ทันโลก ถึงธรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ปฏิบัติธรรม ครบระบบ จบกระบวน
คือการศึกษา ๓ ออกเป็น ภาวนา ๔

เมื่อกี้ได้บอกว่า พอเจอรมณีย์ การปฏิบัติธรรมก็เริ่มต้นได้ทันที บางคนคงสงสัยว่า เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร

“รมณีย์” เป็นเรื่องของการรับรู้ คือการเห็น ได้ยิน เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องของการติดต่อสื่อสารกับโลก โดยทางทวาร คือช่องทางรับรู้-เรียนรู้ทั้งหลาย ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย แล้วจึงเข้าไปถึงใจ

คนเราอยู่ในโลกนี้ ก็ดำเนินชีวิตไปด้วยการติดต่อสื่อสารกับโลก ตั้งแต่เกิดมา อย่างที่พูดกันว่าตั้งแต่ “ลืมตาดูโลก” ในเมื่อชีวิตของเราดำเนินไปด้วยกันกับการรับรู้-เรียนรู้ ทางทวารคือ ตา หู มีการดู เห็น ฟัง ได้ยิน เป็นต้นอย่างนี้ เรามีการรับรู้เมื่อใด เราก็จึงปฏิบัติธรรมไปเมื่อนั้นได้เลย ที่ว่าปฏิบัติธรรมนั้น ในที่นี้ก็คือฝึกการรับรู้นั่นเอง ฝึกอย่างไร พูดอย่างง่ายๆ ว่า ฝึกให้การรับรู้ เป็นการเรียนรู้ วิธีการเรียนรู้เป็นอย่างไร ยังต้องว่ากันอีกยาว ในที่นี้ ว่ากันไว้แค่นี้ก่อน ว่าเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังพูดกันอยู่ว่า การรับรู้รมณีย์นี้ เป็นการรับรู้ที่ดี ทำให้เกิดผลดีหลายอย่างดังได้ว่าไปแล้ว

ทีนี้ ตามความหมายในแง่ที่ว่ามานี้ ตัวคนหรือกาย ก็คือเป็นที่รวมหรือชุมนุมของช่องทางรับรู้สื่อสารนั่นเอง พูดง่ายๆ ว่า ตัวคนนี้เป็นชุมทางหรือเป็นที่รวมของการสื่อสารกับโลกทั้ง ๕ ช่องทางนั้น จึงเรียกเป็นคำบาลีว่า “เบญจทวารกาย” เรียกสั้นๆ ว่ากาย

การปฏิบัติธรรม ที่ว่าเป็นการฝึกนั้น ก็คือการศึกษา เรียกเป็นคำบาลีว่าสิกขา การศึกษานั้นทำให้คนพัฒนาคือมีการพัฒนา การพัฒนานี้เรียกเป็นคำศัพท์ธรรมว่า “ภาวนา” ดังนั้น การศึกษาที่ฝึกการรับรู้ของเบญจทวารกาย ก็ทำให้เกิดการพัฒนาของเบญจทวารกายนั้น เรียกว่า เบญจทวารกายภาวนา เรียกให้สั้นว่า กายภาวนา เป็นต้นทางของการพัฒนาชีวิตในด้านอื่นๆ ทั้งหมด

การศึกษา หรือสิกขานั้น มี ๓ ด้าน เรียกว่า ไตรสิกขา พูดง่ายๆ ว่าคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งครอบคลุมการปฏิบัติธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น และทำให้เกิดการพัฒนา ที่เรียกว่า ภาวนา ๔ แดน ตั้งแต่กายภาวนาที่ว่าแล้วนั้น ต่อไปอีก ๓ ภาวนา เรียงลำดับดังนี้

๑. กายภาวนา พัฒนากาย คือ มีเบญจทวารกายที่ได้พัฒนา ให้รู้จักรับรู้เรียนรู้ กินใช้เสพบริโภคพอดีได้เต็มคุณค่า อยู่อย่างสร้างสรรค์เกื้อกูลในโลกของวัตถุและธรรมชาติ

๒. ศีลภาวนา พัฒนาศีล คือ มีพฤติกรรมที่ได้พัฒนา รู้จักสื่อสารสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ อยู่อย่างสร้างสรรค์เกื้อกูลในโลกมนุษย์คือสังคม ที่มีบรรยากาศเอื้อให้จิตใจพัฒนา

๓. จิตตภาวนา พัฒนาจิต คือ มีจิตใจที่เจริญงอกงามในคุณธรรม มีสมาธิ เข้มแข็งมั่นคง และสงบสุขเบิกบานผ่องใส ให้เป็นฐานที่ดีของการพัฒนาปัญญา

๔. ปัญญาภาวนา พัฒนาปัญญา คือ มีปรีชารู้คิดเข้าใจ หยั่งเห็นความจริงของกฎธรรมดาแห่งความเปลี่ยนแปลงและระบบสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ที่จะให้เป็นอยู่อย่างมีสติไม่ประมาท สามารถใช้ปัญญาจัดทำดำเนินการทั้งหลาย แก้ไขปัญหาดับทุกข์ภัยได้สำเร็จ มีสุขเป็นอิสระแท้จริง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.