ในสถานการณ์โควิด-19 นี้ โพชฌงค์ สวดก็ได้ แต่ถ้าใช้ จะยิ่งดี

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

- ๑ -
ขั้นศรัทธา:
ให้สังคมสามัคคี คนมีกำลังใจ

คราววิกฤติ โควิด-19 เราอยู่กันด้วยความรู้เข้าใจและหวังดี
สวดมนต์ สวดปริตร คืออย่างไร ควรได้ทั้งความรู้และจิตใจที่ดี

เพื่อให้อยู่กันด้วยความรู้เข้าใจ ก็มาทำความเข้าใจในเรื่องเก่าๆ กันไว้นิดหน่อย การสวดโพชฌงค์นี้ ก็เป็นเรื่องในพระพุทธศาสนา ที่เรามีประเพณีสวดมนต์ซึ่งนิยมกันมาอย่างหนึ่ง เรียกว่าสวดพระปริตร ถือว่าเป็นการให้ความคุ้มครองป้องกัน ช่วยให้ปลอดภัยพ้นอันตราย

คำว่า “ปริตร” นี้ ชาวบ้านมักอ่านออกเสียงว่า “ปะ-ริด” แต่ถ้าถืออย่างทางการ ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ท่านให้อ่านว่า “ปะ-หริด” แปลง่ายๆ อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า เป็นเครื่องคุ้มครองป้องกัน บทสวดเพื่อความคุ้มครองป้องกันอย่างนี้ บทหนึ่ง ก็เป็นปริตรหนึ่ง ท่านจัดประมวลมาตั้งแบบแผน เป็นชุดเล็กมี ๗ เรียกว่าเจ็ดตำนาน และชุดใหญ่มี ๑๒ เรียกว่าสิบสองตำนาน

ควรทราบความเป็นมาของปริตรไว้สักหน่อย อย่างที่รู้กันดี พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีป ที่นั่น เวลานั้น เขาถือว่าพราหมณ์ และฤษีดาบส เป็นบุคคลชั้นสูง เป็นคนศักดิ์สิทธิ์ มักมีฤทธิ์มีอำนาจพิเศษ

ถือกันว่า พราหมณ์ และฤษีดาบสที่เก่งๆ มีมนต์ขลัง รู้มนตร์ในคัมภีร์อาถรรพเวท เมื่อโกรธหรือจะลงโทษใคร ก็ร่ายมนต์ด้วยฤทธิ์เดชของตน หรืออ้างอำนาจของเทพเจ้า สาปแช่งให้เป็นไปต่างๆ เช่นให้ศีรษะแตกตายใน ๗ วัน สามารถร่ายมนต์สะกดคนหรือสัตว์ทั้งหลายให้อยู่ใต้อำนาจของตัว สั่งบังคับให้ทำอะไรๆ ได้ตามใจปรารถนา เช่น สะกดให้หลับ สะกดให้อ้าปากค้าง พูดไม่ออก ได้ทั้งนั้น หรือทำร้ายให้เป็นไปต่างๆ สุดแต่จะข่มเหงรังแกหรือแก้แค้นกันอย่างไรๆ

สำหรับคนทั่วไป ซึ่งไม่มีฤทธิ์เดช เมื่ออยากมีอยากใช้มนต์ ก็ไปเรียนจากพราหมณ์ จากฤษี หรือจะลักจำเอา ก็นำไปใช้การได้

เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ได้สอนให้คนมีเมตตาการุณย์ ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้าย ไม่ทำการรุนแรง จึงไม่มีการใช้มนต์/มนตร์ (บาลี เป็น มนฺต - มนต์, สันสกฤต เป็น มนฺตฺร - มนตร์)

แต่คนทั้งสังคมนั้น คุ้นอยู่กับวัฒนธรรมเวทมนตร์ บางคนก็เป็นมนตรการหรือชำนาญมนตรวิทยามาก่อน แล้วสลัดเลิกมาเข้าสู่พระพุทธศาสนา แม้มาถือหลักพระพุทธศาสนาแล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้เรียนรู้ ไม่มีการศึกษาหนักแน่นเพียงพอ เมื่ออยู่ในบรรยากาศอย่างเก่าของสังคมแบบนั้น ก็อาจจะรู้สึกอ้างว้างหรือหวั่นไหว นี่คือสภาพที่ทำให้เกิดมีปริตร (บาลี: ปริตฺต) ขึ้นมาปิดช่องว่าง หรือเป็นทางเบี่ยงเชื่อมต่อเข้าสู่พระพุทธศาสนา

ปริตร แปลว่าเครื่องรักษาคุ้มครองป้องกัน ก็เป็นบทสวด แต่ไม่มีเรื่องของการสาปแช่งทำร้ายใช้โลภะโทสะอย่างมนต์ของพราหมณ์ ของฤษี (ตามปกติ ในคัมภีร์ไม่ใช้คำว่าสวดปริตร แต่ใช้คำว่าทำปริตร คือ ปริตฺตกรณ หมายความว่าทำเครื่องปกป้องรักษา)

ปริตรนั้นเน้นเมตตานำหน้าหรือเป็นตัวยืน ตั้งแต่จะเริ่มสวด ก็ให้ตั้งจิตเมตตาขึ้นมาก่อน และปริตรหลายบทก็มีเนื้อความที่เป็นการแสดงเมตตา คือปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ ต่อทุกคน แม้ต่อคนที่คิดร้ายหรือตั้งตัวเป็นศัตรู

ปริตรบางบทบอกสาระว่ามีความมั่นใจในตนเองที่มองเห็นว่าได้ทำกิจหน้าที่ถูกต้องหรือมีคุณความดีอย่างนั้นๆ แล้ว พร้อมกับมีเมตตาปรารถนาดีต่อคู่กรณีหรือต่อผู้อื่น

ปริตรที่บอกความกว้างๆ ก็คืออ้างอิงพระรัตนตรัย ซึ่งมีพระคุณยิ่งใหญ่กว้างขวางครอบคลุมความจริง ความบริสุทธิ์ ความถูกต้อง ความดีงามทั้งหมด โดยระลึกขึ้นมาทำให้เกิดกำลังความมั่นใจ คุ้มครองรักษาพาตนให้ปลอดภัยพ้นอันตราย

อาจจะพูดถึงสาระของปริตรเป็นแนวกว้างๆ ว่า เริ่มต้นก็ให้ตั้งเมตตาจิตขึ้นมา ต่อจากมีเมตตานำหน้าพาใจให้สงบเย็นดีแล้ว ก็มีสตินึกระลึกเอาสัจจะ เอาความจริง เอาธรรม เอาคุณความดีที่ตนมีตนปฏิบัติ เป็นที่อ้างอิงในการป้องกันรักษาตัวให้ปลอดภัยพ้นอันตราย ทำให้เกิดความมั่นใจในตนเอง เข้มแข็งมั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่สะทกสะท้าน และมีสติมั่น ใจอยู่กับตัว แล้วก็ใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างดีที่สุด

ทีนี้ สำหรับคนที่สวดโดยไม่รู้เข้าใจความหมาย อย่างในเมืองไทย คนทั่วไปไม่รู้ภาษาบาลี ก็สวดด้วยศรัทธา แม้จะไม่รู้เข้าใจเนื้อความ ก็ได้ผลในแง่ที่ทำให้ใจสงบ ใจมาอยู่กับตัว คือตั้งสติได้ แล้วก็มีกำลังใจ มั่นใจ

ถ้าชุมนุมสวดมนต์ ก็มีเพื่อน มีมิตรร่วมใจ ได้กำลังใจมาเสริมกัน ถึงจะไม่มาชุมนุมกันเป็นกายสามัคคี ก็มีจิตสามัคคี เมื่อได้อย่างนี้แล้ว ถ้าไม่มัวเพลินเรื่อยเปื่อยจบไปเปล่าๆ ก็พร้อมที่จะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่คิดหมายไว้โดยพร้อมเพรียงกัน

ดังที่ว่าแล้ว ปริตรนี้เกิดมีขึ้นในบรรยากาศของสังคมแบบพราหมณ์ที่มีมนต์ดังกระหึ่ม และพึมพำๆ อยู่ทั่วไป ในบางครั้งบางคราว ท่านจึงเอาคำว่ามนต์นั้น มาเรียกปริตร ในเชิงเทียบเคียงทำนองล้อคำล้อความของพราหมณ์นั้นว่า นี่เป็น “พุทธมนต์” และก็มีท่านผู้รู้ในเมืองไทยนี้ เรียกมนต์/มนตร์ ที่เป็นปกติของพวกพราหมณ์นั้น ให้เห็นต่างแยกออกไปว่า “เวทมนตร์”

(พระเถราจารย์บางท่าน เมื่อโต้กับพราหมณ์ เรียกคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้าว่า “พุทธมนต์” เพื่อให้พราหมณ์คิดเทียบเอง)

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.