ในสถานการณ์โควิด-19 นี้ โพชฌงค์ สวดก็ได้ แต่ถ้าใช้ จะยิ่งดี

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

โพชฌงค์ หลักธรรมใหญ่ ใช้สวดมนต์ก็ได้ เพื่อปูพื้นใจที่ดี

เรื่องพระปริตรก็เกิดมีเป็นมาอย่างที่ได้เล่าพอให้รู้เข้าใจคร่าวๆ แล้วนั้น ทีนี้ ในบรรดาปริตรเหล่านั้น ก็มีปริตรหนึ่ง ชื่อว่า “โพชฌังคปริตร” หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า มีการเอาโพชฌงค์มาใช้เป็นปริตรบทหนึ่งด้วย

เรื่องนี้ ขอทำความเข้าใจกันก่อนว่า ความจริง โพชฌงค์ หรือโพชฌังคะนี่ เป็นธรรมหมวดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเป็นหลักไว้ มีความสมบูรณ์ในตัวของหลักนี้เอง แปลง่ายๆ ว่า (ธรรมที่เป็น) องค์ของการตรัสรู้ มี ๗ ข้อ จึงเรียกชื่อเต็มว่า “โพชฌงค์ ๗” คือ เมื่อปฏิบัติได้เต็มครบ ๗ องค์นี้ ก็จะทำให้เกิดความตื่นรู้ ไปจนบรรลุจุดหมายสูงสุดถึงการตรัสรู้

โพชฌงค์ ๗ เป็นหลักธรรมใหญ่อันสำคัญอยู่อย่างนี้ แล้วต่อมาได้มีการนำเอาหลักโพชฌงค์ ๗ นี้มาใช้สวดเป็นปริตรบทหนึ่ง อันนี้เป็นเรื่องที่เป็นมาอีกขั้นตอนหนึ่ง

ทำไมจึงเอามาจัดเอามาใช้เป็นปริตร ก็อย่างที่ว่าแล้ว เรื่องเป็นมาในสังคมใต้บรรยากาศของศาสนาพราหมณ์ ที่กระหึ่มไปด้วยเสียงสวดมนต์/มนตร์ พระพุทธศาสนาไม่ยอมรับมนต์/มนตร์เหล่านั้น แต่ได้มีปริตต์/ปริตรขึ้นมา ซึ่งในคัมภีร์ยุคหลังบางแห่งใช้คำเลียนหรือล้อศัพท์ของพราหมณ์ เรียกปริตรว่าพุทธมนต์

ปริตรของพุทธ ที่เรียกแบบล้อคำของพราหมณ์ว่าพุทธมนต์นั้น ต่างจากมนต์/มนตร์/เวทมนตร์ของพราหมณ์อย่างไร ได้อธิบายไปพอสมควรแล้ว

ทีนี้ คำสอนคำแสดงธรรมในพระสูตรบางแห่งบ้าง ในบางชาดกบ้าง ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการอ้างอิงธรรม อ้างอิงความดีงาม อ้างอิงสัจจะ หรืออ้างอิงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณแล้ว พ้นภัยหายโรคเป็นต้น มีอยู่ที่ไหน ท่านก็นำมาจัดนำมาใช้เป็นบทสวดที่เรียกว่า ปริตร ซึ่งแปลว่าเครื่องคุ้มครองป้องกัน ปริตรนั้นก็มีหลายบท แล้วก็มีเพิ่มขึ้นๆ

คราวหนึ่งท่านได้คิดว่า หลักธรรมโพชฌงค์ ๗ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นี่ เอามาสวดเป็นปริตร จะคุ้มครองป้องกันให้พ้นภัยอันตรายได้ โดยเฉพาะในแง่ของโรคภัยไข้เจ็บ

ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ก็คือ มีเรื่องในพระไตรปิฎกเล่าไว้ว่า คราวหนึ่งพระมหากัสสปเถระ ซึ่งเป็นพระมหาสาวกสำคัญมากองค์หนึ่ง ได้อาพาธ ถึงขั้นป่วยหนัก

ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปทรงเยี่ยมพระมหากัสสปะ พระองค์ตรัสถามอาการอาพาธของท่าน และในการสนทนา ก็ทรงยกเรื่องโพชฌงค์ขึ้นมา แล้วตรัสบรรยายอธิบาย เป็นส่วนเสริมการเยี่ยมเยียนสนทนา

ที่จริง โพชฌงค์ก็เป็นธรรมที่พระมหากัสสปะรู้เข้าใจและได้ปฏิบัติมาสำเร็จผลจนบรรลุจุดหมายแล้ว แต่พระพุทธเจ้ามาตรัสอธิบาย เป็นการแสดงธรรมทบทวนและย้ำความสำคัญ ไม่ทราบว่ายาวนานเท่าไร ปรากฏว่า เมื่อตรัสจบลง พระมหากัสสปะชื่นชมยินดี มีความสุขใจมาก พูดอย่างภาษาชาวบ้านว่ามีกำลังใจแรงขึ้นมา เช่นว่า มีปีติ มีความซึ้งใจ จนทำให้ท่านหายอาพาธ

อีกคราวหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานะ ซึ่งก็เป็นพระสาวกที่สำคัญมาก เป็นอัครสาวกองค์ที่สอง ได้อาพาธลง พระพุทธเจ้าก็ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมและทักทายปราศรัย แล้วตอนหนึ่ง พระองค์ได้ตรัสบรรยายเรื่องโพชฌงค์ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พระมหาโมคคัลลานะท่านทราบดีอยู่ ทำนองว่าให้ท่านฟังสิ่งที่ท่านรู้เข้าใจได้ประสบมาเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านได้เจริญในธรรม จนได้บรรลุมรรคผล นิพพานมาแล้ว เท่ากับได้ทบทวนประสบการณ์ทางจิตใจและทางปัญญาที่ท่านได้ผ่านการปฏิบัติมาแล้ว ได้ฟื้นภาวะจิตที่ดีงาม มีปีติ มีความสุข เป็นต้นนั้นขึ้นมา

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสจบแล้ว พระมหาโมคคัลลานะก็ชื่นชมยินดี และในขณะที่จิตใจของท่านมีกำลังแข็งแรงขึ้นมา ท่านก็หายจากอาพาธนั้น

คราวหนึ่ง พระพุทธเจ้าเองประชวร ตอนนั้นพระมหาจุนทะซึ่งเป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง ได้มาเป็นผู้อุปัฏฐาก คอยเฝ้าดูแลอยู่ ในวาระหนึ่ง ท่านเข้ามาดูว่าอาการอาพาธของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไรบ้าง พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระมหาจุนทะว่า นี่เธอ.. เอาโพชฌงค์มาพูดอธิบายซิ

ที่จริง โพชฌงค์นั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบดี เพราะพระองค์ได้ตรัสแสดงไว้เอง แต่คราวนี้พระองค์จะทรงฟัง จึงตรัสให้พระมหาจุนทะกล่าวตามความรู้ความสามารถของท่าน พระมหาจุนทะก็กล่าวอธิบายแสดงโพชฌงค์ไปตามลำดับจนกระทั่งจบ พอจบลง พระพุทธเจ้าทรงพอพระทัย ก็ทรงหายอาพาธ

นี้คือเรื่องราวความเป็นมา ที่พระโบราณาจารย์ยกเป็นข้อปรารภ ในการพิจารณานำเอาโพชฌงค์มาจัดเป็นปริตรบทหนึ่ง และได้เรียบเรียงบทสวดที่เรียกว่าโพชฌังคปริตรขึ้นมา ซึ่งนิยมสวดให้คนเจ็บไข้ฟัง เพื่อช่วยให้หายจากโรค

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.