รางวัลที่ให้นั้นยังไม่ใช่รางวัลจริงหรอก รางวัลจริงก็คือว่า เมื่อไรสันติภาพเกิดขึ้น ประโยชน์สุขแก่ประชาชนเกิดขึ้น ประชาชนเข้าถึงสันติธรรม อันนั้นแหละคือรางวัลที่แท้จริง เป็นรางวัลในการทำงานของพระ เพราะฉะนั้นรางวัลนี้พระจะต้องทำต่อไป และพระก็มีหน้าที่ต้องทำให้เกิดรางวัลนี้ ซึ่งที่จริงการได้รับถวายรางวัลนี้ก็ไม่ได้ทำให้พระเป็นอะไรขึ้นมานอกจากความเป็นพระ และการที่จะต้องบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนตามหน้าที่ของท่านต่อไป เพราะฉะนั้นจึงย้ำว่ารางวัลที่แท้จริงนั้นไม่ได้อยู่ที่การได้มอบให้อะไรที่เราเรียกกันว่าเป็นรางวัลเป็นรูปธรรม รางวัลที่แท้จริงนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อประชาชน สังคม หรือมนุษย์โดยทั่วไปมีความร่มเย็นเป็นสุข
อย่างไรก็ตาม คนเรายังติดในเรื่องเหล่านี้ เราจึงมาพูดกันในเรื่องสมมติของชาวโลก เมื่ออยู่ในสมมติเราก็ต้องใช้สมมติให้เป็นประโยชน์ เมื่อเกิดมีปรากฏการณ์เช่นนี้ และเรามาจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นนั้น มองในแง่ดีก็คือการเอาสมมติมาใช้ประโยชน์ การที่กระทรวงศึกษาธิการ หรือรัฐบาลก็ตาม โดยทางสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมาจัดกิจกรรมอย่างนี้ เมื่อมองว่าเป็นเรื่องของการเอาสมมติมาใช้ประโยชน์ ก็คือเอามาเป็นอุบายสำหรับกระตุ้นเตือนให้คนทั่วไปให้ความสนใจแก่การปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา คือส่งเสริมให้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อให้เกิดสันติที่แท้จริง โดยที่สำหรับแต่ละชีวิตก็ให้เข้าถึงสันติ และสำหรับพระสงฆ์เมื่อปฏิบัติให้เข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ทำให้ประชาชนอยู่กันร่มเย็นเป็นสุข นี่แหละที่ว่าเป็นการเอารางวัลที่เป็นเรื่องสมมตินั้นมาเป็นเครื่องกระตุ้นอีกทีหนึ่ง ถ้าทำได้อย่างนี้ก็คงจะมีความหมาย หมายความว่ารางวัลนี้จะมีความหมายที่แท้จริงก็ต่อเมื่อมันเป็นเครื่องมาช่วยชักนำให้เกิดความสนใจในการที่จะส่งเสริมธรรมะ ฉะนั้นจึงได้กล่าวอย่างหนึ่งว่า ที่มีการแสดงมุทิตาจิตอะไรนั้น ความจริงก็เป็นเรื่องของการที่เรายกย่องเทิดทูนธรรม
อันนี้ขอกล่าวย้ำบ่อยๆ คือญาติโยมหรือพระสงฆ์ก็ตาม เมื่อมีพระผู้นี้ท่านได้รับรางวัล เราเห็นว่าท่านได้ดีเราพลอยมาแสดงความยินดีด้วย เป็นการปฏิบัติตามหลักพรหมวิหารข้อที่ ๓ คือมุทิตา ซึ่งแปลว่าพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี หมายความว่า เราเห็นว่าท่านผู้นี้ซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งได้ดีหรือได้ประสบความสำเร็จเขาให้รางวัล เราก็มาแสดงความยินดีด้วย
อย่างไรก็ดี ถ้าว่าถึงความหมายที่แท้จริงของชาวพุทธ เรามองทะลุลึกลงไปกว่านั้น คือ ที่จริงนั้น ใจของผู้แสดงมุทิตาอยู่ที่ตัวธรรมะ หมายความว่าเราทุกคนนี้เชิดชูธรรม เชิดชูความดีงาม เชิดชูการปฏิบัติที่ถูกต้อง เชิดชูการกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์สุข หลักของเราอยู่ตรงนั้น เรามุ่งหมายใจของเราไปตั้งอยู่ที่ธรรมะนั้น เราต้องการเชิดชูธรรม เมื่อมีอะไรมาช่วยให้เกิดการแสดงออกที่เป็นการเชิดชูธรรมนั้น ก็เข้ากับความมุ่งหมายของเรา คือเมื่อเราไปเห็นว่าบุคคลผู้หนึ่งมากระทำการอะไรที่เป็นการช่วยส่งเสริมเชิดชูธรรม คือไปปฏิบัติถูกต้องตามธรรม เข้าหลักความดี เราก็ถือโอกาสไปส่งเสริมด้วย การที่เราส่งเสริมท่านผู้นั้นก็หมายความว่า เราส่งเสริมให้ท่านทำความดีนั้นต่อไป หรืออย่างน้อยเราก็แสดงความยินดี เพราะท่านไปทำตรงตามหลักที่เราพอใจด้วย ซึ่งเป็นหลักแห่งความดีงาม เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นว่า การแสดงมุทิตาหรือพลอยยินดีนั้นเป็นการแสดงถึงความเห็นชอบด้วยที่ท่านได้ไปทำสิ่งที่ดีงาม เราเชิดชูธรรมอยู่แล้ว เราจึงพลอยแสดงความยินดีส่งเสริมไปเลย
พร้อมกันนั้น ก็ได้ความหมายอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นการแสดงความพร้อมใจกัน ที่ว่าพร้อมใจก็คือ ในเมื่อท่านผู้นั้นไปทำตามหลักธรรม ไปทำความถูกต้องดีงาม เราก็เห็นชอบด้วย คล้ายกับบอกว่า เราจะร่วมด้วยนะ เราจะร่วมทำความดีส่งเสริมความดีอันนั้นด้วย จึงกลายเป็นการแสดงความเห็นชอบพร้อมใจในการที่จะส่งเสริมธรรมเชิดชูธรรมต่อไป ถ้าทำได้อย่างนี้ การแสดงมุทิตาจิตก็มีความหมายที่ดีงามถูกต้อง เพราะไม่ไปติดอยู่แค่ตัวบุคคล คือมีความหมายที่โยงไปหาตัวหลักการหรือตัวธรรมะด้วย คือการที่เราจะมาช่วยกันเชิดชูธรรมต่อไป
เพราะฉะนั้น การกระทำกิจกรรมอย่างนี้จึงเป็นการแสดงว่าเราจะมาร่วมแรงร่วมใจกันในการส่งเสริมเชิดชูธรรมต่อไป ถ้าทำได้อย่างนี้ การแสดงมุทิตาจิตก็จะเป็นส่วนร่วมอย่างหนึ่งในการปฏิบัติตามหลักของการศึกษาเพื่อสันติภาพด้วย คือ การที่เราจะได้ใช้กิจกรรมเหล่านี้เป็นเครื่องส่งเสริมให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน และอันนี้แหละคือตัวสันติภาพ เพราะฉะนั้นกิจกรรมทั้งหมดนี้เราจึงมาทำความเข้าใจกันว่า เป็นนิมิตหมายว่าเราจะได้มาช่วยกันส่งเสริมเชิดชูธรรมต่อไป เพื่อให้ธรรมะเกิดประโยชน์สุขแก่ชีวิต แก่สังคม แก่ประชาชนชาวโลก เพื่อสันติสุขโดยทั่วกัน