การศึกษาเพื่อสันติภาพ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ถ้าไม่หลงโลกามิส ก็จะเป็นอิสระและสันติสุขก็จะยิ่งพัฒนา

คนเรานี้พัฒนาได้ เมื่อพัฒนาแล้วเราก็สามารถมีความสุขด้วยตัวเองมากขึ้น และข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนานี่ท่านสอนให้เราพัฒนาโอกาสและความสามารถในการที่จะมีความสุขเพิ่มขึ้นด้วย มนุษย์นั้นตอนแรกเราอยู่โดยพึ่งพาวัตถุมากหน่อย ความสุขของเราขึ้นต่อวัตถุมากหน่อย แต่เมื่อพัฒนาตนต่อไป ชีวิตของเราดีขึ้นประเสริฐขึ้น ชีวิตและความสุขของเราก็ขึ้นต่อวัตถุน้อยลง ซึ่งทวนกระแสตรงข้ามกับระบบปัจจุบัน

ในระบบปัจจุบัน โดยเฉพาะในระบบแข่งขัน ตอนแรกเราเกิดมาในโลกชีวิตขึ้นต่อวัตถุน้อย ความสุขขึ้นต่อวัตถุน้อย เรายังมีจิตใจที่มีความสุขด้วยตนเองได้ แต่ต่อมาอยู่นานเข้า ความสุขในตัวเองหมดไป มีแต่ความสุขที่ไปฝากไว้กับวัตถุภายนอก ปราศจากวัตถุภายนอกไม่มีความสุข ดิ้นรนกระวนกระวายทุรนทุราย ดังจะเห็นได้จากชีวิตของคนยุคปัจจุบันนี้ ต้องขึ้นกับวัตถุภายนอก แม้แต่สิ่งเดียวกันในสมัยหนึ่งเป็นของง่ายๆ ก็อยู่ได้ ต่อมาดิ้นรนต้องให้สิ่งของนั้นฟุ่มเฟือยหรูหรามากขึ้นจึงมีความสุข ต่อมาต้องหรูหรายิ่งขึ้นไปอีก มีราคามากกว่านั้น สิ่งที่เคยหรูหราฟูฟ่าขนาดเดิมนั้นไม่ทำให้มีความสุขเสียแล้ว ถ้าต้องมีสิ่งเดิมนั้นก็กลับมีความทุกข์เสียด้วย ฉะนั้นชีวิตจึงต้องขึ้นกับวัตถุมากขึ้นๆ มีความกระสับกระส่าย กระวนกระวายมากขึ้นเมื่อขาดวัตถุ เมื่อเป็นอย่างนี้สันติภายนอกก็ไม่มี สันติภายในก็หมด เริ่มด้วยสันติภายในหมดก่อน แล้วพลอยให้สันติภายนอกขาดหายไปด้วย เพราะจะต้องแย่งชิงกันมากขึ้น

เพราะฉะนั้นคนเรานี้จึงต้องพัฒนาในทางที่ว่า ยิ่งอยู่ไปในโลก ความสุขจะต้องเป็นสิ่งที่เราสามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตัวเองมากขึ้น ความสุขของเราต้องขึ้นต่อวัตถุน้อยลง

พระพุทธศาสนาท่านเตือนอยู่เสมอ สำหรับชาวบ้านท่านก็ให้หลักในการพัฒนาตัวเองและพัฒนาความสุขได้ ขอยกตัวอย่างท่านให้รักษาศีล ๕ เพราะอะไร เพราะว่า ท่านยอมรับว่ามนุษย์เรานี้ แต่ละคนก็แสวงหาวัตถุ มุ่งหวังความสุขจากวัตถุทั้งนั้น ท่านจึงเอาแค่ว่าให้มีกรอบในการแสวงหาไว้ก่อน กรอบเบื้องต้นคือให้มีศีล ๕ ไม่ละเมิดต่อกัน คุณจะหาผลประโยชน์หาวัตถุมาเสพก็หาไป แต่อย่าละเมิด ๕ ข้อนี้ขอไว้หน่อยเป็นกรอบ คืออย่าละเมิดชีวิตร่างกายกัน อย่าละเมิดกรรมสิทธิ์กัน อย่าละเมิดคู่ครองกัน อย่าทำลายผลประโยชน์กันด้วยวาจา และอย่าคุกคามความมั่นคงปลอดภัยของผู้อื่นด้วยการเสียสติเนื่องจากเสพสิ่งมึนเมา เอาแค่นี้ก่อนแล้วคุณก็พออยู่กันได้ แต่คุณก็จะยังไม่มีความสุขแท้จริงหรอก เพราะว่าความสุขของคุณยังขึ้นต่อวัตถุภายนอก

แต่ถ้าคุณไม่มีกรอบ ๕ ข้อนี้แล้วคุณจะอยู่กันไม่ได้เลย จะเดือดร้อน รบราฆ่าฟันกัน ไม่มีใครได้ความสุข คนที่มีกำลังมีโอกาสมากก็เอามากที่สุด คนที่มีกำลังมีอำนาจมีโอกาสน้อยมีความสามารถน้อยก็แย่ เสร็จแล้วพอสังคมระส่ำระสาย คนที่มีกำลังมากมีของมากมีวัตถุเสพมากก็เดือดร้อนไปด้วย ไม่มีความสุขจริงทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้นเพื่อจะให้พออยู่กันได้ ท่านจึงบอกให้มีศีล ๕ ก่อน พอมีศีล ๕ สังคมที่เรียกว่าสังคมแห่งกามอามิสนี่ก็พออยู่กันได้ สังคมแห่งกามอามิสหรือโลกามิสนี่พออยู่กันได้ด้วยศีล ๕ เป็นกรอบไว้ก่อน แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่สุขจริง

ท่านบอกว่า เอาละถ้าคุณอยู่ในกรอบนี่ก็ยังดี คุณจะหาความสุขทางวัตถุก็หาไป แต่ถ้าคุณต้องการจะมีความสุขแท้ คุณจะต้องพัฒนาจิตใจของคุณ ต้องทำตัวของคุณให้เป็นอิสระจากวัตถุให้มากขึ้น ถึงตอนนี้พระองค์ก็ให้ศีล ๘ มาต่อ มาช่วยฝึกหรืออย่างน้อยมากันตัวไว้ ป้องกันตัวไว้ไม่ให้สูญเสียอิสรภาพ ศีล ๘ คือศีลที่มาช่วยฝึกมนุษย์ให้ไม่ต้องสูญเสียอิสรภาพไปขึ้นต่อวัตถุมากเกินไป หรือพอให้มีทางเขยิบพัฒนาให้มีความสุขที่เป็นอิสระได้มากขึ้น

ท่านบอกว่า เอานะ คุณอยู่ไป ๘ วันครั้งหนึ่งนะ ลองมาอยู่แบบง่ายๆ ไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุกันสักที ขอวันเดียว อย่างน้อยในวันนี้ให้เตือนตัวเองว่าเราจะอยู่ดีมีสุขได้โดยไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุเกินไป พอถึง ๘ วันก็รักษาศีลที่เรียกว่าอุโบสถครั้งหนึ่ง

เอาละต่อจากศีล ๕ ศีลข้อที่ ๖ เพิ่มเข้ามาก็คือ วิกาลโภชนา เวรมณี แปลว่าเว้นจากการรับประทานอาหารในเวลาวิกาล แต่ก่อนนั้นความสุขของเราไปฝากไว้กับวัตถุเริ่มด้วยอาหารก่อน คนเรานี่จะหาความสุขก็มองไปที่อาหารการกิน เที่ยวหาอาหารอร่อยๆ เสพรสมัน ตอนนี้ท่านบอกว่า นี่นะ คุณระวังนะ คุณจะเอาความสุขไปฝากไว้กับวัตถุมากเกินไป ลองสักวันซิ ไม่ต้องกินตามใจลิ้นดูสักวันหนึ่งนะ จำกัดเวลาเอาแค่เที่ยง และลองกินอาหารตามคุณค่าที่แท้จริง เพื่ออยู่สบายมีสุขภาพดี ลองดูซิว่าไม่กินตามอร่อยลิ้น กินอย่างมีขอบเขตแค่กาลโภชนะ หลังเที่ยงแล้วเราไม่กินแล้วเราอยู่ได้ไหม จะมีความสุขได้ไหม ชีวิตจะอยู่ดีมีสุขได้ไหมโดยไม่ต้องไปกินตามใจลิ้น ลองดูเถอะ นี่ก็เป็นกรอบป้องกัน ไม่ให้เราเอาชีวิตเอาความสุขไปขึ้นกับวัตถุมากเกินไป นี่หนึ่งละคือเรื่องอาหาร

สอง นอกจากกินให้ลิ้นอร่อยหรือเสพทางลิ้นแล้ว เราก็เสพทางตาทางหู ทางกายสัมผัส เพราะฉะนั้นศีลแปดข้อต่อไปคือข้อที่ ๗ จึงบอกว่า นจฺจคีตวาทิต ... คือ เรื่องการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี เรื่องเสียงไพเราะ เรื่องดูการละเล่นต่างๆ แต่ก่อนนี้เราอยู่นานไปในโลกเรายิ่งพยายามหรือทะยานหาความสุขในสิ่งเหล่านี้มากขึ้น มากขึ้นจนหลงระเริง หรือหมกมุ่นมัวเมา ทีนี้เราลองเป็นอิสระจากมันบ้าง พอถึง ๘ วันทีหนึ่ง ก็ลองอยู่ง่ายๆ ไม่ต้องขึ้นกับสิ่งเหล่านี้บ้าง ลองดูซิว่าเราจะอยู่ดีมีสุขได้ไหมโดยไม่ต้องยุ่งกับสิ่งเหล่านั้น

แม้แต่ที่นอน ฟูกอย่างดีที่ให้กายสัมผัสที่สบายนุ่มนวล ซึ่งบางทีหรูหราจนไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่นอนเลยสักนิด เป็นเพียงความหรูหราฟูฟ่าที่ประดับประดาตกแต่งจนเลยเถิด ไปๆ มาๆ ชีวิตของเราก็ขึ้นกับวัตถุเหล่านี้ ทีนี้บอกว่า เอ้า ๘ วันลองสักที นอนง่ายๆ นอนพื้นนอนเสื่อดูซิ อยู่ได้ไหม เราจะมีความสุขได้ไหม โดยไม่ต้องขึ้นกับที่นอนอย่างนั้น ๘ วันเรามาลองกันทีหนึ่ง อย่างน้อยก็ป้องตัวเราไว้ไม่ให้สูญเสียอิสรภาพ

ถ้าทำได้อย่างนี้ ต่อไปญาติโยมจะพูดได้ว่า เอ้อ มีก็ดี ไม่มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ มีก็ดีนะ หมายความว่า เออ ถ้าจะมีวัตถุฟุ่มเฟือยหรูหรามา ก็ดีเหมือนกัน แต่ถ้าไม่มีเราก็อยู่ได้ ตอนแรกมีก็ดี ไม่มีก็ได้ เอาละนี่เริ่มเป็นอิสระขึ้นแล้ว แต่ก่อนนี้มีจึงจะได้ ไม่มีอยู่ไม่ได้

ขณะนี้หลายคนนะ เรื่องวัตถุฟุ่มเฟือยนี่ต้องมีจึงจะได้ ไม่มีอยู่ไม่ได้ ถ้าอย่างนี้ก็แสดงว่าสูญเสียอิสรภาพไปแล้วโดยสิ้นเชิง แต่พอเราเริ่มฝึกอยู่ในศีล ๘ รักษาอุโบสถ ๘ วันครั้งเท่านั้นแหละ เตือนตัวไว้ ไม่ให้สูญเสียอิสรภาพ ถึงตอนนี้จะพูดใหม่ว่า มีก็ดี ไม่มีก็ได้

เอาละต่อไป เราซักจะเก่งขึ้น นอนง่ายๆ นอนพื้นนอนเสื่อก็ได้ จะไปไหนนอนไหนก็สะดวก ไม่ต้องเอาที่นอนตามไป คนที่จะต้องนอนบนที่นอนหรูหราอย่างนี้ ไม่รู้จะเอาไปยังไง ที่นอนนี้เอาไปลำบาก จะเดินทางไปไหนก็ไม่เป็นอิสระ สูญเสียอิสรภาพมาก พอจะไปในที่ที่ไม่มีสิ่งหรูหราฟุ่มเฟือยก็ไม่มีความสุข ต้องทุรนทุราย นอนไม่ได้ หรือนอนไม่หลับ

พอเรามีชีวิตที่เป็นอิสระมากขึ้นและชำนาญขึ้น เมื่อกี้บอกว่า มีก็ดี ไม่มีก็ได้ แต่ทีนี้พัฒนาขึ้นไปอีกบอกว่า มีก็ได้ ไม่มีก็ดี... มีก็ได้ ไม่มีก็ดี หมายความว่ามันเกะกะ เราอยู่ง่ายๆ อย่างนี้สบายกว่า ไม่มีก็ดี มีก็ได้ มีก็ไม่ว่าอะไร เอามาฉันก็ใช้ได้นะ แต่ถ้าไม่มีก็ดี มันโปร่งโล่งดี ไม่พะรุงพะรัง คนอย่างนี้ไม่ถึงกับต้องปฏิเสธ เราไม่ต้องมีชีวิตเอียงสุดหรอก เอาแค่อย่างนี้ได้แค่นี้ก็ดีถมไป

อย่างที่ว่ามานี้แหละคือวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงประทานศีลเบื้องต้น ขยับจากศีล ๕ ขึ้นมาเป็นศีล ๘ ตอนอยู่กับศีล ๕ เรามีชีวิตของมนุษย์ในขั้นกามาวจร คือโลกแห่งกามที่ต้องขึ้นกับอามิส ซึ่งก็พออยู่กันได้ด้วยศีล ๕ ที่ช่วยให้สังคมไม่ถึงกับลุกเป็นไฟ พอมีศีล ๘ ชีวิตก็ขึ้นต่อวัตถุน้อยลง เมื่อชีวิตขึ้นต่อวัตถุน้อยลง เราก็เอาเวลาที่เราจะต้องทุ่มเทไป เอาแรงงานและความคิดที่เคยต้องใช้ในการมุ่งหาวัตถุเสพอย่างวุ่นวายนั้นมาใช้ประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ ตอนนี้เราเป็นอิสระมากขึ้นแล้ว เวลาแรงงานและความคิดของเราก็เหลือมากมาย เราก็เอามันมาใช้ในการทำสิ่งที่ดีงาม บำเพ็ญคุณประโยชน์ และในการพัฒนาชีวิตพัฒนาจิตใจ พัฒนาความสุขที่ประณีตขึ้นในทางจิตใจ

นอกเหนือจากนี้ พระพุทธศาสนายังสอนวิธีหาความสุขด้วยการปรุงแต่งความสุขให้กับตัวอีกมากมาย พูดรวบรัดว่า เมื่อเข้ามาสู่ทางปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องแล้ว เราจะพัฒนาหนทางหาความสุขได้เพิ่มขึ้น ทำให้มีความสุขได้อีกมากมาย ตอนนี้แหละเราจะมีชีวิตที่ดีงามมีความสุขได้เยอะแยะ แต่วันนี้อาตมาจะไม่พูดเรื่องวิธีพัฒนาความสุข เพราะจะกินเวลามากเกินไป แต่รวมความว่าในพระพุทธศาสนานี้มีหลักการว่าคนเรานี้พัฒนาได้ เมื่อคนพัฒนาแล้ว อะไรต่างๆ ก็พัฒนาตามไปด้วย เช่น ความสุขเป็นต้น

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.