ทันโลก ถึงธรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เรื่องของโลกนี้ ที่แม้ไม่ต้องสนใจ แต่ควรรู้ไว้

ผ่านทศวรรษ 1970s มาแล้ว พลังของวัฒนธรรมสวนกระแส (counterculture) ก็เบาบางจางลง วัฒนธรรมบริโภคนิยมที่ยืนตัวเป็นกระแสหลัก ก็นำสังคมอเมริกันก้าวต่อมา และไม่นำเฉพาะอเมริกาเท่านั้น แต่พาแทบทั้งโลกตามไปด้วย โดยที่ชาวประเทศล้าหลัง ด้อยพัฒนา และกำลังพัฒนาทั้งหลาย พากันตื่นหูตื่นตารอที่จะตามจะรับความเจริญของประเทศที่เรียกว่าพัฒนาอย่างสูงแล้วนั้น ถ้าอเมริกาที่เจริญพ่วงหลังเอาความเสื่อมหรือปัญหาอะไรติดหรือซ่อนมา พวกที่ตามหลังเอาอย่าง ซึ่งวินัยไม่พอ ตั้งจิตผิดท่า ปัญญาไม่ทัน ก็ได้รับความเจริญที่ฉาบหน้า แต่เอาปัญหาเข้ามาซ้ำเติมตัวเองด้วย แล้วก็ล้มลุกคลุกคลานกันไป แต่รวมแล้วทั้งพวกที่นำและพวกที่ตาม ก็เหมือนกับร่วมกันบ่อนทำลายโลกที่อาศัยของตัว

เป็นธรรมดาของผู้ปฏิบัติธรรมที่จะแก้ปัญหาของโลก แก้ทุกข์ของมนุษย์ จะต้องรู้ทันสภาพปัญหาหรือสภาวะแห่งทุกข์อันนี้

อย่างที่ว่าแล้ว อเมริกาเจริญรุ่งเรืองมีเศรษฐกิจฟู่ฟ่าขึ้นมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ เฉพาะอย่างยิ่งหลังสิ้นสงครามนั้นในปี 1945/๒๔๘๘

ควรเล่าความย้อนหลังไว้หน่อยว่า เมื่อ ๑๐ ปี (1929/๒๔๗๒) ก่อนเริ่มสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น อเมริกาได้วูบเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำฮวบใหญ่ (Great Depression) ซึ่งแผ่ขยายไปยังประเทศอุตสาหกรรมที่เจริญทั่วโลก

คราวนั้น ผู้คนแร้นแค้น เศรษฐีกลายเป็นยาจก คนฆ่าตัวตายมาก ปีที่ตกต่ำที่สุดคือ 1933 คน ๑๒ - ๑๕ ล้านคนไม่มีงานทำ (ประชากรอเมริกันเวลานั้นราว ๑๒๒ ล้านคน) ธนาคารที่มีทั้งหมด ๒๕,๐๐๐ ล้มไป ๑๑,๐๐๐ แห่ง

สงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มขึ้นในปี 1939/๒๔๘๒ เวลานั้น อเมริกายังห่างไกลมากจากสงคราม และเศรษฐกิจของอเมริกาได้ฟื้นตัวขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ดีเลย กำลังแรงงานที่ว่างงานลดจาก ๒๕% เป็น ๑๕% แต่พอเริ่มสงครามแล้ว ประเทศที่ทำศึกในยุโรปก็พากันสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มากมายจากอเมริกา โรงงานผลิตกันไม่ได้หยุด หมดปัญหาคนว่างงาน แล้วต่อมากลายเป็นขาดแคลนแรงงาน คนดำที่ถูกเหยียดหยามกีดกั้น พากันกดดันเรียกร้องขอให้ได้เข้าทำงาน จนรัฐบาลต้องออกคำสั่งห้ามกีดกั้น แล้วไม่นานก็มีคนดำร่วมทำงานเกือบ ๒ ล้านคน พอยุโรปทำสงครามกันไปได้ ๒ ปีเศษ อเมริกาก็รวยพ้นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำโดยสิ้นเชิง ซึ่งก็มาถึงเวลาที่อเมริกาเพิ่งเข้าร่วมทำสงครามใหม่ๆ

อเมริกาเข้าร่วมทำสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้นตอนท้ายปี 1941/๒๔๘๔ เมื่อญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ล คือเมื่อสงครามผ่านเวลามาแล้วราว ๒ ปี ๓ เดือน และจะอยู่ในภาวะสงครามไป ๓ ปี ๘ เดือน จนจบลงเมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้ในวันที่ ๑๔ ส.ค.1945/๒๔๘๘

ทหารอเมริกันไปรบในดินแดนห่างไกลนอกอเมริกา ประเทศอเมริกาจึงไม่บอบช้ำเสียหายอะไรเลย

เมื่อผู้ชายเป็นทหารไปรบ พวกผู้หญิงแม่บ้านก็ไปเข้าประจำโรงงาน ในยามเร่งร้อนของสงครามนี้ ผลิตเครื่องบินได้ เดือนละ ๔,๕๐๐ เครื่อง รถถังเดือนละ ๔,๐๐๐ คัน เรือรบที่ยามสงบต่อเสร็จใน ๑ ปี ลดเวลาลงมาเสร็จใน ๑๗ วัน ฯลฯ นับเฉพาะปี 1944/๒๔๘๗ อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรใช้ในการสงครามนั้น ๖๐% ผลิตในอเมริกา

อเมริการบไปจนจบสงคราม เสียทหารตายในสนามรบ ๒๙๒,๑๓๑ คน ซึ่งนับว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับทหารนานาชาติที่ตายในสมรภูมิทั้งสิ้นประมาณ ๑๙ ล้านคน (ทหารสหภาพโซเวียตตาย ๑๑ ล้านคน มากกว่าทหารฝ่ายสัมพันธมิตรชาติอื่นทั้งหมดรวมกัน) และถ้านับคนอเมริกันทั้งหมดที่ตายในสงครามใหญ่นี้ ทั้งทหารและพลเรือน ก็ได้จำนวนราว ๔๐๗,๓๑๖ ซึ่งก็นับว่าเป็นจำนวนเล็กน้อย เมื่อเทียบกับคนทั้งหมดที่ตายในสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้ ราว ๔๐ – ๕๐ ล้านคน

สงครามจบลงโดยอเมริกาเป็นทั้งผู้ชนะ และเป็นเจ้าหนี้ บ้านเมืองก็ไม่เสียหาย แต่กลับร่ำรวยรุ่งเรืองยิ่งใหญ่ ต่างจากประเทศคู่สงครามทั้งหลาย แม้แต่ที่เป็นฝ่ายผู้ชนะ ซึ่งบ้านเมืองพินาศย่อยยับ แถมเป็นลูกหนี้ ต้องพึ่งอเมริกา เว้นแต่สหภาพโซเวียต ที่แม้จะบอบช้ำอย่างยิ่ง แต่มีดินแดนกว้างใหญ่เหลือเฟือ (ใหญ่กว่าอเมริกา ๒ เท่าครึ่ง คือ โซเวียต 22.4 ล้าน ตร.กม., สหรัฐ 9.37 ล้าน ตร.กม.) ถึงจะเสียไปมาก ก็ไม่ยุบเท่าไร

สหภาพโซเวียตนั้น ได้ผงาดขึ้นมาเป็นคู่ปรปักษ์แข่งอำนาจกับอเมริกา ในโลกที่แยกเป็น ๒ ค่าย คือ โลกเสรี (free world) มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ กับค่ายคอมมิวนิสต์ (communist bloc) มีสหภาพโซเวียต เป็นหัวหน้า เกิดเป็นสงครามเย็น (cold war) ที่ตึงเครียดกันมาราว ๔๐ ปี

แต่พอสงครามเย็นเริ่มต้น ก็ประเดิมด้วยสงครามร้อนที่โหดร้ายรุนแรงขึ้นที่เกาหลี (1950/๒๔๙๓ – 1953/๒๔๙๖) ต่อด้วยสงครามเวียดนามที่ทรหดยืดเยื้อ (1954/๒๔๙๗-1975/๒๕๑๘) แล้วก็มีเรื่องความขัดแย้งและสงครามใหญ่น้อยที่นั่นที่นี่ ที่ ๒ มหาอำนาจต้องเข้าไปดูแลเรื่อยมา จนสุดท้ายประธานาธิบดีของสองประเทศนั้นเอง จึงได้ร่วมกันประกาศจบสงครามเย็นเมื่อใกล้จะสิ้นปี 1989/๒๕๓๒ และในเดือนธันวาคม 1991/๒๕๓๔ สหภาพโซเวียตก็ได้แตกสลายหลุดกันออกไป เหลือเป็นประเทศใหญ่คือ สหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) เรียกสั้นๆ ว่า รัสเซีย (มีเนื้อที่ 17 ล้าน ตร.กม.)

หันกลับไปดูอเมริกา อย่างที่ว่าแล้ว ระหว่างสงครามโลก ที่ทหารอเมริกัน ๑๖ ล้านคนไปรบในแดนไกลนั้น ที่อเมริกาเอง บ้านเมืองดี ผู้คนอยู่กันเป็นปกติสุข ได้แต่เฝ้ารอดูรอฟังเครียดกังวลไปกับสถานการณ์สงครามที่ไกลตัวนั้น โรงงานทั้งหลายก็เร่งระดมผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ส่งออกไป คนอเมริกันทั้งหลายมีรายได้ดี แต่ไม่มีอะไรจะซื้อหา ก็ได้แต่เก็บเงินสะสมไว้

ครั้นถึงปี 1945/๒๔๘๘ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ จบสิ้นแล้ว ผู้คนที่เก็บสะสมเงินทองกันไว้ ก็พร้อมที่จะจับจ่ายซื้อหาปัจจัยสี่ โรงงานที่ผลิตอาวุธ ก็เปลี่ยนมาผลิตของกินของใช้

เหล่าจีไอ ทหารผ่านศึกอเมริกัน เสร็จการรบในแดนไกล เดินทางกลับมาตุภูมิ รัฐบาลก็ออกกฎหมายต้อนรับ ให้พวกเขาได้สิทธิพิเศษบางอย่างที่จะมีความมั่นคงด้านการเงิน และให้ทุนอุดหนุนการศึกษา เวลานั้น จำนวนผู้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากเป็นสถิติสูงสุดถึง ๒ ล้านคน

คนมากมายเพิ่มประดังกันขึ้นมา เงินทองก็พร้อมจะจ่าย แล้วก็เกิดมีการสร้างหมู่บ้านจัดสรรขึ้นมากมายแถบชานเมือง ทีวี (โทรทัศน์) ที่คิดประดิษฐ์กันมาและถูกสงครามโลกชะลอไว้ ก็สะพรั่งขึ้นมา เทคโนโลยีที่เร่งรัดพัฒนากันขึ้นในการทำสงคราม ก็หันมาใช้ในทางสันติที่จะช่วยให้ผู้คนเป็นอยู่ทำอะไรๆ ได้สะดวกสบาย ตลาดมีของกินเครื่องใช้ให้ความสะดวกสบายวางขายสารพัด การตลาดและธุรกิจโฆษณาคึกคัก คนมีบ้านจัดสรรน่าอยู่ที่ชานเมือง มีรถยนต์ใช้ มีโทรทัศน์ดู พร้อมด้วยเครื่องกินของใช้บริบูรณ์ บ้านเมืองรุ่งเรืองเฟื่องฟู ผู้คนอยู่ดีมีความสุขสำราญ อย่างที่ไม่เคยมีไม่เคยเป็นมาก่อนเลย เว้นแต่คนนิโกร (ต่อมาตั้งแต่ปี 1968/๒๕๑๑ เปลี่ยนเรียกให้รู้สึกดีขึ้นว่า Black/คนดำ) ที่ยากจะเข้าถึงความเจริญนี้

ในยามบ้านเมืองดี ผู้คนสุขสำราญกันทั่วนั้น ครอบครัวทั้งหลายก็เข้าสู่ยุคพิเศษด้วย คือมีเด็กเกิดมากมายเป็นพิเศษ ดังที่ได้ทำสถิติสำคัญไว้ว่า ในช่วงปี 1946/๒๔๘๙ – 1964/๒๕๐๗ มีเด็กเกิดขึ้นมาเพิ่มประชากร ๗๗ ล้านคน และเรียกคนรุ่นนี้ว่า baby boom generation เด็กเหล่านี้เองที่เติบโตขึ้นมาเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว ได้มีความคิดจิตใจแปลกแยกจากพ่อแม่ปู่ย่าตายาย หันออกไปดำเนินชีวิตทำการต่างๆ ที่เรียกว่าเป็น counterculture เช่นอย่างฮิปปี้/hippies ที่ได้เล่าข้างต้น

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.