ทีนี้ต่อไป ประการสุดท้ายก็คือการพิจารณารู้ว่าเรามีกรรมเป็นของตน การพิจารณาข้อนี้จะทำให้ความเข้าใจความจริงในชุดที่หนึ่งและที่สองนั้น แน่นหนามั่นคงยิ่งขึ้น
คนเรานั้นมีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นสมบัติที่แท้จริง สิ่งทั้งหลายที่เรายึดครอง ไม่ใช่สมบัติของเราจริง เป็นของเราเพียงโดยสมมติ แต่ที่จริงมันเป็นสมบัติของธรรมชาติอย่างที่กล่าวแล้ว สมบัติแท้จริงของเราก็คือการกระทำของเรา
กรรมของเราที่เราทำนี่แหละเป็นทรัพย์สมบัติที่แท้จริงของเรา ปฏิเสธไม่ได้ พอเราทำอะไรลงไป มันก็เป็นเหตุปัจจัยที่จะมาสร้างสรรค์ชีวิตของเราต่อไปทันที เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า กมฺมสฺสโก ที่ว่าเรามีกรรมเป็นของตนนี่เป็นคำที่สำคัญอย่างยิ่ง พอเราสร้างการกระทำขึ้นมาแล้ว การกระทำนั้นก็เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดผลต่างๆ ซึ่งย้อนกลับมาส่งผลแก่ชีวิตของเรา ตอนนี้ก็มาถึงคำที่ว่า กมฺมทายาโท เราก็กลายเป็นทายาทของกรรมไป เราเป็นเจ้าของมันเสร็จแล้วเราก็เป็นทายาทของมัน เราเป็นทายาทของกรรมก็รับผลของกรรมนั้นไป
กรรมคืออะไร กรรมก็คือการกระทำ แต่ไม่ใช่การกระทำที่เลื่อนลอย การกระทำของมนุษย์ ทั้งที่แสดงออกทางกาย ทั้งที่พูดออกมา และที่คิดอยู่ในใจ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของเจตจำนง การคิดการกระทำการพูดของมนุษย์นี้ เกิดจากเจตจำนงมีความจำนงจงใจ มีความตั้งจิตคิดหมาย มีการเลือกตัดสินใจ ทั้งหมดนี้ทางพระท่านเรียกว่าเจตนา
ตัวเจตนานี้แหละคือสิ่งที่เรียกว่ากรรม เพราะฉะนั้นเจตนาหรือเจตจำนงจึงเป็นสาระของการกระทำของมนุษย์ ความเป็นไปในชีวิตของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องของเจตจำนง ถูกเจตจำนงสร้างสรรค์ปรุงแต่งให้เป็นไป คนเรานี้คิดพูดทำออกมาจากเจตนา หรือความจำนงจงใจ เราไปสัมพันธ์กับอะไร สิ่งนั้นๆ หรือสิ่งแวดล้อมนั้นก็เป็นเหตุปัจจัยแก่ชีวิตของเรา แต่เราก็มีสิทธิหรือมีความสามารถที่จะทำต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นเหตุปัจจัยนั้นด้วย ให้มันเป็นเหตุปัจจัยแก่เราในลักษณะใด โดยมีเจตนาต่อสิ่งนั้น เช่น เลือกตอบสนอง จะยอมตามมันหรือพลิกผันเปลี่ยนเบน ตลอดจนมีท่าทีอย่างไร การเลือกตอบสนองต่อสิ่งนั้นคือเจตนา นั่นคือกรรม
เพราะฉะนั้น กรรมจึงเป็นตัวลิขิตชีวิตและสังคมมนุษย์ มันลิขิตตั้งแต่ความคิดนึกของเราเป็นต้นไป เมื่อเราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เราก็มีการเลือกตอบสนอง ถ้าเราใช้ปัญญา เราก็เลือกตอบสนองได้ดี ถ้าเราอยู่ใต้อำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง เราก็ตอบสนองไม่ดี เมื่อเลือกตอบสนองผิดก็เกิดโทษแก่ชีวิตของเรา การกระทำต่างๆ เกิดจากเจตจำนงนี้ทั้งนั้น แล้วจากการกระทำนั้น ชีวิตและสังคมของมนุษย์ก็เป็นไป
การจงใจ การตั้งจิตคิดหมาย เลือกตัดสินใจ เลือกตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ นี้เป็นสิทธิของมนุษย์แต่ละคน และนี่แหละคือกรรมของแต่ละคนที่สร้างสรรค์ชีวิตให้เป็นไป ไม่ใช่เฉพาะแต่ชีวิตเท่านั้น แม้แต่สังคมของมนุษย์ หรือโลกมนุษย์ทั้งหมดก็เป็นโลกของเจตจำนงทั้งนั้น เป็นโลกของกรรมสร้างสรรค์ปรุงแต่งทั้งสิ้น สิ่งที่พัฒนามาเป็นอารยธรรมของมนุษย์ทั้งหมดนี้เกิดจากอะไร ก็เกิดจากเจตจำนง เกิดจากเจตนา เริ่มต้นจากความคิด หรือความตั้งจิตคิดหมายของมนุษย์ ซึ่งอ้างอิงความเห็นหรือความเข้าใจที่ประกอบอยู่กับจิต
ความเข้าใจที่ถูกและผิดนี้ จะเป็นทฤษฎี เป็นลัทธิ เป็นอุดมการณ์ หรือเป็นความเชื่อถือทางศาสนาก็ตาม จะมาเป็นตัวกำกับ ชักจูงเจตจำนงให้เป็นไป และมนุษย์ก็ทำสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามนั้น หรือมีความอยาก มีความปรารถนาอะไร ก็มาเป็นตัวกำกับประกอบเข้ากับเจตจำนง ชักพาเจตจำนงให้เป็นไปอย่างนั้น เช่นถ้ามีความต้องการในอำนาจความยิ่งใหญ่เป็นต้นอย่างไร เจตจำนงก็จะชักพาการกระทำ พฤติกรรม กิจกรรม กิจการ ฯลฯ ให้เป็นไปตามกระแสความต้องการอันนั้น
เพราะฉะนั้น เจตจำนง หรือความจงจิตคิดหมายของมนุษย์นี่แหละ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สร้างโลก บันดาลชีวิตทั้งหมด อารยธรรมของมนุษย์ทั้งหมดก็เกิดจากเจตจำนงของมนุษย์ โดยเริ่มก่อขึ้นตั้งแต่ในใจของมนุษย์ เป็นต้นไป เพราะฉะนั้น ทางพระท่านจึงเรียกโลกมนุษย์นี้ว่าเป็นโลกแห่งเจตจำนง กมฺมุนา วตฺตตี โลโก ว่าโลกนี้ เป็นไปตามกรรม คือสังคมมนุษย์นี้เป็นไปตามกรรมของมนุษย์ มนุษย์เชื่ออย่างไรคิดอย่างไรก็ทำไปตามนั้น
ยกตัวอย่าง มนุษย์ในยุคนี้ที่กำลังได้รับภัยพิบัติทางธรรมชาติแวดล้อม เมื่อสืบสาวกันไปก็ได้ความว่า เกิดจากแนวความคิดที่มีมาตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว คือ แนวความคิดหรือทิฏฐิที่ว่ามนุษย์นั้นเป็นต่างหากจากธรรมชาติ มนุษย์นั้นจะต้องเข้าครอบครองธรรมชาติ จะต้องพิชิตธรรมชาติ จะต้องไปเอาธรรมชาติมาจัดการ จัดสรรรับใช้สนองความต้องการของมนุษย์ โดยถือคติว่ามนุษย์จะมีความสุขเมื่อมีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อม ความเข้าใจอันนี้แหละเป็นตัวกำกับเจตจำนง มานำความนึกความคิดของมนุษย์ทั้งหมดที่ทำให้เกิดอารยธรรมอย่างปัจจุบัน ซึ่งได้เจริญก้าวหน้ามาจนกระทั่งถึงจุดที่ธรรมชาติเสื่อมสลายอย่างหนัก ซึ่งถือกันว่าเป็นปัญหาที่อาจจะทำให้มนุษย์ติดตันหรือถึงกับประสบความพินาศถ้าหาทางออกไม่ได้หรือไม่ทัน
เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่า โลกมนุษย์เป็นโลกแห่งกรรม เป็นโลกแห่งเจตจำนง และกรรมตามหลักพระพุทธศาสนาที่ถือว่าสำคัญที่สุดก็คือมโนกรรม หรือกรรมทางจิต ได้แก่ ความคิดนึก ความคิดเห็น ความเชื่อถือหรือทิฏฐิ ความยึดถือ ลัทธิอุดมการณ์อะไรต่างๆ ซึ่งเป็นต้นตอก่อรูปอยู่ในจิตใจ สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปแห่งอารยธรรมของมนุษย์ทั้งหมด
โลกมนุษย์เป็นโลกแห่งเจตจำนงดังที่กล่าวมา เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้พิจารณาเรื่องนี้ว่า เรามีกรรมเป็นของของตน เราทำกรรมใดไว้ กรรมนั้นก็จะไปอยู่ในกระแสของความเป็นเหตุปัจจัย แล้วมันก็ส่งผลให้เกิดขึ้น คือกรรมนั้นกลับส่งผลมาปรุงแต่งชีวิตของเรา ปรุงแต่งโลก ปรุงแต่งสังคมให้เป็นไป เราก็กลายเป็นทายาทรับผลของกรรม ชีวิตของเราแต่ละคนก็เป็นทายาทของกรรมของตน โลกหรือสังคมมนุษย์ก็เป็นทายาทแห่งกรรมของสังคมมนุษย์นี้