เมื่อกี้ได้พูดอธิบายความหมายของโพชฌงค์ ๗ แต่ละข้อๆ ไปแล้ว เมื่อเข้าใจธรรมที่เป็นหลักปฏิบัติเป็นรายข้อแล้ว ก็มาดูการนำธรรมเหล่านั้นไปปฏิบัติ หรือนำไปใช้งาน อย่างในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ลองยกตัวอย่างมาดูว่าเราจะใช้โพชฌงค์อย่างไร
เอาง่ายๆ อย่างที่ทางการประกาศว่า ในระยะเวลาที่มีปัญหาโรคโควิด-19 ระบาดนี้ ให้คนทำงานที่บ้าน อันนี้เป็นเรื่องที่จำเป็น ไม่ต้องมาเถียงกันแล้วว่าจะทำหรือไม่ทำ ทีนี้ บางคนก็ชอบ แต่สำหรับหลายคน เป็นเรื่องใหม่และแปลกไป ก็ไม่ถนัด และก็ไม่สบายใจ บางทีขัดอกขัดใจ ว้าวุ่นขุ่นเคือง แต่อย่างไรก็ตาม ดังที่ว่าแล้ว ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ก็ตกลงว่าต้องทำ
ทีนี้ เมื่อต้องทำงานที่บ้าน จะทำอย่างไร บางคนพอนึกถึงความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการทำงาน ก็มองกว้างออกไปทันทีว่า เออ... ในสถานการณ์ร้ายคราวนี้ คนต้องประสบปัญหาเรื่องการทำงานกันทั่วไปหมด คนจำนวนมากมายถูกเลิกงาน หยุดพักงาน ที่ไหนๆ ก็มีแต่เลิกงาน หยุดงาน พักกิจการ งานเก่าเลิกไป งานใหม่หาไม่ได้ เงินหมด ไม่มีปัจจัยยังชีพ เดือดร้อนแสนสาหัส
พอนึกได้ มองไปเห็นอย่างนี้ ก็หันไปสนใจปัญหาใหญ่ของสังคม เรื่องคนไม่มีงานทำ แล้วเดือดร้อนในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ นึกได้อย่างนี้ ก็เลยเอาเวลาและความคิดไปร่วมกับคนอื่นที่หาทางช่วยเหลือคนที่ตกงาน คนที่หมดอาชีพ ร่วมแก้ปัญหาความยากไร้ขาดแคลนในสังคม ส่วนเรื่องของตัวเองที่ต้องย้ายการทำงานมาที่บ้าน กลายเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่เป็นปัญหาเลย เรื่องแค่นี้ เดี๋ยวก็จัดให้ลงตัวได้
ถ้าจะคิด เขาก็มองว่า ดูสิ คนมากมายตกงาน หยุดงาน เดือดร้อนแทบไม่มีจะกิน เรานี้ยังมีงานทำ โชคดีกว่าเขามากมาย
คนที่นึกได้ แล้วมองกว้างออกไป และคิดแก้ปัญหาความเดือดร้อนของผู้คนอย่างนี้ ก็มาจากการมีสติในขั้นต้นอย่างหนึ่ง
ถึงตอนนี้ การตกลงจัดการในเรื่องที่จะย้ายการทำงานมาทำที่บ้าน ก็ยังค้างรออยู่ แต่เมื่อคนนึกคิดอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้แล้ว เขาก็คิดแก้ปัญหาคิดจัดการเรื่องของตัวเองนั้นไปตามเหตุผล โดยไม่ต้องมีความงุ่นง่านวุ่นวายเดือดร้อนใจมาแถมซ้ำตัว
ทีนี้ ในเรื่องการย้ายที่ทำงานมาทำที่บ้าน ที่เป็นปัญหาของตัวเองยังค้างอยู่นั้น ตอนนี้ก็อย่างที่ว่าแล้ว เป็นเรื่องที่จะจัดการให้เรียบร้อยลงตัวไปตามเหตุผล ไม่มีความรู้สึกวุ่นวายขุ่นเคืองขัดใจอะไรๆ ที่เรียกว่าเป็นด้านอารมณ์เข้ามาซ้ำเติมตัวเอง
คราวนี้ ก็มาจัดการเรื่องงานการนั้น ตามวิถีทางของสติปัญญา ในหลักโพชฌงค์
เขาก็มานึกว่า เออ... การที่เราต้องอยู่ทำงานที่บ้านนี่ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใหม่ เราได้จัดการวางแบบแผนแนวทางการทำงานในบ้านให้ได้ผลดีลงตัวหรือยัง
เขานึกด้วยว่า การย้ายที่ทำงานนั้นก็มีเรื่องข้างเคียงพ่วงมาด้วย ที่สำคัญคือเรื่องคน คราวนี้ คนที่อยู่ร่วมในที่ทำงาน เปลี่ยนจากคนทำงานมาเป็นคนที่อยู่ในบ้าน อาจจะเป็นคุณแม่ คุณพ่อ ลูกๆ หรือคนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมบ้าน แล้วเขาก็ไม่ได้ทำงานอย่างเดียวกับเรา จะทำงานโดยอยู่ด้วยกันอย่างไรให้มีความสุข แล้วถ้าให้ดี ก็ให้มาเกื้อกูลแก่การทำกิจทำหน้าที่การงานของกันและกันด้วย เออ... นี่เรายังไม่ได้จัดการวางแบบแผนระบบงานให้มันเรียบร้อยลงตัว อย่างนี้เรียกว่าสติ นึกขึ้นมาแล้ว
ที่นึกนั้น ก็คิดและรู้โดยมองเห็นด้วยว่า นี่ถ้าเราปล่อยไป แล้วจำเป็นต้องทำงาน โดยไม่ได้มานึกมาคิดจัดให้เรียบร้อย ท่านถือว่าประมาท ประมาทก็คือละเลย สิ่งที่ควรทำให้เรียบร้อย ให้เกิดผลดีที่มันควรจะเป็น แต่ไม่ทำ นี่เป็นความประมาท เมื่อเราไม่ประมาท ก็มีสตินึกขึ้นมาว่า เรื่องนี้ต้องคิดหาทางจัดวางให้เรียบร้อย ตรงนี้ก็เข้าสู่ข้อ ๒ ธัมมวิจัย
ถึงตอนนี้ ธัมมวิจัย ก็คือใช้ปัญญาคิดพิจารณาแยกแยะ เชื่อมโยงสืบค้นหาวิธีการที่จะทำให้การทำงานหรือกระบวนวิธีทำงานนั้นเป็นไปด้วยดี ซึ่งรวมไปถึงความสัมพันธ์กับผู้อื่นในบ้านในครอบครัวด้วย เมื่อคิดค้นหาไปๆ ก็อาจจะได้ความคิดดีๆ
ทีนี้ก็มานึกขึ้นได้ว่า เราควรจะฟังความรู้ความคิดเห็นของคนที่อยู่ในบ้านร่วมกันทั้งหมดว่า ทำอย่างนี้ๆ ดีไหม หรือเขาอาจจะมีความคิดเห็นอะไรดีๆ ตรงนี้ก็เข้าสู่วิธีของปัญญาตามหลักเลยทีเดียว คือการใช้ปัจจัยภายนอก หรือปัจจัยทางสังคมมาเสริมปัญญา ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์กับผู้อื่น
หลักที่พูดถึงนั้นคืออย่างไร? ธัมมวิจัยที่ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาค้นหาวิธีการที่จะให้ทำงานได้ดีนั้น ถ้าพูดสรุปความตามหลักก็คือ การวิจัยหรือธัมมวิจัยนั้น ก็เพื่อให้ได้สัมมาทิฏฐิ
สัมมาทิฏฐิ คืออะไร? สัมมาทิฏฐิ แปลกันว่า ความเห็นชอบ ถ้าแปลแบบชาวบ้านก็คือ “ข้อสรุปความคิดความเข้าใจที่ถูกต้อง” นี่คือสิ่งที่เราต้องการ หรือจุดประสงค์ของปัญญา เราวิจัยตอนนี้เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ถูกต้องดีที่สุดเท่าที่ทำได้ในตอนนั้น คือให้ได้สัมมาทิฏฐิ (เท่าที่พัฒนามาได้)
ทีนี้ หลักก็มีว่า สัมมาทิฏฐิมีข้อปฏิบัติหรือธรรมที่หนุนหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือ สากัจฉา ได้แก่ การสนทนา ถกปัญหา อภิปราย ให้ความรู้ความคิดเห็นแก่กัน มาถึงตอนนี้ เราต้องการได้ข้อสรุปความคิดเห็นที่จะให้ได้สัมมาทิฏฐิที่ดีที่สุด เราก็พูดคุยปรึกษาหารือกับคนในบ้าน บอกว่า วันนี้มาคุยกันหน่อยนะ ที่เราต้องอยู่บ้านและทำงานกันที่บ้านนี่ แต่ละคนก็ทำงานต่างกัน และบางคนก็ไม่ได้ทำงาน เรามาช่วยกันคิดวางวิธีอยู่ร่วมกัน ให้ทำงานโดยต่างคนต่างทำ แต่อยู่ร่วมกัน ให้ทุกคนอยู่และทำงานได้ดี อะไรทำนองนี้ ก็มาพูดคุยกันดูด้วยใจเที่ยงตรงไม่เอนเอียง จนกระทั่งปัญญามองเห็นเป็นที่สบายใจว่า ทำงานอย่างนี้ จะอยู่กันด้วยดีด้วย และงานของแต่ละคนก็เดินหน้าไปด้วยดีด้วย แถมมาหนุนมาเสริมกันด้วย อย่างนี้ก็ได้ความสบายใจ มั่นใจ
การดำเนินการในเรื่องนี้ ก็สำเร็จด้วยวิริยะ ถ้าได้พบวิธีการที่ดีก็เกิดมีปีติ ได้อิ่มใจ ปลื้มใจ แล้วก็เป็นอันได้ทำงานกัน ในบรรยากาศดีที่ทุกคนมีปัสสัทธิ ผ่อนคลาย ที่คนอยู่อย่างเกื้อกูลกัน งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข
ที่พูดมาอย่างนี้ก็เป็นตัวอย่าง ซึ่งเห็นได้ว่ากระบวนของโพชฌงค์ได้ครบ ก็ขอให้ไปพิจารณาเอาเองตลอดทั้ง ๗ ข้อ แต่ในที่นี้ต้องการพูดให้เห็นว่า ธรรมที่เกี่ยวข้องไม่ใช่ว่ามีเฉพาะ ๗ ข้อที่เป็นองค์ในนี้เท่านั้น ธรรมแต่ละข้อโยงไปถึงธรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเอง เพราะเป็นธรรมดาของความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัย จะพูดว่าธรรมทั้งหลายเรียกหากันและกันก็ได้ แต่ธรรมอื่นๆ ที่โยงไปถึงเหล่านั้นมิใช่เป็นองค์
ตรงนี้ก็เป็นอันได้บอกว่า เราใช้ปัญญาที่เป็นธัมมวิจัยเพื่อให้ได้สัมมาทิฏฐิ และสัมมาทิฏฐินั้นจะเกิดขึ้นโดยมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายอย่าง เช่น สากัจฉา เราก็จัดให้มีสากัจฉาเพื่อให้ได้สัมมาทิฏฐินั้น