พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราสามารถหาประโยชน์ได้จากทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาที่สุดคือ ความตาย ความตายที่น่ากลัวที่สุดนี้พระพุทธเจ้าก็สอนให้เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ตกลงว่าไม่มีอะไรที่พระพุทธศาสนาเห็นว่าใช้ประโยชน์ไม่ได้ แม้แต่สิ่งที่ไม่ดี ถ้าเราคิดเป็น รู้จักพิจารณา ก็เอามาใช้ประโยชน์ได้
ตอนนี้เราเอาความจริง ๕ ประการของชีวิตมาใช้ประโยชน์ สามข้อแรกจัดได้เป็นชุดหนึ่ง คือเรามีความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดา อันนี้เป็นเรื่องของสิ่งทั้งหลายที่มีความไม่เที่ยงแท้ ชีวิตของเราก็เช่นเดียวกับสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติ มองดูที่ตัวของเรา ชีวิตของเราก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติ มีความเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ร่างกายของเราตลอดจนชีวิตทั้งหมดของเราเกิดจากขันธ์ ๕ มาประกอบกันเข้า เริ่มตั้งแต่ธาตุ ๔ เป็นต้นไปมาประชุมกัน เมื่อมีเหตุปัจจัยให้มันเกิดขึ้น มันก็เกิด เมื่อเหตุปัจจัยนั้นคืบเคลื่อนผันแปรไป มันก็ต้องแตกสลาย ชีวิตก็สิ้นสุดลง ในแง่นี้ชีวิตของเราเองก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติเช่นเดียวกับสิ่งทั้งหลายอื่น
ต่อไปชุดที่สอง ก็คือข้อที่สี่ที่ว่า เราต้องมีความพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น อันนี้เป็นแง่ที่ชีวิตของเราไปสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งของภายนอก หรือไปสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ข้อนี้มีความหมายที่สำคัญ อย่างน้อยเราต้องเข้าใจว่า ตัวเราเองนี้ก็ดี คนที่เรารัก สิ่งที่เราหวงแหน ตลอดจนทุกสิ่งที่เราเกี่ยวข้องในโลกนี้ก็ดี ทั้งสองฝ่ายต่างก็ตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ ต่างก็มีความเป็นไปตามเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน เมื่อต่างฝ่ายต่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย ต่างฝ่ายต่างมีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น และมีการดับสลายไปในที่สุด มันก็ต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา อันนี้มองในแง่ที่ชีวิตของเราไปสัมพันธ์กับคนอื่นและสิ่งอื่น เป็นชุดที่สอง
ชุดที่หนึ่งมองดูตัวเอง ชุดที่สองนี่มองดูตัวเองสัมพันธ์กับผู้อื่น ว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็อยู่ใต้กฎธรรมชาติทั้งนั้น
ต่อไปชุดที่สาม ได้แก่ข้อที่ห้าบอกว่า เรามีกรรมเป็นของตน ข้อนี้บอกเลยต่อไปอีก คือบอกให้มองดูลึกลงไปในชีวิตของเรา มองยาวไกล ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ดูความเป็นไปของชีวิตนี้ที่ผ่านมาแล้ว ถึงปัจจุบัน แล้วสืบต่อไปในอนาคตจะเป็นอย่างไร ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของกรรม พร้อมกันนั้นก็บอกให้รู้ว่า มนุษย์เรานี้มีความพิเศษที่เป็นผู้สามารถสร้างเหตุปัจจัยได้ มนุษย์ไม่ใช่เป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างเดียวเท่านั้น ยังสร้างเหตุปัจจัยได้ด้วย นี่เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์คือการสร้างกรรม
ทีนี้มองต่อไปอีก พอเราทำอะไรลงไปคือทำกรรมแล้ว การกระทำนั้นก็คือเหตุปัจจัยที่เราสร้างขึ้น พอเราสร้างเหตุปัจจัยนั้นแล้ว เหตุปัจจัยนั้นมันก็กลับมาสร้างเรา คือ มันหมุนเวียนกลับมาทำให้ชีวิตของเราเป็นไปตามกรรม คือการกระทำที่เป็นเหตุปัจจัยนั้นอีกทอดหนึ่ง ทางพระท่านจึงบอกว่าเราทำกรรมเสร็จแล้วเราก็เป็นเจ้าของกรรมของเรา เพราะเราไปทำมันขึ้น สร้างมันขึ้น มันเป็นสมบัติของเราอย่างแท้จริง แล้วกรรมของเรานั่นแหละก็ลิขิตชีวิตของเราให้เป็นไปต่างๆ และกรรมของหมู่มนุษย์ตั้งแต่ค่านิยมของสังคมเป็นต้นไป ก็ปรุงแต่งวิถีทางของโลกและสังคมให้เป็นไปตามกระแสของมัน
ข้อสังเกตสำคัญคือ ตอนแรกท่านบอกว่า ชีวิตของเราและทุกสิ่งที่เราเกี่ยวข้องเป็นของไม่เที่ยง ตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติที่เกิดมีขึ้นมาแล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลง และในที่สุดก็เสื่อมสลาย ลับหาย พลัดพรากจากกันไป แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นก็ไม่ใช่เป็นไปอย่างเลื่อนลอย หากเป็นไปตามเหตุปัจจัย และมนุษย์นั้นมีความสามารถพิเศษที่เป็นผู้สร้างเหตุปัจจัยได้ เพราะฉะนั้น ชีวิตและสังคมจะดีจะร้าย จะเสื่อมจะเจริญก็อยู่ที่มนุษย์ทำการหรือสร้างสรรค์เอา แล้วก็เตือนในที่สุดอีกว่า สิ่งที่เราทำไปแล้วนั้น ก็เป็นเหตุปัจจัยที่สร้างสรรค์หรือทำลายชีวิตและสังคมของเราต่อไป