งานพุทธธรรมจะพัฒนาไปได้อย่างดี เบื้องแรก ผู้อยู่ในวงงานมีความรู้จักเข้าใจธรรมทั้งหลาย ทั้งธรรมภาคสภาวะ และธรรมภาคปฏิบัติ มิใช่ต้องรู้มากมาย แต่รู้พอเป็นพื้นฐาน เฉพาะอย่างยิ่ง ธรรมที่เป็นหลักใหญ่ครอบคลุม เช่น ภาคสภาวะ – เบญจขันธ์ ไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท; ภาคปฏิบัติ – หลักอัตถะ คือประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์ และสัมปราย์ หลักการศึกษาแห่งไตรสิกขา หลักการพัฒนา คือ ภาวนา ๔
ทั้งนี้ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า รู้เข้าใจโดยตระหนักอยู่ว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นสภาวะ คือสิ่งที่มีอยู่เป็นธรรมชาติเป็นไปตามธรรมดาของมัน ทั้งหมดนั้น สัมพันธ์เป็นระบบถึงกันเป็นอันเดียว และก็มองเห็นธรรมทั้งหลายที่เป็นการปฏิบัติของคน คือการทำการที่จะให้ความเป็นไปตามธรรมดาของธรรมชาตินั้น ดำเนินไปตามขั้นตอน เป็นกระบวน ในทางที่จะเกิดมีเกิดเป็นผลที่ดีจริงแก่มนุษย์นั้น โดยที่ธรรมที่เป็นภาคปฏิบัติการทั้งหมดนั้น ก็สัมพันธ์เป็นระบบถึงกันเป็นอันเดียว
ความรู้ธรรมเพียงพอนั้น มิใช่ว่าจะต้องรู้รายละเอียดไปทั่วทั้งหมด แต่รู้เข้าใจให้มองเห็นธรรมเหล่านั้นที่สัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ พอที่จะเห็นขั้นตอนของการปฏิบัติได้เป็นกระบวน
เมื่อมีความรู้เข้าใจธรรมอย่างได้หลักเป็นพื้นฐานแล้ว ด้วยน้ำใจเมตตาการุณย์ และโดยตกลงกัน อาจจะสำรวจตรวจสอบสังคมส่วนรวมว่ามีกระแสหรือทิศทางไปดีและไม่ดี ที่น่าจะแก้ไขหรือส่งเสริมอย่างไร และสังคมส่วนย่อย เช่นภาคเมือง ภาคชนบท ผู้คนก้าวหน้า หรือล้าหลัง อืดเฟ้อในเรื่องไหน ขาดพร่องธรรมอย่างไหนส่วนใด ทั้งนี้ อาจจะทำงานอย่างเป็นการฝึกปฏิบัติธรรม ให้ตนเองก็พัฒนาไปด้วย
ถ้าสามารถทำได้อย่างที่ว่านั้น ต่อจากการสำรวจตรวจสอบ ก็ทำงานในบทบาทเป็นผู้เตือนเพื่อนร่วมสังคม ต่อไปถึงการเสนอแนะ และเมื่อมีความพร้อมดีแล้ว ก็นำเสนอต่างๆ ในการที่จะแก้ปัญหา และพัฒนาคนพัฒนาสังคม โดยสอดคล้องกับผลการสำรวจตรวจสอบที่ประจักษ์แล้วนั้น
อย่างไรก็ตาม ภารกิจที่ได้กล่าวมานั้น ขึ้นต่อความพร้อมและความพอใจ ซึ่งอาจจะเร็วหรืออาจจะช้า ไม่แน่ชัด
แต่เรื่องดีงามที่น่าจะทำได้ดี ก็คือ ในการศึกษาเพื่อผลิตแพทย์ใหม่นี้ อาจจะให้ได้แพทย์ผู้ทำหน้าที่รักษาคน พร้อมกับพัฒนามนุษย์ หรือรักษาร่างกาย พร้อมกับพัฒนาจิตปัญญาไปด้วย
บทบาทของแพทย์ยุคใหม่ ถ้าทำได้อย่างที่ว่านี้ จะสอดคล้องกับและเสริมกันดีแก่สังคมไทย ทั้งในแง่ที่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งแพทย์อยู่ในฐานะเป็นคนชั้นนำที่จะช่วยแก้ปัญหาความยากจน ความเจ็บไข้ และการขาดความรู้ ได้เป็นอย่างดี และในแง่ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยซึ่งสืบกันมา
ในวัฒนธรรมไทยนั้น ประชาชนนับถือหมอนับถือแพทย์เป็นทุนอยู่แล้ว ว่าเป็นผู้มีคุณงามความดีแห่งเมตตาการุณย์ และคุณหมอเข้าถึงคนทุกชั้นได้อย่างสนิทใจ ควรจะรักษาส่งเสริมวัฒนธรรมดีงามที่ว่านี้ไว้
เมื่อแพทย์ได้ฝึกศึกษาพุทธธรรมพอสมควรแล้ว ในเวลารักษาและฟื้นฟูร่างกายคนไข้ เมื่อเป็นโอกาส จะให้คำปรึกษา ให้ความรู้ ก็แนะนำสั่งสอนธรรมไปด้วย ที่จะเป็นประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์บ้าง ขั้นสัมปราย์บ้าง ไปตามเหมาะตามควร ก็จะเสริมความสุข และความเจริญงอกงาม ทั้งของบุคคล และของสังคมไทย ได้อย่างน่าชื่นชม