อารยธรรมไทย: ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เบื้องหลังปัญหาการพัฒนาของไทย

นี้คือปัญหาต่างๆ ที่ยกมาแสดงให้เห็นว่า เป็นผลที่เกิดจากการพัฒนาที่ไม่ประสานกลมกลืน และตัวปัญหาเองก็มีลักษณะของความไม่ประสานกลมกลืน และความขาดดุลยภาพหรือไม่สมดุล เมื่อปัญหาอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมาแล้ว ก็มักพาให้ปัญหาอื่นเกิดตามซ้อนมา เช่นว่า เมื่อสภาพกรุงกับชนบทเจริญห่างไกลกัน ตอนแรก ชาวชนบทหลั่งไหลเข้ามาหาที่เรียนในเมืองกรุงอย่างที่ว่าเมื่อกี้ จนกระทั่งวัดกลายเป็นชุมชนชนบทกลางกรุงแล้ว ต่อมา ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเรียนหนังสือเท่านั้นที่ทำให้คนหลั่งไหลเข้ากรุง เมื่อเวลาผ่านไป ในชนบท ปัญหาความยากจนรุนแรงมากขึ้น ช่องทางจะทำมาหากินบีบแคบลง ชาวชนบทก็หลั่งไหลเข้ามาหางานทำในกรุงมากขึ้น ก็เกิดสลัมหรือที่เรียกว่าชุมชนแออัดขึ้นในกรุง จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ปัญหาก็ยิ่งขยายตัว เกิดมีแรงงานทาสเด็กในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ มีปัญหาโสเภณีมากมาย มีการหลอกลวง การทุจริตต่างๆ และในเวลาเดียวกัน ทรัพยากรคนในชนบท ก็ยิ่งร่อยหรอลงไปทุกที คนที่มีคุณภาพของชนบทเข้ามาเล่าเรียนจบการศึกษาในกรุงแล้วว่างงาน นอกจากไม่เป็นประโยชน์ แต่กลายเป็นปัญหาแก่กรุงแล้ว ก็ทำให้ชนบทสูญเสียแรงงานที่มีคุณภาพของตนไปอีกด้วย นี่ชั้นหนึ่งแล้ว คนในชนบทที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งยังพอจะเป็นแรงงานที่มีคุณภาพในชนบทได้บ้าง ก็กลับหลั่งไหลออกมาเป็นแรงงานที่ไร้คุณภาพในกรุงอีก นอกจากเข้ามาเป็นปัญหาและเอื้อประโยชน์แก่กรุงไม่ได้เท่าที่ควรแล้ว ก็ทำให้ชนบทสูญเสียแรงงานเพิ่มเข้าไปอีกชั้นหนึ่งเป็นซ้ำสอง กรุงก็ป่วย ชนบทก็เปลี้ย แทบไม่มีกำลังเหลือที่จะทำอะไรให้แก่ตัวเอง จึงมีแต่หมักหมมสะสมปัญหา นี้เป็นสภาพที่เกิดขึ้นมาแล้วจากการพัฒนาที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งนั้น เรามีระบบการต่างๆ มีความเจริญทางวัตถุวิทยาการที่ทันสมัย ก้าวหน้าไปเป็นอย่างดี แต่เบื้องหลังนั้นออกไป สภาพที่ไม่กลมกลืนไม่ประสานกันนี้ ก็บรรทุกเอาปัญหาแทรกซ้อนมาด้วยเต็มไปหมด ถ้าเราไม่สามารถแก้ปัญหาที่ซ้อนแฝงอยู่ ที่มีลักษณะของความไม่สมดุลและไม่กลมกลืนกันนี้ให้สำเร็จแล้ว ความเจริญต่างๆ ที่ทันสมัยมากมายของเรา ก็ไม่ค่อยมีคุณค่าอะไร เพราะมันกลายเป็นความเจริญที่มีปัญหา

ตกลงว่า ปัญหาการพัฒนาในสังคมไทย มีลักษณะพิเศษของตัวเอง ซึ่งบางส่วนก็เหมือนสังคมอื่น แต่บางส่วนก็ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะในส่วนที่ว่ามานี้ ก็เป็นลักษณะที่เรามีเฉพาะตัว ซึ่งจะต้องเข้าใจตัวเองให้ชัด การที่จะไปแก้ปัญหาโดยวิธีเอาอย่างสังคมอื่นนั้น เขามีปัญหาไม่เหมือนเรา และเหตุเกิดของปัญหาก็ไม่เหมือนกัน แล้วจะแก้ปัญหาด้วยวิธีอย่างเดียวกันได้อย่างไร ฉะนั้น ถ้าจะแก้ปัญหา ก็ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องตรงตามสภาพที่เป็นเรื่องเฉพาะของตัวนี้ ตัวแกนของปัญหาก็ได้กล่าวมาแล้ว คือการพัฒนาที่ไม่ประสานกลมกลืน ซึ่งมีลักษณะสำคัญ ๒ อย่างคือ

  1. องค์ประกอบต่างๆ ของสังคมไทยเจริญเติบโตอย่างลักลั่น ไม่สอดคล้อง ไม่สมดุลกัน บางส่วนเจริญล้ำไป บางส่วนล้าหลังอยู่
  2. องค์ประกอบอย่างเดียวกัน เจริญก้าวหน้าไปโดยไม่สืบทอดต่อเนื่อง เช่น มีเก่ากับมีใหม่ ซึ่งขาดตอนจากกัน เมื่อมีกิจการและสถาบัน เป็นต้น บางอย่างที่เริ่มต้นขึ้นมาใหม่ โดยของเก่าก็ยังมีอยู่ ก็ไม่ประสานกลมกลืนเข้าเป็นเนื้อเดียว

ฉะนั้น การแก้ปัญหาก็คือ จะทำอย่างไรให้องค์ประกอบทุกอย่างประสานกลมกลืนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ต้องเป็น ๒ อย่าง ไม่ใช่เก่ากับใหม่ หรือของในกับของนอกนี้อย่างหนึ่ง แต่สำหรับของที่ไม่สมควรจะกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ก็ต้องยอมรับทั้ง ๒ อย่างให้มันมีโดยชัดเจน และให้ความเอาใจใส่โดยชอบโดยถูกต้อง มิฉะนั้นก็จะสูญเสียอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน คือเราให้ความเอาใจใส่ในเรื่องอย่างหนึ่ง แต่อีกอย่างหนึ่งถูกปล่อยปละละเลยทอดทิ้ง ปัญหาก็เกิดขึ้นอย่างที่หลายคนเป็นห่วงว่าภูมิธรรมภูมิปัญญาแบบไทยได้สูญหายไป

เป็นอันว่า ประเทศไทยได้เร่งรัดสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ ให้ทัดเทียมกับประเทศตะวันตก เพื่อให้พ้นภัยคุกคามของประเทศที่ล่าอาณานิคม การศึกษาวิทยาการต่างๆ ก็เน้นวิชาที่จะทำให้ทันสมัยก่อน โดยมุ่งผลิตคนเข้ารับราชการ ซึ่งมีศูนย์รวมอำนาจอยู่ที่ส่วนกลางในกรุงเทพฯ ขอเน้นความมุ่งหมายเดิมในการพัฒนาประเทศที่กล่าวมาแล้ว คือการทำประเทศให้เจริญก้าวหน้าทันสมัยอย่างประเทศตะวันตก เพื่อต่อสู้ต้านทานให้รอดพ้นภัยลัทธิอาณานิคม นี้เป็นความมุ่งหมายที่จะต้องตระหนักไว้ ต่อมา ประเทศไทยได้ผ่านพ้นภัยลัทธิอาณานิคมไปแล้ว แต่การเจริญหรือการพยายามที่จะเจริญอย่างประเทศตะวันตก ก็ดำเนินต่อมา ในเมื่อการพยายามเจริญอย่างประเทศตะวันตกนั้นหมดความหมายเดิม คือ ความมุ่งหมายที่ว่านั้นได้จบสิ้นลงไปแล้ว เราก็ไม่ได้ตั้งความมุ่งหมายใหม่ขึ้นมาให้แก่การสร้างความเจริญที่จะทำกันต่อไป ความมุ่งหมายเดิมที่เคยมีนั้นก็หดห้วนเข้า ก่อนนั้นบอกว่าสร้างความเจริญให้ทัดเทียมประเทศตะวันตก เพื่อให้ต่อสู้ต้านทานเขาได้ แต่พอตัดคำว่าเพื่อให้ต่อสู้ลัทธิอาณานิคมได้ออกไปแล้ว ก็เหลือแค่ว่า เพื่อสร้างความเจริญให้ทัดเทียมประเทศตะวันตก เมื่อการที่จะต้องต่อสู้หมดไป ก็เหลือแต่การที่จะตามเขาหรือเอาอย่างเขา ฉะนั้น การสร้างสรรค์พัฒนาประเทศชาติในระยะต่อมา เมื่อหมดความมุ่งหมายเดิมไปแล้ว ก็มีความหมายเหลืออยู่เพียงเป็นการตามอย่างประเทศตะวันตก อันนี้เป็นจุดเน้นที่สำคัญมาก ทำไมเราจึงกลายไปเสีย แรงใจหรือจิตสำนึกในการที่จะพัฒนาประเทศชาติ เพื่อให้มีกำลังต่อสู้ต้านทานประเทศอาณานิคมหรือต่อสู้ภัย ถ้ามีอยู่ชัดเจนแล้ว พฤติกรรมจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้ามันหมดไป ก็จะเหลือแต่การตามอย่าง เมื่อความหมายเปลี่ยนไป พฤติกรรมของคนก็เปลี่ยนไปด้วย และความจริงก็ปรากฏว่า เมื่อเราพัฒนาเสร็จ ได้ผล ความมุ่งหมายเดิมเสร็จสิ้นลงแล้ว เราไม่ได้ตั้งความมุ่งหมายใหม่ให้แก่การพัฒนาประเทศชาติ ความมุ่งหมายที่ไม่ชัดเจนในการพัฒนาก็กลายเป็นความมุ่งหมายที่จะเจริญตามอย่างเขาไป กลายเป็นว่า การตามอย่างนี้คือความมุ่งหมายของการพัฒนา ประเทศชาติ จนกระทั่งแม้แต่ความคิดจิตใจก็ถูกหล่อหลอมด้วยความเคยชินโดยไม่รู้ตัว ให้กลายเป็นจิตใจแบบผู้ตาม หรือจิตใจของนักตาม

นอกจากนั้น ยังมีสิ่งที่ซ้ำเติมอีก คือ พร้อมกับความเจริญของประเทศตะวันตก หรืออารยธรรมตะวันตกที่เข้ามานั้น ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมก็เข้ามาด้วย ระบบทุนนิยมและอุตสาหกรรมที่เข้ามาในประเทศไทยนี้ เข้ามาในลักษณะที่เป็นผลิตภัณฑ์สินค้าสำเร็จรูป เป็นเครื่องบำรุงบำเรอความสุขความสะดวกสบายที่เขาผลิตเสร็จแล้ว ซึ่งคนที่เรานับถือว่าเป็นชาวอารยประเทศนำเข้ามา เรารู้จักระบบอุตสาหกรรมในรูปของผลผลิตจากอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการและเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเจริญก้าวหน้า เพราะฉะนั้น การมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย หรือผลิตภัณฑ์สินค้าเหล่านั้นนั่นแหละ คือ เครื่องหมายของความเจริญ จึงเป็นอันว่า ในความต้องการที่จะเจริญแบบประเทศตะวันตกนั้น ความหมายของการเจริญอย่างประเทศตะวันตกที่เกิดขึ้นในใจหรือในความคิดของคนไทย ก็คือ เจริญอย่างเขา หมายถึง มีกิน มีใช้ มีบริโภคอย่างเขา ฉะนั้น เขามีสินค้าอะไร เขากินอะไร ใช้อะไร เรามีกินมีใช้อย่างเขา เราก็เจริญ ความเจริญอย่างเขาไม่ได้มีความหมายว่า ผลิตได้อย่างเขาหรือทำได้อย่างเขา อันนี้ก็สำคัญมาก นับว่าเป็นตัวแกนของปัญหาอย่างหนึ่งทีเดียว เมื่อเราเข้าใจความหมายของคำว่า เจริญ คือเจริญอย่างเขา และเจริญอย่างเขา คือมีกิน มีใช้ มีบริโภคอย่างเขา ก็ทำให้เกิดค่านิยมบริโภค เพราะฉะนั้น ระบบอุตสาหกรรมและทุนนิยมของประเทศตะวันตก จึงเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับค่านิยมบริโภค แล้วก็ทำให้เกิดวัฒนธรรมบริโภค แล้วก็ไปสอดคล้องกับความหมายของการพัฒนาประเทศ ในลักษณะที่เป็นการตามอย่าง คือการเจริญโดยให้มีใช้มีบริโภคตามอย่างเขา ประเทศเราก็พร้อมที่จะเป็นผู้รับซื้อสินค้าจากต่างประเทศมาใช้ เป็นอันว่า การพัฒนาประเทศ และการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมของสังคมไทย เป็นไปในลักษณะที่เป็นการตามอย่าง โดยคอยรับเอาความเจริญในรูปของผลิตภัณฑ์สินค้าสำเร็จรูป ของฟุ่มเฟือยต่างๆ จากประเทศตะวันตก หรือจากประเทศที่พัฒนาแล้ว อันสอดคล้องไปกันด้วยดีกับค่านิยมบริโภค ที่ต่อมากลายเป็นวัฒนธรรมบริโภคนั้น

ขอพูดอีกสักแง่หนึ่ง คือ แม้แต่สมบัติและศักดิ์ศรีความดีเด่นที่มีอยู่แล้ว ก็ยังปล่อยให้สูญเสียไป ตัวอย่างเช่น ถอยหลังไปสัก ๒๐ ปี เป็นที่ชัดเจนว่า ข้าวเป็นสินค้าหลักของประเทศไทย ข้าวไทยมีชื่อว่าคุณภาพดี การทำนาเป็นอาชีพพื้นบ้านสืบต่อมาตามประเพณี แม้จะถือกันว่าชาวนามีฐานะยากจน และชาวนาจำนวนไม่น้อย ไม่มีที่ทำกินของตนเอง ต้องเช่านาคนอื่นทำ เป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องแก้ไข แต่ก็ยังนับว่ามีปัจจัยการผลิตพร้อมเป็นของตนเอง โดยเฉพาะส่วนใหญ่อาศัยธรรมชาติ ถึงแม้ปีไหนทำนาไม่ได้ผล ก็เพียงว่าไม่ได้อะไร อยู่ในขั้นที่พอพึ่งตัวเองได้ แต่พัฒนาไปพัฒนามาถึงปัจจุบันนี้ มีอาการภายนอกดูโก้ดีว่าเจริญด้วยเทคโนโลยี แต่ปัจจัยการผลิตแทบทุกอย่างเป็นของต้องซื้อหาจากภายนอก ทั้งรถไถ น้ำมัน ปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืช ล้วนทำเองไม่ได้เลย ต้องซื้อจากต่างประเทศทุกอย่าง ถึงแม้ถ้าผลิตข้าวได้มาก คุณภาพก็ต่ำลง ขายไม่ได้ราคา เงินที่ขายได้มา ก็หมดไปกับสินค้าเทคโนโลยี เป็นค่าจ้างรถไถ ค่าน้ำมัน ปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืช ส่งเงินออกไปให้แก่ประเทศที่พัฒนาแล้ว แทบไม่เหลือ หรือบางทีก็ไม่พอ ต้องเป็นหนี้ ยิ่งปีไหนทำนาไม่ได้ผล เช่น น้ำท่วมเสียหาย ก็ยิ่งซ้ำร้าย ราคาเทคโนโลยีต้องจ่าย แต่รายได้ไม่มี หนี้สินเพิ่มพูน ฐานะมีแต่จะตกต่ำจมปลัก ปัญหาเก่าคือการขาดที่ทำกินของตนเอง ก็ยังไม่สามารถแก้ไข แต่กลับทรุดหนักลง ชาวนาที่สูญเสียที่ทำกินมีจำนวนมากขึ้น ยิ่งทำนา ยิ่งต้องขายนา ไม่ต้องพูดถึงชาวนาที่เช่านาเขาทำอยู่แล้ว แม้แต่คนที่เคยมีที่นาของตนเอง ก็กลายเป็นคนหมดที่ หมดทุน ขายที่ทำกินของตนเอง แล้วอพยพออกจากถิ่น ไปหากินทางรับจ้างในถิ่นอื่น เข้าทำนอง พลัดที่นา คลาที่อยู่ อีกทั้งธรรมชาติแวดล้อมก็ถูกทำลายด้วยเทคโนโลยีเหล่านั้น คุณภาพชีวิตก็เสื่อมทรามลง เช่น สุขภาพทรุดโทรม เพราะการฉีดยาฆ่าแมลง เป็นต้น ดินก็เสียเพราะปุ๋ยเคมี อยู่ในสภาพที่พึ่งตัวเองแทบไม่ได้เลย หรือพึ่งตัวเองไม่ได้ยิ่งๆ ขึ้น แม้แต่ในเรื่องที่ตนเองเคยเป็นเอกเป็นเจ้าแห่งความเชี่ยวชาญ ควรจะเป็นผู้ยอดเยี่ยมโดยความเป็นตัวของตัวเอง ก็ยังกลับกลายไปเปลี่ยนเป็นต้องอาศัยพึ่งพาเขาอื่น เป็นการพัฒนาออกจากความพึ่งตนเองได้ ไปสู่ความพึ่งพาขึ้นต่อผู้อื่น กลายเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจ หรือพัฒนาไปๆ จนหมดความสามารถในการพึ่งตนเอง การพัฒนาในลักษณะเช่นนี้ ย่อมเป็นการพัฒนาที่สร้างปัญหา และไม่เป็นการพัฒนาที่พึงปรารถนาอย่างแน่นอน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.