับปรุงให้มีวิชาศาสนามากขึ้น อันนี้อาตมาว่าที่อเมริกาเด่นมากกว่า ประเทศไทยพูดกันว่าเราได้รับความเสื่อมโทรม กลายเป็นเรากำลังเสื่อมแบบอเมริกา เพราะเราเดินตามอย่างอเมริกา

โลกทั้งโลกก็แบบเดียวกัน ยกตัวอย่างขณะนี้องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ปี ๒๕๓๑-๒๕๔๐ เป็นทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาเชิงวัฒนธรรม ซึ่งการริเริ่มนี้มาจากข้อปรารภในสาระสำคัญคือ มองเห็นการพัฒนาในยุคที่ผ่านมา มุ่งความพร้อมทางด้านวัตถุ และการเจริญเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแกนสำคัญหรือเป็นหลักเป็นตัวเจ้าบทบาท แต่ปรากฏการณ์แสดงผลออกมาว่า การพัฒนาแบบนี้ทำให้เกิดปัญหาแก่โลกเป็นอันมาก จนถึงกับว่าในด้านชีวิตจิตใจ มนุษย์ไม่มีความสุข

ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกา มีปัญหาจิตใจมาก ทำให้เกิดความเครียด มีการฆ่าตัวตายมาก มีโรคจิตมาก ทางร่างกายก็มีโรคหัวใจ มีความดันโลหิตสูง กระทั่งโรคเอดส์ สังคมมีความรุนแรง

ทางธรรมชาติก็สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมมาก มีเรื่อง กรีน เฮ้าส์ เอฟเฟ็กต์ มีเรื่องอุณหภูมิของบรรยากาศเพิ่มขึ้น ช่องโหว่ในโอโซนขยายกว้างออกไป มีฝนน้ำกรด ป่าหมด ทะเลไม่มีปลา อะไรเหล่านี้ ซึ่งเกิดจากการพัฒนาในยุคที่ผ่านมา ซึ่งมีลักษณะอย่างที่ว่ากันมาว่าพัฒนาผิดพลาด แล้วก็อาจจะทำให้ถึงการสูญสิ้นของมนุษยชาติ

ประเทศที่พัฒนาแล้วตื่นตัวเรื่องนี้มาก แต่ประเทศที่กำลังพัฒนายังไม่ค่อยรู้สึกตัว มีการพูดกันบ้างนิดหน่อย แต่ชาวบ้านไม่ค่อยได้นึก เพราะกำลังมุ่งแต่จะสร้างความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุ

องค์กรโลกมองในแง่ว่าการพัฒนาในลักษณะนี้ไปไม่รอด เพราะขาดองค์ประกอบทางด้านจิตใจ เลยหันมาให้ความสำคัญการพัฒนาทางด้านจิตใจและวัฒนธรรม เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การพัฒนาในปัจจุบันประสบปัญหาทางด้านจิตใจ และกำลังหันกลับ จึงประกาศทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาวัฒนธรรมขึ้น

ให้ถือว่าวัฒนธรรมในด้านจิตใจ เป็นแกนกลางของการพัฒนา เปลี่ยนใหม่ไม่ให้เอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหัวหน้า หรือเป็นเจ้าบทบาทใหญ่ แต่ให้มาเป็นตัวประกอบ

ในระดับโลกคิดกันมาก ส่วนเมืองไทยเราก็เห็นๆ กันอยู่ โดยมากเราไปคิดมองตามเขามากกว่า

1คำให้สัมภาษณ์ แก่ผู้สื่อข่าว ลงใน มติชน ฉบับส่งปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๓ ในการพิมพ์ครั้งนี้ ได้แก้ไขปรับปรุง เปลี่ยนแปลงคำที่พิมพ์ผิดพลาด และข้อความที่ไม่ชัดเจน ให้ตรงกับความหมายและความตั้งใจของผู้ให้สัมภาษณ์
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง