ที่ว่าวิทยาการต่างๆ เจริญตรงออกไปด้านเดียวนั้นเป็นอย่างไร การพัฒนาของวิชาการแบบตะวันตกนี่เจริญมาแบบไม่ประสานกัน อย่างที่พูดแล้วว่าเป็นความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง จะขอยกตัวอย่าง เช่น วิชาเศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ถือตัวว่าเป็นวิชาสังคมศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สุด แต่จะเป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร ขอพูดให้เห็นสักอย่างหนึ่งคือ เรื่องของวิทยาศาสตร์นั้นเกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์แห่งเหตุปัจจัย ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุปัจจัยเป็นเรื่องสำคัญและเป็นฐานของวิทยาศาสตร์ เหตุปัจจัยส่งต่อกันไปเรื่อยๆ จากอันนี้ก็เป็นเหตุให้เกิดผลนั้น ผลนั้นกลับเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดผลนี้ ผลนี้กลายเป็นเหตุอีกทำให้เกิดผลอื่นต่อไปเรื่อยๆ เป็นกระบวนการ ความต้องการเป็นฐานแรกของเศรษฐศาสตร์ การที่มนุษย์พยายามแสวงหาและผลิตอะไรต่างๆ ขึ้นมาก็เพื่อสนองความต้องการ การสนองความต้องการนี้จบสิ้นลงด้วยการบริโภคแล้วเกิดความพอใจ เพราะฉะนั้น เรื่องของเศรษฐศาสตร์นี้แทบจะพูดได้ว่า เริ่มต้นด้วยความต้องการ และจบลงด้วยการบริโภค พอได้บริโภคก็ได้สนองความต้องการ เกิดความพอใจ แล้วก็จบ แต่เป็นการจบในแง่วิชาการเท่านั้น ในความเป็นจริงมันไม่จบ ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยมันจบไม่ได้ พอได้บริโภคแล้วเกิดความพอใจ เรานึกว่าจบ แต่ความจริงเมื่อได้บริโภคแล้วมันก็จะเป็นเหตุก่อผลต่อไปอีก การบริโภคนี้จะเป็นเหตุให้เกิดผลอะไร ยกตัวอย่างง่ายๆ เราได้กินอาหารเสร็จแล้วจะเป็นเหตุอย่างไร ในด้านที่หนึ่ง ก็เป็นเหตุให้ร่างกายได้รับการตอบสนองความต้องการ คือหายหิวและร่างกายเจริญเติบโตซ่อมแซมตัวเองได้ นี้ด้านหนึ่ง ซึ่งก็เป็นผลที่นักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้คำนึง อีกด้านหนึ่ง การบริโภคอาจจะก่อให้เกิดผล คือบริโภคเอร็ดอร่อยมาก แต่กินเกินพอดี กินไปกินมา อาหารไม่ย่อยเกิดโทษแก่ร่างกาย ฉะนั้น การบริโภคไม่จบแค่ความพอใจเท่านั้น แต่จะเป็นเหตุปัจจัยต่อไปอีก คือ การบริโภคอาจจะเป็นปัจจัยให้เกิดคุณภาพชีวิตก็ได้ หรือจะเป็นสาเหตุของการทำลายคุณภาพชีวิตก็ได้ และต่อจากนี้แล้วมันก็ยังจะเป็นเหตุปัจจัยต่อไปอีก ทำให้เกิดผลต่อชีวิตมนุษย์และสังคมมากมาย เศรษฐศาสตร์จบ แต่กระบวนการของเหตุปัจจัยไม่จบ ดังนั้น เศรษฐศาสตร์แบบปัจจุบัน จึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ วิชาการปัจจุบันนี้แทบทุกอย่างจะเป็นอย่างนี้ทั้งสิ้น คือ มีจุดจบในสาขาของตัวเองแล้วไม่ต่อ เมื่อไม่ต่อก็ไปไม่ตลอดกระบวนการของเหตุปัจจัย ไม่ครบวงจร ก็แก้ปัญหาของมนุษย์ไม่ได้ อันนี้เรียกว่าการศึกษากระบวนการของเหตุปัจจัยไม่ตลอดสาย ไม่ครบวงจร
ต่อไปอีกอย่างหนึ่งก็คือ วิทยาการยุคอุตสาหกรรมมีลักษณะที่ไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับวิชาการด้านอื่น สิ่งทั้งหลายในชีวิตและในสังคมมนุษย์นั้น จะต้องมีความอิงอาศัยซึ่งกันและกันทุกอย่าง เช่น กายกับใจของเรานี้ก็มีความสัมพันธ์อิงอาศัยซึ่งกันและกัน กายมีความเครียดมากก็อาจจะเกิดภาวะที่ทำให้จิตใจไม่สบาย ปัญหาทางจิตใจก็เกิดขึ้น เมื่อมีปัญหาทางจิตใจ ก็อาจจะทำให้ร่างกายมีโรคภัยไข้เจ็บได้ หรือเมื่อชีวิตของเรานี้ ไปสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ถ้าชีวิตกับธรรมชาติอยู่กันไม่ดี เราอาจจะไปทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ แล้วสภาพแวดล้อมนั้นเน่าเสีย ก็กลับมาเป็นปัญหาต่อสุขภาพของเราเองอีก หรือคนไม่กินอาหารตามธรรมชาติ ใส่สารเจือปนมากก็ทำให้เกิดพิษแก่ร่างกาย เกิดเป็นโรคขึ้น หรือว่าคนอยู่ด้วยกันในสังคม ถ้าอยู่อย่างไม่กลมกลืนมีความขัดแย้งแก่งแย่ง ก็มีปัญหาเกิดโทษขึ้นมา ทีนี้ ในการพิจารณาปัญหาต่างๆ วิชาการปัจจุบันจะพิจารณาเฉพาะในแง่ของตัวเองโดยขาดความเชื่อมโยง เช่น นักเศรษฐศาสตร์อาจจะพิจารณาความเจริญ หรือความเป็นอยู่ของพลเมืองหรือประชาชนในประเทศหนึ่งด้วยการดูผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือแม้กระทั่งว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัว พอบอกว่าประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเท่านี้ หรือแม้แต่จะเฉลี่ยไปถึงภาคว่า ภาคนี้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเท่านั้น ถ้าคร้าน ไม่มีการวิเคราะห์ต่อไป ก็ลงสรุปเอาว่า คนไทยมีความเป็นอยู่ขนาดนั้น ซึ่งที่จริงอาจจะผิดพลาดไปมาก เช่น ในการเฉลี่ยรายได้ของคนในชาตินี้ สมมติว่า มีคนอยู่ห้าร้อยคนในประเทศไทยที่มีรายได้ปีละสองร้อยล้านบาท คน ๓ ล้านคนมีรายได้ปีละ ๗ หมื่นบาท คน ๕ ล้านคนมีรายได้ปีละ ๓ หมื่นบาท ทีนี้อีก ๔๕ ล้านคนมีรายได้ปีละพันบาท พอเฉลี่ยรายได้ต่อปีต่อคน ก็กลายเป็นว่าคนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวคนละตั้ง ๙,๕๐๐ บาทต่อปี ถ้าเราเอาตัวเลขอย่างนี้มาวัด ก็กลายเป็นว่า คนไทยนี้มีความเจริญเป็นอยู่พอไหว รายได้ต่อหัวตั้งเกือบหนึ่งหมื่นบาท ดังนี้เป็นต้น เมื่อสรุปกันง่ายๆ อย่างนี้ ก็เป็นแง่หนึ่งที่อาจจะทำให้แก้ปัญหาไม่ถูกต้อง
แต่แค่นี้ยังไม่พอ ข้อพิจารณาต่อจากนี้ก็คือ แม้แต่การเอารายได้ต่อหัวของคนมาวัดกันก็ไม่ได้ เช่น วัดสังคมไทยกับสังคมอเมริกัน คนในสังคมอเมริกัน มีรายได้หมื่นบาทต่อปี คงอยู่ไม่ได้ แต่คนไทยในชนบทอาจจะอยู่ได้ และอาจจะมีความสุขพอสมควรด้วย ปัจจัยที่ทำให้คนมีชีวิตอยู่ได้และมีความสุขอาจจะมีตั้งหลายอย่างหลายประการ ไม่ใช่จะมามองดูรายได้เฉลี่ยต่อหัวอย่างเดียว เช่น ในบางท้องถิ่น ความเป็นอยู่ของคนไม่ค่อยอาศัยเงิน เขาอาจจะอยู่ด้วยอาศัยพืชพันธุ์ธัญญาหารตามธรรมชาติมากสักหน่อย การใช้เงินก็ไม่ค่อยมีความสำคัญ ในกรณีอย่างนี้ จะเอารายได้เฉลี่ยต่อหัวไปวัดความเป็นอยู่ของเขาได้อย่างไร ในด้านความสุขก็เกี่ยวกับความต้องการอีก คนที่มีความต้องการน้อย อาจมีความสุขมากกว่าคนที่มีความต้องการมากซึ่งมีรายได้เท่ากัน ปัญหาทั้งหลายมีแง่พิจารณาหลายอย่าง มีทั้งองค์ประกอบทางสังคม ค่านิยม ตลอดจนคุณธรรมในจิตใจ เรื่องราวในความเป็นจริงเป็นอย่างนี้ แต่วิชาการแต่ละสาขา พิจารณาเฉพาะในแง่ของตัวเอง จึงพูดได้ว่า วิชาการเหล่านั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะขาดสิ่งหนึ่งคือ ความเชื่อมโยงประสาน นี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
รวมความว่า ลักษณะสำคัญ ๒ อย่างที่เป็นเหตุให้วิทยาการทั้งหลายมาถึงความอุดตันตามที่กล่าวมานี้ ก็คือ ประการที่หนึ่ง การมองกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยไม่ทั่วตลอด ไม่ตลอดสาย ไม่ครบวงจร และประการที่สอง การมองปัญหาแต่ในแง่ของตน ไม่เชื่อมโยงกันกับองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้การพิจารณาปัญหาต่างๆ ติดตัน แก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด นี้คือความเจริญของวิทยาการในสังคมแบบอุตสาหกรรม ซึ่งมีลักษณะที่เขาเรียกว่าเป็นทัศนะแบบแบ่งซอย คือแบ่งซอยทุกอย่างออกไป แล้วก็มองในแง่เดียว ไม่โยงกับอย่างอื่น แต่ถ้ามองดูตามหลักความจริงที่ควรจะเป็น จะเห็นว่า ในเรื่องทุกอย่าง จะต้องมองเหตุปัจจัยให้ตลอดสาย เมื่อมีเหตุอย่างหนึ่งและผลเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่ได้จบแค่นั้น แต่จะเป็นเหตุปัจจัยส่งผลต่อไปเรื่อยๆ และจะต้องเชื่อมโยงองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องเข้ามาถึงกัน เหมือนอย่างในหลักพระพุทธศาสนา เมื่อพูดถึงชีวิต เราก็แยกออกเป็นนามรูป เป็นกายกับใจ แล้วแยกออกไปเป็นขันธ์ห้า ขันธ์ห้าแยกออกไปอีก แต่ละอย่างแยกออกไปเป็นอะไรต่อมิอะไรมากมาย แต่แยกเสร็จแล้วต้องโยงกันด้วยว่า ส่วนที่แยกย่อยเหล่านั้น มีความสัมพันธ์โยงประสานกันอย่างไร หลักสำคัญคือแยกแล้วต้องโยงให้ได้ แต่ความเจริญในยุคปัจจุบันมีแต่แยกแล้วไม่โยงกัน ก็จึงติดตัน
วิธีสร้างความเจริญในยุคต่อจากนี้ไป ไม่ใช่ว่าควรจะเลิกแยก แต่แยกแล้วต้องโยงด้วย อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ สิ่งทั้งหลายเมื่อแยกออกไปแล้วศึกษาเฉพาะอย่างๆ มันก็เป็นองค์ประกอบที่ตาย เหมือนอย่างร่างกายของเรา ถ้าแยกออกไปเป็นท่อนเป็นชิ้นแล้ว ก็เป็นของตาย การศึกษาอย่างนั้นไม่จบไม่ครบถ้วน การศึกษาที่จะครบถ้วนได้จะต้องมองเห็นสิ่งนั้นในขณะทำหน้าที่ของมัน โดยประสานสัมพันธ์กับสิ่งอื่นด้วย เหมือนกับร่ายกายของเรานั้น เราจะศึกษาให้เข้าใจชัดเจน ถ่องแท้ ก็ต้องศึกษาในขณะที่มันทำงานด้วย เพราะในการทำงานนั้น ส่วนย่อยทุกอย่างจะทำหน้าที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับส่วนอื่น มีผลกระทบต่อส่วนอื่น และได้รับผลกระทบจากส่วนอื่นด้วย หรือเหมือนกับคนที่ศึกษาเครื่องยนต์ จะถอดชิ้นส่วนทุกชิ้นแยกออกมาศึกษาเท่านั้น ยังไม่พอ ต้องศึกษาการที่มันทำงานสัมพันธ์กับชิ้นส่วนอื่นๆ ในกระบวนการและระบบทั้งหมดด้วย เพราะฉะนั้น ในทางพุทธศาสนา เราแยกชีวิตออกเป็นขันธ์ ๕ และโยงขันธ์ทั้ง ๕ ให้เห็นความสัมพันธ์กันแล้วก็ยังไม่พอ ต้องศึกษาขันธ์ ๕ นั้นในขณะทำหน้าที่ในความเป็นจริงอีกด้วย โดยมาดูกระบวนการที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาอิงอาศัยซึ่งกันและกัน
ที่พูดมานี้ ก็ต้องการให้เห็นว่า ความเจริญในยุคอุตสาหกรรม ที่ชำนาญในด้านการแยกหรือการแบ่งซอยนั้น ได้ขาดหลักสำคัญไปอย่างหนึ่ง คือการแยกแล้วโยง เมื่อแยกแล้วโยงก็จะทำให้เห็นความจริงของทุกส่วนทั่วตลอด ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบทั้งหลายภายในองค์รวม ทำให้เกิดภาวะสมดุลพอดี ประสานกลมกลืน ที่องค์ประกอบทั้งหลายจะอยู่ร่วมกันด้วยดี เมื่อองค์ประกอบอยู่ร่วมกันดีมีความสมดุลแล้ว องค์รวมก็อยู่ดีสมบูรณ์ด้วย ในการมองชีวิตก็ต้องมองความสัมพันธ์ให้ครบถ้วน มองครบทั้งกายและใจ ไม่ใช่มองส่วนใดส่วนหนึ่ง ต้องมองความเป็นไปของกายว่าสัมพันธ์กับใจอย่างไร ใจเป็นไปสัมพันธ์กับกายอย่างไร เมื่อมองกายกับใจสัมพันธ์แล้วก็มองทั้งชีวิตว่าสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างไร แล้วก็ไปสัมพันธ์กับสังคมอย่างไร อันนี้เป็นหลักของการอิงอาศัยและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น วิทยาการต่างๆ จะต้องถูกมองและนำไปใช้โดยวิธีใหม่ ในลักษณะที่โยงกัน ให้เกื้อกูลแก่ชีวิตที่อิงอาศัยอยู่กับธรรมชาติและสังคมโดยสอดคล้องกลมกลืน อย่างไรก็ตาม การที่เราได้เจริญมาในวิทยาการสาขาต่างๆ แบบชำนาญพิเศษเฉพาะทางนั้น ก็ไม่ใช่ไร้ประโยชน์ แต่ถึงเวลาที่ต้องพิจารณาหรือคิดต่อไปอีกว่า จะนำเอาวิชาการต่างๆ เหล่านั้นมาโยงกันได้อย่างไร หรือพูดให้ถูกว่า จะต้องศึกษาดูว่า วิทยาการเหล่านั้นมีความสัมพันธ์และทำหน้าที่เชื่อมประสานโยงถึงกันอย่างไร ภายในภาพรวมของความเป็นจริง