ศาสนาและเยาวชน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พร้อมหรือไม่ที่จะก้าวสู่ยุคข่าวสารข้อมูล

ต่อไป ประการที่ ๓ ในฐานะที่ประเทศไทยก็อยากจะเข้าไปสู่ยุคข่าวสารข้อมูลด้วย ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีทางด้านข่าวสารข้อมูลก็เข้ามามากมายแล้ว เรามีเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งได้ใช้ไปในลักษณะที่เป็นสื่อไร้สารกันไม่น้อย ข่าวสารข้อมูลก็หลั่งไหลแพร่ไปมากมาย กระทั่งถ้าจะพูดเป็นสำนวน หรือภาพพจน์ อาจกล่าวได้ว่า คนถูกข่าวสารข้อมูลท่วมทับจนสำลัก ข่าวสารข้อมูลที่มากมายนี้ เพราะเหตุที่มีการเผยแพร่โดยไม่รู้จักจัดสรรบ้าง จัดทำขึ้นด้วยเจตนาที่ไม่มุ่งสาระหรือความจริงบ้าง ไม่รู้จักสรรหา ไม่ได้จัดทำอย่างมีคุณค่า หรือผู้รับไม่รู้จักเลือก ก็กลายเป็นขยะข้อมูล ขณะนี้ในสังคมที่พัฒนาแล้วจะมีปัญหาเรื่องขยะข้อมูล คนไม่สามารถรับข้อมูลได้ทัน เพราะข่าวสารข้อมูลมากมายเหลือเกิน

ถ้าจะหาข่าวสารข้อมูลที่มีสาระจริงๆ มาใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาสังคม จะต้องรู้จักเลือกสิ่งที่มีสาระมีแก่นสาร เป็นความรู้จริงมีประโยชน์ แต่ในปัจจุบันนี้ ถ้าไม่มีการพัฒนาในด้านข่าวสารข้อมูล ก็จะทำให้เกิดขยะข้อมูลมากมาย และคนก็จะได้รับข่าวสารที่เป็นขยะเหล่านี้ไป แล้วใช้ประโยชน์ไม่ได้ หรือแม้กระทั่งเกิดเป็นโทษแก่ชีวิต เดี๋ยวนี้ก็เป็นปัญหามาก ในเรื่องการผลิตขยะข้อมูล

ทีนี้ เมื่อผู้ผลิตสร้างขยะข้อมูลมาก ถ้าฝ่ายผู้รับไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้พัฒนาคุณภาพให้เป็นผู้ที่รู้จักรับและเลือกข่าวสารข้อมูล ก็มีปัญหาอีก แม้แต่เมื่อเขาสร้างข้อมูลและข่าวสารดีๆ มาแล้ว แต่ถ้าคนรับไม่รู้จักรับ ก็รับเอาข่าวสารข้อมูลที่ดีๆ นั้นไม่ได้ กลับไปรับเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ไม่เป็นสาระ แล้วใช้ข้อมูลนั้นไปในทางส่งเสริมค่านิยมฟุ้งเฟ้อหรูหรา มุ่งจะบริโภคอย่างเดียว รับและคัดเลือกข้อมูลไม่เป็น ไม่สามารถเข้าถึงข่าวสารข้อมูล

นี่ก็คือการไม่รู้จักหาความรู้ความจริง ซึ่งความใฝ่รู้ก็มามีบทบาทอีก เพราะเมื่อไม่มีความใฝ่รู้ ก็ใช้การสื่อสารไปในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการแสวงหาความรู้ ไม่รู้จักคิด ชอบมองอะไรพร่าๆ ตื่นตูม ทำให้เกิดข่าวลือได้ง่ายและสับสน ก็เป็นปัญหาอีก เพราะไม่มีความรู้จริง และขาดความคิดที่ชัดเจน เวลามีปัญหา เกิดเรื่องราวต่างๆ ขึ้นแก่สังคม ก็มองอะไรพร่าไปหมด จับประเด็นปัญหาไม่ได้ นอกจากนั้น เมื่อจะไปถ่ายทอดความรู้ ความคิดเห็น ความต้องการของตนแก่ผู้อื่น ก็ขาดความสามารถในการถ่ายทอดและสื่อสารข้อมูลเหล่านั้น ไม่สามารถสื่อความคิด ถ่ายทอดแสดงออกถึงความต้องการของตนให้ชัดเจน ให้ผู้อื่นเข้าใจได้ เหล่านี้เป็นปัญหาในยุคข่าวสารข้อมูล ซึ่งทำให้ไม่สามารถอาศัยข่าวสารข้อมูลมาสร้างปัญญา ที่จะแก้ไขปัญหาหรือคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ การเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลก็เป็นการเข้าไปอย่างที่เรียกว่า ขาดพื้นฐานที่มั่นคง แล้วจะทำให้เกิดโทษแก่ชีวิตและสังคมเป็นอันมาก

เมื่อยุคข่าวสารข้อมูลเข้ามาถึง เราจะทำอย่างไรเพื่อเตรียมเยาวชนให้เป็นผู้พร้อมที่จะเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลได้อย่างดีมีคุณค่า สามารถนำข่าวสารข้อมูลมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาชีวิตและสังคมของเรา นี้เป็นปัญหาสำคัญ

ตกลงว่าประเทศไทยเรากำลังรับยุคทั้ง ๓ คือ ยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรม และยุคข่าวสารข้อมูลไปพร้อมๆ กัน แล้วเราก็มีปัญหาทุกอย่างของทุกยุคสมัยไปพร้อมกันด้วย เพราะฉะนั้น ศาสนาและจริยธรรมจะต้องหาทางเข้ามาแก้ไข เข้าไปสอดแทรก เข้าไปมีบทบาทโดยจับแง่จับมุมของตนเองให้ได้ว่า เรามีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับปัญหาเหล่านี้อย่างไร แง่มุมของเราที่จะแก้นั้นอยู่ที่ตรงจุดไหน จะร่วมมือกับผู้อื่นและกิจกรรมอื่นๆ ในสังคมอย่างไรในการแก้ปัญหาสังคมเหล่านี้ พร้อมทั้งในการที่จะพัฒนาสร้างสรรค์สังคมต่อไป

ทีนี้ สิ่งหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญมาก ในยุคทั้ง ๓ ที่บรรจบกันในปัจจุบันนี้ ก็คือ เทคโนโลยี ซึ่งแม้แต่ตามปกติก็เป็นตัวการสำคัญที่มีบทบาทอยู่แล้วทั้ง ๓ ยุค ดังที่อาตมากล่าวเมื่อครู่ ประเทศของเราในปัจจุบัน ในแง่ที่เป็นยุคเกษตรกรรมก็อาศัยเทคโนโลยี มีเทคโนโลยีใช้มากกว่าฝรั่งในยุคเกษตรกรรมของเขาด้วยซ้ำ ยุคอุตสาหกรรมนี้แน่นอนย่อมมีเทคโนโลยีเป็นเจ้าบทบาทใหญ่ ส่วนในยุคข่าวสารข้อมูลก็อาศัยเทคโนโลยีเป็นตัวแสดงที่สำคัญ แต่เป็นเทคโนโลยีคนละประเภท

สำหรับเทคโนโลยีทั้ง ๓ ประเภทนี้ เราจะใช้ศาสนาและจริยธรรมเข้าไปสัมพันธ์กับมันอย่างไร อย่างน้อยทำอย่างไรจึงจะให้มีเทคโนโลยีในลักษณะที่ยังคงมีอิสรภาพของตนเอง ไม่มีลักษณะพึ่งพาขึ้นต่อสังคมอื่น เช่น จะต้องไม่เป็นผู้ที่เพียงแต่คอยรับเอาเทคโนโลยีมาใช้เท่านั้น จะต้องมีความสามารถในการผลิตเทคโนโลยีด้วย หรือจะมีหนทางอย่างไรที่ตัวเองจะนำสังคมไปให้พ้นจากสภาพของการพึ่งพาผู้อื่นได้ ก็จะต้องมาช่วยกันคิด เหล่านี้เป็นปัญหาทั้งหมด ทุกแง่ ทุกด้าน ผู้ที่มองศาสนาและจริยธรรมนั้น จะต้องนำปัญหาเหล่านี้ทั้งหมดมาพิจารณา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.