การศึกษาเพื่อสันติภาพ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ศึกษาเพื่อสันติภาพ ด้วยการศึกษาซึ่งสันติภาพ

พอถึงตอนนี้ คือเมื่อหันไปดูหลักการของพระพุทธศาสนาแล้วหวนกลับมาพิจารณาที่ชื่อของรางวัลนี้อีกที ที่ว่าการศึกษาเพื่อสันติภาพนั้น ในพระพุทธศาสนานี้ที่จริงแล้วไม่ใช่แค่ศึกษาเพื่อสันติภาพ จริงอยู่เมื่อกี้นี้บอกว่าศึกษาเพื่อสันติภาพ คือปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาเพื่อบรรลุสันติสูงสุดคือพระนิพพาน อย่างน้อยก็เพื่อสันติภายนอกคือความสงบเรียบร้อยที่ปรากฏให้เห็น แต่ที่แท้แล้วไม่ใช่แค่ศึกษาเพื่อสันติ แต่เป็นการศึกษาสันติเลยทีเดียว คือตัดคำว่าเพื่อออก

มีพุทธพจน์ในพระสูตรแห่งหนึ่งตรัสว่า สนฺติเมว โส สิกฺเขยฺย พึงศึกษาสันติ หมายความว่าอย่างไร ศึกษาคือฝึกหรือทำให้ได้ให้เป็นขึ้นมา ได้แก่พัฒนานั้นเอง ท่านให้ฝึกสันติก็คือทำสันติให้เกิดขึ้นเลย ไม่ต้องไปฝึกเพื่อสันติ ตอนนี้แหละสำคัญมาก กลายเป็นว่าตัวสันตินั้นเป็นสิ่งที่เราจะต้องสร้างให้เกิดให้มีขึ้น คนเราฝึกสันติได้ตลอดเวลา การปฏิบัติทุกอย่างเป็นการฝึกสันติ เราต้องพยายามฝึกสันติให้เกิดขึ้นในตนเอง

ถ้าฝึกสันติให้เกิดขึ้นชีวิตของเราก็สงบ เมื่อชีวิตของเราสงบ ความสงบนั้นก็จะโยงไปถึงความสุขด้วย คนเราที่มีความเร่าร้อนกระวนกระวาย จิตใจถูกบีบคั้นด้วยความทุกข์นั้นไม่มีสันติ ไม่มีความสงบ พอเราฝึกสันติ ทำใจของเราให้สงบได้ หรือเริ่มต้นแม้แต่ทำกายวาจาให้สงบได้ดีขึ้น ก็เริ่มสัมผัสกับความสุขภายใน เมื่อทำใจให้สงบขึ้น มีความรู้เข้าใจสิ่งต่างๆ วางใจได้ถูกต้อง ก็เข้าถึงความสงบมากขึ้น

คำว่าสงบนั้นคือระงับสิ่งที่เผาลน ความเร่าร้อนกระวนกระวายตลอดจนกิเลสต่างๆ จะถูกระงับหรือบรรเทาเบาบางลง เพราะฉะนั้นคำว่าสงบจึงคู่กับคำว่าระงับ พอระงับสิ่งที่รบกวนก่อความเร่าร้อนต่างๆ ได้ ก็เรียกว่าสิ่งเหล่านั้นสงบไป พอสิ่งเหล่านั้นสงบไปเราก็สงบ การที่ระงับก็คือไประงับเจ้าตัวก่อกวน เมื่อเจ้าตัวก่อกวนสงบเราก็สงบ เมื่อใจเราสงบก็ไม่มีความเร่าร้อน นี่แหละเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าใจเราไม่สงบ ข้างในเร่าร้อนอยู่ จะไปที่ไหนๆ ก็พาเอาความเร่าร้อนไปในที่นั้นๆ รู้สึกว่าที่ไหนๆ ก็ไม่สงบไปหมด การที่จะสร้างสันติภาพขึ้นในโลกจึงต้องให้คนมีความสงบในตัวขึ้นมาให้ได้ ฉะนั้นจึงไม่ต้องรอศึกษาเพื่อสันติ แต่ให้ศึกษาสันติเลย ฝึกสร้างความสงบให้เกิดขึ้นในชีวิตของเรา เข้าหลักพุทธพจน์ที่พูดถึงเมื่อกี้ หลักนี้ท่านเรียกว่าอธิษฐาน หรืออธิษฐานธรรม

อธิษฐานนั้น แปลว่าที่มั่น คนเราจะทำงานอะไรให้สำเร็จได้ผลดี ต้องมีที่มั่น แม้แต่ทหารจะไปรบทำสงครามก็ต้องมีฐานที่มั่น ถ้าไม่มีฐานที่มั่นแล้วก็จะรบได้ยาก และยากที่จะชนะ คนเรานี้จะระงับความเร่าร้อนกระวนกระวายจากกิเลสต่างๆ โดยเฉพาะจากตัณหา มานะ ทิฐิ ก็ต้องมีที่มั่น ถ้ามีที่มั่นยืนหยัดแล้วก็สามารถสร้างความสงบให้เกิดขึ้นได้

ตัวอธิษฐาน หรือธรรมที่จะเป็นที่ยืนหยัดเป็นที่มั่นของคนมี ๔ ข้อ ท่านใช้คำว่า

๑. ปญฺญํ นปฺปมชฺเชยฺย ขอใช้เป็นคำบาลี วันนี้อาจจะบาลีมากสักหน่อย ข้อนี้แปลว่า ไม่พึงประมาทปัญญา ในอธิษฐานธรรม ๔ ข้อ ข้อหนึ่งว่าปัญญา แต่ท่านบอกวิธีปฏิบัติว่าไม่ประมาทปัญญา คือต้องใช้ปัญญาอยู่เสมอ ไม่ทอดทิ้งปัญญา ไม่ละเลยปัญญา

คนเรานี้มักจะมีปัญหาที่ไม่ชอบใช้ปัญญา หรือไม่เอาปัญญามาใช้ และไม่ชอบใส่ใจพัฒนามัน แต่ชอบไปพะเน้าพะนอเอาอกเอาใจตัณหา เอาอย่างง่ายในชีวิตประจำวันนี้ เรามักจะใช้อารมณ์ อารมณ์(ตามความหมายแบบไทยๆ) ก็มาจากความชอบใจไม่ชอบใจ พอเจออะไรก็เอาอารมณ์เข้าใส่ก่อน เกิดความชอบใจหรือไม่ชอบใจที่ท่านเรียกว่ายินดียินร้ายแล้วก็ปฏิบัติการไปตามอารมณ์ ถ้าอย่างนี้ก็ทำลายสันติแน่ เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกให้ใช้ปัญญา ไม่ละเลยการใช้ปัญญา พอมีอะไรเกิดขึ้นต้องใช้ปัญญาพินิจพิจารณา มีวิจารณญาณ แก้ไขสถานการณ์ด้วยเหตุผล นี่ว่ากันในขั้นต้นๆ ในชีวิตประจำวันก็ต้องไม่ละเลยการใช้ปัญญา เพื่อจะได้แก้ปัญหาเรื่องจิตที่ลุอำนาจแก่ความยินดียินร้ายชอบชังหรืออารมณ์ต่างๆ ลงไปได้บ้าง แล้วความเร่าร้อนวุ่นวายก็จะเบาลง

๒. สจฺจํ อนุรกฺเขยฺย แปลว่า พึงอนุรักษ์สัจจะ พึงรักษาสัจจะ ตามรักษาสัจจะ เอาความจริงเข้าว่า หรือเอาความจริงเป็นหลัก การที่เราใช้ปัญญานั้นเพื่ออะไร ก็เพื่อเข้าถึงความจริงนั่นเอง เมื่อเราใช้ปัญญามีวิจารณญาณแล้วเราก็ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจอารมณ์ เราก็ไม่เอนเอียง เราก็พิจารณาวินิจฉัยสิ่งต่างๆ ได้ถูกต้อง คือเข้าถึงความจริง พอเข้าถึงความจริงแล้วก็อนุรักษ์ความจริง รักษาความจริงนั้น อยู่ในความจริง อย่าคลาดเคลื่อนจากความจริง เอาความจริงเป็นหลักเป็นที่มั่น ปัญญาเป็นตัวนำเรามาสู่สัจจะแล้วเราก็ยึดมั่นปฏิบัติตามหลักสัจจะนั้น

๓. จาคํ อนุพฺรูเหยฺย แปลว่า พึงเพิ่มพูนจาคะ จาคะแปลว่าความสละ ความสละนี่มีหลายอย่าง สละทางวัตถุคือไม่ติดยึดไม่สยบอยู่ใต้วัตถุทั้งหลาย รู้ทันว่ามันไม่ใช่สาระที่แท้จริงของชีวิต เราจะจับสาระที่แท้จริงของชีวิตให้ได้ แต่จาคะที่เป็นตัวแท้ก็คือสละความยึดถือในใจของเราเอง หรือความเอาแต่ใจตัวเอง เมื่อถึงสัจจะแล้วต้องยอมตามสัจจะ ยอมสละความยึดถือ ความพอใจ ความชอบใจของตัวเองเสีย เอาตามสัจจะให้ได้ เอาตามความจริง คนเรานี้จะมาเสียตรงนี้คือติดอยู่ในความยึดถือ แม้รู้ความจริงใช้ปัญญาเข้าถึงสัจจะแล้ว ก็ไม่ยอมทำตามสัจจะ ทำไม่ได้เพราะว่าตัวมีความยึดถือเป็นของตน เพราะฉะนั้นจะต้องยอมสละด้วยหลักจาคะ ถ้าเรายอมสละเพื่อเห็นแก่ความจริงได้เราก็สละกิเลสต่างๆ ได้ เอาความจริงเข้าว่า ยอมสละความยึดถือ ความพอใจหรือแม้แต่ทิฐิอะไรต่างๆ ของตัวเองได้

๔. สนฺติเมว โส สิกฺเขยฺย แปลว่า พึงศึกษาสันติ คือทำใจให้เข้าถึงความสงบได้อยู่เสมอ เมื่อเราพยายามสละความชอบใจและความยึดถือของเรานั้น บางทีมันเป็นการต่อสู้ คือเราจะต้องต่อสู้เพื่อที่จะสละ ไม่ยอมตามความยึดถือของเรา จิตใจของเราก็อาจจะดิ้นรนกระสับกระส่ายกระวนกระวายเร่าร้อน ท่านบอกว่าพึงศึกษาสันติคือทำใจให้สงบ หมายความว่าเมื่อสละสิ่งที่ยึดถือที่ชอบใจอะไรต่างๆ เพื่อเห็นแก่สัจจะแล้ว ก็ทำใจให้สงบให้มีสันติได้ด้วย

ถ้าเกิดสันติขึ้นแล้ว การกระทำของเราก็มั่นคง เพราะคนที่ทำอะไร แม้จะยอมสละ แต่ถ้าจิตใจยังวุ่นวายยังเดือดร้อนยังต่อสู้อยู่ การทำความดีและการสละสิ่งร้ายนั้นจะไม่มั่นคง ถ้าเมื่อไรใจสงบ ก็มีความสุขด้วย พอมีความสงบมีความสุขในใจแล้ว ก็อยู่ตัว เพราะฉะนั้นการทำความดีต่างๆ ก็จะมีความแน่นอนมั่นคง และจะเดินหน้าในความดีนั้นได้ นี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการอธิบายในหลักธรรมที่ว่า ท่านให้ศึกษาสันติ คือฝึกจิตของเราให้มีสันติอยู่เสมอ

ในพระพุทธศาสนานั้นมีวิธีการต่างๆ ในการที่จะฝึกสันติ หรือศึกษาสันตินี้ได้อยู่เสมอ เพราะฉะนั้น เราจึงควรนำเอาวิธีการเหล่านี้มาใช้สร้างสันติให้เกิดขึ้นในใจ แล้วต่อไปก็จะมีสันติในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วย ในความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์หรือกับคนอื่นนั้น ก่อนที่จะเสียสันติกับเขาเราก็เสียสันติในใจก่อน คือเกิดการขุ่นเคืองขัดแค้น ใจขุ่นมัวเศร้าหมอง เมื่อสันติไม่มีในใจแล้วสันติกับเพื่อนบ้านก็ชักหมดไป ต่อจากนั้นเมื่อสันติหมด เกิดความขัดใจขัดแย้งรุนแรงขึ้นออกไปแสดงบทบาท ก็ตกอยู่ใต้อำนาจตัณหา มานะ ทิฐิ แล้วก็ยุ่งไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะฉะนั้น องค์การสหประชาชาติ โดยทางยูเนสโก ศึกษาไปศึกษามาในที่สุดยอมรับ และถือว่าเป็นข้อพิจารณาสำคัญในการที่จะตัดสินให้รางวัลสันติภาพ ตรงตามคติที่ตั้งเป็นหลักการของยูเนสโก ที่จริงนั้นองค์การนี้ตั้งมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ปี ๑๙๔๖ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๘๙ นานมาแล้ว ตอนหลังสงครามโลกสิ้นสุดใหม่ๆ เมื่อตั้งองค์การสหประชาชาติแล้ว ต่อมาก็ตั้งองค์การยูเนสโกขึ้น ในการตั้งนี้ได้ปรารภเหตุผลข้อสำคัญ คือ การที่โลกนี้มีปัญหาสงครามจนกระทั่งต้องตั้งองค์การสหประชาชาติ สงครามนั้นเกิดที่ไหน ก็มาจากจิตใจมนุษย์ เพราะฉะนั้นสันติภาพที่แท้จริงในที่สุดก็ต้องตั้งขึ้นจากจิตใจของมนุษย์ก่อน และเขาก็ได้ใช้หลักการอันนี้มาเป็นข้อพิจารณาในการตัดสินรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพด้วย ว่าสันติภาพนั้นเกิดจากจิตใจมนุษย์ ทีนี้พระพุทธศาสนาก็แสดงหลักการนี้อยู่แล้ว เราไม่ได้ไปสอนตามหลักการของสหประชาชาติหรือยูเนสโก แต่พอดีเกณฑ์ในการให้รางวัลมาตรงเข้ากับหลักการในพระพุทธศาสนาที่มีอยู่แล้ว

โดยหลักการสำคัญก็เป็นอันว่าให้ศึกษาสันติ แต่การที่จะทำอย่างนี้ได้สำเร็จเราก็จะต้องปฏิบัติไปตามกระบวนวิธี ซึ่งในพระพุทธศาสนามีข้อย่อยต่างๆ ในการปฏิบัติมากมาย เพื่อทำลายหรือทำตัวเราให้พ้นจากอำนาจของตัณหา มานะ ทิฐิ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.